ที่มา | วัดร้างในบางกอก: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2555 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร |
เผยแพร่ |
แต่เดิมย่านตลิ่งชันถือเป็นส่วนลี้ลับของบางกอก เพราะอยู่ลึกเข้าไปภายในคลองมีเรือกสวนหนาทึบ อย่างไรก็ตามหากตรวจสอบดูให้ดีแล้ว ย่านดังกล่าวเคยเป็นหนึ่งบนเส้นทางคมนาคมหลักจากบ้านเมืองทางตอนเหนือตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเพื่อจะออกยังปากอ่าวไทย เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาเคยไหล
โค้งผ่านจุดนี้ มีชุมชนสำคัญคือ “บางระมาด” ที่ถูกบันทึกไว้ในวรรณคดีโบราณสมัยอยุธยาตอนต้นชื่อ “กำศรวลสมุทร” หรือกำศรวลศรีปราชญ์ ก่อนการขุดแม่น้ำลัดที่บางกอกใหญ่ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช พ.ศ. ๒๐๘๗
ทุกวันนี้ยังมีคลองบางระมาด ไหลแยกจากคลองชักพระซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าตรงตลิ่งชันไปทางตะวันตก สองฟากฝั่งคลองนี้แม้จะกินลึกเข้าไปในสวน (ที่ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นชุมชนทันสมัยด้วยถนนเส้นใหม่) แต่ก็มีวัดวาอารามใหญ่น้อยเรียงรายเป็นระยะไม่ขาดจากกัน แสดงว่าความสำคัญของคลอง “บางแรด” แห่งนี้มีมาแต่ก่อนแล้วสมกับที่วรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกเอาไว้
วัดริมคลองบางระมาดหลายวัดยังคงเป็นวัดสำคัญในชุมชน เช่น วัดช่างเหล็ก วัดมณฑป วัดมะกอก วัดโพธิ์ ทว่ายังหลงเหลือร่องรอยวัดร้างแห่งหนึ่งบนฝั่งคลองที่มีหลักฐานทางโบราณคดี-ศิลปกรรมที่น่าสนใจและอาจโยงกลับไปจนถึงสมัยอยุธยาด้วย คือ วัดอังกุลา
วัดร้างแห่งนี้ไม่มีสัญญาณใดเลยที่ผู้สัญจรผ่านไปมาจะรู้ได้ว่าเคยเป็นวัดมาก่อน เพราะหลงเหลือเพียงฐานอาคารซึ่งน่าจะเป็นอุโบสถเก่า (เพราะขุดพบลูกนิมิต) มีต้นไทรยืนต้นปกคลุมเป็นพุ่ม แต่ก็มีชาวบ้านได้เข้าไปปรับปรุงโดยก่อฐานซีเมนต์ปูกระเบื้องทับลงบนฐานเก่าพร้อมหลังคาสังกะสี ลูกกรงและประตูเหล็กเอาไว้ พร้อมกับป้ายทาสีแดงเขียนชื่อ “วัดอังกุลา (ร้าง) หลวงพ่อดำ” ปักไว้ริมถนน จากรายงานของ น. ณ ปากน้ำ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ก็ยังกล่าวว่าวัดแห่งนี้เหลือเพียงซากอุโบสถเก่า
ตัววัดตั้งอยู่ฝั่งคลองบางระมาดทิศเหนือ มีถนนสายตลิ่งชัน-บางพรม (ถนนแก้วเงินทอง) ตัดผ่านตรงเชิงสะพานข้างคลองบางระมาดทางด้านตะวันตกของวัด ส่วนที่เหลือก็ถูกบ้านเรือนสร้างล้อมรอบเอาไว้โดยมีพื้นที่ว่างแคบๆ คั่น ยังสังเกตได้ว่าวัดอังกุลาหันหน้าลงทางทิศใต้สู่คลองบางระมาด เพราะองค์พระพุทธรูปประธาน “หลวงพ่อดำ” ประดิษฐานผินพระพักตร์ไปทางนั้น
ไม่มีเอกสารใดที่กล่าวถึงวัดแห่งนี้แม้แต่ช่วงเวลาที่ทิ้งร้างไป แม้แผนที่กรุงเทพฯ รุ่นเก่าราว พ.ศ. ๒๔๕๐-
