เจาะเส้นทางจากยุคกำลังภายใน สู่ก้าวใหม่ จีนผลิตนวนิยายออนไลน์ โรแมนติก-ไซไฟ ฮิตทั่วโลก

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพกราฟฟิกเมืองในโลกจินตนาการ

มรดกทางวัฒนธรรมของจีนแพร่กระจายไปทั่วโลก ผู้คนจากทุกมุมโลกอาจมีภาพจำเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนเป็นการแสดงงิ้ว นิยายกำลังภายใน ศิลปะการป้องกันตัวที่เรียกว่า “กังฟู” และอีกมากมาย เมื่อเวลาผ่านไป วัฒนธรรมจีนในยุคใหม่ที่ส่งออกไปกระจายในภูมิภาคอื่น มีตัวเลือกใหม่เพิ่มเข้ามาด้วยอย่างนวนิยายไซไฟ (sci-fi : science fiction หมายถึงเรื่องแฟนตาซีแนววิทยาศาสตร์) ควบคู่ไปกับนิยายกำลังภายใน และนวนิยายออนไลน์ด้วย

นวนิยายแนวแฟนตาซีวิทยาศาสตร์ไตรภาคที่เรียกกันว่า “The Three-Body” จากนักเขียนอย่างหลิวฉือซิน (Liu Cixin) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างผลงานจากนักเขียนจีนซึ่งได้รับความนิยมทั้งในแดนมังกรและกระจายไปทั่วโลกระหว่างช่วงปี ค.ศ. 2008-2010

Advertisement

เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2019 หนังสือเข้าไปเปิดตัวในญี่ปุ่น หนังสือเล่มแรกของไตรภาคใช้ชื่อว่า The Three-Body Problem ยอดขายหนังสือในอเมซอน (Amazon) ทะยานขึ้นอันดับแรกในตารางจัดอันดับนวนิยายขายดีในญี่ปุ่น ภายในระยะเวลาสัปดาห์เดียว สำนักพิมพ์ Hayakawa Publishing Corporation ผู้เผยแพร่หนังสือในญี่ปุ่น พิมพ์ใหม่ไป 10 ครั้ง ทำให้ยอดขายรวมพุ่งไปได้ 86,000 เล่มในระยะเวลาไม่กี่วัน

ไดอิชิ นากาชิมะ (Daichi Nakashima) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อปี 2019 เผยว่า เขาเริ่มอ่านหนังสือเล่มแรกของไตรภาคหลังเลิกงานตั้งแต่ 6 โมงลากยาวรวดเดียวไปจนถึงเที่ยงคืน นักอ่านวัย 27 ปีเล่าว่า เขาประทับใจกับลักษณะทางวัฒนธรรมจีนที่แตกต่างและรายละเอียดในเชิงวิทยาศาสตร์ของนวนิยาย และแง่ธีมโดยรวม นวนิยายจีนก็แตกต่างไปนิยายไซไฟจากยุโรป อเมริกัน และญี่ปุ่น

หลิวฉือซิน (Liu Cixin) ยังเป็นนักเขียนเบื้องหลังภาพยนตร์ฮิตอย่างเรื่อง The Wandering Earth ซึ่งทำรายได้ทั่วโลกรวมแล้วทะลุ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โทยะ ทาชิฮาระ (Toya Tachihara) นักเขียนและนักวิชาการชาวญี่ปุ่นถึงกับเรียกขานว่า เป็นยุคทองของนวนิยายไซไฟจีน

อีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้นวนิยายจีนได้รับความนิยมคือช่องทางออนไลน์ ที่ผ่านมา นวนิยายกำลังภายในจีนอาจได้เสียงตอบรับในระดับหนึ่งและเป็นที่รู้จักกลุ่มคนที่สนใจ ช่วงหลังเริ่มมีผู้แปลนวนิยายกำลังภายในเป็นภาษาสากลหลากหลายมากขึ้น ผลที่ตามมาคือวัฒนธรรมจีนก็เริ่มมีคนเข้าถึงได้มากขึ้นตามไป ตัวอย่างหนึ่งคือเว็บไซต์ Wuxiaworld.com ซึ่งก่อตั้งโดย Lai Jingping ลูกครึ่งที่มีเชื้อสายจีน-อเมริกัน ขณะที่แวดวงสังคมออนไลน์ยังช่วยดึงดูดนักแปลและนักอ่านหลายพันคน

วงการวรรณกรรมออนไลน์ของจีนที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วยังทำให้นวนิยายออนไลน์หลายเรื่องของจีนมีฐานผู้อ่านจำนวนมากในต่างประเทศ

จย่งจย่งโหย่วเยา (Jiong Jiong You Yao) คือนามปากกาของนักเขียนดาวรุ่งชาวจีนวัย 32 ปี หนึ่งในนักเขียนนวนิยายออนไลน์แนวโรมานซ์สไตล์คนเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปีที่ผ่านมา (2021) นิยายของเธอดึงดูดแฟนนักอ่านตัวยงจากนานาประเทศจำนวนมหาศาล นวนิยายของจย่งจย่งโหย่วเยา ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมายทั้งอังกฤษ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สเปน และไทย

“นักอ่านชาวต่างชาติทำความเข้าใจประเทศจีนผ่านวรรณกรรมออนไลน์เหล่านี้” นักเขียนสาวกล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของจย่งจย่งโหย่วเยา ส่วนหนึ่งนั้น ได้รับแรงสนับสนุนจากวรรณกรรมจีนออนไลน์ที่เติบโตในตลาดต่างประเทศ รายงานของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีนประจำปี 2020 ว่าด้วยวรรณกรรมออนไลน์ของจีน ระบุว่า หากนับสถิติถึงปี 2020 มีผลงานวรรณกรรมออนไลน์จีนมากกว่า 10,000 รายการที่บุกตลาดต่างประเทศ และดึงดูดผู้อ่านจากนานาชาติแล้วกว่า 100 ล้านคน

ในพื้นที่แสดงความคิดเห็นสำหรับนวนิยายเรื่องหนึ่งของจย่งจย่งโหย่วเยา ในเว็บโนเวล (Webnovel) เว็บไซต์นวนิยายออนไลน์ระดับโลก อัดแน่นไปด้วยข้อความของแฟนๆ ที่ขอให้เธออัปเดตบทใหม่ในเร็ววัน ชี้ให้เห็นถึงความฮอตฮิตของนวนิยายเรื่องนี้

เมื่อปี 2016 นวนิยายโรมานซ์เรื่องหนึ่งของจย่งจย่งโหย่วเยา มียอดคลิกอ่านมากกว่า 4 ล้านครั้ง และได้ให้สิทธิ์นวนิยายเรื่องนี้แก่องค์กรด้านวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของเวียดนาม เพื่อนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในปี 2018

“ฉันมักจะใส่เนื้อหาที่คงความเป็นจีนไว้ในงานเขียน เช่น งานปักของซูโจวและศิลปะการต่อสู้กังฟู และฉันพบว่าผู้อ่านชาวต่างชาติค่อนข้างสนใจองค์ประกอบเหล่านี้” เธอเล่า

“ฉันมองว่าการที่วรรณกรรมออนไลน์ของจีนได้รับความนิยม ไม่ใช่แค่เพราะองค์ประกอบสไตล์ตะวันออกที่ดูลึกลับน่าค้นหาเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะว่าความเป็นมนุษย์ในผลงานนั้นไม่ถูกขวางกั้นด้วยอุปสรรคใด”

ครั้งหนึ่ง นวนิยายแนวแฟนตาซีและกังฟู เคยเป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังความนิยมนวนิยายออนไลน์จีนในหมู่ผู้อ่านต่างชาติ โดยเรื่องราวหล่านี้มักมีพื้นฐานมาจากตำนานปรัมปราและวัฒนธรรมโบราณของจีน

