แผนจัดการน้ำของ “นายไฮเด” วิศวกรฮอลันดาสมัยร.5 สิ่งที่ไทยทำและไม่ได้ทำจนน่าเสียดาย

นายไฮเด (คนที่ ๒ จากซ้าย) และเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ บริเวณประตูน้ำคลองแสนแสบที่ปทุมวัน (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

อนุสนธิจาก โจร โรคระบาด ชีวิตชาวนา และการจัดระบบชลประทาน ในทุ่งรังสิต สมัยรัชกาลที่ 5 ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2554 นั้น แม้ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ จะเขียนขึ้นภายใต้ข้อจำกัดทางด้านเอกสาร เพราะเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยที่ต้องหนีน้ำท่วม แต่กระนั้น สาระที่ปรากฏ ช่วยให้เข้าใจเรื่องน้ำและการจัดการน้ำในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองเราได้อย่างชัดเจน

บางตอนในบทความดังกล่าว กล่าวถึง นาย เจ. โฮมาน วัน เดอร์ ไฮเด (J. Homan Van der Heide) ที่ปรึกษาด้านชลประทานของรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้นำเสนอโครงการชลประทานในที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งยังขาดรายละเอียดอยู่นั้น จึงใคร่ขอนำเสนอเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับนายไฮเด โดยเฉพาะข้อเสนอดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

นายไฮเด คือใคร

นายไฮเด (J. Homan Van der Heide) คือวิศวกรชาวฮอลันดา ผู้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ว่าจ้าง ศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับน้ำในสยามประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2445-52 เนื่องจากนายไฮเดมีประสบการณ์เคยทำงานกับบริษัท Waterstaat of Netherlands India ที่เมืองปัตตาเวีย (Batavia) หรือจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน

หลังจากการสำรวจสภาพพื้นที่และภูมิประเทศของสยามแล้ว นายไฮเดได้นำเสนอรายงานต่อเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ในปี พ.ศ. 2446 จากผลงานดังกล่าว มีผลต่อแนวคิดในการพัฒนาสยามประเทศอย่างมาก นายไฮเดยังได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมคลองคนแรกของสยามประเทศในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกรมชลประทานที่มีบทบาทสำคัญในคราวที่เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา (บทความนี้เผยแพร่เมื่อ 2555 – กองบก.ออนไลน์)

ข้อเสนอของนายไฮเดเป็นอย่างไร

รายงานเรื่อง การชลประทานและการระบายน้ำในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (General Report on irrigation and drainage in the Lower Menam Valley) ของนายไฮเด มีสาระและข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการจัดการน้ำ

รายงานของนายไฮเด

สำหรับการพัฒนาเกษตรกรรมของสยามประเทศในเวลานั้น ได้แก่

1. เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีระบบชลประทานและระบายน้ำ ในพื้นที่ที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง?

2. ใช่หรือไม่ ที่ระบบชลประทานและระบายน้ำในพื้นที่ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร?

3. ใช่หรือไม่ ที่การเพิ่มขึ้นของผลผลิตทางการเกษตร จะทำให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของสยามดีขึ้น?

รายงานของนายไฮเด

รายงานของนายไฮเด เกี่ยวกับเรื่องการชลประทานและการระบายน้ำ มีความหนากว่า 150 หน้า ประกอบด้วยข้อมูลปฐมภูมิที่มาจากการสำรวจภาคสนามและข้อมูลทุติยภูมิจากแหล่งอื่นๆ มีการวิเคราะห์และสรุปผล นำเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ โดยนายไฮเดได้นำเสนอไว้ในแต่ละบท ดังนี้

บทที่หนึ่ง กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการชลประทาน ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง โดยพิจารณาจากความลาดชันของพื้นที่ ปริมาณน้ำในลำน้ำ และความเป็นไปได้ในทางเทคนิค ตอนท้ายของบท นายไฮเดสรุปว่า สภาพธรรมชาติของพื้นที่ดังกล่าวของสยามประเทศ ไม่ได้เป็นอุปสรรคและมีความเป็นไปได้ในทางเทคนิค ที่จะก่อสร้างระบบชลประทานและการระบายน้ำ           

