เมื่อสุนทรภู่แต่งรำพันพิลาป “เกี้ยว” กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3

สุนทรภู่ ผู้แต่ง รำพันพิลาป กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง (ฉากหลัง เป็นวัดเทพธิดารามวรวิหาร)

ใครจะเชื่อสักกี่คนว่า สุนทรภู่ อาจเอื้อมถึงกับแต่ง รำพันพิลาป ซึ่งเป็น “เพลงยาว” เพื่อเกี้ยว กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาบาง

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าวิลาศ” ซึ่งทรงมีพระสิริโฉมงดงามสมพระนาม ทรงเป็นพระธิดาที่พระราชบิดาโปรดมาก ทรงสร้างวัดพระยาไกรสวนหลวง อันเป็นวัดเดิมของต้นตระกูลฝ่ายตา และรัชกาลที่ 3 พระราชทานนามวัดว่า “วัดเทพธิดาราม” (เทพธิดา = อัปสร แปลว่า นางฟ้า) สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2382 และคงนิมนต์สุนทรภู่ไปจำพรรษาในปีนี้ ดังปรากฏใน รำพันพิลาป ว่า

โอ้ปีนี้ปีขาลสงสารวัด  เคยโสมนัสในอารามสามวัสสา

ปีขาลในช่วงนี้ คือ พ.ศ. 2385 นับจากปีที่สร้างวัดได้ 3 ปีพอดี สุนทรภู่ระบุไว้ชัดเจนว่าท่านแต่ง รำพันพิลาป ในปีขาล (โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน) เป็นเพลงยาวบันทึกชีวประวัติของตน และแต่งพาดพิงถึง “กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ” ในรูปความฝัน ขึ้นต้นว่า

สุนทรทำคำประดิษฐ์นิมิตฝัน  พึ่งพบเห็นเป็นวิบัติมหัศจรรย์ จึงจดวันเวลาด้วยอาวรณ์ ฯลฯ

ตามพระนิพนธ์ ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้ข้อมูลมาว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพโปรดหนังสือพระอภัยมณี รับสั่งให้สุนทรภู่แต่งถวายเดือนละ 1 เล่ม และเพื่อสะดวกแก่การที่จะทรงอุปถัมภ์ จึงนิมนต์สุนทรภู่มาจำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม สุนทรภู่ว่าไว้เองในรำพันพิลาปว่า

อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี  ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทาน

เพลงยาว รำพันพิลาป นี้สุนทรภู่ไม่ตั้งใจแต่งให้เป็นนิราศ และไม่เข้าลักษณะเป็นนิราศรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเลย ดังนั้นการที่กรมศิลปากรตัดนิราศพระแท่นดงรัง (สำนวนนายมี ตามหลักฐานที่ ธนิต อยู่โพธิ์ พิสูจน์) และเอาเพลงยาวรำพันพิลาปไปใส่แทนที่ เพื่อจะให้ได้นิราศ 9 เรื่อง ตามพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงไม่น่าจะถูกต้อง

ที่จริงการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่านิราศพระแท่นดงรังสุนทรภู่แต่งนั้นถูกแล้วตามที่ทรงได้ข้อมูลมา แต่ทรงเข้าพระทัยผิดต้นฉบับไป ที่ถูกนิราศพระแท่นดงรังที่สุนทรภู่แต่ง คือ ฉบับเณรกลั่น ในชุดนิราศสำนวนเณรหนู ขึ้นต้นว่า เณรหนูกลั่นวันทามหาเถร คู่กับนิราศวัดเจ้าฟ้าที่ขึ้นต้นว่า เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร ซึ่งเป็นนิราศในมุขใหม่ของสุนทรภู่ ดังที่นเรศ นโรปกรณ์ ว่า สุนทรภู่สวมวิญญาณลูกแต่งนิราศ 2 เรื่อง เรื่องนี้ ผู้รู้หลายท่าน เช่น ฉันท์ ขำวิไล, ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี, ล้อม เพ็งแก้ว, แพง เพชรพันกะรัต ฯลฯ ได้ยืนยันมานานแล้ว แต่แปลกที่กรมศิลปากรแม้ในปี 2545-2546 นี้เอง ก็ยังคงข้อมูลเดิมในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ไว้ ซ้ำเอารำพันพิลาปไปใส่ให้เป็นนิราศเสียด้วย

เรื่องนี้ กรมศิลปากรน่าจะชำระได้แล้ว ปัจจุบันนี้นักวรรณคดีได้หักล้างข้อมูลเดิมและให้ข้อมูลใหม่ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือเกี่ยวกับผลงานของสุนทรภู่เป็นอันมาก ผมขอเรียกร้องให้กรมศิลปากรตั้งกรรมการชำระได้แล้ว อย่าได้ยึดพระคัมภีร์นักเลย

