หลัง “แฮร์เรียต” เข้าแหลมตะลุมพุก เกิดมูลนิธิ,โรงเรียน “ราชประชานุเคราะห์”

(ภาพจาก หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครศรีธรรมราช)

หลังพายุ “แฮร์เรียต” เข้าแหลมตะลุมพุก รัชกาลที่ 9 พระราชทานความช่วยเหลือ และรับสั่งให้สถานีวิทยุ อ.ส. เชิญชวน ประชาชนร่วมกันช่วยผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนแฮร์เรียต

เมื่อพายุโซนร้อนแฮเรียต พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย ในเวลาค่ำคืนของวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ทําให้จังหวัดภาคใต้ประมาณ 12 จังหวัดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณแหลมตะลุมพุก อําเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น บ้านเรือนราษฎรจมหายไปกับสายน้ำและจํานวนผู้เสียชีวิตมีเป็นจํานวนมาก

(ภาพจากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ฯ )

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานความช่วยเหลือเบื้องต้นด้านที่อยู่อาศัย อาหารเสื้อผ้า ยารักษาโรค อันเป็นปัจจัย 4 นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อ.ส.ประกาศเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ประการสําคัญทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง นอกเหนือจากการที่ทรงดนตรีให้คนขอเพลงโดยบริจาคเงินช่วยผู้ประสบภัย นับเป็นการใช้สื่อวิทยุในกิจการ ลักษณะนี้เป็นครั้งแรก

ความเดือดร้อนครั้งนั้นของประชาชนในภาคใต้ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคย ปรากฏมาก่อน ประชาชนในภาคอื่นๆ ได้ช่วยกัน “ทําบุญร่วมกับในหลวง” อย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและรักษาชีวิตของผู้ที่รอดตาย สถานีวิทยุ อ.ส. ดังนั้นในเวลาเพียงแค่ 1 เดือน มีผู้บริจาคทรัพย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นจํานวนรวมทั้งสิ้น 11 ล้านบาทเศษ และสิ่งของเครื่องใช้ อาหารแห้ง อีกประมาณ 5 ล้านบาท

ผลของพายุแฮร์เรียตในครั้งนั้นทำให้เด็กจำนวนหนึ่งกำพร้าเมื่อสิ้นบิดามารดาก็ขาดผู้อุปการะ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนหนังสือตามกําลังความสามารถ เพื่อเด็กนั้นจะได้ช่วยตัวเองและเป็นกําลังรับใช้ประเทศชาติต่อไป จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียนใน 5 จังหวัดภาคใต้ พระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์”

ส่วนเงินจํานวน 11 ล้านบาทเศษนั้น เมื่อได้จัดสรรช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้ว ยังเหลือเงินอีก 3 ล้านบาท เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสามัคคีในชาติ และเพื่อให้มีการดําเนินการหาดอกผลสะสมเพิ่มไว้สงเคราะห์ประชาชนยามเกิดสาธารณภัยให้เป็นไปตามกุศล เจตนาของผู้บริจาคอย่างแท้จริง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานเงิน 3 ล้านบาท ที่เหลือนี้เป็นทุนประเดิมก่อตั้ง “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์”  ซึ่งมีความหมายว่า พระราชากับ ประชาชนอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน


ข้อมูลจาก :

หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครศรีธรรมราช, 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มกราคม 2565