2 ข้อมูลกับที่มาพญาปาด

อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาปาด หน้าที่ว่าการอำเภอน้ำปาด (ภาพประกอบจาก https://district.cdd.go.th)

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยนเรศวรและเป็นหัวหน้ากลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทาง สาขาวิชาประวัติศาตร์ (ปัจจุบันยกฐานะเป็นภาควิชาประวัติศาสตร์) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เขียนได้รับมอบหมายจาก รองศาสตราจารย์ ดร. จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ ให้พาสมาชิกกลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทางลงพื้นที่ทำการสำรวจข้อมูลประวัติศาสตร์และโบราณคดีลุ่มน้ำน่าน น้ำปาด และน้ำตรอน ในเขตหุบเขาทางด้านตะวันออกของจังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอท่าปลา น้ำปาด ฟากท่า บ้านโคก และทองแสนขัน) ระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม 2553

ในการเดินทางครั้งนั้นเราได้ค้นพบข้อมูลประวัติศาสตร์โบราณคดีและเรื่องราวใหม่ๆ ในท้องถิ่นดังกล่าวมากมายไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน ชุมชนโบราณ ตำนานเรื่องเล่าและความเชื่อของท้องถิ่น ในที่นี้ผู้เขียนจะได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของพญาปาดซึ่งมีความขัดแย้งกันระหว่างเอกสารที่ปรากฏอยู่ของทางราชการกับคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในท้องถิ่นมาให้ผู้อ่านได้ศึกษาและช่วยกันวิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้วพญาปาดมีที่มาอย่างไรกันแน่

ข้อมูลที่ 1 : พญาปาด คือ เจ้าเมืองน้ำปาด

ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและที่มาของพญาปาดตามที่ปรากฏด้านหน้าอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาปาด ที่ว่าการอำเภอน้ำปาดนั้นระบุว่า พญาปาด เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะบรรพชน ผู้บุกเบิกสร้างเมืองนี้ขึ้น โดยมีหลักฐานว่า ท่านเป็นผู้นำชาวบ้านอพยพจากเมืองหลวงพระบางและเมืองเวียงจันทน์ มาตั้งรกรากใหม่ ณ บริเวณริมลำน้ำบ้านสองคอนเป็นเบื้องแรก และต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ได้ขยับขยายลงมาทางใต้ แล้วสร้างเมืองขึ้นใหม่บริเวณบ้านฝาย ซึ่งอยู่ริมลำน้ำเช่นเดียวกับแห่งแรก จึงเรียกชื่อลำน้ำแห่งนี้ว่า “ลำน้ำปาด” หรือ “แม่น้ำปาด” ตามชื่อผู้นำเช่นเดียวกับชื่อเมือง พญาปาดได้ชื่อว่าเป็นบรรพชนของชาวน้ำปาด ที่มีบทบาททางด้านการปกครองและการพัฒนาบ้านเมืองอย่างสูงยิ่ง

อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาปาด เป็นรูปเจ้าพ่อพญาปาดนั่งอยู่บนแท่นหล่อด้วยสำริด มีดาบวางพาดอยู่บนตัก สวมหมวกแบบนักรบโบราณ สวมเสื้อคอปกแขนยาว มีกระดุมตรงกลาง สวมกางเกงเลยเข่าเล็กน้อย มีผ้าขาวม้าคาดเอว ส่วนศาลเจ้าพ่อพญาปาดมีอยู่ 2 แห่ง หลักๆ คือ บริเวณบ้านฝายแห่งหนึ่ง แห่งนี้ที่ว่ามีของใช้ของพญาปาดเก็บรักษาอยู่ แห่งที่ 2 คือบริเวณบ้านสองคอน ทั้ง 2 แห่งล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ริมน้ำ ฝั่งแม่น้ำปาด และสอดคล้องกับข้อมูลประวัติของพญาปาด

ศาลเจ้าพ่อพญาปาด ที่บ้านฝาย อำเภอน้ำปาด ภาพประกอบจาก www.museumthailand.com

คุณสมชาย เดือนเพ็ญ รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบางขลัง จังหวัดสุโขทัย ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ปัจจุบันยังมีการเก็บรักษาเสื้อยันต์ หมวก และดาบของพญาปาดไว้ นอกจากนี้ยังมีแผ่นผ้าที่มีการเขียนตัวอักษรลาวลงบนผ้า คล้ายๆ ลักษณะของใบจุ้มแต่อักษรค่อนข้างเลื่อนมาก คุณสมชายเคยบันทึก ภาพข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ส่งไปเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ส่วนของจริงจะมีการนำออกมาทำพิธีบวงสรวงในวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี ที่ศาลเจ้าพ่อพญาปาด บ้านฝาย

