ทหารยุค 2475 ไม่หวงอำนาจ พร้อมให้คนมีความรู้เข้ามาทำหน้าที่

สี่ทหารเสือคณะราษฎร: (จากซ้าย) พระยาทรงสุรเดช, พระประศาสน์พิทยายุทธ, พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระยาฤทธิอัคเนย์

เรียนท่านผู้ดูแลเพจศิลปวัฒนธรรม

เมื่อวานนี้ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังงานเสวนาของนิตยสารศิลปวัฒนธรรมในหัวข้อ “เส้นทางสี่ทหารเสือ ตำนานการเมืองไทยสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง” ซึ่ง พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ ก็ได้มาเล่าเรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับสี่ทหารเสือคณะราษฎร อันประกอบด้วยพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิฯ และพระประศาสน์ฯ รวมถึงพระยาศรีฯ หนึ่งในเพื่อนรักพระยาพหลฯ ด้วย

ดิฉันได้รู้อะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน รวมถึงได้รับการย้ำเตือนเรื่องราวหลายๆ เรื่องที่เริ่มจะลืมเลือนไปแล้วตามประสาคนมีอายุ ต้องขอขอบคุณทางศิลปวัฒนธรรมที่จัดกิจกรรมเช่นนี้เป็นประจำเพื่อให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ยังได้รับการกล่าวถึงและกระตุ้นความสนใจของคนทั่วไปอยู่เสมอค่ะ

แต่ข้อหนึ่งที่ดิฉันฟังแล้วก็ยังรู้สึกข้องใจเป็นพิเศษสำหรับหัวข้อนี้ก็คือคำตอบของท่านเสธ.บัญชร กรณีที่มีผู้ร่วมงานรายหนึ่งถามท่านว่า “สี่ทหารเสือบวกหนึ่ง ทำไมถึงปล่อยอำนาจหลุดมือไป?”

ท่านบัญชรตอบกลับมาว่า

“ผมเข้าใจว่าอย่างนี้นะฮะ พื้นฐานความคิดของคนยุค 2475 ไม่ใช่เฉพาะทหารนะครับ แต่รวมถึงสายพลเรือน คนชั้นกลางที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในยุคนั้น ผมคิดว่าเป็นความคิดที่บริสุทธิ์ใจ ทั้งหมดหวังดีกับบ้านเมือง อยากให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เฉพาะสายทหารเนี่ย ผมพอจะสรุปได้ว่าเขาก็คิดแต่เพียงว่าเรื่องการใช้กำลังในการยึดอำนาจเนี่ยเป็นของทหาร เสร็จแล้วก็อยากจะให้ฝ่ายพลเรือนซึ่งมีอาจารย์ปรีดีเป็นตัวหลักเนี่ย บริหารบ้านเมืองไป ผมว่าความคิดเบื้องต้นคนที่สะท้อนเรื่องนี้ ผมว่าชัดที่สุดก็คือพระยาฤทธิอัคเนย์

แล้วเราจะเห็นว่า…หลัง 24 มิถุนา (2475) จนถึง 20 มิถุนา (2476) ที่ผมว่าเป็นจุดเปลี่ยนเนี่ย ทหารก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่อง…จะทำการค้า…ยกตัวอย่างสมัยนี้ รถไฟความเร็วสูงเป็นต้น ทหารก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งนะ เป็นเรื่องของพลเรือนแท้ๆ เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของการปล่อยอำนาจให้หลุดมือหรือไม่หลุดมือ แต่เป็นวิธีคิดของทหารยุคนั้นว่าหน้าที่เราเนี่ย ถ้าเราไม่ชำนาญ ไม่ได้เรียนมาเรื่องการบริหารบ้านเมือง เราช่วยเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็จบหน้าที่เรา แถมให้อีกนิด ความคิดนี้มาเปลี่ยนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 กับเหตุการณ์ที่เรียกว่ารัฐประหารจอมพลผิน ชุณหะวัณ…ธนาคารเริ่มมาเชิญทหารไปเป็นกรรมการบอร์ด…”

คือท่านบัญชรก็ตอบได้ดีค่ะ และดิฉันก็เห็นด้วยว่า เบื้องต้นนายทหารสมัยนั้นไม่ได้ต้องการเข้ามายุ่งกับกิจการของพลเรือนจริงๆ แต่ดิฉันคิดว่าอาจจะไม่ตรงประเด็น ตามความคิดของดิฉันมองว่า การที่สี่ทหารเสือบวกหนึ่งกระเด็นจากวงจรอำนาจจริงๆ ซึ่งรวมถึงตำแหน่งแห่งหนในกองทัพด้วย ก็เป็นเพราะอุดมการณ์ที่แตกต่างกันในภายหลังจนนำไปสู่การปะทะขั้นแตกหัก สี่ทหารเสือบวกหนึ่งจึงค่อยๆ กระเด็นออกจากอำนาจไปทีละคนมากกว่าหรือไม่คะ?

ขอแสดงความนับถือ

เพิ้ง บ้านแพร้ว


ตอบ

ก็คงประกอบด้วยหลายปัจจัย และความขัดแย้งก็เป็นหนึ่งในสาเหตุด้วยเหมือนกันนั่นแหละครับ