หันกลับมาเข้าเรื่องสุนทรภู่เกี้ยวกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพต่อไป

ถามว่ามีตอนไหนบ้างที่ระบุว่าเกี้ยว ตอบได้ว่ามีหลายที่หลายแห่ง เช่น

โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน  ที่หมายมั่นเหมือนจะหมางระคางเขิน

ก็คิดเห็นเป็นเคราะจำเพาะเผอิญ  ให้ห่างเหินหายหวนรัญจวนใจ

จึงแต่งตามตาามฝันรำพันพิลาป  ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาสัย

จะสั่งสาวชาวบางกอกข้างนอกใน  ก็กลัวภัยให้ขยาดพระอาชญา

จึงเอื้อมอ้างนางสวรรค์ตามฝันเห็น  ให้อ่านเล่นเป็นเล่ห์เสน่หา

ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา  รักแต่เทพธิดาสุราลัย

ซ้ำยังบอกว่า “พระภู่” แต่งเสียด้วย ดังกลอนว่า

พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย  อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน

นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน  เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง

ทำไมสุนทรภู่ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระจึงพูดถึงแต่ “สาวสาว” คำตอบคือ

โอ้กระฎีที่จะจากฝากน้ำตา  ไว้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว

เคยเยี่ยมเยือนเพื่อนเก่าเมื่อเราอยู่  มาหาสู่ดูแลทั้งแก่สาว

ยืมหนังสือลือเลื่องถามเรื่องราว  โอ้เป็นคราวเคราะห์แล้วจำแคล้วกัน

จับใจความได้ว่า กุฎิของสุนทรภู่คงเป็นแหล่งชุมนุมพวกชอบเพลงยาว เป็นร้านหนังสือและห้องสมุด (มีบางท่านได้ข้อมูลมาว่าท่านรับแต่งเพลงยาวให้หนุ่ม-สาวด้วย ในข้อนี้ผมไม่ปลงใจเชื่อ เพราะเสี่ยงต่ออาบัติหนัก-ชักสู่ชายหญิงให้เป็นผัว-เมียกัน) ท่านคงอยู่สงบตามวิสัยสมณะไม่ได้แน่ อนึ่ง สาวชาววังก็คงมาวุ่นวายอยู่บ้าง ท่านแย้มๆ ไว้ในรำพันพิลาป ว่า

โอ้สงสารหลานสาวเหล่าข้าหลวง  เคยมาลวงหลงเชื่อจนเหลือเหลิง

ไม่รู้เท่าเจ้าทั้งนั้นเสียชั้นเชิง  เชิญบันเทิงเถิดนะหลานปากหวานดี

ได้ฉันลมชมลิ้นเสียสิ้นแล้ว  ล้วนหลานแก้วหลอกน้าต้องล่าหนี

จะนับเดือนเลื่อนลับไปนับปี  จงอยู่ดีได้เป็นหม่อมให้พร้อมเพรียง

ก็นางข้าหลวงไปบ่อยนี่เอง (บางทีอาจมีรับสั่งให้ไปทวงต้นฉบับ ก็เลยถือโอกาสวานท่านแต่งเพลงยาวหรือทำอะไรให้) เป็นสาเหตุที่หลวงน้าภู่ท่านอยู่ไม่สุข บางทีท่านขัดใจไม่รู้จะเล่นงานชาววังอย่างไรท่านก็แต่งว่าเหน็บไปในพระอภัยมณี (ชาววังล้วนเป็นแฟนพระอภัยมณี) โดยถือเอาเนื้อเรื่องตอนใดตอนหนึ่ง เช่น ตอนบาทหลวงโกรธนางละเวงที่ไม่จัดการพระอภัยจริงๆ ก็แต่งว่า

บาทหลวงด่าว่ากูไม่พอใจฟัง  นางชาววังปากหวานน้ำตาลทา

ถ้าถึงทีมีการมาวานใช้  ส่วนบุญไม่ได้ทำการหนักหนา

หรือตอนสินสมุทรไม่สมหวังเรื่องรักก็ว่า

คบชาววังครั้งไรก็ได้ทุกข์  ไม่มีสุขแสนวิตกเพียงอกหัก

ใน พ.ศ. 2384 (ปีฉลู) ท่านเดินทางไปสุพรรณและแต่งโคลงนิราศสุพรรณ บอกไว้ในรำพันพิลาปว่า