อย่างไรก็ดี ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่องทางการสื่อสารระหว่างประเทศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ได้เอื้อให้นวนิยายออนไลน์จีนหลายๆ ประเภทก้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย เช่น นวนิยายออนไลน์แนวโรมานซ์สไตล์คนเมือง ที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของชาวจีนในเขตเมือง และได้รับความนิยมชมชอบมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันรวมถึงผลงานเขียนของจย่งจย่งโหย่วเยาด้วยเช่นกัน

นักเขียนสาวเล่าว่า ในอดีตผู้อ่านเคยชื่นชอบเรื่องราวที่พระเอกมักวางตัวเป็นใหญ่และควบคุมผู้อื่น รวมถึงนางเอกที่รับบทเหมือนซินเดอเรลลา แต่ตอนนี้ธีมของเรื่องได้เปลี่ยนไปสู่การนำเสนอความเป็นตัวของตัวเองและความเด็ดเดี่ยวของผู้หญิง

“ฉันว่าเป็นเพราะผู้หญิงเอเชียมีความตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น และฉันได้สอดแทรกการเปลี่ยนแปลงนี้ไว้ในงานเขียน” คำบอกเล่าของนักเขียนสาว

อีกด้านหนึ่ง วรรณกรรมออนไลน์ของจีนยังกระตุ้นให้ผู้อ่านต่างชาติจำนวนไม่น้อยหันมาจับปากกาเขียนนิยาย ยกตัวอย่างเช่น Kazzenlx นักเขียนวัยรุ่นชาวฟิลิปปินส์วัย 25 ปี ผู้เขียนนวนิยายโรมานซ์แฟนตาซีเรื่อง “Hellbound With You” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายฉบับภาษาอังกฤษของจย่งจย่งโหย่วเยา

เหอหง รองผู้อำนวยการศูนย์วรรณกรรมออนไลน์ของสมาคมนักเขียนจีนกล่าวว่า “งานนวรรณกรรมออนไลน์ของจีนได้เปลี่ยนรูปแบบจากการเผยแพร่นวนิยายทั่วไป ไปเป็นการส่งออกระบบการสร้างสรรค์ผลงานที่ลุ่มลึก”

สถิติชี้ว่าเว็บโนเวลดึงดูดนักเขียนออนไลน์จากต่างประเทศเข้าสู่แพลตฟอร์มถึงกว่า 110,000 คน ซึ่งพวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงานนวนิยายแล้วมากกว่า 200,000 ชิ้น

นอกจากนี้ยังมีละครโทรทัศน์หลายเรื่องที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายออนไลน์จีนและได้รับกระแสตอบรับที่ดีในต่างประเทศ เช่น ซีรีส์ยอดฮิตเรื่อง “Flower Thousand Bone” (ตำนานรักเหนือภพ หรือ ฮวาเชียนกู่), “Nirvana in Fire” (มหาบุรุษพลิกแผ่นดิน หรือ หลางหยาป่าง) และ “Empresses in the Palace” (เจินหวน จอมนางคู่แผ่นดิน)

จย่งจย่งโหย่วเยา กล่าวว่า “ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเหล่านักเขียน ที่ผู้อ่านในต่างประเทศสามารถเสพนวนิยายออนไลน์จีนได้ หรือกระทั่งการนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์”

“เราควรพัฒนางานเขียนของตัวเอง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ของจีนและช่วยให้ผู้คนรู้จักวัฒนธรรมจีนมากขึ้น” เธอทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นใหม่โดยใช้ข้อมูลจากบริการข่าวสารภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว เรื่อง ” ‘นวนิยายจีนออนไลน์’ บุกตลาดโลก คว้าใจนักอ่านต่างชาติ” (20 ก.ค. 2564) และ World embraces new Chinese icons (30 ก.ค. 2562)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2565