ในบทที่สอง นายไฮเดอธิบายความสำคัญการชลประทานและการระบายน้ำเพื่อการปลูกข้าว จากการศึกษาเปรียบเทียบพันธุ์ข้าว สภาพพื้นที่ และความต้องการ ปริมาณน้ำที่ต่างกัน โดยอาศัยข้อมูลจากประเทศอินเดีย อียิปต์และญี่ปุ่น

แผนผังโครงการของนายไฮเด

ในบทนี้ ยังกล่าวถึงการส่งน้ำตามธรรมชาติ คือ น้ำฝน น้ำที่ไหลล้นมาจากพื้นที่ข้างเคียงที่สูงกว่า และน้ำล้นจากทางน้ำธรรมชาติ มีการแสดงสถิติปริมาณฝนเฉลี่ย 10 ปี (พ.ศ. 2425-2434) ของกรุงเทพฯ ชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำฝนในสยามตอนล่างมีน้อยกว่าปริมาณน้ำฝนในพื้นที่จังหวัดทางเหนือ พื้นที่ระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่โขง รวมทั้งน้อยกว่าลุ่มแม่น้ำในภาคตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนน้ำที่ไหลมาจากที่ข้างเคียง นายไฮเดกล่าวว่า ในกรณีที่ฝนตกหนักและน้ำไม่สามารถถูกกักเก็บไว้ได้ จะไหลไปยังพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่า ซึ่งโดยปกติพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่า ก็ได้รับน้ำฝนอยู่แล้ว น้ำที่ล้นลงมาจึงไม่มีประโยชน์และไม่มีความจำเป็น อีกทั้งน้ำล้นจากทางน้ำธรรมชาติจะเกิดขึ้นในที่ราบลุ่ม ในช่วงที่มีน้ำสูงเป็นพิเศษและมีระยะเวลาสั้น จึงไม่ช่วยในการเพาะปลูก

สำหรับคลองและทางน้ำที่มีอยู่เดิม ก็ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่เพาะปลูกได้ เนื่องจากต่อเนื่องกับแม่น้ำ   ดังนั้นในช่วงที่น้ำในแม่น้ำล้นขอบตลิ่งจึงจะไหลเข้าสู่คลอง ซึ่งเกิดในระยะเวลาสั้นๆ ส่วนในช่วงที่น้ำในแม่น้ำมีระดับต่ำ น้ำในคลองกลับจะไหลจากพื้นที่เพาะปลูกออกสู่แม่น้ำ ในส่วนของคลองใกล้ชายฝั่งอ่าวไทย จะได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น น้ำลง จึงทำให้น้ำเค็มไหลย้อนกลับเข้าไปตามลำน้ำ จนไม่สามารถดื่มได้และส่งผลเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูก                                                                             

นายไฮเดได้สรุปถึงคุณประโยชน์ของระบบชลประทาน ที่จะช่วยยืดระยะเวลาเพาะปลูก ขยายพื้นที่เพาะปลูกและช่วยให้ชาวนามีผลผลิตที่มีคุณภาพและได้ราคามากกว่า

บทที่สาม นายไฮเดอธิบายว่าหากต้องการจะพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ รัฐบาลมีความจำเป็นในการสร้างระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มผลผลิตนำไปสู่การเพิ่มรายได้ของรัฐบาลจากภาษี ทั้งจากภาษีที่ดินและภาษีน้ำ ซึ่งคิดจากปริมาณน้ำที่ถูกส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงภาษีจากการผ่านประตูน้ำของเรือที่ใช้คลองในการสัญจรและขนส่งสินค้า 

