จันทบุรีก็มี “เหน่อ” ถ้าไม่เชื่อ ลองอ่านปทานุกรมศัพท์จันท์

บรรยากาศริมคลองจันบุรี ในอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ด้านหลังเห็นโบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล (ภาพโดย Adriaan Castermans, via Wikimedia Commons)

ผมเป็นคนเมืองจันท์โดยกำเนิด มีพื้นเพอยู่ทางบ้านสระบาป ตำบลคลองนารายณ์ ใกล้ๆ กับอุทยานแห่งชาติ เขาสระบาป จัดได้ว่าเป็นเด็กบ้านนอก แม้จะอยู่ในเขตอำเภอเมือง แต่ก็พูดเหน่อ และใช้คำพูดบางคำเป็นของคนจันท์แท้ๆ

เมื่อมาเรียนโรงเรียนในตลาด นอกจากจะโดนเพื่อนๆ ชาวตลาดหัวเราะในความเหน่อแล้ว บางทีเพื่อนก็ไม่เข้าใจในความหมายของคำพูดบางคำที่ผมและเด็กที่ไปจากต่างอำเภอใช้พูดกัน เป็นต้นว่า จะเรียกพ่อว่า เอ๊าะ และเรียกแม่ว่า แมะ ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ผ่อง

เวลาเจอหน้ากัน ก็จะร้องทักกันเสียงดังว่า แล้ เป็นความหมายว่า อ้าวแล้วกันมาเจอกันที่นี่ได้ไงเนี่ย อะไรทำนองนั้น ซึ่งปัจจุบันเด็กรุ่นหลังที่อายุประมาณ 30 ลงไปไม่ใช้แล้ว ใครใช้ก็จะเชย

นอกจากคำที่ผมยกตัวอย่างมานี้แล้วยังมีอีกหลายสิบคำ ที่ผมพอจะรวบรวมมาเล่าสู่กันฟังเป็นปทานุกรมศัพท์จันท์ฉบับย่อได้ประมาณ 40 คำ บางคำจะนิยมพูดเฉพาะตำบล หรือบางอำเภอเท่านั้น คนที่อายุขนาดผม (สี่สิบกลางๆ) บางคนก็ไม่เคยได้ยินหรือฟังไม่เข้าใจ ผมจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้ เผื่อว่าท่านที่มาจากต่างบ้านต่างเมืองจะได้ไม่งงเวลามาเที่ยวเมืองจันท์ หากเดินเข้ามาในตลาดแล้วมีคนเรียกว่า เหียซื้อเงาะไม้ หรือท่านสุภาพสตรีอาจไม่พอใจที่มีคนอายุมากกว่า มาเรียกคุณว่า เจ๊

ขอเริ่มจากคำที่เป็นคำนามก่อน มีหลายคำ เช่น เอ๊าะ แมะ ที่ใช้เรียกพ่อและแม่ บางแห่งที่อยู่ค่อนไปทางจังหวัดระยองจะเรียกพ่อว่า เพาะ คนทางอำเภอท่าใหม่ที่สมัยก่อน ถือว่าตัวอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากกว่าเพื่อน มักจะออกเสียงให้เพี้ยนไปจากที่อื่น เรียกพ่อว่า เต๊ หรือ เต๋ ปุ๋ยใส่ต้นไม้ก็เรียก ปุ๊ย ออกเสียงสูง เก้าอี้ที่ใช้ปีนขึ้นเก็บพริกไทยออกเสียงว่า อี๊ คำว่าเตะก็พูดว่า เต๊ะ

คำว่า เหีย จะใช้เรียกผู้ชายที่อาวุโสกว่า นิยมใช้กันแพร่หลายคู่กับ เจ๊ ทั้งสองคำนี้บางครั้งมีความหมายแทนคำว่า คุณ ตัวอย่างเช่น เหียมองหน้าผมทำไม หมายความว่า คุณมองหน้าผมทำไม

ผ่อง เป็นคำที่ใช้แทนตัวเอง ใช้ได้ทั้งหญิงทั้งชาย ไม่ใช่หมายถึงคนที่ชื่อผ่องนะครับ พวกที่อยู่ค่อนไปทางจังหวัดตราดจะใช้คำนี้บ่อย การใช้คำนี้ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อแสดงอารมณ์ เช่น เพื่อนถามว่าจะไปไหน หากคนถูกถามกำลังอารมณ์ไม่ดีก็จะตอบว่า จะไปไหนก็เรื่องของผ่อง ถ้าอย่างนี้ก็ควรหลีกไปก่อน หรือเงียบไว้จะดีกว่านะครับ

