“สัตว์ประหลาด” อะไรวะ? ทำไมชาวบ้านชอบหนังดังของ “อภิชาติพงศ์” ปัญญาชนบอกดูยาก

[ซ้าย] โปสเตอร์หนัง “สัตว์ประหลาด” (Tropical Malady) ในรูปแบบฉายต่างประเทศ [ขวา] อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ขณะกำกับหนังที่น่าตื่นตะลึงของเขาเรื่อง “สัตว์ประหลาด”

เมื่อปีที่แล้ว (บทความเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 2549 – กองบรรณาธิการ) หลังจากจบการเสวนาที่มีอาจารย์และนักศึกษาเข้าฟังประมาณ 100 คนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมถือโอกาสถามผู้ฟังว่ามีใครเคยได้ยินชื่อ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับภาพยนตร์ที่น่าตื่นตะลึงของเขา เรื่องสัตว์ประหลาดบ้าง ยกมือขึ้น ผมรู้สึกประหลาดใจที่มีผู้ยกมือเพียงประมาณ 15 คน เมื่อผมถามแบบเดียวกันว่ามีใครเคยได้ดูหนังเรื่องนี้จริงๆ แล้วบ้าง ก็มีผู้ตอบรับประมาณ 8-9 คนเท่านั้น เป็นไปได้ไง?

คุณอภิชาติพงศ์ชนะรางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี ค.ศ. 2004 ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ถือกันว่าสำคัญที่สุดในโลก นี่ไม่ใช่ความฟลุคครั้งเดียวด้วย ก่อนหน้านั้น 2 ปี คุณอภิชาติพงศ์เคยชนะรางวัลสำคัญที่คานส์สำหรับภาพยนตร์เรื่องสุดเสน่หา

Advertisement

เราคงจะคิดว่าสาธารณชนในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยกระเหี้ยนกระหือกับการอ้างเอาว่าไทเกอร์ วูดส์ เป็น “คนไทยระดับโลก” แม้ว่าเขาจะพูดไทยไม่ได้ คงจะรู้สึกภาคภูมิใจและตื่นเต้นกันอย่างสุดๆ กับความสำเร็จอันน่าประทับใจของคุณอภิชาติพงศ์ แต่ไม่เลย คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ถ้าเราดูสารคดีล้อ (mockumentary) ที่เฉลียวฉลาด จิกกัด และตลกมากของ “อลงกต” ที่ชื่อว่า “รุมกัดสัตว์ประหลาด” คำอธิบายก็จะเริ่มเผยออกมา สารคดีล้อเรื่องนี้คอยย้ำเตือนผู้ชมว่า สัตว์ประหลาด ได้ฉายในโรงหนังเพียงแค่ 3 โรง (ล้วนแล้วแต่ในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น) และแต่ละโรงได้ฉายเป็นระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ในบทสัมภาษณ์สั้นๆ บรรดาคนดังแต่ไม่เด่นในกรุงเทพฯ และพวกพล่ามในจอพากันพูดว่าหนังเรื่องนี้ “เยี่ยม”, น่าสนใจมากๆ, และสามารถไปถึง “ระดับสากลเหนือกว่าหนังไทยเรื่องอื่นๆ” (พวกเขากำลังมีปฏิกิริยากับรางวัลคานส์มากกว่ากับตัวภาพยนตร์เอง) แต่การบรรยายถึงหนังเรื่องสัตว์ประหลาด ว่าเป็นหนัง “เหนือจริง” และ “แอบส์แตร็กมาก” บ่งชี้ว่าพวกเขาไม่ได้เข้าใจหนังเรื่องนี้เลย รวมทั้งการที่พวกเขามั่นใจว่ามันเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ที่จะให้หนังเรื่องนี้ไปฉายตามโรงหนังในต่างจังหวัด มันคงจะเกินเลยสติปัญญาเชยๆ ของคนบ้านนอก

จากนั้น สารคดีล้อก็สัมภาษณ์ “ชาวบ้าน” วัยหนุ่มสาวต่ออีก 4 คน (ชาย 3 หญิง 1) ได้อย่างวิเศษ หลังจากที่ชาวบ้านเหล่านี้ถูกพาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อชมการฉายหนังเรื่องสัตว์ประหลาด รอบพิเศษที่สมาคมฝรั่งเศส Alliance Francaise

หลังจากดูจบ ผู้สัมภาษณ์ที่ไม่ปรากฏตัวให้เห็นก็บอกกับชาวบ้านทั้ง 4 คนว่า ปัญญาชนกรุงเทพฯ มากมายหลายคนพบว่าหนังเรื่องนี้ “ยาก” และ “ลึกลับ” แล้วก็ถามพวกเขาว่า พวกเขามีความรู้สึกแบบเดียวกันหรือไม่

“ชาวบ้าน” ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังเยี่ยมมาก ไม่เห็นมีอะไร “ยาก” หรือ “ลึกลับ” เป็นพิเศษ และว่าอยากจะให้หนังเรื่องนี้ไปฉายที่โรงหนังแถวบ้านตัวเอง พวกเขาเข้าใจสัตว์ประหลาดทะลุปรุโปร่งดี เราจะอภิปรายรายละเอียดเกี่ยวกับปฏิกิริยาของชาวบ้านเหล่านี้ในเวลาข้างหน้า

ก่อนที่เราจะไปสู่คำถามว่าทำไมทั้งที่คานส์และบรรดา “ชาวบ้าน” จึงชอบหนังเรื่องนี้กันมาก ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ไม่ชอบนั้น ผมก็ควรจะได้รายงานให้ทราบเกี่ยวกับการเดินทางเก็บข้อมูลวิจัยระยะสั้นแบบมือสมัครเล่นที่ผมไปกับคุณมุกหอม วงษ์เทศ และคุณอาดาดล อิงคะวณิช เมื่อเร็วๆ นี้

พวกเราตัดสินใจที่จะใช้เวลา 2 วันในการเดินทางเป็นครึ่งวงกลมรอบๆ กรุงเทพฯ ไปสัมภาษณ์เหล่าบุคคลที่ทำงานในร้านวิดีโอที่จังหวัดชลบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, สุพรรณบุรี และอยุธยา ร้านวิดีโอเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

แบบแรกคือร้านที่เป็นร้านให้เช่า ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตใจกลางเมือง และอีกแบบคือร้านที่ขายดีวีดีทั้งที่มีลิขสิทธิ์และดีวีดีเถื่อนราคาถูก ซึ่งจะเป็นร้านที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าเสมอ แล้วเราค้นพบอะไรกัน?

อย่างแรก ยกเว้นร้านวิดีโอเล็กๆ ร้านหนึ่งที่สุพรรณบุรี บรรดาผู้คนที่เราไปสัมภาษณ์ต่างก็รู้จักหนังเรื่องสัตว์ประหลาดกันทุกคน และหลายร้านก็มีดีวีดีเรื่องนี้วางโชว์อยู่บนชั้น แล้วพวกเขารู้จักหนังเรื่องนี้ได้อย่างไร?

