เปิดข้อสันนิษฐาน คำ “เขมร” ในชื่อบ้านนามเมืองแดน “ปักษ์ใต้”

ภูเก็ต ถนนถลาง
ถนนถลาง ย่านการค้าเก่าใจกลางเมืองภูเก็ต กับอาคารตึกแถวภายหลังจากการวางผังเมืองใหม่

วารสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2539 เรื่อง “ชื่อทางใต้ในภาษามลายู” โดย ประพนธ์ เรืองณรงค์

ผู้เขียนขอค้านบางตำบลที่ผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่ภาษามลายู แต่เป็นภาษาเขมร

ที่เขียนไว้ว่า “ตำบลท่าสาป ริมแม่น้ำปัตตานี ท่าสาปมาจากคำมลายูว่า กำปงซือรัป กำปง หมายถึง หมู่บ้าน เขมรนำไปใช้ในความหมายเดียวกัน ซือรัป หมายถึง ซึมซาบ คำซือรัปนี้เอง ออกสำเนียงไทยว่า ท่าสาป…”

ผู้เขียนวิจัยว่า คำเขมร “กํพง่” (ข.ก็วมป็วง ท.กมพง) แปลว่า “ท่า” เช่น กํพง่ ทึก (ข.ก็วมป็วงตึก ท.กมพงทึก) – ท่าน้ำ, กํพง่ ทุก (ข.ก็วมป็วงตูก ท.กมพงทูก) – ท่าเรือ

คำเขมร “กํพง่” ทั้งไทยและมลายูนำไปใช้ มีความหมายว่า “หมู่บ้าน หรือตำบล”

“สาบ” (บ. ใบไม้สะกด) แปลว่าจืด ความหมายเดิมของ “ท่าสาบ” หมายว่า “ท่าน้ำจืด” ปัจจุบันหมายถึง “ตำบลท่าสาบ”

“…จังหวัดตรัง ออกเสียงมลายูว่า เตอรัง (Terang) หมายถึง แสงสว่างอันสดใส คือแสงอรุณรุ่ง…”

ผู้เขียนวิจัยว่า “ตรัง” มาจากภาษาเขมร “เฎีมตฺรําง” (ข.เม เฎีมเตฺรี็ยง ท.เดิมตรัง) แปลว่า “ต้นลาน” ในปักษ์ใต้ ตำบลบ้านที่มีชื่อ “ตรัง” มีหลายแห่ง เช่น บ้านไตรตรัง (จ.ภูเก็ต) แปลว่าบ้านต้นลาน 3 ต้น บ้านตรัง (อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร) – บ้านต้นลาน

อำเภอกันตัง จ.ตรัง) ไม่ทราบว่าเคยมีคนแปลว่าอย่างไร? คงเข้าใจว่ามาจากภาษามลายูเป็นแน่

แต่ความจริงมาจากภาษาเขมร “กนตําง” (ข.ก็อนตั้ง ท.กนตัง) แปลว่า กระบุงขนาดเล็กชนิดหนึ่งใช้ตวงข้าว

“จังหวัดกระบี่ ภาษามลายู หมายถึง ต้นกะลูบี เป็นพันธุ์พืชมีผลคล้ายลูกสละหรือระกำ ชาวปักษ์ใต้ทั่วไปเรียกลูกหลุมพี….”

ผู้เขียนวิจัยว่ามาจากภาษาเขมร “กฺรบี” (ข.กฺรอเบ็ย ท.กฺรบี) แปลว่า “ควาย”

“พังงา ภาษามลายูเขียนเป็น Bangga หมายถึง ไม้ติดหางเสือสำหรับมือจับ ภาษาไทยเขียนพังงา หรือพงา หมายถึง นางงาม เมืองพังงาเดิมชื่อ กราภูงา มาจากภาษามลายูว่า กวาลาภูงา หมายถึง ปากน้ำเมืองภูงา (กวาลา หมายถึง ปากน้ำ แล้วเสียงกร่อนเป็น “กรา”) เมืองภูงา เรียกชื่อตามภูเขางา ซึ่งมาจากคำเดิมว่า เขาพิงงา แล้วกลายเสียงเป็นพังงาในที่สุด”

