ว่าด้วยคำ “อารยะ”

ฮิตเลอร์ ที่อาศัยความคิดเชื้อสายอารยะ การกําจัดยิว ยิปซี และอนารยะอื่นๆ

อารยะ แปลว่า เจริญ ดังมีใช้ในคำว่า อารยชน อารยธรรม อารยประเทศ เป็นต้น

คำที่ตรงข้ามกับ อารยะ คือ อนารยะ แปลว่า ไม่เจริญ ป่าเถื่อน

ในภาษาไทยนั้น เมื่อใดที่ใช้ในข้อความที่เกี่ยวกับพุทธธรรม จะใช้ศัพท์บาลีว่า อริยะ เช่น อริยสัจ อริยมรรค

อารยะ เป็นคำที่ได้มาจากภาษาสันสกฤต ในภาษาเดิมหมายถึง ผู้เจริญ, ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง, ผู้ที่มีกิริยามารยาทดีงาม, ผู้ที่เคร่งครัดต่อศาสนาและกฎหมาย, ผู้ที่ได้รับความเคารพยกย่อง อาจกล่าวได้ว่า ตรงกับคำว่า ผู้ดี ในภาษาไทยนั่นเอง

ในบทละครใช้คำ อารยะ เป็นคำร้องเรียกก่อนเริ่มบทสนทนา มีความหมายในทำนอง “ดูก่อน ท่านผู้เจริญ” “ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ” ฯลฯ เป็นคำที่ตัวละครทุกตัวรวมทั้งกษัตริย์ใช้เรียกพราหมณ์และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาใช้เรียกมนตรี

นอกจากนั้น ตัวละครหญิงอาจเรียกนายโรง (สูตรธารา) ว่า อารยะ และนายโรงเรียกตัวละครหญิงว่า อารเย (จากศัพท์เพศหญิง) ภรรยามักเรียกสามีว่า อารยบุตร

ในสังคมอินเดีย อารยะ ยังใช้เรียกคนในวรรณะทั้ง 3 คือ พราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ เพื่อให้ต่างกับ ศูทร ในคัมภีร์มนุสมฤติ (2.22 และ 10.34) มีคำว่า อารยวรรต ซึ่งแปลว่าที่ซึ่งเนืองแน่น (อาวรรต) ไปด้วยผู้ดี (อารยะ) หมายถึง ดินแดนตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกจรดฝั่งตะวันตกและตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาจรดเทือกเขาวินธัย

สำนวน อารยลิงคิน (ผู้มีท่าทางอย่างผู้ดี) หมายถึง ผู้ที่แสร้งทำตนเป็นผู้ดี ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ผู้ดี น่าจะตรงกับสำนวนไทยว่า ผู้ดีแปดสาแหรก ในความหมายโดยปริยาย

อารยะ หรือที่ได้ยินกันคุ้นหูว่า อารยัน เป็นชื่อที่เรียกชาวอินเดียและอิหร่านเพื่อแสดงฐานะที่เหนือกว่าพวกทัสยุ ภาษาที่ชนชาติทั้งสองนี้ใช้คือ อินโด-อิหร่าน ซึ่งเป็นสาขาของภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป แต่เดิมเมื่อกล่าวถึงภาษาอารยัน หมายถึงภาษาสาขาอินโด-อิหร่าน นี้เอง แต่ต่อมามีความหมายจำกัดลง หมายถึงภาษาอารยันที่ใช้ในอินเดียเท่านั้น เรียกให้ชัดลงไปอีกได้ว่า อินโด-อารยัน