ปรากฏว่าไม่ใช่จากหนังสือพิมพ์หรือแม็กกาซีน แต่จากการอ้างอิงถึงในโทรทัศน์ และที่น่าสนใจที่สุดก็คือ จากการเรียกร้องขอมาของลูกค้า เมื่อพวกเราถามว่าลูกค้าประเภทไหนที่สนใจหนังเรื่องสัตว์ประหลาด คำตอบที่ได้รับมากที่สุดก็คือ “อ๋อ, ก็ทุกประเภทนั่นแหละ, ส่วนใหญ่จะเป็นพวกมากันเป็นครอบครัว”

บางคนตอบว่า “คนหนุ่มสาวที่มีงานทำแล้ว” อายุสักราวๆ 20-30 ต้นๆ ซึ่งตรงข้ามกับพวกเด็กวัยรุ่น แต่บางคนก็บอกว่าพวกเขาได้รับการไต่ถามจากเด็กวัยรุ่นบ้างเหมือนกัน ผลตอบรับของหนังเรื่องนี้จากสาธารณะเป็นอย่างไรบ้าง? ไม่เลว, ธรรมดา, มีเรื่อยๆ, ไม่ประสบความสำเร็จโดดเด่นเท่าไหร่, แต่ก็ไม่ได้ถึงกับล้มเหลวหมดท่าเช่นกัน

พนักงานผู้ชายคนหนึ่งบอกกับเราว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่พนักงานที่ร้านอื่นๆ บอกว่ามีทั้งผู้ชายผู้หญิง น่าประหลาด ใช่ไหมครับ? (ควรสังเกตด้วยว่าลูกค้าเหล่านี้ไม่ใช่ “ชาวบ้าน” แต่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองเล็กๆ ตามต่างจังหวัดที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ สักขับรถประมาณ 1-2 ชั่วโมง)

ฉากหนึ่งในหลายๆ ฉากที่หนัง “สัตว์ประหลาด” แสดงให้เห็นถึงความรักของ “เก่ง” ทหารหนุ่มรูปหล่อ (ซ้าย) และ “โต้ง” ลูกจ้างโรงน้ำแข็งในเมือง (ขวา) ว่าเป็นพัฒนาการของการเกี้ยวพาราสีแบบ “ชาวบ้าน” ที่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างผู้ชายหนุ่มๆ ๒ คนในต่างจังหวัดเป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่สำหรับคนกรุงเทพฯ บางส่วนแล้ว อาจดูเหมือนเป็นแฟชั่นฝรั่ง น่าอายหรือแม้แต่ไม่มีความเป็นไทย

ถึงตอนนี้เราสามารถกลับมาที่ตัวภาพยนตร์เองได้อย่างมีทุนรอนบางอย่างแล้วเพื่อค้นหาอะไรให้ลึกขึ้น ยกเว้นฉากเปิดเรื่องที่ดูเป็นปริศนาแล้ว (คือฉากที่ทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังอยู่กันในชายป่าบังเอิญไปเจอศพเข้าศพหนึ่ง ในขณะที่ผู้ชมมองเห็นรางๆ จากที่ไกลๆ เป็นร่างเปลือยของชายคนหนึ่งที่กำลังเคลื่อนไหวผ่านต้นหญ้าสูงๆ อยู่บริเวณริมป่า)

ครึ่งแรกของเรื่องสัตว์ประหลาด เป็นเรื่องของทหารหนุ่มรูปหล่อ (เก่ง) ตามจีบหนุ่มหน้าตาประหลาด (โต้ง) ผู้ทำงานอยู่ที่โรงน้ำแข็งในเมือง ชายทั้งสองไม่เคยถอดเสื้อผ้าออก ไม่เคยจูบกัน เรื่องมีเซ็กซ์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่หนังก็ได้ทำให้เราเห็นถึงพัฒนาการของการเกี้ยวพาราสีแบบ “ชาวบ้านๆ” ในฉากหลายๆ แบบทั้งในชนบทและตัวเมืองเล็กๆ

ใน “รุมกัดสัตว์ประหลาด” ผู้สัมภาษณ์ผู้แกล้งทำตัวเป็นชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ถาม “ชาวบ้าน” ทั้ง 4 คนเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีนี้หลายหน เช่น “ต่างจังหวัดมีผู้ชายรักผู้ชายด้วยเหรอ?” ชาวบ้านตอบกันตรงๆ ว่า “มี เรื่องธรรมดา” ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า โต้งกับเก่งรักกันจริงๆ และหนุ่มชาวบ้านคนที่ดูขี้อายที่สุดถึงกับบอกว่าการจีบกันของพวกเขานั้น “โรแมนติค” มาก

ส่วนหญิงชาวบ้านออกความเห็นด้วยรอยยิ้มฉีกกว้างว่า ฉากที่เก่งนอนหนุนตักโต้ง ทำให้เธอขนลุก ฝ่ายผู้สัมภาษณ์แกล้งทำเป็นประหลาดใจกับคำตอบทั้งหลายแหล่นี้ และถามหญิงชาวบ้านคนนั้นว่าเธอคิดว่า เก่ง อาจจะเป็นกะเทยรึเปล่า “ทหารที่เป็นกะเทยน่ะเหรอ??” เธอหัวเราะคิกคักแล้วตอบว่า “คนที่เป็นทหารน่าจะเป็นกะเทย” แล้วโต้งล่ะ? “ก็…ตุ้งติ้ง…ก็…น่าจะเป็นคล้ายๆ กันนะ” เห็นได้ชัดว่าสารคดีล้อพยายามจะแสดงให้เห็นว่าการมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างผู้ชายหนุ่มๆ 2 คนในต่างจังหวัดเป็นเรื่องธรรมดา

ในขณะที่สำหรับคนกรุงเทพฯ บางส่วนแล้ว มันอาจจะดูเหมือน “เป็นแฟชั่นแบบฝรั่ง”, “น่าอาย” หรือแม้แต่ “ไม่มีความเป็นไทย” (แต่ว่าผู้สัมภาษณ์เป็นคนเริ่มใช้คำว่า “กะเทย” และก่อนหน้าที่เขาจะใช้คำนั้น “ชาวบ้าน” ใช้เพียงคำว่า “ชาย” หรือ “คน” เท่านั้น หนุ่มชาวบ้านไม่เคยเรียกเก่งกับโต้ง ว่าเป็นกะเทยเลย)

อย่างไรก็ตาม ผู้ชมที่เอาใจใส่จะสังเกตลักษณะอันโดดเด่นอย่างหนึ่งได้อย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งแรก นั่นก็คือ ซาวด์แทร็กในช่วงที่ว่านี้ไม่ปรากฏมีเสียงดนตรีแบ็คกราวด์เลย มีแต่เสียงของชีวิตประจำวันในต่างจังหวัด เสียงมอเตอร์ไซค์ หมาเห่า เสียงเครื่องยนต์ขนาดเล็กกำลังทำงาน และอื่นๆ เสียงของบทสนทนาแบบสามัญดาษดื่นความจริงก็เป็นเสียง “แบ็คกราวด์” ด้วย และเราก็ไม่จำเป็นต้องคอยใส่ใจเนื้อหาสาระของบทสนทนาเหล่านั้น

