UN เชิญทีมช่างทอผ้าไทยวน-บ้านคูบัว ไปสอนคนติมอร์ทอผ้า

อาจารย์อุดม สมพร (สวมเสื้อยืด มีรูปธงชาติไทย) กำลังดูกี่ทอผ้าที่สร้างและสอนให้ชาวติมอร์

พ.ศ. 2518 เมื่อโปรตุเกสถอนตัวออกการปกครองให้แก่ติมอร์ตะวันออก อินโดนีเซียก็ส่งทหารเข้ายึดครองแล้วโดยผนวกเป็นจังหวัดที่ 27 ของประเทศ ทำให้เกิดการเรียกร้องทางการเมืองอย่างยาวนาน จนรัฐบาลอินโดนีเซียยอมให้ชาวติมอร์ตะวันออกลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ชาวติมอร์ตะวันออกกว่าร้อยละ 80 ลงมติสนับสนุนการแยกตัว

แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์รุนแรงของฝ่ายที่เห็นต่าง สหประชาชาติตัดสินใจจัดตั้งกองกำลังนานาชาติ เพื่อส่งเข้าไปรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก ก่อนที่จะประกาศเอกราชในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2545

เมื่อเหตุการณ์ภายในสงบ ความช่วยเหลือต่างๆ เข้าไปในนามกองกำลังสหประชาชาติ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ มีเพียงคณะของอาจารย์อุดม สมพร ลูกหลานไทยวน-บ้านคูบัว ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เท่านั้นที่อาจเป็นหน่วยงานภาคเอกชนเดียว ที่ได้รับเชิญเข้าไปนานาชาติก็เริ่มส่งความช่วยเหลือไปช่วยฟื้นฟูประเทศ

รายละเอียดเรื่องนี้ “ศิลปวัฒนธรรม” ซึ่งผู้เขียนสัมภาษณ์และเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “กระสวยไทยไปติมอร์” (ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับพฤศจิกายน 2542) ที่คัดย่อมาเพียงบางส่วนมานำเสนอ

ครั้งนั้นอาจารย์อุดม สมพร เล่าว่า องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยเป็นคนติดต่อประสานมาว่าพอที่จะมีเวลานำคณะไปสอนทอผ้าให้ประเทศติมอร์ได้หรือไม่ ช่วงนั้นผมกำลังเกษียณอายุราชการพอดีก็ตกลงไป เป็นการไปทำงานในนามองค์การ UNIFEM (United Nation of Development Fund for Women) ของสหประชาชาติ เราไปด้วยกัน 2 ครั้ง ครั้งแรกไปเดือนมกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2546 ครั้งที่ 2 เดือนกุทภาพันธ์-พฤษภาคม พ.ศ. 2547

ผมไปในนามของศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจกราชบุรี โดยคณะที่ไปมี 4 คน มีผมเป็นผู้ประสานงานและหัวหน้าคณะ มีช่างไม้ 1 คน (สอนทำกี่ทอผ้า (กี่กระตุก)) ช่างทำเส้นยืน 1 คน (สอนคำนวณหน้ากว้างของผ้าและสี) ช่างทอ 1 คน (สอนการพุ่งกระสวยและต่อด้าย)

เราตกลงกับ UNIFEM ว่าจะไปสอนให้ 3 เมือง คือ เมือง Same, Suai และ Oecussi ผู้เรียนทางติมอร์เป็นคัดเมืองละประมาณ 10 คน โดยใช้ระยะเวลาสอนเมืองละ 15 วัน เราสอนให้เขาครบทุกอย่าง ทอผ้าได้แต่ชำนาญหรือไม่ไม่รู้ เพราะเราก็ต้องย้ายเมือง ก่อนหมดโครงผมได้คุยกับประธานมูลนิธิช่วยเหลือติมอร์ (Timor Aid) ว่าการที่เราสอนอย่างนี้มันไม่ยั่งยืน

