ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2537 |
---|---|
ผู้เขียน | ล้อม เพ็งแก้ว |
เผยแพร่ |
พูดถึง ดาบฟ้าฟื้น ก็ทราบกันทั่วไปอยู่แล้ว ว่าเป็นดาบของ ขุนแผน พระเอกอมตะในวรรณคดี
เมื่อรู้กันอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องมาพูดถึงกันอีก ก็ต้องขออภัยหากว่า การพูดถึงต่อไปนี้กลายเป็นมะพร้าวทึนทึกกระชุใหญ่ที่ส่งมาถึงสวนมะพร้าวพันธ์ุดีที่ศิลปวัฒนธรรม
ก็ใคร่ขอเรียนว่า ปกติการที่ต้องจำใจ หรือตัดสินใจทำอะไรนั้น มันมีสาเหตุเข้าทำนอง “ไม่มีเหตุสักสิ่งตลิ่งไม่พัง ไม่มีที่หวังสมภารท่านไม่สึก” อะไรทำนองนั้น เมื่อปลายปีก่อน ได้พบได้รู้จักทักทายกับคุณจิน เส้าหลิน ที่หัวหิน ก่อนจากกัน คุณจิน เส้าหลิน ได้มอบหนังสือเล่มเล็ก ๆ ให้มาจำนวนหนึ่ง ขุนช้างขุนแผนฉบับนอกทำเนียบ เป็นเล่มหนึ่งในจำนวนเหล่านั้น
ขุนช้างขุนแผนฉบับนี้ มีภาพสีประกอบอยู่มาก โดยเฉพาะภาพตัวในเรื่องที่พิมพ์แทรกอยู่ในซองบุหรี่ ซึ่งมีจำหน่ายในเมืองไทยเมื่อหกเจ็ดสิบปีมาแล้วจำนวนหนึ่งร้อยภาพ พร้อมด้วยภาพเขียนของศิลปินผู้ล่วงลับ เหม เวชกร และแถมด้วยภาพการ์ตูนของคนรุ่นใหม่ “เซีย” ที่ระบุชื่อดาบไว้ อย่างชัดเจน
…ความคิดรวบยอดหรือจินตภาพในใจของศิลปินทั้งสามที่มีต่อดาบฟ้าฟื้นนั้นเหมือนกัน และอาจรวมถึงนักศึกษาทางวรรณคดีทั่วไปอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะได้เห็นดาบในลักษณะเช่นนี้มาจนคุ้นชิน จนยากจะคิดเห็นเป็นอย่างอื่น
แต่ในข้อเท็จจริงตามวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน และความรู้จากผู้ที่สนใจในเรื่องอาวุธไทย ดาบของขุนแผนมีรูปลักษณ์เช่นภาพของศิลปินที่เสนอเป็นภาพประกอบนี้อย่างจริงแท้แน่นอนหรือไฉน?
และนี่แหละ คือเหตุที่ทำให้ตลิ่งความเข้าใจเรื่อง ดาบฟ้าฟื้น ต้องพังลง และทำให้คุณ ๆ อาจต้องเสียเวลาเพ่งมองไปที่ดาบเล่มนั้นอีกครั้งหนึ่ง
ขอให้เราได้ร่วมกันหยิบฟ้าฟื้นของขุนแผนขึ้นมาพิจารณา แม้จะเก่า ฝุ่นเขรอะ และสนิมจับไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร เช็ดถูขัดสีเสียหน่อยก็งดงาม เพราะเจ้าของเขา “อาน (ไว้) ดีไม่มีขนแมวพาด” อยู่แล้ว เห็นไหมครับ
คิดว่าเราคงไม่ต้องส่งเข้าห้องปฏิบัติการ (ที่เขาเรียกกันทั่วไปว่าห้องแล็บ) เคมี เพื่อตรวจสอบส่วนผสมของเหล็ก เพราะมีบอกรายละเอียดเอาไว้แล้ว
เอาเหล็กยอดพระเจดีย์มหาธาตุ ยอดปราสาททวารามาประสม
เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม เหล็กตรึงโลงตรึงปั้นลมสลักเพชร
หอกสัมฤทธิกริชทองแดงพระแสงหัก เหล็กปฏักสลักประตูตะปูเห็ด
พร้อมเหล็กเบญจพรรณกัลเม็ด เหล็กบ้านพร้อมเสร็จทุกสิ่งแท้
เอาเหล็กไหลเหล็กหล่อบ่อพระแสง เหล็กกำแพงน้ำพี้ทั้งเหล็กแร่