สิ่งที่ถูกนำมาอยู่เบื้องหน้าคือ ใบหน้า การแสดงความรู้สึก ภาษาร่างกาย การสื่อสารเงียบๆ ด้วยสายตากับริมฝีปากที่แย้มยิ้ม ผู้หญิงแก่คนที่โต้งเรียกว่า “แม่” แสดงออกให้เห็นด้วยสีหน้าท่าทางว่าเธอเข้าใจว่าการเกี้ยวพาราสี (ระหว่างโต้งกับเก่ง) กำลังดำเนินอยู่ แต่เธอไม่พูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ คนในหมู่บ้านต่างก็ไม่มีใครพูดอะไรเหมือนกัน ผู้ชมชาวกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับความแปลกประหลาดของซาวด์แทร็กอาจจะตัดบทไปได้ง่ายๆ ว่าครึ่งแรกของหนังเป็นอะไรที่ “เชย” เหลือเกิน แถมยังอาจจะสงสัยว่าเมื่อไหร่ผู้ชาย 2 คนนี้จะแก้ผ้าแล้วกระโจนเข้ากอดกันเสียที

อย่างไรก็ดีปัญหาจริงๆ ของผู้ชมเช่นนี้ผุดขึ้นมาในช่วงครึ่งหลังอันน่าตื่นตะลึงของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นช่วงที่เกือบจะไม่มีคำพูดของมนุษย์อยู่เลย

ครึ่งหลังฉายให้เห็นเก่งกำลังเข้าไปในป่าคนเดียวเพื่อสะกดรอยหาสัตว์ประหลาดที่มาฆ่าวัวควายของชาวบ้าน ในช่วงครึ่งหลังนี้ เสียงซาวด์แทร็กย้ายขึ้นมาอยู่ข้างหน้า และสิ่งที่เราได้ยินส่วนใหญ่แล้วคือเสียงของป่า และเสียงการเคลื่อนไหวของเก่ง ในขณะที่เขากำลังเข้าไปภายในป่าลึกขึ้นๆ ทุกที เวลาส่วนใหญ่ของครึ่งหลังนี้เป็นตอนกลางคืน

ขณะที่เก่งกำลังสะกดรอยรอยเท้ามนุษย์หรือรอยอุ้งตีนสัตว์ที่น่าฉงนข้างหน้าเขาอยู่นั้น มันก็เริ่มชวนให้คิดว่ารอยตีนนั้นเป็นรอยตีนของสัตว์ชนิดหนึ่ง และสัตว์ชนิดนี้ก็คือ เสือสมิง แต่ก็อาจเป็นรอยเท้าของโต้งได้เหมือนกัน

ในที่สุดเก่งก็ถูกจู่โจมโดย “สัตว์” ซึ่งผู้ชมจะจำได้ว่าเป็นร่างคนเปลือยที่เห็นในฉากเปิดเรื่อง มันคือโต้งนั่นเอง โต้ง ซึ่งมีรูปร่างเป็นมนุษย์เต็มตัว เว้นแต่ว่าเขาทาหน้าตัวเองเป็นลายเสือ และทั้งคำรามทั้งหอนโดยไม่พูดภาษามนุษย์แม้แต่คำเดียว

ในระหว่างการต่อสู้แบบถึงเนื้อถึงตัวที่ตามมานั้น โต้งเป็นฝ่ายชนะ เขาลากร่างที่ชะงักงันของเก่งไปที่ชะเงื้อมเขาที่สูงชัน และผลักตัวเก่งลงไป ทั้งนี้โต้งไม่ได้พยายามจะฆ่าเก่งเลย (กินยิ่งไม่ต้องพูดถึง) เก่งเองก็ไม่ได้บาดเจ็บสาหัสอะไรด้วย

ภาพสุดท้ายที่เราเห็นโต้ง เขากำลังยืนอยู่บนยอดเนินเขาราวกับเพื่อดูให้แน่ใจกับตัวเองว่า เก่งไม่เป็นไร ในส่วนที่เหลือของภาพยนตร์ ผู้ชมตามดูเก่งซึ่งเริ่มการค้นหาต่อไป และได้ประสบกับเหตุการณ์ “เหนือธรรมชาติ” หลายอย่าง (เช่น วัวตายที่ถูกกินไปครึ่งตัวลุกขึ้นยืนในสภาพสมบูรณ์แล้วเดินหายเข้าไปในป่า, คำแนะนำจากลิงผู้ชาญฉลาด และอื่นๆ)

หนังจบลงในฉากที่เก่งกำลังคุกเข่าจมโคลน จ้องมองไปที่เสือที่หมอบนิ่งไม่ไหวติงอยู่บนกิ่งสูงของต้นไม้ใหญ่เบื้องหน้าเขา เราได้ยินเสียงภายในของเขาพูดว่า สัตว์ประหลาด เอาไปเถอะ วิญญาณ เลือด เนื้อของกู ความทรงจำ และในเลือดทุกหยดของกู มีเพลงของเรา เพลงแห่งความสุข นั่นไง ได้ยินไหม?

จะว่ายังไงกันดีกับครึ่งหลังนี้? เมื่อตอนที่ผมฉายหนังเรื่องนี้ให้กับเกย์ชาวฟิลิปปินส์กระฎุมพีที่มีการศึกษาสูงในมะนิลาดู พวกเขาลงความเห็นอย่างรวดเร็วว่า หนังเรื่องนี้เป็น “หนังสยองขวัญอีกประเภทหนึ่งของหนังประเภทสยองขวัญของเอเชียที่กำลังเป็นที่นิยมมาก” ซึ่งบุกเบิกโดยญี่ปุ่น จากนั้นก็แพร่หลายไปที่เกาหลี จีนแผ่นดินใหญ่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ นี่ไม่ใช่ปฏิกิริยาแบบคนชนบทหนุ่มสาวที่ถูกสัมภาษณ์โดย “อลงกต” เลย

เด็กหนุ่มชาวบ้าน 2 คนเคยมีประสบการณ์ในป่า และบอกว่าความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้นเลย คือ สยอง และตื่นเต้น และบางทีก็ถึงกับขนลุก พวกเขาไม่เคยเห็นเสือสมิงมาก่อน แต่แน่ใจว่า “เคยมี” เสือสมิงในอดีต สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขางุนงงคือฉากสุดท้ายที่พวกเขารู้สึกว่ามันสั้นห้วนไปหน่อย เหมือนยังไม่จบ

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับ “สัตว์ประหลา” กับ ๒ นักแสดงนำ บัลลพ ล้อมน้อย (ซ้าย) ที่รับบทเป็น “เก่ง” และศักดิ์ดา แก้วบัวดี (ขวา) ที่รับบทเป็น “โต้ง”

ปฏิกิริยาที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกมาจากเพื่อนเกลอของผม Ben Abel เขาเป็นชาวอินโดนีเซีย Dayak ที่ถูกเลี้ยงโดยปู่ที่เป็นพวกนับถือผีในบริเวณที่เมื่อ 30 ปีก่อนเคยเป็นป่าในบอร์เนียวที่แทบจะไม่เคยถูกแตะต้องจากภายนอก เมื่อผมถามเขาว่ารู้สึกว่าหนังครึ่งหลัง “ยาก” ไหม เขาตอบว่า “ไม่เลย ผมเข้าใจทุกอย่าง”