ผู้เขียนวิจัยว่า “พังงา” มาจากภาษาเขมร “ภฺงา” (ข.เภฺงีย ท.ภฺงา) แปลว่า “ยอดรัก, ที่รัก” มักใช้ประกอบคำอื่น เช่น สงวนเภฺงีย (สฺงวนภฺงา) แปลว่า “ยอดรัก”

“เกาะกลาง หรือสลาง สมัยนั้นพื้นที่อาจเป็นแหลม ชาวมลายูเรียกแหลมว่า อุยัง หรืออุยง (ujung) แถมมีหญ้าคาขึ้นทั่วไป เลยเรียกแหลมหญ้าคา เรียกตามภาษามลายูว่า อุยังลาแล (ลาแล หมายถึง หญ้าคา) ต่อมาชาวต่างประเทศเรียกเสียงเพี้ยนเป็น อุยังลาลาง-อุยังสะลาง และเขียนเป็นจังซีลอน เพื่อให้ใกล้เคียงกับเกาะซีลอนหรือเกาะลังกา ต่อมาคำว่า สะลาง กลายเสียงเป็นสะหลางฉลาง และถลาง ตามลำดับ”

ตามคำวิจัยของผู้เขียนเห็นว่า “อำเภอถลาง” มาจากภาษาเขมร “ถลาง” (ข.ทฺลาง ท.ถฺลาง) แปลว่า หม้อคะนน” คือ หม้อดินขนาดใหญ่ สมัยที่ยังไม่มีกระทะเหล็ก ชาวเขมรใช้หม้อถฺลางนี้แหละ เคี่ยวน้ำตาลโตฺนด ปัจจุบันใช้ใส่ไว้กิน เพราะเย็นดี ส่วนหม้อหุงข้าว เขมรเรียกว่า “ฉฺนังบาย” หม้อแกง เขาเรียกว่า “ฉฺนังซ็อมลอ”

มลายูก็เอาคำเขมรไปใช้หลายคำเหมือนกัน เช่น คำเขมร “กฺรบี” (ข.กฺรอเบ็ย ท.กฺรบี – ควาย) มลายูนำไปใช้ว่า kerbau / คำเขมร “มาส” (ข.เมียะส์ ท.มาส – ทอง) มลายูนำไปใช้ว่า ตันหยงมัส mas – แหลมทอง / ปฺราก่ (ข.ปฺระก์ ท.ปฺรัก – เงิน) มลายูใช้ว่า perak / กฺดาม (แปลว่า “ปู”) มลายู ketam กฺบาล (หัว) มลายู kapala / กนตําง (ข.ก็อนตัง ท.กนตัง – กระบุง) มลายู gantang / ตฺรโลก (กะโหลก) มลายู gelok / เสฺมียน (ข.เซฺมียน ท.เสมียน – เสมียน) มลายู semiyen / เพนียด (ที่ขังช้าง) มลายู pendiat / สฺรโมจ (ข.ซฺรอโมจ ท.สฺรโมจ – มด) มลายู Semut / สํพะ (ข.ช็อมเปี๊ยะ ท.สมพะ – ไหว้) มลายู Sembah / บํเพญ (ข.บ็อมเปญ ท.บมเพญ – ทำให้เต็ม) มลายู bambun / จิญเจียน (แหวน) มลายู cincin / ชูร์ (ข.จูร์ ท.ชูร์ – เปรี้ยว เช่นน้ำส้มสายชู) มลายู cuka / ถฺมี (ข.เทฺม็ย ท.ถฺมี – ใหม่) มลายู damai / จุง (ข.จง ท.จุง – ยอด, ปลาย) มลายู huchung (มลายูทำให้เป็นสองพยางค์) / ขฺนง่ (ข.ขน็อง ท.ขฺนง – คิ้ว) มลายู kening / แปลก (ข.แผฺลก ท.แปลก – แปลก) มลายู pelik / สฺรนุก (ข.ซฺรนก ท.สฺรนุก – สนุก) มลายู Serenok / บนทาย (ข.บ็อนเตียย ท.บนทาย – ค่าย) (ไทยและมลายูนำมาใช้ หมายถึง “ป้อม”) มลายู benteng / ปฺรชุม (ข.ปรฺอจุม ท.ปรฺชุม – ประชุม) มลายู berjumpa (มลายูทำให้เป็นสามพยางค์) / รฺเทะ (ข.รัวเตะ ท.รฺเทะ) มลายู kereta (มลายูทำให้เป็นสามพยางค์) ฯลฯ