ในบทที่สี่ อธิบายถึงภาพรวมของโครงการชลประทานในที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง โดยกำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลัก ในการส่งน้ำตามระบบชลประทาน และการเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก แทนการปล่อยให้น้ำไหลลงทะเล ซึ่งนายไฮเดได้เสนอการผันน้ำซึ่งมีราคาถูกกว่าการใช้ระบบปั๊มน้ำ เสนอให้สร้างคลองชลประทาน ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตามสภาพความลาดชันของพื้นที่ เพื่อประหยัดเงินในการก่อสร้าง โดยกำหนดตำแหน่งทำนบบนแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณชัยนาท และให้แม่น้ำน้อยเป็นคลองชลประทานส่งน้ำในระบบ รวมถึงทำนบที่จะผันน้ำไปยังคลองมะขามเฒ่าและไหลสู่แม่น้ำสุพรรณบุรี ซึ่งจะเป็นคลองหลักฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในส่วนล่างฝั่งขวาของแม่น้ำสุพรรณบุรีบริเวณบางปลาม้า จะสร้างคลองเชื่อมไปถึงแม่กลอง ในขณะที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะใช้แม่น้ำลพบุรีเป็นคลองหลัก ต่อไปยังอยุธยาจนถึงสำโรง โดยใช้คลองเปรมประชากรในช่วงจากเกาะเกร็ดถึงกรุงเทพฯ

ในบทนี้ นายไฮเดยังได้เสนอแนวทางการพัฒนาแม่น้ำสายอื่น เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง รวมถึงพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน สำหรับพื้นที่สยามตอนล่างการระบายน้ำจะเป็นเรื่องรองจากการส่งน้ำ ทั้งนี้การระบายน้ำทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะใช้แม่น้ำสุพรรณบุรี และทางตะวันออกจะอาศัยออกคลองบางเหี้ย (คลองด่าน) ลงสู่ทะเล  รวมทั้งเสนอการป้องกันน้ำทะเลไหลย้อนเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก โดยการสร้างประตู
ป้องกันน้ำ

บทที่ห้านี้กล่าวถึงทางเลือกของโครงการที่ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของเวลาและงบประมาณ และผลตอบแทน อธิบายขั้นตอนในการดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่การสำรวจ การวางแผน การปรับปรุงคลองเดิม และการก่อสร้างประตูกั้นน้ำ โดยจัดลำดับการดำเนินงานในคลองหลักก่อน ได้แก่ คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก และคลองแสนแสบ เพื่อสามารถเดินทางข้ามลุ่มแม่น้ำตอนล่างได้ และการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำเค็มที่คลองบางเหี้ย

ส่วนระบบการส่งน้ำนั้น สามารถดำเนินการไปพร้อมกับงานปรับปรุงคลองเดิม แต่ต้องมีการสำรวจและรังวัดเพื่อกำหนดขนาดและระดับของทำนบหรือเขื่อนได้ รวมถึงงานการปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่ต่ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยนายไฮเดกำหนดแผนในการดำเนินการสร้างระบบส่งน้ำทั้งหมด ๑๒ ปี

นายไฮเดมีข้อแม้ว่า หากงบประมาณที่ต้องใช้ทั้งหมดมากเกินกว่าที่รัฐบาลจะดำเนินการได้ ก็มีข้อเสนอให้ตัดลดงานบางส่วนลงได้

บทที่หก กล่าวถึงการบำรุงรักษาและการบริหารจัดการ รวมถึงผลตอบแทน ซึ่งนายไฮเดประมาณค่าใช้จ่าย  และการหารายได้ในรูปแบบของภาษีน้ำและภาษีค่าผ่านประตูน้ำ โดยยกกรณีศึกษาของชวา

เขื่อนเจ้าพระยา (ภาพจากกรมประชาสัมพันธ์)

ในบทที่เจ็ด นายไฮเดกล่าวถึงการจัดตั้งองค์กรเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการตั้งหน่วยงานใหม่ คือกรมชลประทาน (Royal Irrigation Department) ภายใต้กระทรวงเกษตราธิการ นายไฮเดได้ระบุขอบเขตและหน้าที่ของกรม ในด้านการวางแผน จัดการ ดำเนินการ และตรวจสอบระบบชลประทาน มีแผนงานปรับปรุงระบบคลองเดิม การเตรียมงานและการก่อสร้างโครงการเจ้าพระยาใหม่ที่เสนอ การจัดหาบุคลากร การฝึกอบรม การแต่งตั้ง สัญญาว่าจ้างบุคลากร การบริหารการเงินขององค์กร ตลอดจนกฎระเบียบต่างๆ

