ที่มา | มหาอำนาจจีนบนทางแพร่ง |
---|---|
ผู้เขียน | เฉี่ยตง-เขียน, กนิษฐา ลีลามณี และคณะ-แปล |
เผยแพร่ |
หลายปีมานี้ เทศกาลของตะวันตกกำลังเริ่มเป็นที่นับถือของชาวจีนมากขึ้นทุกวัน จากตรุษจีนถึงคริสต์มาส จากหยวนเซียวถึงเอพริลฟูลส์ จากไหว้พระจันทร์ถึงวาเลนไทน์ “เทศกาลท้องถิ่น” นับวันจะฉลองกันไปด้วยความแห้งแล้ง อย่างลวกๆ แต่เทศกาลฝรั่งสิ นับตั้งแต่วันแม่วันพ่อที่แทนความรักที่เป็นนามธรรม วันฮาโลวีน วันขอบคุณพระเจ้าตามธรรมเนียมตะวันตกนับวันก็ยิ่งเฉลิมฉลองกันคึกคักเอิกเกริก
วันคริสต์มาสเป็นเทศกาลที่ชาวจีนชื่นชอบมากที่สุด ก่อนกลางทศวรรษ 1990 การต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสยังมีจำกัดอยู่ในกลุ่มนักเรียนมัธยมหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยและคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่ง พวกเขากินแมคโดนัลด์ เคเอฟซี ดื่มโค้ก ดูหนังฮอลลีวู้ด บางทีอาจจดจำวันเช็งเม้งและวันตวนอู่ไม่ได้แล้ว แต่ต้องจำวันคริสต์มาส วันวาเลนไทน์ และวันเอพริลฟูลส์ได้แน่นอน
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เทศกาลคริสต์มาสได้กลายเป็นกระแสนิยมที่เป็นสัญลักษณ์ของความนำสมัยอย่างหนึ่ง ทั้งยังได้รับการยอมรับจากทั้งรัฐบาลและสังคมจีนทุกระดับชั้น ปี 2003 คนงานกลุ่มหนึ่งตั้งอกตั้งใจกันประดับประดาต้นคริสต์มาสรอบๆ สะพานเป่ยจิงหนงจ๋านก่วน นี่อาจนับเป็นครั้งแรก ต้นคริสต์มาสในสถานที่สาธารณะกลางกรุงปักกิ่ง จนถึงวันนี้ ครึ่งเดือนก่อนถึงเทศกาลคริสต์มาสผู้คนจะเริ่มเตรียมตัวจัดงานเฉลิมฉลองเหมือนอย่างที่ทำกันในประเทศตะวันฃตก เขตการค้าทั่วทุกแห่งล้วนเต็มไปด้วยต้นคริสต์มาส คุณลุงซานตาครอส บทเพลง “ไซเลนท์ไนท์” “จิงเกิลเบลล์” อบอวลไปทั่วทั้งเมือง คำที่ผู้คนกล่าวทักทายกันมากที่สุดคือคำว่า “เมอร์รี่คริสต์มาส!”…
การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ทำให้สิ่งที่ทรงคุณค่ากลายเป็นสิ่งไร้ค่า ทำให้สิ่งที่มีความหมายกลายเป็นไร้ความหมาย อารยธรรมที่สั่งสมมาจากวัฒนธรรมเกษตรกรรมนับพันๆ ปีกำลังยืนอยู่บนชายแดนระหว่างการมีและไม่มี หลายสิ่งที่พวกเราคุ้นชินในชีวิตประจำวันได้ถูกพวกเราละเลยไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่เรียกว่าอารยธรรมของยุคปัจจุบันแทรกซึมเข้าสู่ทุกอณูของชีวิตพวกเรา ทำให้รอยต่อที่อ่อนไหวและอ่อนแอในความทรงจำของเราเลือนรางไป ความทรงจำเกี่ยวกับตรุษจีนของพวกเรากำลังจืดจางลงงานวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นงานฉลองตรุษจีนที่ยิ่งใหญ่ประจำปีของกรุงปักกิ่งก็เหลือแต่ชื่อ กลายเป็นเพียงตลาดขายของแห่งหนึ่งเท่านั้น
นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศเป็นต้นมา เศรษฐกิจก็ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณภาพชีวิตของประชาชนสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งบันเทิงเริงใจในชีวิตก็เปลี่ยนไปมีสีสันหลากหลายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ผู้คนต้องแบกรับความเรียกร้องต้องการที่ซับซ้อนมากมาย เทศกาลแบบธรรมเนียมโบราณก็ไม่มีความสำคัญดังที่เคยเป็นเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป ขณะเทศกาลแบบธรรมเนียมตะวันตกที่มีความทันสมัยแปลกใหม่ซึ่งกลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่ กลายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัย สังคมชั้นสูงและเป็นส่วนเพิ่มสีสันในชีวิตชาวบ้าน และยังสะท้อนถึงระดับความรู้ คุณธรรม และวัฒนธรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของระดับมุมมองทางสุนทรียะของพวกเขาด้วย
ขณะที่เทศกาลตามประเพณีจีนนับวันกลับถูกมองข้ามนี้ นักวิชาการหลายคนมีความเห็นแตกต่างกันออกไป หนึ่งคือ เชื่อว่าการฉลองเทศกาลตามธรรมเนียมฝรั่งก็เป็นความบันเทิงที่สง่างาม ยิ่งใหญ่ไม่ทำให้ใครบาดเจ็บ แต่อีกด้านหนึ่ง เชื่อว่าเป็นการหันหลังและทิ้งขว้างเทศกาลจีนและวัฒนธรรมตามประเพณีโบราณ
ความเห็นประเภทแรกเชื่อว่า เทศกาลคริสต์มาสแบบชาวจีนนั้นแตกต่างจากเทศกาลคริสต์มาสตามธรรมเนียมชาวตะวันตกที่มีที่มาจากความเชื่อทางศาสนาคริสต์ คริสต์มาสตามแบบชาวจีนเป็นเพียงเทศกาลที่สร้างความสุขให้กับผู้คนเท่านั้น สำหรับวัยรุ่นชาวจีนแล้ว คริสต์มาสคือเหตุผลให้เพื่อนฝูงมารวมตัวกันสร้างความครื้นเครงสนุกสนาน เป็นเหตุให้ละวางความทุกข์ ความเครียดในจิตใจ เป็นข้ออ้างให้ซื้อของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นในชีวิต แต่วัฒนธรรมจีนและจิตใจที่เป็นคนจีนอันคุกรุ่นหล่อเลี้ยงอยู่ในเลือดเนื้อของพวกเขาไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ วัยรุ่นกินแมคโดนัลด์เคเอฟซีหมดแล้วก็ยังชอบกินเนื้อแกะ-เนื้อปลาต้มหม้อไฟอยู่ดี
ศาสตราจารย์เยียนชิงเฟิง แห่งคณะสังคมศาสตร์ เทคโนโลยีหัวจงชี้ว่า กล่าวจากมุมของจิตวิทยาสังคม เทศกาลจีนมักถ่ายทอดข้อมูลทางวัฒนธรรมโบราณ มักจะสืบทอดสิ่งที่เกี่ยวพันกับพิธีกรรมและธรรมเนียมประเพณีของชาวจีน แต่เทศกาลทุกวันนี้โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นแล้ว เรียกว่าเป็นการปลดปล่อยอย่างหนึ่ง การหลบหนีจากความเคร่งเครียดในชีวิตประจำวันเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ขณะเทศกาลจีน เช่น ตรุษจีน ฯลฯ ตอกย้ำเหมือนกันหมดก็คือ ความสุขและบรรยากาศของการที่ครอบครัวได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ดังนั้น วัยรุ่นจึงไม่ยินดีที่จะฉลองเทศกาลที่มีนัยของความเป็นประเพณีมากจนเกินไป ยิ่งเทศกาลไหนผ่อนคลายมากเท่าไหร่พวกเขาก็ยิ่งต้อนรับและยิ่งชื่นชอบมากเท่านั้น พวกเขาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความหมายที่แท้จริงของเทศกาลเหล่านั้นเหมือนกับชาวตะวันตก พวกเขาแค่หาความสุขแบบง่ายๆ เท่านั้นเอง