ไม่มีใครเคยนึกเคยฝันว่า ชื่อตำบลสถานที่ต่าง ๆ ในปักษ์ใต้ จะเป็นภาษาเขมร ชื่อที่แปลกและแปลเป็นไทยไม่ได้ ก็เดาเอาว่าเป็นภาษามลายู ขุนพิสัณศิลปกิจ ว่า

“อำเภอสะทิงพระ มาจากภาษามลายู candi barat แปลว่า เจดีย์ตะวันตก

คลองสะทิงหม้อ มาจากภาษามลายู candi timuar แปลว่า เจดีย์ตะวันออก

อำเภอถลาง มาจากภาษามลายู Oedcang Silang แปลว่า แผ่นดินเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล”

ผู้เขียนวิจัยว่า อำเภอสะทิงพระ มาจากภาษาเขมร “สฺทึงพระ” (ข.สตึงเปฺรี๊ยะห์ ท.สทิงพระ) แปลว่า คลองพระ

“คลองสะทิงหม้อ” มาจากคำเขมร “สทึง” (ข.สตึง ท.สทิ้ง) แปลว่า แม่น้ำ, คลอง คลองสะทิงหม้อเป็นคำไทยซ้อนคำเขมร คือ คลอง (คลอง) หม้อ

อำเภอถลาง มาจากคำเขมร “ถลาง” (ข.ทลาง ท.ถลาง) แปล ว่า หม้อคะนน

“จังหวัดสุดท้ายที่เป็นภาษามลายู คือ ภูเก็ต มลายูออกเสียง ว่า บูกิ๊ต (Bukit) หมายถึง ภูเขาหรือเนินสูง…ชาวภูเก็ตหลายท่านบอกว่ารักที่จะเขียน ภูเก็จ อย่างคำไทย คือใช้ จ สะกด หมายถึง ภูเขาแก้ว (ภู = ภูเขา, เก็จ = แก้วประดับ) เอกสารโบราณสมัยอยุธยาเขียนภูเก็ตว่า เกาะถลาง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเขียนภูเก็จ ใช้ จ สะกด พอปลายสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ พระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารได้เปลี่ยน ภูเก็จ เป็น ภูเก็ต คือใช้ ต สะกดมาจนปัจจุบัน”

ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องชื่อจังหวัดภูเก็ตว่าเป็นภาษาใด แปลว่าอย่างไร ได้เคยมีการถกเถียงกันเมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว บางท่านว่าเป็นภาษาไทย “ภู” น. เนินที่สูงชันเป็นจอม, เขา, ภูเขา เช่น ภูผา – เขาหิน “เก็จ” – แก้วประดับ “ภูเก็จ” คือ เขาแก้วประดับ หรือจะเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “รัตนคีรี” ก็ยังได้ บางท่านว่ามาจากภาษามลายู bhukit แปลว่า “ภูเขา”

ในที่สุดยุติลงว่ามาจากภาษามลายู bhukit แปลว่า “ภูเขา”

ผู้เขียนพบว่ามลายูก็เอาคำไทยไปแปลงเป็นภาษามลายูหลายคำ เช่น ตา เป็น มาตา, กู – อากู, ทิ้ง – ติงฆัล, บ่า – บาฮู, มา – มารี, คู – กูบู, รูด – ลูรูด, แร้ง – เอแรง, ดัง (จมูก) – ฮีดง คือเพี้ยนจาก “ดัง” เป็น “ดง” เติม “ฮี” ให้เป็นสองพยางค์ เพื่อให้เป็นภาษามลายูโดยสมบูรณ์ ฯลฯ

มลายูเอาคำไทย “ภู” ไปเติม kit เป็น bhukit เป็นสองพยางค์เพื่อให้เป็นภาษามลายูโดยสมบูรณ์ “ภูเขา” คำภาษาเดิมของมลายูก็มีว่า gunung อาจจะมีคนสงสัยว่า gunung เป็นคำภาษาอินโดนีเซีย ขอเรียนให้ทราบว่า ภาษามลายูกับภาษาอินโดนีเซียแยกกันไม่ออก เช่นเดียวกับภาษาไทยกับภาษาเขมร…

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ชื่อ ตำบล สถานที่ ในปักษ์ใต้เป็นภาษาเขมร” เขียนโดย ม. ศรีบุษรา ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539

เผยแพร่ในระบบออลไน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2565