เบนเคยเข้าไปล่าสัตว์ในป่ากับปู่ เพื่อน และแม้แต่ไปคนเดียวบ่อยๆ รวมทั้งในตอนกลางคืนด้วย เขาสามารถระบุเสียงสัตว์และเสียงนกที่อยู่ในซาวด์แทร็กได้ทั้งหมดทันที “ป่าเป็นที่ที่คุณจะต้องคอยเงี่ยหูฟังตลอดเวลา และทำตัวให้เงียบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช่แล้ว มันอาจจะน่ากลัว แต่ป่าเป็นเหมือนโลกที่แปลกประหลาดและมหัศจรรย์ในตัวของมันเอง คุณจะอยากกลับเข้าไปในป่าอีกเรื่อยๆ คุณรู้ว่าคุณกำลังทดสอบตัวเองอยู่ และเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองด้วย”

พอผมถามเขาเกี่ยวกับเสือสมิง เขาพูดอะไรที่น่าสนใจมากซึ่งยืนยันสิ่งที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เล่าเรื่องสมัยเด็กให้ผมฟังว่า “สมิงที่แท้จริงจะต้องเป็นมนุษย์เพศชายเสมอ ผู้ชายเท่านั้นที่จะมีพลังทางจิตวิญญาณที่จะเปลี่ยนรูปร่างตัวเองตามใจปรารถนา พวกเขาอาจปรากฏตัวในคราบของเสือ แต่ภายในตัวเสือนั้นมีสติปัญญาและวิญญาณของมนุษย์อยู่ โดยปกติพวกเขาจะแปลงกายเวลาต้องหลบหนีภัยอันตราย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จากมนุษย์คนอื่น ยังมีสมิงอีกประเภทหนึ่งที่เป็นผู้หญิง แต่มันจะเป็นผี ไม่ใช่มนุษย์ มันอาจจะปรากฏตัวในรูปของเสือ หรือผู้หญิงสาวสวย แต่มันจะเป็นผีร้ายเสมอ”

ฉากสั้นมากๆ ในครึ่งหลังของสัตว์ประหลาด ซึ่งในทีแรกดูเหมือนจะอธิบายไม่ได้ เป็นฉากของเพื่อนทหารผู้มีประสบการณ์และอายุมากกว่าเก่งกำลังเฝ้ายามตอนกลางคืนที่ริมป่า ทันใดนั้นก็มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นมา และเริ่มพูดคุยกับทหารผู้นี้ที่บอกให้เธอกลับบ้านไปเสีย เนื่องจากป่าในตอนกลางคืนอันตรายเกินไปสำหรับผู้หญิง

ขณะที่เธอหันกลับและหายตัวไป ทหารก็สังเกตเห็นหางเสือยาวเหยียดโผล่ออกมาจากใต้ผ้าถุงของเธอ เราอาจจะพูดได้ว่า เธอปรากฏตัวขึ้นที่นั่นเพื่อที่จะแสดงให้เห็นสิ่งที่โต้งไม่ได้เป็น นั่นคือ เธอเป็นผี แต่โต้งเป็นมนุษย์

เพื่อนของผมพูดต่อไปทำนองนี้ว่า “รู้มั้ย ถ้าคุณเติบโตในป่าหรือใกล้ป่าอย่างผม ระยะห่างที่พวกคนเมืองรู้สึกระหว่างโลกของมนุษย์กับโลกของสัตว์แทบจะไม่มีเลยที่นั่น คุณจะเริ่มเข้าใจความหมายของเสียงต่างๆ ที่นกและสิงสาราสัตว์ทำเวลาพวกมันออกหาเหยื่อ ผสมพันธุ์ หนีภัย ส่งเสียงเตือน และอะไรต่อมิอะไร นอกจากนี้ผู้คนยังสามารถผ่านจากโลกหนึ่งไปยังอีกโลกหนึ่ง ลุงผมคนที่เพิ่งจะตายไปเมื่อเร็วๆ นี้กลับมาหาเป็นเสียงนกฮูกตอนกลางคืน ในยามหลับ วิญญาณของคนสามารถออกจากร่าง นำข่าวสารกลับมาให้ บางทีก็ในฝัน”

เขาเพิ่มเติมว่าเขาคิดว่าในช่วงครึ่งหลังของภาพยนตร์ เก่งกำลังหาอะไรบางอย่าง อาจเป็นคำตอบให้กับสิ่งที่เขาไม่เข้าใจเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับโต้ง และอะไรอื่นอีกหลายอย่าง “สิ่งที่วิเศษที่สุดของตอนจบก็คือว่า ความรักของเก่งนั้นลึกซึ้งมากเสียจนเขาเต็มใจที่จะสละ “วิญญาณ ร่างกาย และแม้แต่ความทรงจำของเขา” พูดอีกแบบก็คือ ความคิดบางอย่างเกี่ยวกับมนุษย์ในฐานะเทพเจ้า-แยกออกไปจากโลกที่เหลือ วิญญาณของเขากำลังอยู่ในกระบวนการตามหาวิญญาณของโต้ง”

คำวิจารณ์สุดท้ายของเขาที่ให้กับผมก็คือ “นี่เป็นหนังที่วิเศษที่สุดตั้งแต่ผมเคยดูมา ผมไม่อยากจะเชื่อว่าจะมีคนทำหนังในปัจจุบันที่สามารถเข้าไปในโลกที่ผมโตขึ้นมา และนำเสนอมันออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบขนาดนั้น ผมไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อนเลย”

ฤดูร้อนปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญไปร่วมการประชุมทางวิทยาศาสตร์ที่ Fortaleza เมืองห่างไกลที่อยู่ทางแถบชายหาดตอนเหนือของบราซิล ซึ่งอยู่เบื้องหน้าป่าทุ่งหญ้าแพรรี่ที่กว้างใหญ่ โล่งว่าง ที่เรียกว่า Sertao อันเป็นแหล่งของตำนานต่างๆ รวมทั้งภาพยนตร์ของบราซิล

ภายในพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง ผมพบบางสิ่งบางอย่างที่พิเศษมาก คือนิทรรศการเล็กๆ เกี่ยวกับหนังสือเล่มเล็กจิ๋วที่เย็บด้วยมือ มีประมาณ 20 หน้า พร้อมด้วยรอยพิมพ์หยาบๆ บนหน้าปก หนังสือเล่มเล็กๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่มีขายตามป้ายรถเมล์สำหรับคนยากจน เป็นหนังสือที่เขียนเป็นโคลงกลอน มักจะจัดทำอย่างสวยงาม และมักจะไม่มีชื่อผู้แต่ง โดยทั่วไปแล้วเนื้อหาจะเกี่ยวกับการปฏิวัติที่มีชื่อเสียง การสังหารหมู่ และปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นในอดีต แต่หนังสือชุดนี้ยังมีเซ็คชั่นที่อุทิศเนื้อที่ให้กับเรื่องรักอันแสนจับใจระหว่างเด็กสาวผู้ไร้ความสุขกับแพะของพวกเธอ คาวบอยกับม้า ลา และอื่นๆ

เมื่อผมถามเพื่อนผู้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ คำตอบของพวกเขาค่อนข้างจะฟังเป็นแบบคนกรุงเทพฯ “คืออย่างงี้นะ ตามไร่ตามฟาร์มที่อยู่ลึกเข้าไปใน Sertao น่ะ ไม่มีผู้หญิงอยู่ ผู้ชายก็เลยต้องมีเซ็กซ์กับผู้ชายอื่นๆ ด้วยกันเอง หรือไม่ก็กับสัตว์ของพวกเขา คุณจะคาดหวังอะไรล่ะ” (ผู้ชายอื่นๆ กับสัตว์หรือ? สัตว์ประหลาด!)

