“ชนกว่าง” การละเล่นพื้นบ้านล้านนา

“ชนกว่าง” เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวล้านนา ที่นิยมเล่นกันเป็นเวลานานแล้ว จนกลายเป็นประเพณีแต่จะเริ่มเล่นกันมาตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏ ปัจจุบันยังมีการเล่นกันอยู่ แต่อาจจะไม่มากเท่ากับในอดีต

การเล่นชนกว่างของชาวล้านนานิยมเล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ก็คงจะคล้ายๆ กับการเล่นชนปลากัดของชาวภาคกลาง

ชนกว่างใช่ว่าจะชนกันได้ในทุกฤดูกาล จะมีให้เล่นกันก็แต่เฉพาะในฤดูฝน คือประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม พอออกพรรษาแล้วก็ค่อยๆ เลิกราปล่อยกันไป กว่างก็จะเริ่มหายตายจาก เพื่อการเกิดใหม่ในปีหน้า ตามวัฏจักรของมัน

กว่าง เป็นสัตว์จำพวกแมลงปีกแข็ง มีขา 6 ขา ตัวผู้มีเขา 2 เขา (เขาล่าง, เขาบน) ตัวเป็นสีน้ำตาลและสีดำ ที่เกิดมาจากด้วงมะพร้าว ซึ่งส่วนมากจะมีที่อยู่อาศัยในป่า มีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งพอจะรวบรวมได้ดังนี้

1. กว่างแม่อี่อู้ด เป็นกว่างตัวเมียไม่มีเขา ตัวสีน้ำตาล กว้าง ยาวประมาณ 1 นิ้ว มักมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เรียกว่า “กว่างอี่มุ้ม” อำเภอเมืองเชียงราย เรียกว่า “แม่อี่หลุ้ม” หรือที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่า “แม่บังออน” เป็นต้น

2. กว่างกิ เป็นกว่างตัวผู้ มีเขาสั้น ตัวเล็ก สีน้ำตาล

3. กว่างกิดง เป็นกว่างตัวผู้ มีเขาสั้น ตัวโต สีน้ำตาล

4. กว่างแซม เป็นกว่างตัวผู้ มีเขายาว ตัวเล็ก สีน้ำตาล (แดง) ไม่ค่อยนิยมเอามาเล่นชนกัน เพราะไม่ค่อยมีความอดทน ดุดัน

5. กว่างฮัก เป็นกว่างตัวผู้ ตัวเล็ก ขนาดกว้าง ยาวประมาณ 1×2 นิ้ว (เท่ากับกว่างแซม) มีเขายาว ตัวสีดำหรือที่มักเรียกกันว่า “กว่างฮักน้ำปู่” ถ้าเป็นสีดำ (ใส) เรียกว่า…“กว่างฮักน้ำใส” ไม่ค่อยนิยมนำเอามาเล่นชนกัน

6. กว่างโซ้ง เป็นกว่างตัวผู้ มีรูปร่างได้สัดส่วนสวยงาม ตัวใหญ่ (ประมาณ 1 1/2 x 2 1/2 นิ้ว) เขาโง้มยาว มีเล็บแหลมคม มีนิสัยอดทน ดุดัน และมีความฉลาด ตัวเป็นสีน้ำตาล (แดง) นิยมนำมาเล่นชนกันมากกว่ากว่างชนิดอื่น

7. กว่างห้าเขา มีรูปร่างใหญ่โตเท่ากับกว่างโซ้ง มีเขา 5 เขา ไม่นิยมนำเอามาชนกัน

อาหารของกว่าง ได้แก่ บวบ กล้วย (สุก) มะพร้าว และอ้อย  อาหารโปรดของมันจริงๆ ก็คือ “อ้อย” โดยเฉพาะ “อ้อยตอง” จะมีรสหวานมาก นิยมนำเอามาเลี้ยงกว่างโซ้ง ซึ่งเป็นกว่างชน และการที่กว่างโซ้งได้ดูดกินน้ำหวานจากอ้อยมากๆ จะทำให้มันมีร่างกายที่แข็งแรง มีพละกำลังมากในการที่จะต่อสู้กับศัตรู

การตั้งกว่าง กว่างที่นิยมนำเอามาทำเป็นกว่างตั้ง ได้แก่ กว่างอี่หลุ้ม กว่างกิ และกว่างแซม จะมีด้ายเส้นเล็กผูกมัดที่เขา ถ้าเป็นตัวเมียก็จะมัดที่คอ ผูกมัดติดกับไม้หลักที่ปักเสียบไว้บนท่อนอ้อย

เริ่มตั้งกว่างเมื่อตอนหัวค่ำ จะตั้งเอาไว้สูงประมาณ 2-3 เมตร มีลวดทำเป็นขอสำหรับแขวนไว้ตามร่มไม้ ชายคาบ้าน หรือตามชายป่า ที่คาดว่าจะมีกว่างเวลากลางคืนกว่างตั้งก็จะบินวนไปรอบๆ อ้อย เมื่อกว่างตัวใหม่ที่ออกมาจากดินได้ยินเสีย หรือได้กลิ่นหอมของอ้อยที่ตั้งไว้มันก็จะบินมาเกาะดูดกินน้ำหวาน จะไล่ชนกว่างตั้งที่เป็นตัวผู้ และถ้าเป็นตัวเมียมันก็จะผสมพันธุ์กัน