๗๔ ก็ยังไม่ระบุชื่อและตำแหน่งที่ตั้งของวัดร้างแห่งนี้แล้ว ส่วนผู้คนที่อยู่อาศัยรอบๆ ยังบอกกล่าวทำนองว่าวัดนี้ถูกทิ้งมาตั้งแต่สมัยสงครามเสียกรุง คนรุ่นปู่ย่าพ่อแม่เข้ามาอยู่ตรงนี้ก็เป็นวัดร้างไปแล้ว ดังนั้นข้อมูลเอกสารความเป็นมาของวัดอังกุลาจึงยังไม่อาจสืบสวนได้ชัดเจน ทว่าหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ก็อาจให้คำอธิบายอะไรบางอย่างได้ด้วย
หลักฐานที่ควรกล่าวถึงสำหรับวัดอังกุลา คือ “หลวงพ่อดำ” ประดิษฐานอยู่เป็นประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งน่าจะสลักจากหินทรายตามแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ด้วยเค้าพระพักตร์รียาว เม็ดพระศกเล็กละเอียด พระขนงโก่ง พระเนตรหรี่ต่ำ พระโอษฐ์ค่อนข้างหนา มีพระหนุ (คาง) เป็นปมเน้นรูปเหลี่ยม อันเทียบได้กับพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายในศิลปะอยุธยาตอนต้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐
อย่างไรก็ดี ไม่อาจตรวจสอบพุทธลักษณะได้มากกว่านี้เพราะบนฐานชุกชีเต็มไปด้วยเครื่องบูชา พระ
พุทธรูปองค์เล็กองค์น้อยและวัตถุมงคลกองสุมกันอยู่จนเต็ม แต่ยังสังเกตได้ว่าฐานรองรับหลวงพ่อดำนั้นเป็นฐานสิงห์ที่มีขาสิงห์ยืดยาว มีกระจังประดับ เป็นฐานแบบที่นิยมในศิลปะอยุธยาตอนปลายลงมา
ดังนั้นหากอายุสมัยของหลวงพ่อดำ วัดอังกุลาเป็นไปตามรูปแบบศิลปกรรมแล้ว ก็จะสอดคล้องกับ
“กำศรวลสมุทร” ที่บันทึกถึงชุมชนบางระมาดในสมัยต้นของกรุงศรีอยุธยา และคงมีการบูรณะซ่อมแซมวัดนี้เรื่อยมาจนสมัยอยุธยาตอนปลายด้วย
นอกจากนี้ยังได้พบข้อมูลเอกสารที่ระบุว่า ยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์ซึ่งอัญเชิญไปจากวัดนี้ คือ “หลวงพ่อขาว” ประดิษฐานอยู่ที่วิหารวัดจันทร์ประดิษฐาราม ภาษีเจริญ น่าจะเป็นพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาเช่นกัน
บนฐานชุกชี ยังพบโบราณวัตถุน่าสนใจ คือลูกนิมิตสลักจากหินธรรมชาติ อิฐก้อนใหญ่ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างเดิม และกระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา เป็นหลักฐานบ่งว่าแต่เดิมอาคารอุโบสถเก่าของวัดอังกุลาเคยมุงหลังคาด้วยกระเบื้องกาบู หรือกระเบื้องกาบกล้วย (แบบเป็นลอน) ซึ่งถ้าติดตามลึกเข้าไปในคลองบางระมาดจะพบวัดโบราณอีกแห่งที่ยังใช้กระเบื้องแบบนี้อยู่ (แต่เปลี่ยนเป็นของใหม่แล้ว) คือวัดกระจัง
ที่น่าสนใจอีกประการคือ ชื่อ “อังกุลา” นี้ไม่พบความหมายชัดเจนนัก โดยทั่วไปคำว่า กุลา เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกชนชาติต่างๆ เช่น แถบภาคตะวันออกใช้เรียกชาวไทยใหญ่ หรือคนสมัยโบราณใช้เรียกแขกผิวดำจำพวกหนึ่งที่มาจากเบงกอล
