ที่มา | คอล้มน์ “ในวงเล่า” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม ๒๕๖๐ |
---|---|
ผู้เขียน | ล้อม เพ็งแก้ว |
เผยแพร่ |
“ในวงเล่า” วันนี้ขอนำท่านทั้งหลาย (ที่เป็นแฟนคลับ) เข้าวัดสักครั้ง ไม่ใช่อะไรหรอก ก็จากหัวเรื่องนั่นแหละ นำไปชมสากกะเบือ ครับ สากกะเบือ!
ก็ต้องขออภัยหากเป็นที่ระคายหูไปบ้าง ที่จริงผมก็เคยได้รับสั่งสอนมา (ก่อนเข้ามาเล่าเรียนที่บางกอก) ว่าเมื่อไรต้องการพูดหรือเขียนถึงสากกะเบือ ให้เรียกว่าไม้ตีพริก แต่จริต (หรือจะเรียกว่าสันดานก็ได้) ของผมรับไม่ค่อยได้ เพราะความที่นิยมชมชอบกับการใช้ถ้อยคำของปู่ย่าตายาย อยู่มาแก่จนปูนนี้ ก็คิดไม่เห็นว่าจะดัดไปทำไม?
สากกะเบือ เป็นของใช้ประจำครอบครัว มีกันทุกบ้านทุกเรือน ใช้คู่กับครกที่เรียกว่าครกกะเบือ จะทำด้วยไม้ ด้วยดิน หรือด้วยหินก็ได้ (แต่ก็แปลกใจอยู่เหมือนกัน ของอย่างเดียวกันนี้หากทำด้วยเครื่องเคลือบดินเผา ผมได้ยินเภสัชกรเขาเรียก โกร่ง กับ ลูกโกร่ง ทั้งๆ ที่เหมือนครกกับสากอย่างไม่ผิดเพี้ยน) เฉพาะคำกะเบือ ที่ใช้ประกอบครกกับสากนั้น อดคิดไม่ได้ว่าน่าจะเป็นคำกร่อนจากข้าวเบือ
ไม่มีอะไรแนะนำให้ชมแล้วหรือ? ก็ไม่อับจนเรื่องราวถึงขนาดนั้นหรอกครับ เพียงแต่สากกะเบือวัดเพรียง มีความพิเศษที่เป็นตำนาน และผมก็เคยเขียนถึงมาแล้วครั้งหนึ่ง (พ.ศ. ๒๕๓๐) กอปรทั้งวาสนาผมอาจเคยผูกพันกับของชนิดนี้มานานแล้วก็ได้ กล่าวคือสมัยเด็ก ผมชอบดูมโนราห์ โดยเฉพาะตอนมีตัวออกพราน เพราะเป็นตอนตื่นเต้นสนุก และน่ากลัว ทั้งท่ารำและบท
ตัวพรานนั้นสวมหน้ากากสีแดง นุ่งผ้าสีแดง ไม่มีเสื้อและเครื่องประดับใดๆ บทที่กล่าวมีลักษณะพิเศษ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เร้าใจ เช่นว่า “ผันแปรแลไป เห็นใครนั่งเหงวาน (เหง = ทับ วาน = ก้น) สาวๆ บ้านฉานนั่งเหงวานทุกคน” ฯลฯ เป็นต้น แต่ที่ยังจำได้และเกี่ยวกับสากกะเบือที่แม่กล่าวให้ฟัง (ในท่วงทำนองเพลงร้องเรือ) ตั้งแต่เด็ก คือ
“ฝนตกข้างเหนือ สากเบือลอยมา มาจอดหน้าท่า ฉานคิดว่าเรือใหญ่ ฉานขึ้นไปเหนือ ไปถามว่าสากเบือใคร คิดว่าเรือใหญ่ เสาใบเท่าโคน…เหอ…โหนด” (โหนด = โตนด)
พยายามนึกถึงของคู่กัน ว่ามีบทแต่โบราณอยู่บ้างหรือไม่? ก็นึกได้กระท่อนกระแท่น ถึงบทที่ลูกสะใภ้กล่าวถึงแม่ผัว เป็นบทที่พ่อเคยกล่าว ตามเรื่องน่าจะเป็นสะใภ้ที่จัดจ้านเอาการ จำได้บางส่วน ดังนี้
“แม่ผัว รัวๆ เหมือนครกเบือไม้ ครั้นดีกูอี้ไหว้ ครั้นร้ายกูอี้เฉียงใส่ไฟ” (อี้ = จะ, เฉียง = ผ่า)
ด้วยเหตุดังนี้ เมื่อได้ยินคนโจษขานถึง สากกะเบือวัดเพรียง ผมจึงใส่ใจเป็นพิเศษ
เรื่องเดิมมีว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ผมได้อ่านหนังสือที่พิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์ในงานฉลองสมณศักดิ์ พระครูสถิตพจนสุนทร เจ้าอาวาสวัดเพรียง ได้อ่านข้อเขียนของ อาจารย์บุญมี พิบูลย์สมบัติ และของอาจารย์สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ที่บอกเล่าถึงเรื่องสากกะเบือ อันเป็นคำโจษขานของชาวบ้าน ผมจึงไปพบเจ้าอาวาส เพื่อขอดูสากกะเบือที่ว่าใหญ่ที่สุดในบรรดาสากกะเบือวัดด้วยกัน
“ตั้งแต่อาตมามาครองวัด ก็ยังไม่เคยเห็น เป็นเพียงตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา” เจ้าอาวาสบอกอย่างนั้น
เมื่อไม่เห็นของจริง ผมจึงเขียนอย่างวิเคราะห์ว่าคำเล่าลือนั้นน่าจะมีมูลอยู่อย่างไร?