นายไฮเดสรุปในตอนท้ายของรายงาน ให้เห็นภาพรวมของโครงการทั้งหมด ประกอบด้วย การปรับปรุงคลองที่มีอยู่เดิม การสร้างระบบส่งน้ำ ประกอบด้วย ทำนบที่ชัยนาทและการสร้างคลองหลักทั้งฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงคลองหลักสุพรรณ พร้อมด้วยงานก่อสร้างประตูน้ำและประตูควบคุมการสัญจร

จะเห็นได้ว่า สาระที่อยู่ในรายงานของนายไฮเดนั้น มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะข้อเสนอให้มีการดำเนินงาน แต่เนื่องจากแต่ละโครงการต้องใช้งบประมาณจำนวนมากจึงมีเพียงงานสร้างระบบประตูน้ำเปิด-ปิด 12 แห่ง ที่ดำเนินการในช่วง
เวลาระหว่างที่นายไฮเดยังอยู่ในสยามระหว่างปี พ.ศ. 2445-52 ได้แก่ ประตูกั้นน้ำทะเลจากคลองบางเหี้ย (คลองด่านในปัจจุบัน) เชื่อมต่อกับคลองสำโรงประตูน้ำทั้ง 2 ข้างของคลองดำเนินสะดวก ทั้ง 2 ข้างของคลองภาษีเจริญ ทั้ง 2 ข้างของคลองประเวศบุรีรมย์ ทั้ง 2 ข้างของคลองสำโรง และประตูน้ำอีก 3 แห่งของคลองแสนแสบ ที่จะไปออกบางขนากและแยกไปออกท่าไข่   

หลังจากนั้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจของสยามประเทศเริ่มมีปัญหา ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ข้อเสนออื่นๆ จึงมิได้นำมาพิจารณาหรือดำเนินการแต่อย่างใด

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2500 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในภูมิภาค จากการสนับสนุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยเป็นโครงการกู้เงินของธนาคารโลก จึงมีการก่อสร้างทำนบที่ชัยนาทหรือเขื่อนเจ้าพระยา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2498 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมการก่อสร้างและประทับแรม ณ เขื่อนเจ้าพระยา

หลังจากการก่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 มีพระราชดำรัสเนื่องในการเปิดเขื่อนเจ้าพระยา และทรงลงพระปรมาภิไธยในแผ่นจารึก ความว่า

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมในพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยาในวันนี้ ประเทศของเราเป็นประเทศกสิกรรม ทั้งข้าวก็เป็นอาหารหลักของประชาชนพลเมือง การอยู่ดีกินดีของอาณาประชาราษฎร์และความสมบูรณ์มั่งคั่งของประเทศ ยังต้องอาศัยอยู่กับการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าว
ในภาคกลางนี้ รัฐบาลของเราทุกยุคทุกสมัยดังที่นายกรัฐมนตรีแถลงมา ได้เล็งเห็นความสำคัญ และสนใจในการทำนุบำรุงประเทศ โดยการที่จะสร้างโครงการชลประทานเพื่อส่งเสริมช่วยการเพาะปลูกและการทำนาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่น่ายินดียิ่งนักที่เขื่อนเจ้าพระยาอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการชลประทานที่ได้ดำริกันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นอันก่อสร้างสำเร็จลงได้ในปัจจุบันนี้

