อย่าลืม! ราชสำนักเมืองเหนือ ที่พิษณุโลก

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ศูนย์กลางสำคัญของราชสำนักฝ่ายเหนือ

สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ครองราชสมบัตินานที่สุดของกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒) ตลอด ๓๘ ปีนี้ ในช่วง ๑๔ ปีสุดท้ายของการครองราชย์ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ตามลำดับดังนี้

ศักราช ๘๗๗ กุรศก วัน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เพลารุ่งแล้ว ๘ ชั้น ๙ ฤกษ์ สมเดจพระรามาธิบดีเสดจไปเมิองนครลำภางใด้เมิอง

Advertisement

ศักราช ๘๘๐ ขานศก ครั้นสมเดจพระรามาธิบดีส้างวัดพระศรีสรรเพชเสวยราชสมบัติ แรกตำราพิไชยสงครามแลแรกทำสารบาณชีย พระราชสำฤทธิทุกเมิอง

ศักราช ๘๘๖ วอกศก ครั้งนั้น เหนงาช้างต้นเจ้าพญาปราบแตกข้างขวายาวไป อนึ่งในเดือน ๗ นั้นคนทอดบาดสนเท่ห ครั้งนั้น ให้ฆ่าขุนนางเสียมาก

ศักราช ๘๘๗ รกาศก น้ำน้อย เข้าเสิยสิ้นทังปวง อนึ่งแผ่นดินไหวทุกเมิอง แล้วแลเกิดอุบาทวเปนหลายปรการ ครั้นรุ่งขินศักราช ๘๘๘ จอศกนั้น เข้าแพงเปน ๓ ทนานต่อเฟื้อง เบิ้ยแปดร้อย เกิยนนึ่งเปนเงินชั่งหกตำลึง ครั้งนั้น ปรดิษถานสมเดจหน่อพุทธางกูรเจ้าในที่อุปราช แลให้เสด็จขึ้นไปครองเมิองพิศณุโลก

ศักราช ๘๙๑ ฉลูศก เหนอากาษนิมิตรเปนอินทนูแต่ทิศหรดี ผ่านอากาษมาทิศพายัพ มีพรรณขาว วัน ๑ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ … สมเดจพระรามาธิบดีเจ้านิฤาพาน จึ่งสมเดจพระอาทิตยเจ้าเสวยราชสมบัดดิพระนครศรีอยุทธยา ทรงพรนามสมเดจบรมราชาหน่อพุทธางกูร

จากข้อความโดยลำดับข้างต้นในพระราชพงศาวดาร มีข้อสังเกตว่า ความตั้งแต่ จ.ศ. ๘๘๖ ปีวอก ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๐๖๗ นั้น ได้กล่าวถึงเหตุอุบาทว์ลางร้าย ทอดบัตรสนเท่ห์ จนต้องฆ่าขุนนางไปหลายคน แผ่นดินไหว สืบต่อมาถึง จ.ศ. ๘๘๗ เกิดข้าวยากหมากแพง จนขึ้น จ.ศ. ๘๘๘ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๐๖๙ ได้มีการตั้งอุปราชไปครองเมืองพิษณุโลก แล้วไม่กล่าวอะไรอีกเลย

จนอีก ๓ ปีต่อมา ใน จ.ศ. ๘๙๑ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๐๗๒ ก็กล่าวถึงเหตุผิดปกติทางธรรมชาติอีกครั้ง ต่อด้วยเรื่องสมเด็จพระรามาธิบดีสวรรคตในปีนั้น และสมเด็จพระอาทิตย์ได้เสวยราชสมบัติต่อมา ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ซึ่งความตอนท้ายนี้ เมื่อเทียบกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่นๆ ได้แสดงความกระจ่างว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรนี้ ก็คือสมเด็จพระอาทิตย์ที่เคยแต่งตั้งไปเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลกนั่นเอง

เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า การลำดับเรื่องของพงศาวดารตั้งแต่ จ.ศ. ๘๘๖ ที่กล่าวถึงแต่เรื่องอุบาทว์ลางร้าย เรื่องร้ายทุกข์ยากทั้งหลาย มาจนถึง จ.ศ. ๘๘๘ นั้น เป็นการเกริ่นให้เห็นความไม่ถูกต้องชอบธรรมในการที่มิได้มีการตั้งอุปราชไปครองเมืองพิษณุโลกนั่นเอง ส่วนเหตุผิดธรรมชาติที่มีการกล่าวถึงในปีสุดท้าย เป็นการเกริ่นนำถึงการสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดิน

วัตถุประสงค์ในการศึกษา

ที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีความเห็นพ้องกับที่มีความเข้าใจแต่เดิมโดยทั่วไปว่า การลำดับเรื่องในพงศาวดารที่กล่าวถึงเหตุอุบาทว์ลางร้ายต่างๆ นี้ เป็นวิธีการเขียนพงศาวดารแบบหนึ่ง ที่ต้องการแสดงเหตุแห่งความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งในตอนนี้ หมายถึงการไม่มีการแต่งตั้งอุปราชไปครองเมืองเหนือ คือเมืองพิษณุโลก

ดังนั้นที่จะกล่าวต่อไป จะเป็นการเชื่อมโยงหลักฐานที่เป็นเอกสารของล้านนากับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เพื่อชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเหนือที่มีศูนย์กลางที่เมืองพิษณุโลกกับล้านนานั้น ได้ส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์การเมืองของกรุงศรีอยุธยาด้วย

ราชสำนักเมืองเหนือ

ราชสำนักเมืองเหนือ คือเมืองพิษณุโลกที่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาราชวงศ์สุพรรณภูมิ อาศัยความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับราชวงศ์สุโขทัยบางสาย จัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการทางการเมือง เพื่อแผ่อิทธิพลครอบงำกลุ่มเมืองในดินแดนสุโขทัยเดิม

เมื่อสามารถขยายอิทธิพลเหนือเมืองต่างๆ ในดินแดนสุโขทัยได้แล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถคือกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์แรก ผู้ทรงต้องการรวมอำนาจศูนย์กลางไว้ที่กรุงศรีอยุธยาเพียงแห่งเดียว จึงทรงยกเลิกตำแหน่งพระมหาธรรมราชาแห่งเมืองเหนือที่พิษณุโลก ทำให้เป็นที่ไม่พอใจของเจ้านายชั้นสูงของราชวงศ์สุโขทัย พระยุธิษฐิระเจ้าเมืองสรลวงสองแควจึงขึ้นไปพึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ นำทัพลงมาแย่งชิงดินแดนสุโขทัย เกิดเป็นสงครามระหว่างล้านนากับกรุงศรีอยุธยาที่ยาวนาน

สงครามที่ติดพันกันยาวนานนี้ ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จมาประทับที่เมืองพิษณุโลกตลอดพระชนมชีพ โดยที่กรุงศรีอยุธยามีพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง (พงศาวดารกล่าวว่า เป็นพระราชโอรส) ครองอยู่ การณ์เช่นนี้เท่ากับเป็นการแยกราชสำนักกรุงศรีอยุธยาออกมาเป็นอีกราชธานีหนึ่งที่เมืองพิษณุโลก และดูจะเป็นราชสำนักที่เข้มแข็งมากขึ้นด้วยเป็นราชสำนักของพ่อ มิใช่ราชสำนักของลูก อย่างที่เคยเป็นมาในสมัยก่อนหน้านี้

ราชสำนักเมืองเหนือของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ เมื่อพิจารณาว่า ก่อนขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาพระองค์เคยดำรงฐานะเป็นราเมศวรอยู่ที่นี่มาก่อน ด้วยพระราชมารดาของพระองค์มีเชื้อสายเป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์สุโขทัย อันเป็นราชวงศ์เดิมของเมืองเหนือ อีกทั้งสมเด็จเจ้าสามพระยาพระราชบิดาของพระองค์ก่อนจะเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ก็เคยครองเมืองอยู่ที่นี่ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นข้าราชบริพารในราชสำนักนี้ทั้งฝ่ายนอกฝ่ายใน จึงเป็นขุนนางราชินิกุลสายราชวงศ์สุโขทัยอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้พระองค์ยังมีราชโอรสที่มีพระประสูติกาลที่เมืองพิษณุโลกด้วย พระนามว่า พระเชษฐา

เพื่อเป็นการปูทางให้พระเชษฐาได้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาต่อไปโดยไม่มีปัญหา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้สถาปนาพระเชษฐาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช มีลักษณะเฉพาะตำแหน่งดังปรากฏนามสถาปนาในหนังสือกฎหมายตราสามดวงว่า พระเอกสัตราชพระมหาอุปราช ซึ่งหมายถึงพระมหาอุปราชของพระราชาหลายพระองค์ และเพื่อป้องกันข้อผิดพลาด พระองค์ได้รับพระอาทิตยวงศ์ โอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ ๓) ที่ครองอยู่กรุงศรีอยุธยา และมีพระชนมายุใกล้เคียงกับพระเชษฐา มาเลี้ยงดูที่ราชสำนักเมืองเหนือของพระองค์ตั้งแต่ยังเยาว์วัย