ทองคำสัมฤทธิ์นากอแจ เงินที่แท้ชาติเหล็กทองแดงดง
เอามาสุมคุมควบเข้าเป็นแท่ง เผาให้แดงตีแผ่แช่ยาผง
ไว้สามวันซัดเหล็กนั้นเล็กลง ยังคงแต่พองามตามตำรา
ส่วนประสมของเหล็กมีมากชนิดอย่างนี้ หากไม่อดทนไม่รักไม่ปรารถนาจริงก็เห็นจะยาก กว่าจะทำได้สำเร็จ
คิดว่าคงพอจะทำความเข้าใจได้ว่าโลหะต่าง ๆ นั้นคืออะไร เฉพาะ นากอแจ นั้นควรสะกดคำเป็น นากอะแจ
คำ “อะแจ” เป็นชื่อเมืองในเกาะสุมาตรา เป็นเมืองท่าค้าขาย สินค้าที่เข้ามาเมืองไทย คนไทยจะเรียกชื่อ โดยเอาชื่อเมืองเข้าประกอบ นอกจากนากอะแจแล้ว ของอื่นเช่น เหล็กอะแจ ม้าอะแจ ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากส่วนประสมแล้ว ในวันตีดาบก็ต้องหาฤกษ์พิเศษ เลือกเอาวันที่ถือกันว่าเข้มแข็ง คือ วันเสาร์สิบห้าเป็นวันทำพิธี
ซัดเหล็กครบเสร็จถึงเจ็ดครั้ง พอกระทั่งฤกษ์เข้าเสาร์สิบห้า
ก็ตัดไม้ปลูกศาลขึ้นเพียงตา แล้วจัดหาสารพัดเครื่องบัตรพลี
เทียนทองติดตั้งเข้าทั้งคู่ ศีรษะหมูเป็ดไก่ทั้งบายศรี
เอาสูบทั่งตั้งไว้ในพิธี เอาถ่านที่ต้องอย่างวางในนั้น
ช่างเหล็กดีฝีมือลือทั้งกรุง ผ้าขาวนุ่งผ้าขาวห่มดูคมสัน
วางสายสิญจน์เสกลงเลขยันต์ คนสำคัญคอยดูซึ่งฤกษ์ดี
ครั้นได้พิชัยฤกษ์ราชฤทธิ์ พระอาทิตย์เที่ยงฤกษ์ราชสีห์
ขุนแผนสูบเหล็กให้แดงดี นายช่างดีรีดรูปให้เรียวปลาย
ที่ตรงกลางกว้างงามสามนิ้วถึง ยาวถึงศอกกำมาหน้าลูกไก่
เผาชบสามแดงแทงตะไบ บัดเดี๋ยวใจเกลี้ยงพลันเป็นมันยับ
กลอนวรรค “ยาวถึงศอกกำมาหน้าลูกไก่” นี่แหละ ที่บ่งบอกลักษณะที่แท้จริงของดาบฟ้าฟื้น จึงควรถือเป็นวรรคสำคัญวรรคหนึ่งในการตีความ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นกลอนวรรคที่ถูกมองข้ามหรือละเลยกันมากที่สุด
เรื่องแรก ที่ต้องศึกษาตีความก็คือ ดาบฟ้าฟื้น ยาวเท่าไร ?
ทั้ง ๆ ที่กลอนบอกไว้อย่างชัดเจนเป็นภาษาชาวบ้านว่า ยาวศอกกำมา แต่เอาเข้าจริงก็ทำให้สับสน และไขว้เขว และผู้ทำให้สับสนไขว้เขวก็มิใช่ใครอื่น ราชบัณฑิตเจ้าเก่านั่นเอง
เมื่อลองเปิดพจนานุกรมฉบับปี พ.ศ. 2525 (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก) ก็ได้ความดังนี้
ศอกกำมา น. ศอกที่มือกำไม่แบมือออก (หน้า 756)
พูดถึงศอกที่เป็นหน่วยวัดความยาว ชาวบ้านทั่วไปรู้จักกันดี เขายังใช้วัดความยาวของตัวไม้ เชือก แม้กระทั่งความลึกของบ่อของหลุมที่เขารับจ้างขุด แถมเขายังใช้ตลับเมตรมาตราเมตริก เป็นเครื่องมือวัดเสียด้วย และเขาถือเอาจุดห้าสิบเซนติเมตรว่าเป็นจุดหนึ่งศอกเสียด้วย ส่วนคนที่ไม่รู้ว่าศอกยาวเท่าไรก็คือนักเรียนที่เรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ (ของประเทศไทยแลนด์) ซึ่งดูเหมือนพยายามอย่างหนักหนาที่จะทำลายระบบมาตราประเพณีของชาวบ้าน
