5 มิ.ย. 2460 รัชกาลที่ 6 ทรงให้รวมกรมรถไฟสายเหนือ และกรมรถไฟสายใต้ เป็น “กรมรถไฟหลวง”

(ภาพจากหนังสือ "กรุงเทพในอดีต" โดย เทพชู ทับทอง )

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการรถไฟทั้งสองกรม คือ “กรมรถไฟสายเหนือ” และ “กรมรถไฟสายใต้” เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมรถไฟหลวง” เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2460 เนื่องจากพระองค์ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า กิจการของกรมรถไฟทั้งสองกรมนั้น เดิมยังคงมีการบริหารที่แยกส่วนกันอยู่ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกในการบังคับบัญชาและบริหารงาน อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปจำนวนมากอีกด้วย

กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

หลังจากการรวมกิจการรถไฟทั้งสองกรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาวิศวกรรมที่ทรินิทีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาทหารช่างที่ แชทแฮม มาเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงพระองค์แรก

ช่วงแรกที่กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเสด็จมาเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงใหม่ๆ กิจการรถไฟ มีคนไทยอยู่น้อยมากส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศมีชาวเยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน และชาวเอเซียชาติต่างๆ เช่น ชาวอิเดีย ชาวซีลอน และชาวพม่า พระองค์จึงทรงระดมคนไทยจากทหารช่าง กรมแผนที่และคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ จากห้างร้านต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานรถไฟ ทรงฝึกฝนคนไทยให้มีความสามารถในกิจการรถไฟด้วยการแนะนำสั่งสอนด้วย พระองค์เอง

พระองค์ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิชาการรถไฟและการพาณิชย์ รุ่นแรกๆ ได้ส่งไปสหรัฐอมริกา ต่อมาจึงส่งไปยุโรปเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเมื่อนักเรียนสำเร็จการศึกษาแล้วได้กลับมารับราชการในกรมรถไฟหลวง ทำให้กิจการรถไฟเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้

พ.ศ.2471 ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซลมีกำลัง 180 แรงม้า ส่งผ่านกำลังด้วยการกล จำนวน 2 คัน เข้ามาใช้การเป็นรุ่นแรกในประเทศไทย และเป็นรายแรกในทวีปเอเชีย โดยใช้เป็นรถจักรสำหรับสับเปลี่ยนและลากจูงขบวนรถท้องถิ่นรอบกรุงเทพฯ รถจักรรุ่นนี้สร้างโดยบริษัทสวิสส์โลโคโมติฟ แอนด์ แมชินเวอร์ค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดรถจักรดีเซลขึ้นในเมืองไทย รถจักรดีเซลทุกคันที่ใช้การอยู่ในการรถไฟฯ จึงมีเครื่องหมาย” บุรฉัตร “ อันเป็นพระนามของพระองค์ ติดที่ด้านข้างของรถจักรดีเซลทุกคันที่สั่งเข้ามา เพื่อเป็นการรำลึก และ เทิดพระเกียรติแห่งพระองค์

นอกเหนือจากหน้าที่ทางราชการทหารในระหว่างที่ทรงบังคับบัญชากิจการรถไฟนั้น พระองค์ได้บริหารงานด้วยพระปรีชาสามารถทรงนำวิชาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการรถไฟอย่างมาก จนได้รับการขนานพระนามว่า “พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่”


ขอบคุณข้อมูลจาก: การรถไฟแห่งประเทศไทย “ประวัติการรถไฟแห่งประเทศไทย”