นัยจากความหมายของคำว่า “ราษฎร” ภาษาการเมืองในยุคสมัยการปฏิวัติสยาม

“ราษฎร” ที่มาชุมนุมกันอย่างคับคั่งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในงานพระราชทานรัฐธรรมนูญและฉลอง วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

ในช่วง “รอยต่อ” ระหว่างสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับสมัยแรกเริ่มรัฐประชาชาติ คำว่า “ราษฎร” หาได้เป็นเพียงคำธรรมดาๆ ที่ใช้เรียกแทนชนชาวสยามเท่านั้น ทั้งนี้คงต้องพิจารณาความหมายในสองระดับ ในระดับแรกเป็นความหมาย “ระดับผิวเผิน” ที่แปลกันตรงๆ ก็หมายถึง ชนชาวสยาม/ไทย  ซึ่งคำว่า “ราษฎร” นี้ปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ใช้ ปะปนกับคำอื่นๆ เช่น “ไพร่บ้านพลเมือง” “ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน” “ประชาชน” [1] เป็นต้น

ในขณะที่ระดับ 2 เป็นความหมาย “ระดับลึก” ที่มีความหมายทางการเมืองแฝงไว้อย่างเข้มข้น โดยคำว่า “ราษฎร” แสดงถึงจิตสำนึกที่ก้าวหน้าของชาวบ้าน คือมีนัยยะบ่งบอกลักษณะทาง “ชนชั้น” ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า “พลเมือง” เพราะพลเมืองนับรวมทุกคนในประเทศซึ่งรวมทั้งชนชั้นเจ้านายด้วย แต่คำว่า “ราษฎร” ไม่สามารถนับรวมเจ้านายเข้าไปด้วย [2]

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้นำพาไปสำรวจการใช้ภาษาการเมืองดังกล่าวทั้งในช่วงก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 สรุปความได้ว่า

“คำว่า “ราษฎร” คำนี้ได้ใช้อยู่อย่างแพร่หลายในหมู่คนกลุ่มหนึ่งในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2475 อย่างเช่น มีหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ ราษฎร นายใช้ บัวบูรณ์ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในระหว่างปี พ.ศ. 2471-2472

ในหนังสือถวายฎีกาจำนวนมาก ผู้ถวายฎีกาต่างเรียกตัวเองว่า ราษฎร และมีหนังสือพิมพ์บางฉบับเอาข่าวการถวายฎีกามาพิมพ์เผยแพร่ทำให้คำดังกล่าวมีความรู้สึกนึกคิดที่ดูรุนแรงกำกับอยู่

คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เรียกตัวเองตามภาษาของยุคสมัยว่า “คณะราษฎร” และเมื่อมีการยึดอำนาจรัฐเกิดขึ้นแล้ว ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรสยาม 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ระบุให้เรียกฝ่ายบริหารว่า “กรรมการราษฎร”

เห็นได้ชัดว่าคำว่า “ราษฎร” ซึ่งเป็นคำสามัญดั้งเดิมได้กลายมาเป็นภาษาการเมืองของยุคสมัย…” [3]

คำว่า “ราษฎร” สะท้อนให้เห็นพลังของภาษาการเมืองอย่างเข้มแข็ง แม้แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ครั้งหนึ่งเคยใช้คำดังกล่าว ก็มีปฏิกิริยายอมรับความเป็นภาษาการเมืองของคำนี้ด้วยภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 จากกรณีที่พระองค์ทรงเลือกขีดฆ่าทั้งคำว่า “ราษฎร” (รวมถึงคำว่า “ประชาชน”) ออกจากร่างพระนิพนธ์เรื่อง การฟ้อนรำของไทย แล้วเปลี่ยนเป็นคำว่า “ชนชาติไทย” แทน บางแห่งที่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นการฟ้อนรำของประชาชน ก็จะทรงเลือกที่จะใช้คำว่า “ประชุมชน” และ “ชาวนา” แทน [4]

กล่าวได้ว่าการที่พระองค์ปฏิเสธและหลีกเลี่ยงการที่จะใช้คำดังกล่าว อีกด้านหนึ่งก็คือการยอมรับถึงพลังอำนาจทางภาษาคำว่า “ราษฎร” โดยปริยาย…


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ฝูงชนในเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475” เขียนโดย ศราวุฒิ วิสาพรม ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2557

เชิงอรรถ :

[1] สายชล สัตยานุรักษ์. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ “เมืองไทย” และ “ชั้น” ของชาวสยาม. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), หน้า 238

[2] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, พิมพ์ครั้งที่ 5. (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553), หน้า 169

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 221-222

[4] สายชล สัตยานุรักษ์. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ “เมืองไทย” และ “ชั้น” ของชาวสยาม., หน้า 233 – 234


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2562