ศาสตราจารย์ฟูซีชุน แห่งมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่งคิดว่า เทศกาลสำคัญของเผ่าพันธุ์ใดก็ตามล้วนเหมาะสมกับชาติพันธุ์ ความรู้สึกนึกคิด ประเพณีและความเคยชินในชีวิตของชนชาตินั้นๆ จึงจักสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อมาได้ ทั้งยังเป็นเครื่องสะท้อนศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรมของชนเผ่า เทศกาลสำคัญของชาวจีนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชนชาติฮั่นสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นแนบแน่นให้เกิดขึ้นในกลุ่มชน แม้ว่าในสายตาของวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยจะแสวงหากระแสใหม่ๆ ลุ่มหลงเทศกาลฝรั่ง คลั่งไคล้ “คริสต์มาส” หลงใหล “วันแห่งความรัก” เล่นสนุกไปกับ “เอพริลฟูลส์” ฯลฯ แต่อย่างไร อารมณ์ความรู้สึกของการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในหัวใจชาวจีนแล้วก็ยังเข้มข้นที่สุด
ศาสตราจารย์สวีว่านปัง อาจารย์ประจำคณะชาติพันธุ์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยชนชาติส่วนกลาง ก็กล่าวว่าการที่เทศกาลฝรั่งบางอย่างเข้ามาในชีวิตของชาวจีนเป็นเรื่องปกติอย่างมากเนื่องจากการเปิดประเทศ ด้านหนึ่งนั้นชี้ให้เห็นว่าเราสัมผัสกับชาวต่างชาติและวัฒนธรรมต่างชาติมากขึ้นทุกวัน อีกด้านหนึ่งแสดงว่าชาวจีนยินดีที่จะติดต่อสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น เพราะการฉลองเทศกาลของตะวันตกแสดงออกถึงการเคารพและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกันและกัน
การแลกเปลี่ยนและการค่อยๆ ประสมประสานกันทางวัฒนธรรมประเภทนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในกระบวนการปรับตัวของวัฒนธรรม การที่พวกเราฉลองคริสต์มาส กลับมิต้องนับถือศาสนาคริสต์ แต่เป็นแค่การแสวงหาความสุขและการพักผ่อนในวันหยุดอย่างหนึ่งเท่านั้น แท้จริงแล้วประเทศจีนเริ่มฉลองเทศกาลของตะวันตกมานานแล้ว เช่น วันสตรีสากล วันแรงงานสากล วันเด็กสากล แม้แต่กีฬาโอลิมปิกก็อาจเรียกเป็นเทศกาลได้
ความคิดอีกด้านหนึ่งค่อนข้างจะมองในแง่ลบ พวกเขาเชื่อว่าวัยรุ่นชาวจีนดูเหมือนว่าไม่ทราบความหมายอันลึกซึ้งของเทศกาลตามประเพณีจีน แต่กลับให้ความสำคัญกับวันสำคัญของตะวันตกราวกับเป็นของมีค่าในบ้านและพากันเห่อฉลองกันไปตามๆ กัน หากยังจะมีกระแสนิยมทำนองนี้อื่นๆ หลั่งไหลเข้ามาอีก จีนอาจต้องเผชิญกับวิกฤตทางวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์หลี่ว่านเผิง แห่งมหาวิทยาลัยซานตง และนายกสมาคมประเพณีพื้นบ้านศึกษาแห่งมณฑลซานตง เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนความเห็นดังกล่าว เขากล่าวว่าปัจจุบันนี้บรรยากาศการฉลองเทศกาลจีนของชาวบ้านในเมืองใหญ่ นับวันก็ยิ่งจืดจางลงตามกระบวนการกลายเป็นเมืองใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คนมีอายุจำนวนหนึ่งแม้ว่าจะยังสวนกระแสฝืนเชิดชูเทศกาลจีน แต่สำหรับวัยรุ่นที่ต้องการเติมเต็มความพึงพอใจส่วนตัวแล้วย่อมไม่ร่วมมือด้วยแน่นอน ด้วยเหตุนี้งานการช่วยเหลือรักษาศิลปะท้องถิ่นและประเพณีโบราณรวมถึงการรักษาเทศกาลตามธรรมเนียมของจีนจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนแล้ว
ปัจจุบัน วัฒนธรรมตะวันตกกำลังพึ่งพาอำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของมันเดินไปบนถนนอันกว้างใหญ่บนโลกพร้อมๆ กัน พร้อมทั้งแทรกซึมเข้ามาถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีนโดยการฉวยโอกาสจากความใฝ่ฝันของชาวจีนที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่แบบตะวันตก และในจังหวะที่การสั่งสอนทางด้านวัฒนธรรมประเพณีของจีนกำลังอ่อนแอลง มันได้เปลี่ยนรูปแบบความคิด ทัศนะด้านคุณค่า วิถีชีวิตและแนวทางการใช้ชีวิตของชาวจีนไปโดยไม่รู้ตัว