เวลาประมาณ 5-6 โมงเช้า ต้องไปดูกว่างตั้ง ภาษาล้านนาเรียกว่า…“ใจกว่าง” ว่าวันนี้จะได้กว่างตามที่ได้คิดฝันเอาไว้ไหม ทั้งตื่นเต้นและดีใจ เมื่อได้กว่างโซ้งตามที่ต้องการ แต่บางครั้งก็เสียเวลาที่ไม่ได้กว่างตามที่ต้องการ และจะมีการเปลี่ยนสถานที่ตั้งกว่างไปเรื่อยๆ ที่คาดว่าน่าจะมีกว่างบินผ่านมา

กว่างโซ้ง เมื่อมีความสมบูรณ์แข็งแรงดีแล้ว มักมีการนำเอามาทดลองชนกันดูก่อน กับกว่างที่มีขนาดเท่ากัน เพื่อเป็นการวัดแววความสามารถ ความเฉลียวฉลาด และอดทน ชาวบ้านเรียกว่า “จามกว่าง”

สำหรับที่จะชนกว่างกันจริงๆ นั้น ก็ต้องไปชนกันที่บ่อน (บ่อนกว่าง) จะได้เป็นการชนกันที่ได้มาตรฐาน และถูกต้องตามกติกา ซึ่งเวทีสำหรับชนกว่างนั้น จะทำเป็น “กอนไม้” ที่ทำมาจากไม้แกนปอ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว ยาวประมาณ 25 นิ้ว ตรงกลางเจาะรูสำหรับใส่กว่างตัวเมีย หรือแม่อี่หลุ้ม ไว้ให้กว่างโซ้งที่จะมาทำศึกได้แย่งชิง ในทำนองศึกชิงนาง ใครทำศึกชนะก็ได้ไป กอนกว่างจะมีขาไม้รองหมุนกลับไปมาตามความเคลื่อนไหวของของการต่อสู้

“ไม้ฝั่นกว่าง” (ไม้สี่เหลี่ยมที่มีขนาดเล็กเรียวยาวประมาณ 5-6 นิ้ว ตรงกลางทำเป็นที่ใส่สังกะสีแผ่นเล็กๆ เมื่อฝั่น หรือหมุน จะทำให้เกิดเสียง) จะมีบทบาทสำคัญที่จะให้กว่างเข้าชนกัน เสียงของไม้ฝั่นจะช่วยทำให้กว่างเกิดความฮึกเหิมในการทำศึกต่อสู้กับศัตรู ถ้าเปรียบก็คงจะคล้ายๆ กับเสียงของดนตรีปี่พาทย์ประกอบการ “ชกมวย” อย่างไรอย่างนั้น

เมื่อกว่างเข้าต่อสู้ โดยการเอาเขาทั้งสองข้างเข้าหนีบดันกันไปมา หรือที่ภาษาเซียนกว่างเรียกว่า…“คราม” การที่กว่างได้ออกแรงดันกันแรงๆ จนเกิดเสียงดัง “ขอบแขบ” ทำให้แข้งขาและเขาของมันแตกหักหรือบิ่นได้ กองเชียร์ก็จะโห่เฮกันลั่น ไม้ฝั่นกว่างของพี่เลี้ยงทั้งสองฝ่ายก็จะทำหน้าที่กันไปเรื่อยๆ กว่างก็จะผลัดกันรุกผลัดกันรับตลอดเวลาของการต่อสู้ จนเป็นที่สนุกสนาน และมันในอารมณ์ของเซียนกว่างทั้งหลาย ซึ่งไม่ต่างอะไรกันกับเซียนมวย

“กว่างโซ้ง” บางตัวที่มีความเก่งกล้าสามารถ มีปฏิภาณไหวพริบดี ชนชนะมาหลายครั้งหลายบ่อน จะมีการซื้อขายกันในราคาที่แพงมาก บางตัวมีราคาเป็นเงินหมี่น ไม่แพ้ไก่ชนเหมือนกัน

เด็กๆ ไม่เอากว่างเข้าไปชนกันในบ่อน มักจะมีการเล่นชนกันตามบ้าน (เล่นเอาม่วน) เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจในยามว่าง คงจะดีกว่าการเล่นหุ่นยนต์และตู้เกมส์ของเด็กสมัยนี้ เพราะต้องเสียเงินกันชั่วโมงละ 20-30 บาท การเล่นกว่างนอกจากจะได้รับความสนุกเพลิดเพลินแล้ว ยังได้ศึกษาเรียนรู้ถึงวงจรชีวิตสัตว์ที่เรียกว่า “ชีววิทยา”

ปัจจุบันป่าไม้ได้ถูกทำลายไปมากทำให้สรรพสัตว์น้อยใหญ่ไม่มีที่อยู่อาศัย กว่างกำลังจะกลายเป็นสัตว์ที่หายากไปทุกวัน และอีกไม่นานประเพณีการชนกว่างของชาวล้านนา คงจะเหลือเป็นเพียงแค่ตำนานเล่าขานกันเท่านั้น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2560