ข้าวปั่ง หรือ ตะปั่ง คือชื่อเรียกของขนมถั่วตัด ถั่วตัดนี้เราจะใช้สำหรับทำน้ำพริกถั่ว รับประทานกับปลาพล่าหรือแมงกะพรุนสด

ตะหงี หงี หรือ หนี หมายถึง เพื่อนรัก เพื่อนตาย ทำนองเดียวกับผูกเสี่ยว และพ่อแม่มักจะให้ลูกๆ เรียกตะหงีของตนว่า พ่อหรือแม่ เหมือนที่เรียกตนเอง

ชำ มีความหมายอีกอย่างว่า บริเวณที่ชื้นแฉะ ลักษณะเป็นป่าพรุเหมือนทางใต้ ส่วน มาบ หมายถึงที่ลุ่มต่ำ ไม่ถึงกับแฉะเหมือนที่ชำ ชื่อตำบลและหมู่บ้านหลายแห่งมีคำสองคำนี้นำหน้า เช่น ชำโสม ชำค้อ (ฆ้อ) ดินแดนที่มีลางสาดรสหอมหวาน เช่น มาบโอน มาบไผ่ ทางจังหวัดระยองก็มีใช้อยู่ทั่วไปเหมือนกัน

อีกคำคือ ชาก หมายถึง ป่าชาก ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าไม้ที่ได้ถูกทำลายไปเป็นที่ว่างเปล่า แล้วต่อมามีหญ้าประเภทต้นอ้อ ต้นโขมง ต้นไม้กวาด หรือสาบเสือขึ้นรก ถ้าป่าแบบนี้เรียกว่า ป่าชาก

คำว่า ขี้ซำ หมายถึง น้ำครำ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินใครเรียกอย่างนี้แล้ว

ที่เป็นคำกริยาและอื่นๆ มีหลายคำเหมือนกัน เอาแค่แปลความหมายไม่ต้องตัวอย่างประโยคที่ใช้พูดกัน มีดังนี้ครับ

เฉ็ง หมายถึง เก็บกวาด ขุดลอก โละทิ้ง เช่น เฉ็งบ่อ หมายถึง ขุดลอกบ่อน้ำ

เฉด ใช้เป็นคำไล่หมา เช่นเดียวกับ ซัว ซัวะ ชัวะ ใช้ไล่ไก่ไม่ให้เข้าบ้าน

รัด นอกจากหมายความทั่วๆ ไปแล้ว ยังหมายถึงการงอกของต้นไม้ที่เริ่มแตกหน่อและแตกราก

เช่ด คำนี้ไม่ใช่คำกริยา หมายถึง หมด ชนิดที่ว่าหมดเกลี้ยงเลย จะใช้ต่อท้ายคำว่าหมด เป็น “หมดเช่ด”

ตะเหงิด สะเหงิด แปลว่า เห็นคนอื่นทำอะไรแล้วอยากทำบ้าง เช่น เห็นเพื่อนมีเมียน้อยก็พลอยสะเหงิดไปกับเขาด้วย

ฉงาด สงาด หงาด หมายถึง มากเหลือเกิน ตัวอย่างเช่น นักข่าวหนุ่มคนนี้หล่อฉงาด

เบิก หรือ เบิกบาน นอกจากหมายถึงรื่นเริงบันเทิงใจแล้ว ยังหมายถึง มากมาย เยอะแยะ เช่น บอกว่า เงาะที่นำมาวันนี้ยังเหลืออยู่อีกเบิก หรือ โอ้โฮ! วันนี้มีแขกมากันเบิกบาน ถ้าอย่างนี้จะหมายถึงว่ามีแขกมากันมากนะครับ ไม่ใช่มากันอย่างร่าเริง

ติ่ม หมายถึง ปักชำกิ่งไม้หรือต้นไม้ เดาเอาว่าคงเพี้ยนมาจากคำว่า ไอติม เพราะลักษณะของกิ่งไม้ที่ปักชำในกระถางจะดูคล้ายกับไอศกรีมแบบเสียบไม้

หง่อย ก็คงจะเพี้ยนมาจากหงอยนั่นแหละครับ ครูแถวโรงเรียนบ้านนอกจะใช้กับเด็กบางคนที่มีอาการเชื่องช้า ซึมเศร้าเหงาหงอย ไม่ร่าเริงแจ่มใส

คำว่า ซ้อง นั้วเนี้ย มีความหมายคล้ายกันมักจะหมายถึงเด็กๆ ที่ชอบเข้ามานั่งกระแซะเวลาที่ผู้ใหญ่กำลังคุยกัน