สำหรับที่ตั้งเมืองน้ำปาดนั้น ที่บ้านสองคอน อำเภอฟากท่า มีการพบร่องรอยชุมชนโบราณซึ่ง รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เคยมาสำรวจ พบว่า มีร่องรอยชุมชนโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำในเขตบ้านสองคอน ลักษณะเป็นชุมชนสี่เหลี่ยมมุมมน แต่มีขนาดเล็ก ภายในบริเวณคูน้ำพื้นดินถูกเกลื่อนให้เป็นพื้นที่นาเกือบทั้งหมด มีการพบเศษภาชนะดินเผามีลักษณะเป็นรูปแบบของพวกชาวลาว ที่อายุประมาณ 200 ปีลงมาเป็นอย่างมาก ตามประวัติท้องถิ่นระบุว่าเป็นเมืองพญาปาด และนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าเป็นเมืองราด ทุกวันนี้เท่าที่ผู้เขียนได้ทำการสำรวจพบว่า ไม่ปรากฏร่องรอยคูน้ำแล้ว ทั้งนี้คงเป็นเพราะบ้านเมืองขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก สำหรับบ้านสองคอนนี้มีปรากฏในแผนที่โบราณสมัยอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย นอกจากนี้ในบริเวณที่ตั้งกองร้อย ตชด.316 อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีการพบร่องรอยคูน้ำคันดิน ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณที่ตั้งเมืองน้ำปาดตั้งแต่สมัยอยุธยาก็อาจเป็นไปได้

ข้อมูลที่ 2 : พญาปาด คือ วิญญาณปู่ตา ถูกอัญเชิญมาจากเมืองแก่นท้าว

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ คุณตาพวง พิมพุม อายุ 85 ปี และผู้สูงอายุชาวบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า อีกหลายคนในชุมชนบ้านเสี้ยวเองก็มีศาลและอนุสาวรีย์พ่อขุนบุญโฮมซึ่งมีลักษณะความเชื่อคล้ายกับพญาปาด คุณตาพวงได้เล่าให้ผู้เขียนและทีมสำรวจฟังว่า

“พ่อขุนบุญโฮมเป็นปู่ตาที่ชาวบ้านเสี้ยวไปอัญเชิญมาจากเมืองแก่นท้าว พร้อมกันกับท้าวแก่น ในขณะเดียวกันชาวบ้านฝายก็ได้อัญเชิญพญาปาดมาด้วย ทั้งกาชื่อที่กล่าวถึงนั้น เป็นดวงวิญญาณปู่ตาที่ปกปักรักษาชาวเมืองแก่นท้าวมาแต่โบราณ

ชาวบ้านเสี้ยวในอดีตพออพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ๆ ยังไม่มีที่พึ่งทางจิตใจ จึงได้ไปทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณพ่อขุนบุญโฮมและท้าวแก่นมา โดยทำโส่ย/โซย [กรวยดอกไม้] 12 อัน ทำพิธีบูชา แล้วก็เกี่ย [สมมติอัญเชิญดวงวิญญาณขึ้นขี่คอหรือขี่หลัง] แห่มาจากเมืองแก่นท้าว แล้วนำมาสถิต ณ ศาลบริเวณปัจจุบันนี้ ในขณะที่ชาวบ้านฝายก็อัญเชิญดวงวิญญาณพญาปาดไปที่บ้านฝาย”

ผู้เขียนยังเกิดข้อสงสัยว่า “ถ้าหากพญาปาดเป็นเจ้าปู่ตาแล้วไซร้ เหตุใดถึงมีหมวก เสื้อผ้า อาวุธ เก็บรักษาอยู่?” คุณตาพวงให้ความว่า “พ่อขุนบุญโฮม กับท้าวแก่น ก็มีเสื้อผ้า อาวุธ มีหมวก เช่นกัน เป็นหมวกกะโล่เดิมอยู่ที่ศาล แต่สูญหายไปนานแล้ว ของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำถวายพ่อขุนบุญโฮมกับท้าวแก่น รวมทั้งพญาปาด ไม่ใช่เสื้อผ้าที่ใช้จริงของท่านแต่อย่างใด ทั้ง 3 ท่านนี้เป็นวิญญาณปู่ตา ไม่ได้มีชีวิตอยู่จริงที่นี่ แต่อาจจะมีชีวิตอยู่จริงที่เมืองแก่นท้าว แล้วก็อัญเชิญให้เป็นปู่ตาปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลาน”