ภาษาพ่อแม่ของอินโด-อิหร่าน คือ อินโด-ยุโรป ใช้พูดกันมานานกว่า 3,000 ปี ในยุโรป เอเชียตะวันตก และเอเชียใต้ ในศตวรรษที่ 17-18 นักวิชาการชาวยุโรปเริ่มศึกษาภาษาสันสกฤตและสะดุดใจที่พบว่าทั้งโครงสร้างประโยคและคำศัพท์เหมือนภาษากรีกและละติน ทำให้เชื่อว่าเคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อน เมื่อสืบสาวขึ้นไปก็พบว่า ชนชาติที่ใช้ภาษาเหล่านี้ เคยมีถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกันต่อมาอพยพแยกย้ายกระจายอยู่ในเอเชียและยุโรปดังได้พบหลักฐานทางโบราณคดีและจารึกวิทยาราวต้นศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล ชนชาติในเมโสโปเตเมียมีชื่อใช้อย่างชาวอารยันในอินเดีย เช่น สุริอัส (สูรยะ) อินดัส (อินทร์) มรุตตัส (มรุต) นอกจากนั้นสัญญาต่างที่ทำไว้ยังเริ่มคำสาบานด้วยการอ้างชื่อ อินทร์ วรุณ มิตร ฯลฯ อันเป็นเทพของชาวอารยัน

เชื่อกันว่าถิ่นที่อาศัยของชนชาติที่ใช้ภาษาอินโด-ยุโรปเดิมอยู่บริเวณเหนือทะเลดำ ในขณะที่ส่วนหนึ่งอพยพไปทางตะวันตก อีกพวกหนึ่งอพยพมาทางตะวันออก พวกนี้คือกลุ่มผู้ใช้ภาษาอินโด-อิหร่าน ซึ่งอาจแบ่งเป็นภาษาอินเดียพวกหนึ่ง อิหร่านพวกหนึ่ง ผู้ที่ใช้ภาษาอินเดีย อยู่ในอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ส่วนพวกที่ใช้ภาษาอิหร่านอยู่ในปากีสถาน อิหร่าน อัฟกานิสถาน รัสเซียตอนใต้

ภาษาอินเดีย หรืออินโด-อารยัน แบ่งเป็น 3 ยุค คือ ยุคเก่า ยุคกลาง และยุคปัจจุบัน ชาวอารยันที่อพยพเข้าไปในอินเดียนั้นมีบทสวดสรรเสริญและอ้อนวอนเทพเจ้าเรียกว่าคัมภีร์พระเวท ภาษาที่ใช้ในบทสวดจึงเรียกว่าภาษาพระเวท บทสวดนี้มีการถ่ายทอดท่องจำต่อๆ กันมาเมื่อเวลาผ่านมาหลายศตวรรษ ภาษาที่ใช้ก็ต่างไป ปราชญ์ทั้งหลายจึงวิตกว่าการถ่ายทอดคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์จะผิดเพี้ยนไป จึงพยายามสรุปกฎเกณฑ์ของภาษาให้เป็นแนวทางในการใช้ภาษาต่อไป

นักภาษาคนสำคัญคือ ปาณินิ ได้จัดระบบภาษาพระเวทและเขียนตำราไวยากรณ์ขึ้น นับแต่นั้นมาก็มีภาษาที่เรียบเรียงและตกแต่งใหม่เรียกว่า ภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ภาษาที่ตกแต่งแล้ว ทั้งภาษาพระเวทและภาษาสันสกฤตอยู่ในอินโด-อารยันยุคเก่า

พัฒนาการของภาษาพระเวทนั้นแบ่งเป็น 2 สาย สายหนึ่งเป็นภาษาตกแต่งดังกล่าว แต่อีกสายหนึ่งใช้กันในหมู่ชาวบ้าน มีการเปลี่ยนแปลงโดยลดกฎเกณฑ์ให้น้อยลง และปะปนกับภาษาพื้นเมือง เรียกว่าภาษาปรากฤต แปลว่า ภาษาธรรมชาติ เช่น ภาษาบาลี มหาราษฏรี เศารเสนี ฯลฯ ภาษาปรากฤตจัดอยู่ในอินโดอารยันยุคกลาง ส่วนอินโด-อารยันยุคปัจจุบัน ได้แก่ ภาษาปัจจุบันที่ใช้พูดกันในถิ่นต่างๆ เช่น ภาษาเบงกลี ปัญจาบี ฮินดี ฯลฯ