สู้ซ่อนหน้าฝ่าฝืนสะอื้นอาย  จนถึงปลายปีฉลูมีธุระ

ธุระของท่านคือ 

ต่อเมื่อไรไปทำทองสำเร็จ  แก้ปูนเพชรพบทองสักสองถุง

จะผาสุกทุกสิ่งนอนกลิ้งพุง  กินหมูกุ้งไก่เป็ดจนเข็ดฟัน

นัยว่าท่านไปสุพรรณครั้งนี้ไปเล่นแร่แปรธาตุ หาเหล็กไหลและยาอายุวัฒนะ แสดงว่าไปในปี ๒๓๘๔ จริง โคลงนิราศสุพรรณคงแต่งในปีนี้ เพราะบอกไว้ในรำพันพิลาปว่า

โอ้ยามยากอยากใคร่ได้เหล็กไหลเล่น  ทำทองเป็นปั้นเตาเผาถลุง

ลองตำราอาจารย์ทองบ้านจุง  จดเกลือหุงหายสูญสิ้นทุนรอน

เทพ สุนทรศารทูล กล่าวไว้ในชีวประวัติพระสุนทรโวหารว่า โคลงนิราศสุพรรณสุนทรภู่แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรเทพ โดยอ้างหลักฐานในโคลงบทที่ 76 ว่า

ถึงคลองร้องเรียกบ้าน   บางหลวง

รำลึกนึกถึงดวง   ดอกฟ้า

เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวทรวง   แสนเทวษ ทุเรศเอย

อุ้มรักหนักอกถ้า   เทียบเถ้าเขาหลวง

เทพ สุนทรศารทูลว่า สุนทรภู่เรียก กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ว่า ดอกฟ้า และเมื่อแต่งโคลงนิราศสุพรรณถวายแล้ว ปี 2385 ก็แต่ง รำพันพิลาป ถวายอีก ทรงอ่านแล้วก็คงจะเฉยเสีย ดังนั้นในปี 2385 เมื่อสุนทรภู่ถวายรำพันพิลาปไปแล้ว จึงเดินทางไปนครปฐมแต่งนิราศพระประธมในปีเดียวกัน ก็กล่าวถึงดอกฟ้าอีก ดัง กลอนว่า

ถึงวัดสักเหมือนพึ่งรักที่ศักดิ์สูง  สูงกว่าฝูงเขาเหินเห็นเกินสอย

แม้นดอกฟ้าคลาเคลื่อนหล่นเลื่อนลอย  จะได้คอยเคียงรับประคับประคอง

และในนิราศนี้ก็กล่าวถึงเทพธิดาอีก ซ้ำตอนท้ายนิราศกล่าวถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพชัดเจน ทำนองว่าขอขมาลาโทษ ดังกลอนว่า

อนึ่งน้อมจอมนิกรอัปสรราช  บำรุงศาสนสงฆ์ทรงสิกขา

จงไพบูลย์พูนสวัสดิ์วัฒนา  ชนมาหมื่นแสนอย่าแค้นเคือง

คำว่า แค้นเคือง เทพ สุนทรศารทูล ตีว่า “ขออย่าทรงแค้นเคือง เรื่องรำพันพิลาปเลย” แต่ผู้เขียนว่า คำนี้แปลว่า “ยากแค้น-ฝืดเคือง” ก็ได้

เทพ สุนทรศารทูล กล่าวทำนองว่า เมื่อไม่โปรดอะไรออกมาจากในวัง สุนทรภู่เลยร้อนตัวย้ายไปอยู่วัดสระเกศที่อยู่ตรงข้ามกัน

พ.ศ. 2388 กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่ไม่มีจุดบันดาลใจอะไรอีกแล้ว จึงไม่แต่งนิราศอีก (ท่านเทพว่านะครับ)

ข้อกังขาก็คือ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงได้อ่านรำพันพิลาปหรือไม่ หรือสุนทรภู่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายหรือไม่

คำตอบมีได้ 2 ข้อ

1. ผู้เขียนว่าถ้าถวายและได้อ่าน จะต้องทรงปกปิดอย่างกวดขัน ไม่ให้ใครรู้ โดยเฉพาะพระราชบิดา (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) รำพันพิลาปจึงหายไปจากบรรณโลก แม้แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็ไม่ทรงทราบในปีที่ทรงนิพนธ์ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ในปี พ.ศ. 2465 รำพันพิลาปเพิ่งจะปรากฏในปี 2480 ในสมัย ร.8 โดยพระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) ในตระกูลบุนนาค (บุตรเจ้าพระยาอัครมหาเสนา) เป็นผู้นำมามอบให้หอสมุดแห่งชาติ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงทราบในปีนี้ แสดงว่าคงถูกเก็บไว้ในวังนั่นเอง เพราะถ้าเป็นที่รู้กันในสมัยนั้น คงเป็นเรื่องใหญ่มาก สุนทรภู่ก็ยอมรับอยู่แล้วว่า “ทั้งบ้านทั้งวังวัดเป็นศัตรู” และ “ก็กลัวภัยให้ขยาดพระอาชญา”