ผมตอบเพื่อนไปว่าที่เขาว่ามานี้ดูเหมือนยากจะเชื่อสักหน่อย “แล้วพวกเด็กสาวยากจนกับแพะของพวกเธอล่ะ? แล้วพวกเมียที่ตัดคอม้าของสามีด้วยความหึงหวงล่ะ? และเท่าที่ผมจะบอกได้ก็คือ พวกเขาไม่ได้มีเซ็กซ์กัน หนุ่มคาวบอยกับม้าของเขาเพียงแค่รักกันเท่านั้น” “อืมมมมม์! อืมมมมม์! ผมเข้าใจละว่าคุณหมายความว่าไง” ว่าแต่ว่าผมหมายความว่ายังไงกันล่ะ?

เท่าที่ผมรู้สึกนั้น ถ้าหากว่าคุณอภิชาติพงศ์พยายามจะทำหนังที่ไม่ได้ “เกี่ยวกับ” โลกของ “ชาวบ้าน” ในเมืองไทย แต่ “จากภายใน” โลกนั้นเอง จากภายในวัฒนธรรมของชาวบ้าน และจากการสำนึกรู้เกี่ยวกับตัวเองของโลกชาวบ้าน เราก็สามารถเห็นได้ง่ายๆ ว่าเหตุไฉนผู้ให้สัมภาษณ์ที่เป็น “ชาวบ้าน” ใน รุมกัดสัตว์ประหลาด จึงรู้สึกว่าหนังเรื่องสัตว์ประหลาด นั้นดูเข้าใจแจ่มแจ้งและชวนติดตามในขณะเดียวกัน

เราก็สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมคนเมืองจำนวนมากที่อยู่ในห้องแอร์ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ จึงพบว่าหนัง “ยาก” และ “ลึกลับ” คนเมืองเหล่านี้คุ้นชินแต่กับหนังที่เกี่ยวกับตัวพวกเขาเองและสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าของพวกเขา โดยมี “ชาวบ้าน” ใส่เข้าไปในหนังเพียงเพื่อให้มีสีสันท้องถิ่นหรือไม่ก็เพื่อสร้างผลข้างเคียงที่ตลกขบขัน

พวกเขาไม่รู้สึกว่ามันแปลกอะไรเลยที่บทหนุ่มอีสานยากจนที่เป็นตัวละครเอกในหนังที่เป็นที่รู้จักกันดี เรื่องทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ของท่านมุ้ย จะแสดงโดยหนุ่มหล่อน่ารักชาวกรุงเทพฯ ที่มีผิวพรรณผุดผ่อง พวกเขาสนุกสนานกับความตระการตาของศิลปะการต่อสู้ในองค์บาก และพล็อตน้ำเน่าที่เดาได้ เพียงแต่มีความเห็นที่ผมบังเอิญได้ยินจากสาวๆ แต่งตัวดีที่คุยกันระหว่างเดินออกจากโรงหนังเซ็นทรัลปิ่นเกล้าว่า “น่าเสียดาย พระเอกไม่หล่อ”

ถึงจุดหนึ่ง คนกรุงเทพฯ ชั้นกลาง ชอบหนังที่ใช้ตำนานไทยๆ แต่เพื่อให้คล้อยตาม หนังเหล่านี้ก็ต้องเป็นเวอร์ชั่นของเรื่อง (ของเรา) ที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และผู้ชมต้องสามารถที่จะมีระยะห่างกับตำนานเหล่านั้น ราวกับเป็นนักมานุษยวิทยาที่กำลังมองวัฒนธรรมอื่น

ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งคือหนังยอดนิยมเวอร์ชั่นล่าสุดของนางนาก ซึ่งสร้างเรื่องเล่าชาวบ้านที่เดิมเป็นเรื่องน่ากลัวขนหัวลุกขึ้นใหม่ อันเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้จักอย่างน้อยที่สุดก็เรื่องคร่าวๆ ให้สอดรับกับลักษณะการดูทีวีแบบชนชั้นกลางกรุงเทพฯ “มันเป็นหนังรัก!” ไม่น่าประหลาดเลย! ตรงนี้เองที่เราสามารถตรวจพบความเจ้าเล่ห์ของคุณอภิชาติพงศ์ ในแง่หนึ่ง สัตว์ประหลาด มีความเป็นตำนาน แต่ถึงกระนั้นมันก็ไม่ได้มาจากตำนานที่ผู้คนโดยทั่วไปคุ้นเคย แต่คุณอภิชาติพงศ์ก็ยึดมั่นว่าหนังจะต้องไม่ถูกทำให้มีความเป็นกรุงเทพฯ และดาษดื่นด้วยการใช้แก่นเรื่องของ “ชายรักชาย” (ไม่, ไม่ใช่ ไทยรักไทย!) ลองจินตนาการดูว่าถ้า นางนาก ถูกทำให้เป็นหนุ่มนาก จะเป็นยังไง? ต้องงงแน่นอน

“เจ๊กปนลาว” งานบุกเบิกและล้มล้างความเชื่อเก่าของสุจิตต์ วงษ์เทศ

แต่ผมสงสัยว่าจะต้องมีวิธีเฉลยมากกว่านี้ต่อปริศนาที่บทความสั้นๆ นี้สนใจ ซึ่งก็คือปัญหาอันยากยิ่งของ “ความเป็นไทย” หลายปีก่อน หนังสือเจ๊กปนลาว ซึ่งเป็นงานบุกเบิกและล้มล้างความเชื่อเก่าของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ก่อให้เกิดความฮือฮาด้วยนัยยะที่ว่า “ความเป็นไทย” ไม่ได้เป็นอะไรที่เก่าแก่โบร่ำโบราณเลย แต่เป็นผลผลิตเมื่อไม่นานมานี้ของการปะปนผสมผสานอย่างละครึ่งระหว่างวัฒนธรรม “เจ๊ก” กับ “ลาว” ที่มีมาช้านาน

เท่าที่ผมได้ยินมา คุณสุจิตต์รู้สึกประหลาดใจไม่น้อยกับบรรดาจดหมายแสดงความขอบคุณซาบซึ้งที่เขาได้รับจากผู้อ่าน ผู้อ่านเหล่านั้นรู้สึกพลุ่งพล่านและกินใจกับการอัญเชิญความเป็นเจ๊กในแง่บวกของคุณสุจิตต์ ปฏิกิริยาที่คุกรุ่นด้วยอารมณ์เช่นนี้ทำให้นึกถึงปฏิกิริยาของชายและหญิงที่เป็นพวกรักเพศเดียวกันที่มีต่อนวนิยายแบบจริงจังเล่มแรกๆ ที่มีตัวละครเอกเป็นเกย์และ/หรือเลสเบี้ยนที่น่าดึงดูดใจ “ในที่สุด พวกเราก็ถูกนำเสนอด้วยความเคารพและซื่อสัตย์”