ส่วนภาษาอิหร่านซึ่งอยู่ในสาขาอินโดอิหร่านเช่นกันนั้น แบ่งเป็น 3 ยุค คือ ยุคเก่า ยุคกลาง และยุคปัจจุบัน เท่าที่พบในจารึกและเอกสารตัวเขียน ภาษาอิหร่านในยุคเก่าได้แก่ ภาษาอเวสตะ และภาษาเปอร์เชียเก่า ภาษาอเวสตะใช้กันในที่ราบอิหร่านแถบตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาษาเปอร์เชียเก่าใช้กันในแถบตะวันตกเฉียงใต้ ภาษาในยุคนี้เขียนด้วยอักษรลิ่ม ภาษาในยุคกลาง ได้แก่ ภาษาเปอร์เชียกลาง และภาษาปะห์ลวี ใช้อักษรอราเมอิค ภาษาเปอร์เชียกลางเป็นภาษาราชการในสมัยราชวงศ์สาสาเนียน (ศตวรรษที่ 3-7) หลังจากมุสลิมมีอำนาจในอิหร่านในศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา ภาษาอาหรับที่มีอิทธิพลต่อภาษาอิหร่านมาก ศัพท์ที่ใช้ในภาษาอิหร่านยุคหลังนี้เป็นคำที่ได้จากภาษาอาหรับถึงร้อยละ 50 และยังใช้อักษรอาหรับด้วย

ชาวอินเดียและอิหร่านถือว่าตนมีเชื้อสายสูงส่งกว่าผู้อื่นที่ตนได้พบในดินแดนที่อพยพเข้าไป จึงเรียกตนเองว่า อารยะ ในภาษาอเวสตะเสียงต่างไปเป็น ไอรยะ เป็นที่มาของคำว่าอิหร่านนั้นเอง

ที่เราเรียกกันว่าเปอร์เซียนเดิมหมายถึงกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่านซึ่งมีชื่อว่า เปอร์ซิส (ปัจจุบันคือ ฟาร์ส) ต่อมากรีกเรียกที่ราบอิหร่านทั้งหมดว่า เปอร์เซีย และใช้เป็นชื่อประเทศมาจนถึง ค.ศ. 1935 รัฐบาลอิหร่านในสมัยของมุฮัมมัด เรชาห์ ปะห์ลวี จึงได้ให้เปลี่ยนไปใช้ชื่อ อิหร่าน เพื่อแสดงความภาคภูมิในเชื้อสาย “อารยะ” ของตน

ความภาคภูมิในศักดิ์ศรีของเชื้อสาย “อารยะ” ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก เริ่มตั้งแต่ในศตวรรษที่ 19 เคานต์ โจเซฟ อาร์เธอร์แห่งโกบิโน นักการทูต นักเขียน และนักชาติพันธุ์วิทยาชาวฝรั่งเศส ได้เผยแพร่ความคิดเกี่ยวกับความสูงส่งของเผ่าพันธุ์อารยัน เขาเชื่อว่าผู้ที่พูดภาษาอินโด-ยุโรปเป็นผู้ที่มีส่วนอย่างมากในความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ และว่ากันทางจริยธรรมก็มีสถานะสูงกว่าพวกเซมิติค คนผิวเหลือง และผิวดำ ในศตวรรษที่ 20 ฮิวสตัน สจวต ชอมเบอร์เลน นักการเมืองชาวอังกฤษก็สานความคิดนี้ต่อมา

อย่างไรก็ตามนักมานุษยวิทยา ในกลางศตวรรษที่ 20 ปฏิเสธความคิดนี้โดยสิ้นเชิง

แต่กลับกลายเป็นว่า ฮิตเลอร์ได้อาศัยความคิดนี้เป็นพื้นฐานของนโยบายเยอรมันในการกำจัดยิว ยิปซี และอนารยะอื่นๆ

จึงดูเหมือนว่า ความหยิ่งในความเป็น “อารยะ” ได้ทำให้คนกลายเป็น “อนารยะ” ไปโดยไม่รู้ตัว

 


หนังสืออ้างอิง :

BASHAM, A.L. The Wonder that was India (Fontana: Sidgwick and Jackson, 1977)

BONGARD-LEVIN, G.M. The Origin of Aryans (New Delhi: Arnold Heinemann, 1980)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2565