2. สุนทรภู่คงไม่กล้านำต้นฉบับขึ้นทูลถวาย คงเก็บไว้ที่วัดนั่นเอง แต่เทพ สุนทรศารทูล ว่า “คงได้รับเพลงยาวฉบับนี้ แต่ไม่ได้ทรงถือสาหาความอะไร อาจจะทรงพอพระทัยที่กวีแก่คนหนึ่ง บวชเป็นพระภิกษุอยู่ด้วยมาแต่งกลอนเกี้ยวอย่างเพ้อฝัน อาจจะทรงมีความรู้สึกว่าเหมือนเลี้ยงนกเขาไว้ขันฟังเล่นเพลินๆ ก็ได้ เจ้านายพระองค์นี้โปรดการกวี โปรดสักวา…”

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ สุนทรภู่กล้าเหลือหลายละครับที่แต่งเกี้ยวกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ใครจะนึกว่าสุนทรภู่กล้าแต่งขนาดนี้ และสังเกตว่าท่านบรรจงแต่งหนักหนา ท่านถือว่าเป็นกลอนชั้นยอดของท่านด้วย ดังกลอนตอนใกล้จบ ว่า

ถวิลหวังสังวาสสวาทแสวง  ให้แจ่มแจ้งแต่งตามเรื่องความฝัน

ฝากฝีปากฝากคำที่สำคัญ  ชื่อรำพันพิลาปปล้ำกาพย์กลอน

สรุปว่า ตามความเห็นของสุนทรภู่ เพลงยาว รำพันพิลาปเป็นยอดของกาพย์กลอน เพราะท่านประณีตบรรจงแต่งเหลือเกิน ทั้งต้องใช้ความกล้าหาญและเสี่ยงภัยอย่างมาก เสี่ยงทั้งพระอาชญา สมณสารูป การที่อาจต้องรังเกียจและขาดพระอุปถัมภ์

หรือบางท่านอาจจะนึกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพพระสงฆ์มาก ใครไปกราบทูลเรื่องพระเตะตะกร้อก็ตรัสว่า “เจ้ากูเมื่อยขบจะเตะตะกร้อบ้างก็ช่างเจ้ากูเถิด” หรือมีการถวายฎีกาเรื่องพระผู้ใหญ่ต้องปฐมปาราชิก (เสพเมถุน) ก็ตรัสว่า

“อ้ายพวกฆราวาสนี่ก็แปลก ทีพวกมันเ-็ดกันทุกวัน เจ้ากูก็ไม่เห็นจะว่าอะไร ทีเจ้ากูจะเ-็ดมั่ง มันกลับมาว่า ฎีกานี้ให้ยกเสีย อย่าให้ใครรับฎีกาเช่นนี้อีก”

สรุปว่าไม่ทรงต้องการที่จะเกี่ยวข้องกับคดีของพระสงฆ์ สมมุติว่ามีใครได้อ่านรำพันพิลาปในสมัยนั้นแล้วฎีกาขึ้น เทียบเคียงกับเรื่องที่เล่าอาจจะตรัสว่า

“อ้ายพวกฆราวาสนี่ก็แปลก เจ้ากูจะฝันถึงใครหรือจะฝันถึงลูกกูก็ช่างเป็นไร เจ้ากูก็บอกอยู่แล้วว่าฝันฎีกานี้ให้ยกเสีย…”

เรื่องจะเป็นอย่างนี้ได้หรือ?

ขณะที่สุนทรภู่แต่งรำพันพิลาปท่านอายุ 56 ปี กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพพระชันษา 31 ปี

ผมสงสัยว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงได้อ่านรำพันพิลาปหรือไม่ มีคนว่าได้อ่านหนึ่งคน คือ เทพ สุนทรศารทูล ซึ่งท่านเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2545 ท่านนักวรรณคดีอื่นๆ ละครับจะว่าอย่างไร สุนทรภู่จะกล้าถวายหรือ? และถ้าแต่งแล้วไม่กล้าถวายให้ทรงอ่าน สุนทรภู่จะแต่งขึ้นทำไม ซ้ำยังประจงแต่งหนักหนา

น่าคิดน่าสงสัยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2560