ทั้งนี้เป็นหลักพยานอันหนึ่งถึงความเพียรพยายามที่จะดำเนินการ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติอันดีของคนไทย ตามคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เห็นได้แล้วว่า ความสำเร็จของเขื่อนเจ้าพระยาได้ส่งผลให้แก่พื้นที่นาทั้งสองฝั่งในระยะเริ่มแรกนี้แล้วเพียงไร ข้าพเจ้าขออนุโมทนาด้วย และขอบรรดาท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนี้ จงได้รับคำชมเชยทั่วกัน ได้เวลาแล้วข้าพเจ้าจะได้กระทำพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยา ขอให้เขื่อนเจ้าพระยานี้จงสถิตอยู่ด้วยความมั่นคงถาวร ได้อำนวยบริการแก่ประเทศชาติและเพิ่มพูนประโยชน์แก่กสิกรต่อไปอย่างไพศาลสมตามปณิธานที่ได้ก่อสร้างขึ้นนั้นทุกประการ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ทุกๆ คนทั่วกัน”

อนึ่ง จากการศึกษารายงานเรื่องการชลประทานและการระบายน้ำในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างของนายไฮเด พบข้อสังเกตบางประการ ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่เพิ่งผ่านไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 ดังนี้

1. ปริมาณน้ำฝน ในรายงานแสดงตัวเลขเฉลี่ย 10 ปีของปริมาณน้ำฝนในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2425-34)  ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยของปริมาณน้ำฝน ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2504-33 และปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำฝน ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนตุลาคมในปี พ.ศ. 2544 นั้น มากกว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน ระหว่างปี พ.ศ. 2425-34 และปี พ.ศ. 2504-
33 ซึ่งเป็นไปตามคำอธิบายของผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมา มีสาเหตุหลักมาจากปริมาณน้ำฝนนั้นมากและยาวนาน (ดูตาราง)

2. คลองหลักฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หนึ่งในข้อเสนอของนายไฮเด คือ การผันน้ำจากทำนบหรือเขื่อนที่ชัยนาท ไปยังคลองมะขามเฒ่า และไหลสู่แม่น้ำสุพรรณบุรี ซึ่งจะเป็นทางน้ำหลักทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำสุพรรณบุรีบริเวณบางปลาม้า จะต้องสร้างคลองเชื่อมไปถึงแม่กลอง เพื่อการชลประทานและระบายน้ำ เป็นที่น่าเสียดายว่า แนวคิดนี้ไม่มีการดำเนิน
งานแต่อย่างใด ทำให้พื้นที่บริเวณบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ยังเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากตลอดมาจน
ถึงปัจจุบัน หลังจากเกิดมหันตภัยน้ำท่วมคราวนี้จึงมีผู้นำเสนอแนวคิดเดียวกันนี้อีกครั้ง

3. ราคาที่ดิน ในรายงาน นายไฮเดอธิบายเกี่ยวกับที่ดินไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องราคาที่ดินในสยามประเทศ ที่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาน้ำท่วมขังและระยะห่างจากน้ำ ที่ดินใกล้ทางน้ำจะมีราคาแพง ด้วยเป็นพื้นที่น้ำท่วมเป็นประจำ ยิ่งที่ดินติดแม่น้ำเจ้าพระยาหรือแม่น้ำท่าจีนที่มีน้ำท่วมเป็นเวลานานจะยิ่งมีมูลค่าแพงขึ้น เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่มต่ำระหว่างแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ที่เหมาะกับการปลูกข้าวมากที่สุด จะมีมูลค่าสูงเช่นกัน ซึ่งข้อมูลเรื่องราคาที่ดิน ดูจะแตกต่างไปจากสภาพปัจจุบัน ที่ดินที่มีปัญหาน้ำท่วมจะเริ่มลดราคาลงหลังน้ำท่วมใหญ่คราวนี้ เมื่อน้ำท่วมกลายเป็นปัญหารุนแรง

อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราคาที่ดินกับน้ำท่วมนั้นได้แปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงเวลาร้อยปีที่ผ่านมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

J. Homan Van Der Heide. January 24, 1903. General Report on irrigation and drainage in the Lower Menam Valley. Engineer of the Waterstaat of Netherlands India, temporarily placed at the disposal of the Siamese Government, Bangkok.

http://irrigation.rid.go.th/rid12/damchaophaya/Data/p1.html     

http://www.tmd.go.th/en/province_stat.php?StationNumber=48455                             

http://www.tmd.go.th/climate/climate.php?FileID=4


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2560