ขอออกถนนเรื่องความยาวหนึ่งศอกต่อไป
เมื่อศอกหนึ่งยาวเท่ากับห้าสิบเซนติเมตร ดังนั้น ศอกกำมา ของราชบัณฑิตจึงต้องยาวน้อยกว่าห้าสิบเซนติเมตร เพราะเป็นศอกที่ไม่แบมือ
เมื่อเป็นเช่นนี้หากเชื่อราชบัณฑิต ดาบฟ้าฟื้นของขุนแผนก็จะกลายเป็นมีดอีโต้รูปทรงประหลาดไปทันที
แต่ชาวบ้านนั้นเขาไม่รู้ว่าราชบัณฑิตเป็นใคร แต่เขารู้ว่าศอกก็คือศอก กำมาก็คือกำมา และกำมา (ทางใต้ออกเสียงเป็นกำหมา) นั้นสั้นกว่าศอก เพราะเวลาวัดเมื่อเขาไม่แบ และถ้าเขาสามารถแนะนำราชบัณฑิตได้ เขาก็จะขอให้เพิ่มคำ กำมา ที่หน้า 96 และตัดคำ ศอกกำมา ที่หน้า 756 ออก
ส่วนที่กลอนบอกว่า ดาบฟ้าฟื้น ยาวศอกกำมา นั้นเขาอธิบายว่า ยาวหนึ่งศอกกับหนึ่งกำมา เหมือนเช่นที่เขาบอกว่า ไข่เป็ดหน่วยละบาทสลึง ก็หมายความว่า ไข่เป็ดฟองละหนึ่งบาท กับหนึ่งสลึง
เมื่อหนึ่งศอกเท่ากับห้าสิบเซนติเมตร หนึ่งกำมาก็ยาวมากกว่าสี่สิบ แต่ไม่ถึงห้าสิบเซนติเมตร รวมแล้วตัวดาบฟ้าฟื้นจะยาวมากกว่าเก้าสิบเซนติเมตร ดูดีกว่าดาบฟ้าฟื้นของราชบัณฑิตเป็นไหนๆ
สรุปว่า เรื่องความยาวของดาบฟ้าฟื้นนั้น ผมเชื่อชาวบ้านมากกว่าราชบัณฑิต
เรื่องที่สอง ที่ต้องตีความก็คือ ดาบฟ้าฟื้นรูปร่างเป็นอย่างไร? เหมือนดาบทั่ว ๆ ไปที่ศิลปินเขียนรูปไว้หรือไม่?
คำตอบเรื่องนี้ก็อยู่ในกลอนวรรคข้างต้นคือ คำที่บอกต่อจากความยาวว่า “หน้าลูกไก่” นั่นเอง
ที่เป็นปัญหาก็คือ แล้วดาบ หน้าลูกไก่ เล่ารูปทรงเป็นไฉน ?
เป็นอันว่าทุกครั้งที่ผมเห็นลูกไก่ออกจากไข่ ผมก็มักจะนั่งจ้องมอง จ้องหน้าลูกไก่ ดูปาก ดูตาของมัน จนภาพลูกไก่ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำ เพราะผมเชื่อว่า คนโบราณที่เขาอุปมาอะไรไว้ ตัวอุปมากับตัวอุปไมยจะต้องสอดคล้องสัมพันธ์กัน ยิ่งเกี่ยวกับรูปลักษณะด้วยแล้ว ไม่มีทางจะเป็นอื่นไปได้ ดาบหน้าลูกไก่จึงต้องมีส่วนหน้าของดาบ เหมือนลูกไก่อย่างแน่นอน เพียงแต่เราจะหาดูดาบหน้าลูกไก่ได้จากที่ไหน? เป็นปัญหาที่ได้ตราไว้ และสะดุดใจทุกครั้งที่เห็นดาบหรือได้ฟังคนคุยเรื่องดาบ
ความเข้าใจเรื่องดาบหน้าลูกไก่เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อผมได้เสวนากับ รองศาสตราจารย์เด่นดวง พุ่มศิริ (เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนหนึ่งอาจารย์เด่นดวงบอกว่า ดาบไทยทุกวันนี้เป็นแบบดาบที่ไทยเอาอย่างลาว และได้ใช้ในกองทัพไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี คนเก่า ๆ ลางคนเรียกดาบแบบลาวนี้ว่า ดาบหัวปลาหลด ทั้งนี้เพราะปลายดาบเรียวแหลมผิดไปจากดาบของไทยที่ได้ใช้กันมาแต่เดิม [ดูภาพประกอบ “ขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น” ด้านบน]