กระบวน หมายถึง เด็กที่ร้องไห้กวนโยเย หรือออกจะมารยามากสักหน่อย

อีเหร่งเข่งขั่ง เป็นลักษณะของการมาแบบล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าไปทำอะไรมาเหนื่อยจบหอบแฮกๆ หรือถูกใครรุมถวายบาทามาจนอ่วมอรทัย อย่างนี้เรียกว่า กระบักกระแบ่ คนแก่แถวบ้านผมยังใช้คำนี้กันอยู่

ตอด ใช้กับคนที่ชอบแกล้งแหย่ให้เกิดความรำคาญ ก็คงคล้ายๆ กับปลาตอดเบ็ดนั่นแหละ

ก๋อง หมายถึง เกาะหลัง, สุย แปลว่า เข็น, เซ้ย หมายถึง การที่นักมวยชกสมยอมที่เรียกกันว่าล้มมวย, นั้ว แปลว่า นวด หรือคลุกเคล้าให้เข้ากัน สามคำหลังนี้ไม่ทราบว่าจะมาจากภาษาจีนหรือเปล่า

คาหร่า แปลว่า นั่งหรือยืนเกะกะ กีดขวาง เช่น ยืนคาหร่าอยู่ที่ประตู หมายถึงขวางทางเข้าออก

ฉ็อง ถ้าเป็นคำกริยาจะแปลว่า ชง ถ้าเป็นนามหมายถึง อาหารพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่า หอยฉ็อง มีวิธีปรุงโดยหั่นแตงกวาเป็นชิ้นเล็กๆ (แบบเดียวกับเวลาหั่นใส่ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย) ใส่ชาม ซอยหอม ผักชีฝรั่ง ตะไคร้ พริกขี้หนูสด ใบมะกรูด ปรุงรสด้วยน้ำปลา บีบมะนาว แกะเนื้อหอยแครงที่ลวกสุกๆ ดิบๆ โปะลงไป อย่างนี้ถ้าเพียงแต่คลุกเคล้าให้เข้ากันก็จะกลายเป็นยําหอยแครงจานเด็ดแล้วใช่ไหมครับ แต่ถ้าเป็นหอยฉ็อง ทางบ้านผมจะรินน้ำเดือดลงไป แล้วคนเสียหน่อย โรยหน้าด้วยสะระแหน่ ซดน้ำได้คล่องคอเหมือนต้มยำ แบบนี้คนจันท์ในตลาดเคยเห็นไหมครับ

กะแหละ แปลว่า ชำแหละ เช่น กะแหละกล้วยออกมาเป็นหวี (จากเครือกล้วย)

จ้น หมายถึง ประดัง ตัวอย่างเช่น มาในงานวันนี้ผมมีหมูชะมวงมาเสริมในเมนูอาหาร ขณะเดียวกับที่อาจารย์พงษ์ศิลป์ก็ถือติดมือมาด้วยถุงหนึ่งเหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่า เอามาจ้นกัน ครับ

ซิ แปลว่า พร่องไป ขาดไป คำนี้ฤดูผลไม้จะใช้บ่อย โดยเฉพาะกับทุเรียนพันธุ์ชะนี ถ้าท่านซื้อไปจากเมืองจันท์แล้วพอกลับไปถึงบ้านปรากฏว่าน้ำหนักหายไปหลายขีด อย่าเพิ่งด่วนโทษว่าแม่ค้าบ้านเราโกงตาชั่งนะครับ เป็นธรรมดาของทุเรียนพันธุ์นี้เอง ที่ถ้าปล่อยไว้ข้ามวันข้ามคืนแล้ว น้ำหนักจะหายไปมากกว่าพันธุ์อื่นๆ หรือผลไม้อย่างอื่นๆ อย่างนี้เขาเรียกว่า ทุเรียนมันซิ ครับ

เที้ยบ คำนี้ใช้กับทุเรียนเหมือนกัน เป็นลักษณะของการนำทุเรียนขึ้นเรียงบนรถ หรือบนกองอย่างมีระเบียบ เน้นการหันพูที่มีเนื้อเต็มๆ ออกมาด้านนอก เป็นการโชว์ว่าทุเรียนกองนี้ทรงสวย เข้าใจว่าคงจะเพี้ยนมาจากคำว่า เทียบ นั้นแหละครับ และก็แน่นอนครับออกเสียงสูงๆ แบบนี้คงไม่พ้นมาจากอำเภอท่าใหม่ที่เรียกปุ๋ย ว่า ปุ๊ย นั่นแหละครับ

