เพลงขึ้นปีใหม่ “วันที่หนึ่งเมษายนตั้งต้นปีใหม่” ?!?!?

การเตรียมสถานที่จัดงานปีใหม่ (ภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์)

“ไชโย! ไชโย! ไชโย!”

คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในยุคสมัยเราเปล่งเสียร้องไชโยในคืนฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม แต่ถ้าเป็นเมื่อร้อยปีที่แล้ว! คงจะโดนโห่ฮา ไล่เข้าป่า หาว่าเป็นคนเสียจริตแน่ เพราะสยามประเทศในยุคนั้นตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้กำหนดวัน 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่

ปีใหม่แบบไทยเราแบ่งเป็นสองขยัก ตามที่หนังสือ “ที่ระลึกภาพประวัติศาสตร์แห่งราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี” อธิบายไว้ดังนี้…

“เมื่อถึงขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้าก็ถือเป็นการขึ้นปีใหม่ แต่ยังไม่เปลี่ยนเลขท้ายศักราช ไปเปลี่ยนเลขท้ายศักราชต่อเมื่อพระอาทิตย์ยกขึ้นราศีเมษ คือราวกลางเดือนเมษายน” ซึ่งตรงกับ “วันสงกรานต์” นั่นเอง

ปกติ “วันสงกรานต์” มี 3 วัน คือ วันที่ 13 เป็น “วันมหาสงกรานต์” วันที่ 14 เป็น “วันเนา” และวันที่15 เป็น “วันเถลิงศก”

เรียนให้ท่านทราบพอสังเขป เพื่อนำท่านเข้าสู่งาน “เพลงไทยสากล” 2 บทเพลง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “เทศกาลปีใหม่” ทั้งปีใหม่แบบไทย (1 เมษายน) และปีใหม่แบบสากล (1 มกราคม) ซึ่งถือเป็นเพลงประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งเป็นความสอดคล้องผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างศิลปะและวัฒนธรรม ที่อยู่ในรูปของงานดนตรีกรรม

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพุทธศักราช 2475 สยามประเทศมีเพลงขึ้นปีใหม่แบบไทย คือเพลง “เถลิงศก” ซึ่งประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) และประพันธ์คำร้องโดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนพันธุ์) และเริ่มใช้ขับร้องต้อนรับปีใหม่แบบไทยในวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2477

(สร้อย 2 เที่ยว)

ยิ้มเถิดยิ้มเถิดนะยิ้ม   ยิ้มแย้มแจ่มใส

สุขสำราญบานใจ   ขอให้สวัสดี

วันที่หนึ่งเมษายน   ตั้งต้นปีใหม่

แสงตะวันพร่างพรายใส   สว่างแจ่มจ้า

เสียงระฆังเหง่งหง่างก้อง   ร้องทักทายมา

ไตรรงค์ร่าระเริงปลิว   พลิ้วพลิ้วเล่นลม

(สร้อย)

มองทางไหนมีชีวิต   จิตใจทั้งนั้น

ต้อนรับวันปีใหม่เริ่ม   ประเดิมปฐม

มาเถิดมาพวกเรา   มาปล่อยอารมณ์

มาชื่นชมยินดี   ขึ้นปีใหม่มาแล้ว

(สร้อย)

สิ่งใดแล้วให้แล้วไป   ไม่ต้องนำพา

สิ่งผิดมาให้อภัย   ให้ใจผ่องแผ่ว

สิ่งร้าวรานประสานใหม่   ให้หายเป็นแนว

สิ่งสอดแคล้วมาสอดคล้อง   ให้ต้องตามกัน

(สร้อย)

มาชื่นชมแสดงความยินดี   ในวันปีใหม่

มาทำใจให้ชื่นบาน   ร่วมสมานฉันท์

มาเล่นหัวให้เบิกบาน   สำราญใจครัน

มารับขวัญปีใหม่ไทย   อวยชัยไชโย

(สร้อย)

เพลง “เถลิงศก” เป็นเพลงขึ้นปีใหม่ที่นิยมร้องกันทั่วไปในยุคสมัยนั้น จนกระทั่งอีก 6 ปีต่อมา ในสมัยรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ จากเดิมคือวันที่ 1 เมษายนทุกปี เป็นวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2484 นับว่าเป็นปีใหม่แบบสากล-ปีแรกของประเทศไทย และใช้เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ผลจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้ปีพุทธศักราช 2483 มีเพียง 9 เดือนเท่านั้น (เมษายน-ธันวาคม) และเพลง “เถลิงศก” ที่ร้องขึ้นต้นในวรรคแรกว่า “วันที่หนึ่งเมษายนตั้งต้นปีใหม่…” เป็นอันต้องยุติลงและไม่ได้ขับร้องตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

จวบจนกระทั่งปีพุทธศักราช 2494 ประชาชนชาวไทยยินดีทั่วหน้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “พรปีใหม่” และพระราชทานเพื่อเป็นของขวัญแก่ปวงชนชาวไทย ดังรายละเอียดที่มีอยู่ในหนังสือ “บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9” ความว่า

“ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ระหว่างปี พ.ศ. 2494-2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรให้แก่พสกนิกร โดยใช้บทเพลงแทนการพระราชทานพรจึงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใกล้ชิดร่วมแต่งเพลง ‘พรปีใหม่’ ขึ้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.จักรพธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงเป่าแซ็กโซโฟนในช่วงแรกและช่วงที่ 3

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป่าในช่วงที่ 2 และ 4 สลับไปจนครบทำนองเพลง แล้วแต่งคำอวยพรลงในบทเพลง แล้วแต่งคำอวยพรลงในบทเพลงตอนนั้นเลย ซึ่งเสร็จภายในครึ่งชั่วโมง

เนื่องจากในคืนวันนั้นมีเวลาจำกัด จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่วงดนตรีได้เพียง 2 วงเท่านั้น คือวงดนตรีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่โรงหนังเฉลิมไทย”

สวัสดีปีใหม่พา   ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์

ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม   ต่างสุขสมนิยมยินดี

ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า   ให้บรรดาเราท่านสุขศรี

โปรดประทานพรโดยปรานี   ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

ให้บรรดาเราท่านสุขสันต์   ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมหฤทัย

ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่   ผองชาวไทยจงสวัสดี

ตลอดปีจงมีสุขใจ   ตลอดไปนับแต่บัดนี้

ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์   สวัสดีวันปีใหม่เทอญ”

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2495 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ กว่า 5 ทศวรรษแล้ว ที่ชาวไทยทั้งประเทศร้องเพลง “พรปีใหม่” ในช่วงเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

นอกจากเป็นการต้องพระราชประสงค์ในการพระราชทานพระแก่พสกนิกรแล้ว ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศยังรู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2565