ในยามที่พวกเราไม่สบอารมณ์ขนมไหว้พระจันทร์ด้วยว่าไม่อร่อยเท่าแมคโดนัลด์ ในยามที่พวกเราอ่านวรรณกรรมภาษาต่างประเทศด้วยภาษาอังกฤษอย่างออกรสออกชาติแต่กลับไม่รู้จักคัมภีร์ “ซื่อซู” “อู่จิง” ว่าคือสิ่งใด ในยามที่พวกเราไม่อยากกลับบ้านเกิดในช่วงเทศกาลตรุษจีนแต่กลับย้ำคิดแต่เรื่องส่งของขวัญให้แฟนแม้ยังไม่ถึงวันวาเลนไทน์ด้วยซ้ำ ในยามที่พวกเรารู้สึกว่าเทศกาลตวนอู่ไม่เห็นจะสำคัญเท่าเทศกาลคริสต์มาสแล้ว พวกเรากำลังเปลี่ยนไปเป็น “มนุษย์กล้วย” เปลือกสีเหลืองใจสีขาวอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เทศกาลประเพณีจีนเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ระบุอัตลักษณ์ของชาวจีน เป็นมรดกที่สั่งสมมายาวนานและเป็นรูปแบบสำคัญที่พวกเราใช้ยอมรับตัวตนในความเป็นชนชาติจีน นับแต่อดีตกาลมาชาวจีนก็นับถือบูชา “ฟ้า ดิน กษัตริย์ ครอบครัว ครูอาจารย์” ฟ้าดินสร้างเรา ผู้นำประเทศคุ้มครองดูแลเรา ครอบครัวเลี้ยงดูปลูกฝังเรา ครูอาจารย์สั่งสอนเรา เป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปีมาแล้วชนชาติจีนให้ความเคารพหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด มารยาทสังคม ระบบกฎหมายและขนบธรรมเนียม ประเพณีนานาประการที่ถูกสร้างขึ้นตีกรอบล้อมรอบเรามาหลายชั่วอายุคน คือสิ่งที่ดำรงอยู่ในความผาสุกสถาพรของชนชาติจีน
ทว่า เมื่อประเทศพัฒนามาถึงปัจจุบัน ชาวจีนที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกว่าเป็นชนชาติที่กตัญญูรู้คุณและให้ความเคารพนับถือพ่อแม่ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ และเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมและมารยาทต่างๆ ไม่เพียงจดจำได้เลือนรางเกี่ยวกับวันเช็งเม้งที่เซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ ยังหยิบยืมโอกาสจากเทศกาลตามธรรมเนียมต่างชาติมาใช้แสดงความในใจของพวกเขา นี่ไม่เพียงเป็นการเสียดสีเยาะเย้ยวัฒนธรรมจีนอย่างเจ็บแสบเท่านั้น แต่ยังเป็นความสลดใจอย่างใหญ่หลวงของชนชาติจีนอีกด้วย
ประเพณีโบราณที่ผ่านวิวัฒนาการมายาวนานนับ 5,000 ปีย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีสิ่งล้าหลังปะปนรวมอยู่ด้วย ดังนั้น ในประเพณีโบราณก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ๆ ประเพณีเก่าๆ ก็ควรจะซึมซับค่านิยมอันดีงามอันใหม่ๆ ที่ทันกับยุคสมัยเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยแนวทางนี้เองวัฒนธรรมอันเป็นประเพณีโบราณของจีนจึงจะสามารถเชื่อมโยงใกล้เคียงกับยุคสมัย ตัดรายละเอียดที่รกรุงรังออก รักษาไว้ซึ่งแก่นสำคัญ
หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก เฉี่ยตง-เขียน, กนิษฐา ลีลามณีและคณะ-แปล. มหาอำนาจจีนบนทางแพร่ง, สำนักพิมพ์มติชน พฤษภาคม 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2565