ที่มา | ศิลวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2560 |
---|---|
ผู้เขียน | สมคเณศ์ ฐิตะฐาน |
เผยแพร่ |
กราบเรียนบรรณาธิการ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ในวาระครบรอบ ๑ ศตวรรษของสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) นับจาก พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นต้นมา และในฐานะผู้ที่คุ้นเคยกับสถานที่ดังกล่าวมานานแล้ว ขอเริ่มต้นเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยบ้างครับ ตามวิสัยคนวัยชรา
จากสมัยก่อนราวๆ พ.ศ. ๒๕๐๐ เดินทางจากสถานีรถไฟชุมพรเพื่อเดินทางมาร่วมพิธีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในเมืองหลวง พร้อมกับคุณแม่และน้องๆ ช่วงโรงเรียนปิดภาคเรียน จำได้ว่าต้องขึ้นรถไฟสายใต้จากปาดังเบซาร์ ราวๆ ตี ๒ มาถึงปลายทางบ่าย ๒ โมงครับ ในสภาพอยากจะอาบน้ำจริงๆ และหาเครื่องดื่มเย็นๆ มาดับกระหายบ้างครับ จากสภาพของเด็กบ้านนอกในยุคชมหนังที่มาขายยา และรำวงรอบละ ๑ บาท งานวัด สภาพผู้คนในบริเวณนั้นมีอารยธรรมจริงๆ แต่งกายกันสวยงามเดินไปมา ชาวตะวันตกต้องมาพักที่โรงแรมราชธานี อยู่ในบริเวณสถานีรถไฟ ในขณะนี้ยกเลิกไปแล้ว ตัวภัตตาคารมีแต่คนชนชั้นสูงมารับประทานและดื่ม! รวมถึงการเล่นสนุกเกอร์ด้วยครับ แทบจะเรียกว่าคนระดับชั้นสูง
จากภาพนี้เห็นมันเป็นโลกที่สวยงามที่สุด และปรารถนาที่จะให้มันดำรงตลอดไป ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ นอกจากในความทรงจำเท่านั้นเอง! (ยกเว้นในภาพยนตร์ถ้ามี)
จึงขอร่วมแสดงความยินดีในการครบรอบ ๑๐๐ ปีของสถานที่แห่งนี้ด้วยครับ และขอรำลึกถึงความดีของกรมรถไฟหลวงในอดีต ที่ทิ้งมรดกให้กับบ้านเมืองของเรานานาประการ ถึงแม้ว่าจะสาบสูญไปบ้างแล้วก็ตามครับ เช่น บริการโรงแรม บริการสนามเล่นกอล์ฟ การขนส่งสินค้า โลจิสติกส์ต่างๆ และเคยเป็นรัฐพาณิชย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง
ด้วยความนับถือเสมอ
สมคเณศ์ ฐิตะฐาน
อ่านเพิ่มเติม : ก้าวแรกรถไฟสยาม
อ่านเพิ่มเติม : 5 มิ.ย. 2460 รัชกาลที่ 6 ทรงให้รวมกรมรถไฟสายเหนือ และกรมรถไฟสายใต้ เป็น “กรมรถไฟหลวง”
อ่านเพิ่มเติม : ขุนนางยุคก่อนปฏิวัติ คุย “รถไฟสยาม” เจ๋งกว่า “รถไฟอังกฤษ” ในดินแดนอาณานิคม