ถ้าจะให้ประกอบอาชีพใช้งานได้ ควรทำหลักสูตรใหม่ ไม่ใช่สอน 15 วัน แล้วเปลี่ยนสถานที่ แต่ควรสอนให้ครบกระบวนการใช้งานได้จริงใช้เวลา 3 เดือน และสอนอยู่กับที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายเพื่อพัฒนาให้เชี่ยวชาญ เขาก็เห็นด้วย เราก็ส่งหลักสูตรไปว่า 3 เดือนนี้จะสอนอะไรกัน คณะผมก็ไป ไปครั้งนี้พวกลูกศิษย์ที่เรียนครั้งแรก บางคนก็เอาผ้าที่ทอได้มาตัดเป็นกระโปรง เป็นเสื้อผ้าใส่มาอวด ตอนนี้ที่นั่นยังยุ่งๆ อยู่นิดหน่อยไม่งั้นตามกำหนดการเดิมพวกนักเรียนของผมที่ติมอร์มีแผนที่จะมาดูงานที่เมืองไทย”

ทำไมเราต้องไปสอนทอผ้า เครื่องนุ่งห่มอันเป็นปัจจัยสี่ น่าจะเป็นความรู้ เป็นภูมิปัญญาในการดำรงชีพอยู่แล้ว อาจารย์อุดมก็ให้คำตอบว่า

ชาวติมอร์มีภูมิปัญญาในการทอผ้าของเขาอยู่แล้ว เป็นการทอจก มัดหมี่ แต่โอกาสเค้าด้อยกว่า กี่ทอผ้าของติมอร์เป็นกี่เหมือนกับกี่ผูกเอวของกะเหรี่ยง ผ้าที่ทอมาจะเป็นผ้าหน้าแคบ ถ้าจะเอามานุ่งต้องเอา 2 ผืนมาต่อ ผ้าประเภทนี้เส้นใยที่ใช้จะหนาและใหญ่ ไม่เหมาะจะเอามาตัดแบบสากล เป็นผ้าย้อมสีธรรมชาติสีตกง่าย เราไปสอนให้เค้าทำกี่กระตุกให้เป็น เราสอนเทคนิคของการทอผ้าหน้ากว้าง สอนให้ทอผ้าลายขัด (คือลายผ้าปกติที่ใช้ทั่วไป) ซึ่งใช้ตัดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มได้ง่ายขึ้น”

การทอผ้าของติมอร์ใช้กี่ผูกเอว ผ้าที่ทอจึงเป็นผ้าหน้าแคบ

หากความจริงแล้วการไปสอนที่ติมอร์คือผลพวงที่เกิดขึ้น โดยมีงานอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของบรรพบุรุษเป็นที่มา

ด้วยจุดเริ่มต้นที่ต้องการรักษาศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนในคูบัว อาจารย์อุดมและเพื่อนชาวคูบัวกลุ่มหนึ่งจึงได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นสมาคมศิษย์เก่าวัดแคราย เมื่อปี พ.ศ. 2518 แต่กว่าจะเริ่มงานฟื้นฟูและอนุรักษ์จริงๆ เมื่อปี พ.ศ. 2524 โดยอาจารย์อุดมเล่าว่า

เมื่อเริ่มคิดว่าจะฟื้นฟูภูมิปัญญาของชุมชนให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน เราก็มานั่งคุยกันระหว่างกรรมการสมาคม ว่าภูมิปัญญา หรือศิลปะคนไทยวนที่มาจากเชียงแสนที่ตำบลคูบัวนั้นมีหลายอย่างแต่มีอันไหนที่โดดเด่นและโชว์เขาได้ เพราะภาษาก็เริ่มหาย อาหารการกินก็หมดไป มาตกผลึกกันที่ภูมิปัญญาการทอผ้าจก เพราะผ้าเราอวดได้ มีศิลปะ และแตกต่างจากที่อื่น

แต่ในช่วงที่เรากำลังคุยกัน การทอผ้าของไทยวนที่คูบัวกำลังซบเซา ไม่ค่อยมีการทอผ้าเป็นที่แพร่หลายนัก ไม่มีการสอนลูกหลายโดยสาธารณะ แต่เก็บงำความรู้ไว้ภายในครอบครัว ผ้าจกที่เคยรุ่งเรืองในอดีตก็ถูกเก็บไว้แต่ในบ้าน บางผืนถูกหนูกัด แมลงสาบกัดเป็นรูไปมากมาย ลูกหลายไทยวนในช่วงก่อนที่จะฟื้นฟูตรงนี้ก็ไม่รู้จักว่า ‘จก’ คืออะไร”