ในที่นี้สันนิษฐานว่า ถ้าหากชื่ออังกุลาไม่ใช่การเรียกเพี้ยนมาจากชื่อเดิมซึ่งไม่รู้ความหมายกันแล้ว เป็นไป
ได้หรือไม่ว่าเรียกตามองค์พระพุทธรูปประธานที่ชื่อ “หลวงพ่อดำ” ซึ่งเปรียบเหมือนคนผิวดำหรือ “กุลา” หรือมีอีกคำหนึ่งซึ่งคล้ายกับชื่อวัดนี้คือ “อังกะลุง” เป็นเครื่องดนตรีแบบหนึ่งซึ่งมาจากทางชวา ซึ่งไม่พบหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
ฝั่งทิศตะวันตกของอุโบสถเก่ามีต้นไทรขนาดใหญ่ ชาวบ้านนับถือว่าเป็นเจ้าแม่ไทรทอง มีการนำเอาผ้าสไบมาห่มให้ที่โคนต้นเป็นการบูชาตามสมัยนิยม
สิ่งที่แปลกตาอีกอย่างคือลูกตะกร้อจำนวนมากที่แขวนบนรั้วลูกกรงรอบอุโบสถ ผู้คนแถบนั้นอธิบายว่า
เป็นลูกตะกร้อที่คนมาบนบานศาลกล่าวกับ “พี่จุก พี่แกละ พี่เปีย” อันเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อดำ (ทำนองเดียวกับกุมารทอง) เมื่อเป็นตามที่บนไว้ก็เอาตะกร้อบ้าง ว่าวบ้างมาถวายให้แก้บนทำนองจะเป็นของเล่นให้กับอารักษ์เหล่านั้น
สังเกตได้ว่าตะกร้อที่แขวนอยู่มีจำนวนมากมายหลายสิบลูก แสดงว่าลูกศิษย์หลวงพ่อดำมีคุณในทางให้โชคลาภไม่น้อย และชาวบ้านแถบนั้นยังคงมีการทำบุญประจำปีของวัดอังกุลา ทุกๆ วันที่ ๒ มกราคมของทุกปี
จากหลักฐานที่กล่าวมา พอที่จะยืนยันได้ว่าวัดอังกุลาร้างแห่งนี้มีอายุสมัยที่ร่วมกันกับเอกสารที่กล่าวถึงย่านบางระมาดที่มีมาตั้งแต่ช่วงอยุธยาตอนต้น-กลาง และยังคงมีความสำคัญอยู่จนสิ้นสมัยอยุธยาจึง
ได้ทิ้งร้างไปจนไม่มีผู้ใดจดจำเรื่องราวความเป็นมาของวัดแห่งนี้ได้ จะเหลืออยู่ก็เพียงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดำและเหล่าลูกศิษย์ก้นกุฏิที่ได้รับความนับถือกันแพร่หลาย
เอกสารอ้างอิง
กรมแผนที่ทหาร. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๗๔. กรุงเทพฯ : กรมแผนที่ทหาร, ๒๕๓๐.
กรมศิลปากร. ประวัติและโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ พร้อมด้วยบันทึกสอบทานและหมายเหตุ. พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๑๓.
กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, ๒๕๒๕.
กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ ๔ วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕.
ประทีป เพ็งตะโก. “แบบพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา,” ในรวมบทความทางวิชาการ ๗๒ พรรษา ท่านอาจารย์ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๘.
ประยูร อุลุชาฎะ. ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร : โรงพิมพ์เฟื่องอักษร, ๒๕๑๔.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๐.