ผู้เขียนจึงถามต่อว่า “ถ้าอัญเชิญมาจริงอัญเชิญมานานหรือยัง?” คุณตาพวงบอกว่า “ราว 3 เส่นคน [3 ชั่วคน] เป็นเรื่องเล่ารุ่นต่อรุ่น ไม่ใช่เป็นแม่ทัพ เจ้าเมือง หรือทหารใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องเล่าใหม่ทีหลัง อันที่จริงอนุสาวรีย์ที่ทำขึ้นนั้นก็มาจากการเข้าทรง บอกว่าท่านพ่อขุนบุญโฮมชอบขี่ม้า ถือปืน การสร้างมาจากเงินบริจาคและศรัทธาชาวบ้านเป็นเงินกว่า 250,000 บาท จึงได้จัดทำอนุสาวรีย์เดียว ท้าวแก่นจึงยังไม่มีอนุสาวรีย์ เพราะว่ายังไม่มีเงิน”

ข้อมูลที่ได้มาใหม่นี้ เป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในปัจจุบัน ทำให้ผู้เขียนมีความเห็นโน้มเอียงไปทางความเชื่อเรื่องวิญญาณปู่ตามากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะว่า

1. พญาปาด เป็นชื่อที่ไม่ปรากฏในทำเนียบขุนนางในอดีต ถึงแม้ว่าเมืองน้ำปาดจะเป็นเมืองจริงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่เจ้าเมืองก็ไม่น่าจะมีราชทินนาม หรือศักดินาสูงถึงระดับพญา/พระยา เป็นแน่ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้าราชการครูในท้องถิ่นบางคนได้เล่าว่า อำเภอน้ำปาด เป็นชื่อของพญา “ปาด” เป็นชื่อของทหารเอกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นทหารที่มีความสามารถในทางรบ มีความเก่งกล้าฝีมือชั้นเชิงดาบเป็นเลิศ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองของหัวเมืองหัวเมืองหนึ่ง มีตำแหน่งเป็นพระยา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงปราบปรามรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นหลังกรุงศรีอยุธยาแตก เช่น นครสวรรค์ พิษณุโลก ด่านซ้าย เลย น่าน แพร่ และสวางคบุรี ไว้ได้หมดทุกหัวเมือง รวมทั้งเมืองพระยาปาดด้วย

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2325 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) จับพระเจ้าตากสินปลงพระชนม์และได้จับเจ้าหัวเมืองต่างๆ ทุกหัวเมืองในเวลาต่อมาไล่ๆ กัน พระยาปาดถูกจับ แต่มีข้อเสนอว่าจะอยู่รับใช้แผ่นดินต่อไปหรือจะให้ประหาร พระยาปาดเป็นเจ้าเมืองที่ซื่อสัตย์และมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าตากสินตลอดมาจึงขอยอมตายเพื่อเกียรติและศักดิ์ศรี โดยไม่ยอมเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย ยอมให้ประหารชีวิตตามพระเจ้าตากสินไป มีแต่พระฝางเท่านั้นได้หลบหนีและหายสาบสูญไป อันนี้ยิ่งไม่เป็นความจริงที่ปรากฏในประวัติศาสตร์เลย เป็นการแต่งเรื่องขึ้นมาโดยให้มีความคล้ายคลึงกับประวัติพระยาพิชัยดาบหัก ซ้ำยังขัดกับหลักฐานเครื่องใช้ของพญาปาดที่ปรากฏในปัจจุบันอีกด้วย

2. ศาลเจ้าพ่อพญาปาดมีอยู่ 2 แห่งหลักๆ คือ บริเวณบ้านฝายแห่งหนึ่ง แห่งนี้ที่ว่ามีของใช้ของพญาปาดเก็บรักษาอยู่ แห่งที่ 2 คือ บริเวณบ้านสองคอน ทั้ง 2 แห่งล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งแม่น้ำปาด ลักษณะการสร้างศาลเช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการสร้างศาลเจ้าปู่หลุบตามช่องเขาต่างๆ ในเขตจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย และขอนแก่น เพื่อให้คุ้มครองผู้คนที่ขับรถผ่านไปมาตามช่องเขา ก็มีเรื่องเล่าว่า ปู่หลุบท่านเป็นทหารของพระวอพระตา มีคาถาอาคม พอเสียชีวิตก็เชื่อว่าวิญญาณท่านยังคงวนเวียนดูแลลูกหลานอยู่ แต่รูปแบบการตั้งศาลต่างจากพญาปาดตรงที่ศาลเจ้าพ่อพญาปาดจะอยู่ริมน้ำในขณะที่ศาลปู่หลุบจะอยู่ตามภูเขาและช่องเขา

3. จากคำบอกเล่าของคุณตาพวง แสดงให้เห็นถึงระยะที่มีการอัญเชิญดวงญาณพ่อขุนบุญโฮม ท้าวแก่น และพญาปาด ได้อย่างชัดเจน 3 ชั่วคน ซึ่งก็อยู่ในราวรัชกาลที่ 5-6 เมื่อเทียบกับเสื้อผ้า หมวก อาวุธ ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ตรงกันพอดี