ดาบไทยนั้นปลายไม่แหลม แต่มนเป็นหัวปลาไหลบ้าง หน้าลูกไก่บ้าง หรือไม่ก็ตัดตรง เสมือนหักนั้นก็ได้ โดยเฉพาะดาบที่ใช้ฟันคอนักโทษหรือตัดหัวคนนั้นล้วนแต่เป็นดาบหัวตัดทั้งสิ้น ที่ว่ามานี้ผมได้ฟังจากอาจารย์เด่นดวง ส่วนจะมีหลักฐานอย่างไรหรือไม่ผมไม่ได้ซักท่าน เพราะรู้และเข้าใจอยู่ว่าในสถานการณ์เช่นนั้น (ได้พบกันเป็นครั้งแรก) ไม่บังควรแสดงความคิดหรือสงสัยในความรู้ของคู่สนทนา
นอกจากนั้น อาจารย์เด่นดวงยังได้เมตตากล่าวว่า หากผมประสงค์จะดูตัวอย่างดาบโบราณแบบต่าง ๆ ท่านก็จะจัดให้ได้ดู
ผมยังไม่มีโอกาสได้ไปดู แต่ได้ข่าวว่าท่านอาจารย์เด่นดวงเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนเมื่อหลายปีมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตอนที่ผมถามถึงดาบที่ปฏิมากรและศิลปินทำหุ่นและเขียนภาพวีรบุรุษโบราณของไทยไว้ อาจารย์เด่นดวงหัวเราะ บอกว่าก็ทำกันไปเอง เมื่อผู้ทำและผู้ให้ทำต่างก็ไม่รู้เสียแล้วจะให้ว่ากันอย่างไรได้
ผมเสียโอกาสที่จะได้ความรู้เรื่องดาบเพิ่มเติมจากอาจารย์เด่นดวงไม่นาน ก็ได้พบและรู้จักกับ คุณเกษม พ่วงพูล ทำงานอยู่การไฟฟ้าจังหวัดเพชรบุรี ท่านเล่าว่าบรรพชนของท่านเป็นคนของอดีตเจ้าเมืองเพชรบุรี คือ พระยาสุรพันธุ์ฯ บิดาท่านเล่าว่า ในจวนเจ้าเมืองมีอาวุธโบราณอยู่มากมาย อาวุธเหล่านั้นตกมาเป็นของท่านจำนวนหนึ่ง หากผมจะไปดูท่านก็ยินดี
เป็นอันว่าผมได้เห็นดาบโบราณหลายเล่ม และไม่มีเล่มใดที่มีลักษณะเหมือนดาบปัจจุบันเลย
ผมขออนุญาตยืมท่านมาสองเล่ม นำไปให้ช่างเหล็กจำลองไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี เลือกเอาเฉพาะที่เห็นได้ชัดว่าเป็นดาบหัวปลาไหลและดาบหน้าลูกไก่ที่ติดค้างตราไว้นานเต็มที (คิดว่าโอกาสเหมาะ ๆ จะจำลองไว้ให้ครบทุกแบบ)
ขอให้สังเกตจากรูปดูเถิดครับ เล่มหมายเลข 1 คือดาบหน้าลูกไก่ หมายเลข 2 คือดาบหัวปลาไหล ส่วนดาบหัวปลาหลดคงไม่ต้องบอก เพราะอยู่ในภาพขุนแผนแล้วทั้งสองภาพ ท่านใดจะเห็นว่าดาบหน้าลูกไก่ไม่สวยก็ไม่เป็นไร เพราะผมเหลาด้าม เข้าด้ามเองตามประสาช่างเถอะ
เฉพาะหมายเลข 3 เป็นดาบโบราณได้จากเมืองเชียงตุง ส่วนหมายเลข 4 เป็นดาบไทยใหญ่ คุณพจนา จันทรสันติ ให้มาทั้งสองเล่มอายุกว่าร้อยปี เห็นว่าจะเป็นหลักฐานว่า ดาบไทยโบราณนั้นปลายไม่แหลม เป็นการยืนยันข้อสังเกตของอาจารย์เด่นดวง
เป็นอันว่าข้อกังขาเรื่องรูปแบบของดาบฟ้าพื้นที่ได้ตราไว้กว่ายี่สิบปี ได้กระจ่างไปแล้วส่วนหนึ่ง จะผิดจะถูกอย่างไรก็คิดว่าดีกว่าอยู่เปล่า ๆ
แต่ก็ยืนยันได้ชัดแจ้งประการหนึ่งว่า ถึงอย่างไรดาบฟ้าฟื้นก็ไม่ใช่อีโต้อย่างแน่นอน
นะจ๊ะ นะจ๊ะ
อ่านเพิ่มเติม :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2565