เมื่อได้สำรวจลักษณะสังคมรอบๆ วัดเพรียง (เป็นวัดเล็กๆ อยู่ใกล้กับวิทยาลัยครูเพชรบุรี หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏในบัดนี้) พบว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งมีเชื้อสายเป็นพราหมณ์ และปกติของพราหมณ์นั้นมีของบูชาคือศิวลึงค์ และมีของใช้ประจำคือแท่นหินบดเครื่องแกง ที่นักโบราณคดีนิยมเรียกกันว่าแท่นหินบดยา ซึ่งประกอบด้วยแท่นหินหน้าเรียบ และลูกหินบด ซึ่งเป็นแท่งกลมยาว
ที่ผมเรียกแท่นหินบดเครื่องแกงนี้ ผมได้ความรู้จาก อาจารย์จิตร บัวบุศย์ ท่านบอกว่าสังคมอินเดียใช้กันทั่วไป และยังทำท่านั่งบดให้ดูด้วย ส่วนที่ทางไทยเรียกแท่นบดยา ก็อาจบดได้ ไม่แปลกอะไร
กลับมาที่สังคมรอบๆ วัดเพรียง ที่คงจะใช้เครื่องมือตามความเคยชินเดิม เมื่อมาอยู่กับสังคมไทย เห็นคนไทยใช้ครกโขลกตำเครื่องแกง ซึ่งสะดวกกว่าใช้แท่นหินบด จึงใช้ตามบ้างและนิยมใช้ทั่วไป แท่นหินบดจึงหมดความจำเป็น และคงจะนำแท่นหินบดไปถวายวัด (ดังมีอยู่ที่วัดเขาตะเคราถึง ๕ ชุด) นานๆ เข้า คนไม่รู้จัก เห็นลูกหินบดคล้ายสากกะเบือ ก็เล่าลือกันว่าวัดเพรียงมีสากกะเบือใหญ่หนักหนา จนกลายเป็นตำนานคู่กับวัด มีรายละเอียดพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น“เพชรภูมิ” ฉบับ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๐
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ สำนักพิมพ์ “สายธาร” ได้รวมรวมข้อเขียนของผมจากหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ เพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสผมอายุครบ ๘๐ ปี ในการนี้ คุณชื่น (คุณรังสิต จงฌานสิทโธ หรือ คุณป่อง ต้นกล้า) ได้ไปถ่ายภาพวัดเพรียง เพื่อใช้ประกอบบทความ ไปเห็นเสาไฟฟ้าและเสาโรงเก็บของทำเป็นรูปสากกะเบือ จึงถ่ายเป็นภาพประกอบในหนังสือ
ผมห่างเหินวัดเพรียงมานาน เมื่อได้เห็นภาพก็ได้แต่ร้อง “เฮ้ย!” ด้วยความแปลกใจ จึงได้ชวน คุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ (คนเขียนหนังสือชุดลาวโซ่ง นั่นแหละครับ) ไปชม พบว่านอกจากเสาไฟฟ้าและเสาโรงเก็บของแล้ว ในโบสถ์เก่าก็มีตั้งให้คนปิดทองอยู่ ๒ อัน
ผมไม่ทราบความในใจของหลวงพ่อ จะสอบถามก็ไม่ได้ เพราะท่านอาพาธไม่รู้สึกตัวมากว่า ๑ ปีแล้ว จึงคาดคิดเห็นว่า น่าจะเป็นการสืบตำนานให้เห็นเป็นรูปธรรม หรือไม่ท่านคงเห็นว่า เมื่อมีคนไปสอบถามเพื่อขอดูมากๆ ก็ทำไว้ให้ดูเสียเลย
ในโอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนคนชอบดูของแปลกๆ ไปชม เพราะนอกจากเป็นวัดเดียวในเมืองเพชร ก็อาจเป็นวัดเดียวในเมืองไทยก็ได้ ที่มีเสาเป็นรูปสากกะเบือ!
ตอนต้นผมได้เล่าถึงบทของพรานที่แม่เคยกล่าวให้ฟัง ก็เห็นจะต้องจบด้วยบทอย่างเดียวกัน ดังนี้
สากกะเบือวัดเพรียง ได้ฟังแต่เสียงเขากล่าวขาน
เป็นของคู่วัดมานมนาน เล่าขานว่าใหญ่หนักหนา
บัดนี้หลวงพ่อท่านคิดทำ เป็นของประจำคู่วัดวา
เล่าลือว่าใหญ่หนักหนา ให้ปวงประชาได้…เหอ…ชม
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