การที่มีความเชื่อว่า พญาปาดเป็นเจ้าเมืองน้ำปาดนั้น น่าจะมาจากข้าราชการหรือคนจากส่วนกลางไปอธิบายความเชื่อของท้องถิ่นมากกว่า โดยที่ไม่เข้าใจลักษณะความเชื่อของท้องถิ่น และนำไปสู่การผลิตสื่อเอกสารราชการต่างๆ ออกมาเผยแพร่ในวงกว้าง คนท้องถิ่นยุคหลังๆ ก็ไม่ได้รับรู้เรื่องราวในอดีตเท่าใดนัก เมื่อได้อ่านเอกสารที่ข้าราชการจัดทำขึ้นก็ถือเอาหรือเชื่อตามเอกสารนั้น ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ระบบการศึกษาและราชการมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นหลายประการ ลักษณะเช่นนี้ผู้เขียนพบบ่อยเวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูล คนท้องถิ่นบางคนก็จะเอาเอกสารมาอ่านให้ฟัง ในขณะที่บางคนก็จะให้ข้อมูลที่ต่างไปจากเอกสาร แต่มีข้อมูลชัดเจน มีพยานบุคคลอื่นๆ ร่วมยืนยัน

แต่สิ่งที่เรื่องเล่าของคุณตาพวงเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ แสดงให้เห็นว่าผู้คนในเขตบ้านเสี้ยว สองคอน น้ำปาด น่าจะอพยพมาจากดินแดนทางลุ่มน้ำโขง เมืองปากลาย บ่อแตน แก่นท้าว เพราะผู้คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเชื้อสายไทย-ลาว พูดภาษาลาว ลักษณะสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี ก็เป็นแบบกลุ่มชาติพันธุ์ลาวทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่บรรพบุรุษชาวบ้านเสี้ยว บ้านฝาย จะไปทำพิธีอัญเชิญปู่ตามาจากเมืองแก่นท้าว ซึ่งอาจเป็นเมืองที่กลุ่มบรรพบุรุษที่นี้เคยอาศัยอยู่มาก่อน หากไม่ใช่คงจะไม่มีทางไปอัญเชิญปู่ตามาเป็นแน่

ข้อสันนิษฐานของผู้เขียนเป็นข้อสันนิษฐานที่ได้มาจากคนท้องถิ่นซึ่งขัดกับแนวคิดที่ปรากฏอยู่ของทางราชการ และในหลักฐานของทางราชการก็ยังขัดแย้งกันอีก สำหรับผู้เขียนข้อยุติเรื่องนี้ยังไม่มีก็อยากฝากไปถึงข้าราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ หรือไม่ก็ขอเชิญผู้ที่สนใจประเด็นดังกล่าวทำการศึกษาเพื่อหาข้อยุติให้ปรากฏความจริงว่าเป็นเช่นไรกันแน่

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

ศรีศักร วัลลิโภดม. เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย, กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532.

_______. ลุ่มน้ำน่าน ประวัติศาสตร์โบราณคดีของพิษณุโลก “เมืองอกแตก”, กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.

ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต และผลงานคัดสรร พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี นักประวัติศาสตร์อาวุโสดีเด่น. กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, 2552.

สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุตรดิตถ์ จำกัด. สืบค้นจาก http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply. php?user=uttcoop&topic=1442, วันที่ 28 พฤษภาคม 2553.

หวน พินธุพันธ์. อุตรดิตถ์ของเรา, กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก จัดพิมพ์, 2521.

Santanee Phasuk and Philip Stott. ROYAL SIAMESE MAPS: War and Trade in Nineteenth Century Thailand. Bangkok : River Books, 2004.

สัมภาษณ์บุคคล :

  1. นายเครื่อง บุตรพา อายุ 76 ปี, บ้านเลขที่ 135/3 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ 31 มกราคม 2553
  2. นายสัญญา แก้ววังอ้อ อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 102/4 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ 31 มกราคม 2553
  3. นายพวง พิมพ์ม อายุ 85 ปี บ้านเลขที่ 76 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์, สัมภาษณ์วันที่ 31 มกราคม 2553
  4. นายสมชาย เดือนเพ็ญ อายุ 47 ปี วิทยากรท้องถิ่น/ที่ปรึกษากลุ่มประวัติศาสตร์ สองข้างทางและรองปลัดองค์การบริหารส่วน ตำบลเมืองบางขลัง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย, สัมภาษณ์วันที่ 25 มกราคม และ 1 มีนาคม 2553

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมืี่อ 23 มกราคม 2566