ฮาวไต้เทียน (เชิงเทียน) วัดพระธาตุสวนตาล ที่อุบลราชธานี ภูมิปัญญาช่างโบราณ

ฮาวไต้เทียน (เชิงเทียน) วาดโดย ติ๊ก แสนบุญ ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2548

ฮาวไต้เทียน (เชิงเทียน) วัดพระธาตุสวนตาล ตั้งอยู่ที่บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดเก่าแก่ของชุมชนบ้านชีทวน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ มีงานหัตถศิลป์ทางพระพุทธที่สำคัญคือฮาวไต้เทียนขนาดใหญ่ ทำด้วยแผงไม้กระดานฉลุ ขนาดกว้าง ๑.๒๐ เมตร สูงประมาณ ๑.๘๐ เมตร

ลักษณะทางศิลปะคือ ส่วนฐานมีไม้จำหลักเป็นรูปสิงห์หมอบ (หรือตัวมอมก็เรียก) เป็นลักษณะเฉพาะที่พบมากในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนตัวเรือนทำเป็นแผงไม้จำหลักและฉลุลวดลายเพื่อใช้เป็นฉากกั้น ลักษณะลวดลายเป็นศิลปะแบบพื้นบ้านอีสาน อีกทั้งองค์ประกอบบางส่วนคล้ายกับงานตกแต่งทางสถาปัตยกรรมแบบอีสาน เช่น ฮังผึ้ง หรือคันทวยแผง

ส่วนยอดตกแต่งเป็นชั้นๆ ในแต่ละชั้นมีการแกะสลักไม้เป็นรูปเหราคายนาคสามเศียร อีกทั้งบนหลังเหราทูนพระธาตุ ส่วนตอนกลางของฮาวไต้เทียนจำหลักเป็นรูปเรือนธาตุ ตกแต่งด้วยการย่อมุมเป็นชั้นๆ ปิดทองร่องชาดสีแดง ลักษณะของฮาวไต้เทียนที่พบในภาคอีสาน ส่วนที่ใช้เป็นที่ปักเทียนจะทำเป็นราวเหล็กยื่นออกมา ทำให้เวลาจุดเทียนสามารถที่จะส่องสว่างให้เห็นตัวแผงไม้ฉลุเป็นฉากอยู่ด้านหลังของดวงเทียนได้อย่างงดงาม

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าฮาวไต้เทียน (ภาคเหนือเรียกว่า “สัตภัณฑ์) เป็นงานหัตถศิลป์ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาของช่างโบราณที่สร้างสรรค์ผลงานถวายเป็นพุทธบูชาผ่านกระบวนการคิดที่สะท้อนคติธรรมความเชื่อของท้องถิ่น ก่อเกิดเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์อันทรงคุณค่า

ปัจจุบันฮาวไต้เทียนในภาคอีสานจะเป็นเชิงเทียนทองเหลืองรูปนาค รูปเรือหงส์ ที่สั่งซื้อมาจากร้านสังฆภัณฑ์จากกรุงเทพฯ ทำให้คุณค่าความงามและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นสูญสิ้น


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 21 เมษายน 2560