เช่นนั้น ผ้าจกคืออะไร? ผ้าทอของไทยวนแตกต่างจากผ้าของที่อื่นๆ อย่างไร? ผ้าจกไทยวน-ราชบุรี ต่างจากไทยวนถิ่นอื่นอย่างไร อาจารย์อุดมตอบว่า

“ผ้าจกเป็นผ้าที่ทอด้วยเทคนิคที่ทำให้ผ้าทอเกิดลวดลายโดยเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษทำโดยใช้ขนเม่น ไม้ หรือนิ้วมือสอด นับด้านเส้นยืนแล้วยกขึ้นสอดใส่ด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไป ทำให้เกิดลวดลายเฉพาะจุดหรือเป็นช่วงๆ และทำให้สามารถสลับลวดลายได้หลากสี

ชนเผ่าไทต่างๆ เช่น ไทลื้อ ไทลาว ไทพวน ไทยวน ล้วนมีฝีมือภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทอผ้าด้วยกันทั้งนั้น แต่ลวดลาย สีสัน วิธีการจกของแต่ละเผ่าพันธุ์แตกต่างกันออกไป แม้กระทั่งของเผ่าพันธุ์ยวนเองก็ตาม เพราะยวนคือคนเมืองที่มีภาษาพูด-เขียนเป็นของตนเอง มีอยู่ทั่วไปในอาณาจักรล้านนา เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เชียงแสน ลำพูน ลำปาง น่าน

คนในแต่ละท้องถิ่นมีวิธีการจกผ้าไม่เหมือนกัน บางถิ่นจกด้านหน้า แล้วใช้ผืนผ้าด้านหน้าเลย แต่ของคนไทยวน-ราชบุรีจกด้านหน้าแต่ผ้าที่ใช้งานจริงๆ อยู่ด้านหลัง นอกจากนี้ลวดลายสีสันยังเป็นเอกลักษณ์ของไทยวนเชียงแสนดั้งเดิมคือที่นี่ (คูบัว) ใช้ลายนกคู่กินน้ำร่วมเต้าเป็นสัญลักษณ์ คนไทยวนที่มาจากเชียงแสนด้วยกันรุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2347 มีอยู่ 2 แห่งที่เราสืบและไปมาหากันอยู่คือไทยวนสระบุรี กับไทยวนที่คูบัว ราชบุรี แต่ถ้าสังเกตหลักฐานลวดลายผ้า สีสันก็ไม่เหมือนกันซะทั้งหมด ของราชบุรีเน้นออกสีแดงพื้สีดำทำลวดลายสีเขียวเหลืองแซมกันไป ของสระบุรีจะเน้นสีเหลืองสีเขียวเยอะ…”

ผ้าเก่าแต่ครั้งอพยพ ลายนกคู่กินน้ำร่วมเต้า

ส่วนวิธีการฟื้นฟูนั้นอาจารย์สมพรและชุมชนคิดกันไว้ 4 อย่าง 1. ทำให้ผ้าจกเป็นที่รู้จักของลูกหลานและประชาชน 2. สร้างค่านิยมให้ลูกหลายไทยวนรัก ภูมิใจในมรดกผ้าจกที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนเราให้ได้ 3. ทำให้ผ้าจก ศิลปะตัวนี้แพร่หลายและสืบต่อให้ได้ 4. ทำศิลปะผ้าจกพัฒนาเป็นอาชีพ นี่คือสิ่งที่ตกลงกันและพยายามทำตรงนี้ให้ได้

โดยใช้พื้นที่วัดแคทรายตั้งเป็นศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจก เชิญผู้เฒ่าผู้แก่มาสอน ความรู้ตรงนี้จะกระจายให้ลูกหลานเป็นสาธารณะ ไม่ใช่ภูมิปัญญาของใครคนใดคนหนึ่ง ก่อนจะกระจายไปที่วัดอื่นๆ ในชุมชน และเมื่อมีคนสนใจมากก็เปิดเป็นหลักสูตรสอนทอผ้าจกในสถานศึกษาที่มีชุมชนไทยวนอยู่เมื่อ พ.ศ. 2538

เมื่อมีช่างทอจำนวนมาก เราก็ต้องหาที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ก็จัดตั้งศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี เป็นสถานที่จำหน่ายมี 3 แห่ง คือ วัดคูบัว ตำบลคูบัว อำเมือง, วัดนาหนอง ตำบลดอนแร่ อำเมือง และวัดรางบัว อำเภอจอมบึง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2566