ในช่วงทศวรรษที่ 1990 หนังสือหลายต่อหลายเล่มเจริญรอยตามสปิริตของ “การออกมาจากตู้เสื้อผ้าเจ๊ก” ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและลูกหลานของพวกเขามีอะไรให้ภาคภูมิใจมากมายทีเดียว สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนนักก็คือหนังสือเหล่านี้ถูกอ่านอย่างระมัดระวังโดยคนอีกมากที่ไม่ได้ซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าบ้างหรือไม่ เรายังคงต้องรอคอยที่จะได้เห็น “ความเป็นเจ๊ก” ได้รับการเชิดชูในแบบเรียนชั้นประถมและมัธยมของไทย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กรุงเทพฯ ยังคงเป็นเมืองที่มีประชากรจีนล้นหลาม และแม้แต่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ของชนชั้นแรงงานในเมืองหลวงก็ประกอบไปด้วยผู้อพยพชาวจีนและเวียดนามที่ยากไร้ อันเป็นช่วงก่อนที่คลื่นสึนามิมนุษย์ที่ถาโถมมาจากภาคอีสานจะทยอยมา ทุกวันนี้ ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ที่ประสบความสำเร็จเป็นพวกลูกจีนแทบทั้งนั้น และแน่นอนว่า ชนชั้นบน (upper class) หรือชนชั้นผู้มีอันจะกินเองก็มีเทือกเถาเหล่ากอบางส่วนเป็นจีนเช่นกัน แต่ข้อเท็จจริงนี้ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้แพร่หลายต่อสาธารณชน ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนั้น กระฎุมพีในเมืองที่ประสบความสำเร็จจะแยกตัวทางวัฒนธรรมจากชนบท ทว่าก็ไม่ใช่ทางชนชาติ แต่การแยกตัวที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นมีทั้ง 2 ด้าน เนื่องจากกำพืดทางชนชาติของพวกกระฎุมพีภายนอกประเทศ

พนม ยีรัมย์ (จา) พระเอกไม่หล่อ แต่มากความสามารถในศิลปะการต่อสู้ในหนัง “องค์บาก”

เราอาจจะคิดแบบนี้ก็ได้ว่า เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก พวกลูกจีนชนชั้นกลางเป็นพวกกระตือรือร้น ทะเยอทะยาน และไต่เต้าทางสังคม ซึ่งหมายความว่า พวกเขามีแนวโน้มจะผสมกลมกลืนไปในทิศเหนือขึ้นไป (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง) สู่วัฒนธรรมของชนชั้นบน (upper classes) และรัฐ

ทุกวันนี้ The House of Lords ในลอนดอนเต็มไปด้วยพวกชนชั้นกลางที่ประสบความสำเร็จที่เริงร่ากับการได้รับยศถาบรรดาศักดิ์เป็น Baroness นี่ Baroness นั่น กรุงเทพฯ ก็มีผู้หญิงลูกจีนมากมายที่อยากได้ใคร่ดีจะเป็นคุณหญิง ด้วยเหตุนี้ ถึงจะไม่ทั้งหมดซะทีเดียวก็ในระดับหนึ่ง ลูกจีนชนชั้นกลางเหล่านี้จึงดูดดื่มกับ “ชาตินิยมทางการ” ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่แสดงให้เห็นๆ กันในละครทีวี การแสดงทางพิธีกรรม และเครื่องจักรโฆษณาอย่าง “River of Kings” พวกเขาสามารถเห็นตัวเองสะท้อนอยู่ในรายการทอล์กโชว์และละครโทรทัศน์น้ำเน่า แต่ก็ในบทบาทของ “กระฎุมพีไทย” ไม่ใช่ลูกจีน นี่ย่อมจะยังไม่น่าพึงพอใจไปเสียทั้งหมด พวกลูกจีนชนชั้นกลางไม่รู้สึกสบายใจเลยกับหนังยอดนิยมอย่างต้มยำกุ้ง (เช่นเดียวกับทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ที่กล่าวมาแล้ว) ที่มีตัวร้ายที่โลภโมโทสันแสดง-อย่างค่อนข้างจะเหยียดเชื้อชาติ-เป็นเจ๊ก

ผมคิดว่าสัตว์ประหลาด จึง “ยาก” เป็นพิเศษสำหรับลูกจีนชนชั้นกลางในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาไม่ปรากฏให้เห็นในหนังเรื่องนี้ แต่เพราะสัตว์ประหลาด นำเสนอรูปแบบของ “วัฒนธรรมไทย” พร้อมด้วยรากเหง้าโบราณที่อยู่ “ข้างล่างพวกเขา” รวมทั้งเป็นสิ่งที่แปลกแยกโดยสิ้นเชิงจากประสบการณ์ของพวกเขา

การสามารถจะบอกว่าหนังเรื่องนี้มุ่งหมาย “สำหรับฝรั่ง” เท่ากับเป็นการแสดงความน่าเชื่อถือของ “ความรักชาติบ้านเมืองแบบไทย” ของตัวเองต่อการคุกคามภายในที่อยู่ในเรื่องสัตว์ประหลาด ในประเด็นนี้ยังมีการหลอกตัวเองมากมายเกี่ยวข้องด้วย

เนื่องจากผู้บริโภควัฒนธรรมบริโภคนิยมของฝรั่งกลุ่มใหญ่ที่สุดก็คือกระฎุมพีกรุงเทพฯ นั่นเอง นี่อาจจะนำเรากลับมาสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (และจุฬาฯ) ซึ่งถูกเรียกอย่างกึ่งขบขันกึ่งภูมิใจว่าเป็นมหาวิทยาลัยแต้จิ๋วที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถ้าหากว่าข้อถกเถียงของผมในบทความนี้ถูกต้องแม้เพียงบางส่วน มันอาจจะช่วยอธิบายถึงความไม่รู้และเฉยชาของบรรดาอาจารย์และนักศึกษาต่อความสำเร็จอันน่าทึ่งของสัตว์ประหลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจเมื่อได้ประสบ

ท่านผู้อ่านคงจะได้สังเกตว่า ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ผมเน้นย้ำคำว่า “ในปัจจุบัน” ที่ผมทำเช่นนั้นก็เพราะผมสงสัยว่าความแปลกแยกมหาศาลที่ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ มีต่อ “วัฒนธรรมชนบท” นั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่

ในช่วงที่ขึ้นเครดิตก่อนหนังช่วง 2 จะเริ่ม คุณอภิชาติพงศ์เอ่ยถึงความเป็นหนี้บุญคุณและความชื่นชอบต่อหนังสือยอดนิยมประเภท “นิยายผจญภัยในป่า” (โดยหลายๆ เรื่องก็เป็นการเลียนแบบนวนิยายของ Conan Doyle อย่างสร้างสรรค์) ที่เขียนโดย “น้อย อินทนนท์” ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 ก่อนการตัดไม้ทำลายป่าเก่าแก่ของไทยอย่างมโหฬารโดยพวกตัดไม้ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย

