เปิดประวัติความรัก คุณหญิงวรรณา-เจริญ สิริวัฒนภักดี

คุณหญิงวรรณา นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ถ่ายภาพคู่กัน
คุณหญิงวรรณา และนายเจริญ สิริวัฒนภักดี

คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี (พ.ศ. 2486-2566) ชื่อเดิม วรรณา แซ่จิว บุตรสาว นายกึ้งจู-นางคาไน้ แซ่จิว มีพี่น้องทั้งหมด 10 คน สมรสกับนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน

ช่วงที่นายกึ้งจู (ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนที่เมืองจีนกับ ชิน โสภณพนิช) ทำงานเป็น “กัมปะโด” ให้กับธนาคารกรุงเทพนั้น บุตรคนที่ 5 คือ วรรณา จาตุรแสงไพโรจน์ (นามสกุลครอบครัวคุณหญิงวรรณา) ก็พบรักกับนายเจริญ ที่สนามแบดมินตัน ขณะนั้นกำลังเรียนชั้น ม. 3 น้องชายคนหนึ่งของคุณหญิงวรรณาเล่าถึงนายเจริญ เมื่อมาจีบคุณหญิงวรรณาใหม่ๆ ว่า

Advertisement

“เฮียเม้ง (โซวเคียกเม้ง-ชื่อจีนของนายเจริญ) เขาเคยซื้อรองเท้าให้พี่วรรณาเป็นของขวัญ แทนที่จะซื้อเพียงคู่เดียว เขากลับซื้อมาหลายคู่ รู้สึกประมาณ 1 โหล เฮียเม้งบอกพี่วรรณาว่า ซื้อคู่เดียวมันแพง ซื้อเป็นโหลต่อราคาได้ถูกกว่า”

โดยนายเจริญสามารถผ่านด่าน พ่อตาอย่าง กึ้งจู แซ่จิว ฉลุย เพราะนายกึ้งจูเห็นนายเจริญเป็นคนเก่งมีหัวการค้าที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไปที่ไหนผู้ใหญ่รักเมตตา จึงช่วยสนับสนุนครอบครัวของคู่รักใหม่

ขณะที่คุณหญิงวรรณา กับนายเจริญก็เคียงบ่าเคียงไหล่กันสร้างฐานะ เช่น เมื่อครั้งหนึ่งที่กระทรวงการคลังเชิญผู้บริหารที่เกี่ยวข้องไปหารือ เรื่องการเพิ่มทุนของบริษัทสุรามหาราษฎร ภายหลังรวมตัวกับสุราทิพย์ (ของเถลิง เหล่าจินดา, เจริญ สิริวัฒนภักดี ฯลฯ) ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เพิ่มทุนอีก 2,400 ล้านบาท ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ท่านหนึ่งเล่าว่า

“วันนั้นมากัน 6 คน คุณวรรณา สิริวัฒนภักดี ภรรยาคุณเจริญนั่งคู่กับคุณนงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ ภรรยาคุณวิศาล คุณเจริญนั่งคู่กับคุณโกเมน ตันติวัฒน์พันธ์ และคุณวิศาลนั่งคู่กับคุณวาณิช ไชยวรรณ

พอบอกว่าสุรามหาราษฎรจะต้องเพิ่มทุนอีก 2,400 ล้านบาท คุณเจริญหันไปมองหน้าคุณวรรณา คุณวิศาลหันไปมองคุณนงลักษณ์ พอฝ่ายหญิงพยักหน้า ทั้งคู่ก็หันมาพยักหน้ากับผม[สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ขณะอายุ 80 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สรกล อดุลยานนท์. จอมยุทธน้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้กระตุกหนวดเสือ, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2537.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 17 มีนาคม 2566