ทีหัวปี แปลว่า ทีแรก ตอนแรก หรือครั้งแรก

หวำ หมายถึง เขียงที่ถูกใช้งานจนหน้าเขียงเป็นแอ่งแบบกันกระทะ ใช้หั่นอะไรก็ไม่สะดวก

สำเหร่ มีความหมายว่า โละทิ้ง คนที่กรุงเทพฯ ที่อยู่แถวสำเหร่อย่าเพิ่งน้อยใจนะครับ

สลัก หรือ กะหลัก แปลว่า หยุด เบรก

คำ กือ และ เคี้ย หรือ เซี้ย ใช้ต่อท้ายประโยค เช่น อ้าว! เป็นอย่างนี้ดอกกือ กือในที่นี้หมายความว่า หรือหรือ เหรอ ก็ได้ ส่วนคำ เคี้ย, เซี่ยมักใช้แทนคำว่า นะ หรือ ซิ เช่น เอามาคืนให้แล้วหรอกเคี้ย หรือคนเมืองตราดมักจะพูดถึงจังหวัดของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ โดยใช้สำเนียงเมืองตราดแท้ๆ ว่า “ตราดบ้านผ่องเคี้ย” หมายความว่า จังหวัดตราดนี้เป็นบ้านเกิดของผมนะ

คำว่า หายไปหาย หมายความว่า หายหมดไม่เหลือเลย เช่น เราจะพูดว่ารถยนต์ของเราหายไป คนจันท์แถวบ้านนอกจะพูดว่า รถหายไปหาย

ส่วนคำว่า ไม่รอด ไม่ได้หมายความว่า ต้องตายแน่ๆ หรืออะไรคล้ายๆ กันนี้เพียงอย่างเดียวนะครับ แต่จะใช้ในความหมายว่า ไม่ได้ ก็ได้ เช่น ถ้าพูดว่า อยู่บ้านคนเดียวไม่รอด แปลว่า อยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะอาจจะกลัวผี หรือไปไม่รอด หมายถึงว่า จะให้ผมเดินไปกลางค่ำกลางคืนเพียงลำพังนั้นผมไม่กล้าไป ไม่ใช่หมายถึงว่า ทำอะไรไม่สำเร็จ หรือถ้าไปแล้วจะต้องตายหรอกนะครับ

คำว่า ฮิ ที่ถูกเอาไปล้อเล่นกันติดปากนั้นความจริงแล้ว คนจันท์ไม่ได้พูดว่า “อย่าไปนั่งตรงที่รกๆ เดี๋ยวหญ้าจะตำฮิ” หรอกนะครับ

การนำคำนี้มาใช้จะต้องมีศิลปะในการใช้ และอาจมีความหมายได้ต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับข้อความที่ใช้ประกอบ พวกเราจะจับกันได้ว่าคนไหนเป็นคนจันท์แท้หรือเป็นคนต่างบ้านแปลกปลอมมา ส่วนหนึ่งก็ดูจากการใช้คำว่า ฮิ นี่แหละครับ

ศิลปะการใช้คำนี้ถ้าพูดไปก็จะยาว ขอผลัดไปวันหลังก็แล้วกันนะครับ ตอนนี้ก็จำต้องให้ท่านล้อเล่นไปพลางๆ ก่อน ทำนองเดียวกันกับคนสุพรรณฯ นั่นแหละครับ เดี๋ยวนี้ไม่ได้เหน่อเหมือนเดิมแล้ว และถ้าจะว่าเหน่อกันละก็ถิ่นใกล้ๆ กัน อย่างอ่างทอง สิงห์บุรี เมืองกาญจน์ ก็คงจะเหน่อไม่แพ้กัน

ยังมีอีกหลายสิบคำที่ไม่ได้หยิบยกมา เนื่องจากสมุดที่บันทึกไว้ไม่อยู่ขณะที่ผมกำลังเขียนเรื่องนี้ แต่อ้อยังเหลืออีกคำครับ คำนี้สุภาพสตรีฟังแล้วอาจจะเขิน หรือรู้สึกกึ่งเสียวกึ่งจั๊กจี้สักหน่อยนะครับถ้าหากผมจะพูดว่า

“นักข่าวผู้หญิงที่มากันวันนี้ เอาได้ ทุกคน”

คำว่า “เอาได้” หมายถึงว่า ใช้ได้ดีทีเดียว หรือสวยใช้ได้ หรอกนะครับ ไม่ได้หมายความเป็นอย่างอื่น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2565