ในนิยายเหล่านี้ ซึ่งใช้ฉากในปัจจุบัน เสือสมิงจะมีบทบาทเป็นสัตว์จริงๆ แม้จะเป็น “สัตว์ที่ประหลาด” แม้ว่านายพรานที่เป็นพระเอกคือคุณศักดิ์ จะมีโลกทรรศน์ที่ค่อนข้างเป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ ผู้อ่านของน้อยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว และอาจจะเป็นผู้ชาย คนเมือง ลูกจีน มอญ ลาว เสียส่วนใหญ่เช่นกัน

ผู้อ่านเหล่านี้อาจจะเป็นคนที่ฟังวิทยุมากกว่าดูโทรทัศน์ ไปดูหนังในโรงที่แออัดอึกทึกมากกว่าจะจมหายไปกับโลกในอินเตอร์เน็ต มีชีวิตอยู่อย่างพึงพอใจโดยปราศจากแอร์เหมือนคนอื่นๆ และเป็นพวกที่ไม่ได้ถูกขังอยู่ในวัฒนธรรมบริโภค “โลกาภิวัตน์” แบบดาดๆ ในระดับหนึ่ง คนชั้นกลางแบบเก่าอย่างนี้ยังคงดำรงอยู่ในที่อย่างสมุทรสาครและราชบุรี แต่คนอย่างนี้ส่วนใหญ่ได้อันตรธานจากเมืองแห่งทวยเทพไปเสียแล้ว

เหลือที่ยังต้องมาพิจารณากันคือพวกพล่ามในจอของกรุงเทพฯ ที่อ้างว่าชอบหนังเรื่องสัตว์ประหลาดมาก แต่ไม่ค่อยเข้าใจมัน ต่อคำถามนี้ ผมเป็นหนี้การได้สนทนากับคุณอาดาดล อิงคะวณิช ผู้กำลังทำโครงการวิจัยใหญ่เกี่ยวกับ “Thai heritage films”* (“หนังมรดกทางวัฒนธรรมของกระฎุมพีไทยที่ดิ้นรนจะเป็นทั้งไทยและสากล”) อย่างมากมาย

ผมได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ถึงการที่พวกพล่ามในจอกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับรางวัลเกียรติยศชั้นสูงที่หนังสัตว์ประหลาดคว้ามาได้ ดังที่พวกเขามักจะมองกันในเรื่องนี้ว่า รางวัลเกียรติยศเหล่านี้หมายความว่าเมืองไทยสามารถทำหนังได้ในระดับ “สากล” และการที่พวกเขายอมรับหนังเรื่องนี้ก็หมายความว่าพวกเขาก็มีความเป็น “สากล” เหมือนกันในวิธีคิดของพวกเขา

ความยากอยู่ที่ว่า ความเป็น “สากล” มีความหมายที่แตกต่างหลากหลายและบางครั้งก็ขัดกันเอง บางครั้งความเป็น “สากล” หมายความว่าชาวต่างชาติชื่นชมและชอบดูหนังไทยบางเรื่อง แต่เรื่องไหนล่ะ? ตัวอย่างที่ชวนอึดอัดก็เช่น สตรีเหล็ก, บิวตี้ฟูลบ๊อกเซอร์, องค์บาก, รวมทั้งหนัง “ผี” ทั้งหลาย เนื่องจากความสำเร็จในต่างประเทศดูจะหมายความว่า ชาวต่างชาติคิดถึงเมืองไทยว่ามีแต่ผี, นักมวย และพวกแปลงเพศ หรือบางที “สากล” ก็หมายถึงการที่ชาวต่างชาติช่วยสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่ “หนังไทยดีๆ”

ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งคือบทบาทของผู้กำกับชื่อดังของฮอลลีวู้ด Francis Ford Coppola ในการตัดต่อและโปรโมตหนังเรื่องสุริโยไท ของท่านมุ้ย ซึ่งเป็นเพื่อนของเขา ทว่าอนิจจา, สุริโยไท เจ๊งไม่เป็นท่าในต่างประเทศ และแม้แต่ในเมืองไทยก็ทำกำไรได้น้อยกว่าหนังยอดนิยมเลือดสาดอย่าง บางระจัน ซึ่งไม่ได้พุ่งเป้าเน้นไปที่ราชวงศ์ แต่พุ่งเป้าเน้นที่ “ชาวบ้าน” ที่รักชาติบ้านเมือง


*ชื่อวิทยานิพนธ์คือ “Hyperbolic Heritage : Bourgeois Spectatorship and Contemporary Thai Cinema”–ผู้แปล

สัตว์ประหลาด ดูจะเป็นวิถีที่จะสลัดหลุดไปจากความยุ่งยากนี้ จากการที่มันได้รับการชื่นชมจากพวกพล่ามในจอต่างชาติ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และคนที่มีการศึกษาสูงโดยทั่วๆ ไป อาจเรียกว่า “คนแบบเรา” ก็ได้ แต่โชคร้ายที่แน่ล่ะว่าคนเหล่านั้นก็ไม่ใช่ “คนแบบเรา” เท่าไหร่นัก เพราะว่าพวกเขาอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่แตกต่างออกไป

พวกคนดูหนังที่มีรสนิยมซับซ้อนในนิวยอร์ก โตเกียว ปารีส เบอร์ลิน ลอนดอน และโตรอนโต คุ้นเคยกับประเพณีทางภูมิปัญญาที่มีมายาวนานที่จะไม่คาดหวังที่จะต้อง “เข้าใจ” ภาพยนตร์ในแบบตอกตรึงปราศจากความคลุมเครือ ด้วยเหตุนี้จึงมีวัฒนธรรมแบบที่มักเรียกด้วยภาษาเทคนิคว่า “multiple readings”

พวกเขาสามารถดูหนังที่น่าตื่นตะลึง แยบยล ซับซ้อน อย่าง Pickpocket ของ Bresson ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับความแปลกแยกของชีวิตสมัยใหม่ในเมือง หรือเป็นหนังเกี่ยวกับการกดเหยียดความเป็นโฮโมเซ็กช่วล, หรือเป็นหนังเปรียบเปรยเกี่ยวกับการเมืองฝรั่งเศสช่วงทศวรรษที่ 1940 หรือ…โดยไม่ต้องกีดกันการอ่าน/ตีความแบบอื่นๆ โดยที่เป็นอยู่แล้ว การลงทุนทางภูมิปัญญาจะอยู่ในสุนทรียศาสตร์ของภาพยนตร์ อันเป็นการลงทุนที่ปัญญาชนฝรั่งเศสมีร่วมกับปัญญาชนญี่ปุ่นและแคนาดา

อภิชาติพงศ์ ขณะกำกับหนังที่น่าตื่นตะลึงของเขาเรื่อง “สัตว์ประหลาด”

การลงทุนลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ยากเข็ญสำหรับปัญญาชนไทยผู้ที่โดยธรรมชาติแล้วต้องการให้หนังไทย “สากล” มีทั้งความเป็น “สากล” และเป็นไทยด้วย นี่หมายความว่าการลงทุนนี้มีความเป็นชาตินิยมโดยแท้ ซึ่งตามคำจำกัดความแล้วก็ย่อมจะไม่ “สากล” เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วการลงทุนนี้เป็นเรื่องการเมือง มันจึงย่อมจะต้องมีความเป็นปฏิปักษ์ ไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือซ่อนเร้น เกี่ยวกับการเปิดให้เห็นอะไรก็ตามที่มีความเป็น “ไทยอย่างแท้จริง” ต่อปฏิบัติการอันลื่นไหลของ “การอ่านหลายนัย” (multiple readings) ชาวต่างชาติอย่าง Quentin Tarantino ผู้เป็นกรรมการตัดสินของคานส์ จึงสามารถชื่นชมความกำกวมและเทคนิคการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนอย่างยิ่งของสัตว์ประหลาด โดยที่ยังพูดได้อย่างสำราญว่า “มันเป็นหนังที่วิเศษ และผมก็ไม่เข้าใจมัน”

แต่ท่าทีนี้เป็นไปได้ง่ายๆ หรือไม่สำหรับปัญญาชนกรุงเทพฯ ผู้ที่ถูกวางตำแหน่งอย่างงุ่มง่ามให้ไม่สามารถพูดทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ว่า “มันเป็นหนังไทยที่ยิ่งใหญ่” และ “ฉัน/ผมไม่ค่อยเข้าใจมันเท่าไหร่” เพราะว่าพวกเขาควรจะต้องเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้อย่างตรงๆ ไม่กำกวม เพียงเพราะพวกเขาเป็น “คนไทยที่ดี”

คุณอภิชาติพงศ์ได้ทำให้ตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขายุ่งยากขึ้น โดยการที่เขายืนยันในการให้สัมภาษณ์ว่า หนังของเขาเป็นหนังไทยตั้งแต่ต้นจนจบ และมีรากอยู่ที่ประเพณีไทย รวมทั้งขนบของหนังยอดนิยมของไทย แม้ว่าจะไม่ได้สมาทานชาตินิยมแบบทางการแบบการแสดง River of Kings แต่พวกพล่ามในจอในกรุงเทพฯ ก็ยังคงรู้สึกว่ามันช่างยากที่จะเข้าใจว่าทำไมผลิตภัณฑ์อันแพงระยับของชาตินิยมแบบนั้น ดังเช่นสุริโยไท จึงเป็นอะไรที่ไม่มีใครสนใจเอาเลยในระดับ “สากล” สุริโยไท เป็นเพียง “หนังบ้านนอก” ที่น่าเบื่อ เป็นหนังสำหรับผู้เชี่ยวชาญทางมานุษยวิทยาเท่านั้น มันเป็นหนังที่ไม่ได้พูดอะไรกับใครที่ไม่ใช่คนไทยเลย ไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ว่า คนชั้นกลางเหล่านี้ไม่อาจซาบซึ้งความคิดที่ว่า ความรักชาติบ้านเมืองแบบทางการในบ้านตัวเองเป็นความบ้านนอกเมื่ออยู่บนเวทีโลก

(ซ้าย) โปสเตอร์หนัง “บางระจัน” ในรูปแบบฉายต่างประเทศ และ (ขวา) โปสเตอร์หนัง “สุริโยไท” ในรูปแบบฉายต่างประเทศ

ทำไมจึงเป็นอย่างที่ผมว่ามานี้? คำอธิบายที่ค่อนข้างเป็นไปได้แบบหนึ่งคือ มีความล้มเหลวในการแยกแยะระหว่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกับวงการภาพยนตร์ระดับโลก อุตสาหกรรมไทยได้ประสบความสำเร็จ (ทางด้านรายได้) อย่างฟู่ฟ่าในการดึงผู้มาท่องเที่ยวในวันหยุดระยะสั้นให้มาเพลิดเพลิน (แบบประเดี๋ยวประด๋าว) กับวัดพระแก้ว, เขาพนมรุ้ง, สุโขทัย, และแม้แต่ซากปรักหักพังของอยุธยา, พร้อมๆ กับพัทยา, เกาะสมุย และภูเก็ต อีกทั้งอาหารไทย ความเป็นมิตรของคนไทย รวมทั้งอุตสาหกรรมขายบริการทางเพศ แต่ความบันเทิงสนุกสนานเหล่านี้อยู่ได้เพียงสั้นๆ และตื้นๆ เท่าที่จะสอดรับกับผู้มาท่องเที่ยววันหยุดผู้ซึ่งในขณะที่พำนักอยู่ในประเทศไทยได้สร้างตลาดที่จำกัดขึ้น

ในอีกแง่หนึ่ง ความบันเทิงสนุกสนานในท้องถิ่นของเหล่านักท่องเที่ยวแบกเป้, คนเกษียณอายุ, นักธุรกิจญี่ปุ่นที่มาพักผ่อน ฯลฯ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับความพึงพอใจของ “นักดูหนังในระดับสากล” ด้วยเหตุนี้มันจึงยากที่จะเข้าใจว่าทำไมฝูงนักท่องเที่ยวที่พอใจที่จะซื้อตั๋วไปดูวัดพระแก้วกลับไม่มีความปรารถนาเลยสักนิดที่จะดูสุริโยไท ที่เทศกาลหนังที่เบอร์ลินหรือร็อตเตอร์ดัม อันเป็นที่ที่ผู้ชมไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นนักท่องเที่ยวเลย

บางทีนี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกพล่ามในจอของกรุงเทพฯ-ผู้ซึ่งมีทวิฐานะเป็นกระบอกเสียงของความเป็นไทยและเป็นสมาชิกของวัฒนธรรมสากล-จึงมีแนวโน้มจะพบว่าตัวเองติดกับดัก เนื่องจากวัฒนธรรมสากลชื่นชมคุณอภิชาติพงศ์ พวกเขาเลยอยากจะชื่นชมผู้กำกับหนังคนนี้ด้วย แต่พวกเขาก็ไม่สามารถทำใจยอมรับว่าพวกเขา “ไม่เข้าใจเขา” แน่ล่ะว่าพวกเขาควรจะเข้าใจคุณอภิชาติพงศ์ เพราะว่าจะอย่างไรเสียพวกเขาก็เป็นคนไทย การพูดว่า “เรารักคุณอภิชาติพงศ์เพราะว่าเราไม่เข้าใจเขา” เป็นอะไรที่เจ็บปวดและยากลำบากเกินไป จุดตรงกลางก็คือ สัตว์ประหลาด “ยาก” และ “ลึกลับ” แต่ในฐานะที่เป็นคนไทย พวกเราก็เข้าใจมันได้ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว “พวกเรา” จะไม่ได้เข้าใจมันเลย

ยากที่จะกังขาว่าคุณอภิชาติพงศ์สนุกกับอะไรทั้งหลายทั้งปวงนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชื่อหนังของเขาจึงสมบูรณ์แบบเหลือเกิน ใครกันแน่ ในเมืองไทย ณ ปัจจุบัน ที่เป็นสัตว์ประหลาด? น่าอึดอัด ใช่ไหมครับ?


ขอขอบคุณอาดาดล อิงคะวณิช ที่ชี้แนะและช่วยตรวจแก้ต้นฉบับแปลให้รอดพ้นจากการเป็น “สำนวนแปลประหลาดอะไรวะ?”


หมายเหตุ : บทความนี้เดิมทีชื่อ “สัตว์ประหลาดอะไรวะ?” เขียนโดย เบน แอนเดอร์สัน แปลโดย มุกหอม วงษ์เทศ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2560