ทั้งพระเชษฐากับพระอาทิตยวงศ์เมื่อเติบโตขึ้น ได้ช่วยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในการทำสงครามกับล้านนามาโดยตลอด จนเป็นที่รู้จักและเข้าใจกันโดยชาวล้านนาว่า เป็นโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทั้งคู่ แม้ว่าเมื่อพระเชษฐาได้เสวยราชย์เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แล้ว และใน จ.ศ. ๘๗๗ (พ.ศ. ๒๐๕๘) ที่ได้ยกความในพระราชพงศาวดารมากล่าวแต่ต้นว่า ในปีนั้นได้ยกทัพขึ้นไปตีได้เมืองลำปาง ก็ปรากฏเหตุการณ์ที่ระบุในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ทุกฉบับ กล่าวว่า ในวันเดือนปีเดียวกันนั้นเอง ทัพชาวใต้เข้าเมืองนครลำปางได้ทางประตูท่านาง และบอกพระนามแม่ทัพชาวใต้ว่าเป็นพี่น้องกันคือ พระเอก (มาจากคำว่าพระเอกสัตราชพระมหาอุปราช) กับพระอาทิตย์ แต่บางฉบับคงมีการคัดลอกกันผิดเขียนเป็น พระอก กับพระอาทิตย์ ก็มี

ความพยายามยุบราชสำนักเมืองเหนือ

เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต จึงเหลือพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยา คือสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ ๓) ทรงครองราชย์ต่อไปอีก ๓ ปีก็เสด็จสวรรคต พระเชษฐาผู้ดำรงฐานะเป็นพระเอกสัตราชพระมหาอุปราช อยู่ที่เมืองพิษณุโลก จึงได้เสวยราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยาอย่างไม่มีปัญหา ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒)

สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ทรงดำเนินรอยตามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในการที่จะให้มีศูนย์กลางที่กรุงศรีอยุธยาเพียงแห่งเดียว วิธีการที่จะยุบราชสำนักเมืองเหนือลงก็คือ การไม่ยอมสถาปนาตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองเหนือ แม้พระองค์จะอยู่ในราชสมบัติมาถึง ๓๐ กว่าปีแล้ว ก็ยังไม่มีการตั้งพระมหาอุปราชอย่างเป็นทางการสักที จึงปรากฏข้อความที่แสดงเหตุอุบาทว์ลางร้าย ทอดบัตรสนเท่ห์ ต้องฆ่าขุนนางไปหลายคน ซึ่งในที่สุดก็ต้องสถาปนาพระอาทิตยวงศ์ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชไปครองเมืองพิษณุโลก ก่อนหน้าจะเสด็จสวรรคตเพียง ๓ ปี เหตุการณ์ไม่ดีทั้งหลายจึงสงบลงได้

ทั้งหมดที่กล่าว เป็นภาพโดยรวมที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้ให้ไว้ แต่ถ้าหากพิจารณาโดยรายละเอียดจะเห็นว่า อิทธิพลของราชสำนักเมืองเหนือนั้น ยังคงมีอยู่ตลอดมา จนสามารถกดดันให้สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ต้องสถาปนาพระมหาอุปราชขึ้นมาอีก ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) เสด็จมาเสวยราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ที่เมืองพิษณุโลกก็ยังคงมีเจ้านายชั้นสูงอยู่ ซึ่งก็คือพระอาทิตยวงศ์นั่นเอง

พระอาทิตยวงศ์น่าจะทรงดำรงความเป็นอุปราช หรือพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง สืบต่อมาตามพระราชขนบประเพณี สืบต่อจากพระเชษฐาที่เสด็จไปเสวยราชสมบัติ เป็นสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ที่กรุงศรีอยุธยา ดังจารึกที่ฐานพระอิศวร ที่เจ้าเมืองกำแพงเพชรให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๓ หลังการขึ้นเสวยราชย์ของสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ๑๙ ปี และก่อนที่จะมีการสถาปนาพระอาทิตยวงศ์เป็นอุปราชอย่างเป็นทางการ ๑๖ ปี ความกล่าวในจารึกว่า เป็นการทำบุญเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์

พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นั้น หมายถึง สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) กับ พระอาทิตยวงศ์ ผู้เป็นพระมหาอุปราชตามพระราชขนบประเพณีอย่างแน่นอน

อิทธิพลของราชสำนักเมืองเหนือ (โดยมีล้านนาหนุนหลัง)

อิทธิพลของราชสำนักเมืองเหนือที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานที่น่าสนใจอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับต่างๆ กล่าวตรงกันว่า เมื่อ จ.ศ. ๘๘๔ (พ.ศ. ๒๐๖๕) พระอาทิตย์กินเมืองใต้ ได้ส่งทูตมาเจริญพระราชไมตรียังเมืองเชียงใหม่ พระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่รับพระราชไมตรี และโปรดฯ ให้มีการอ่านพระราชสาส์น ยังวัดหมื่นสาร

โดยทั่วไปหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ตอนนี้ ไม่ค่อยได้รับความสนใจหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อมูลเพราะเนื่องจากเป็นข้อความที่กล่าวถึงพระอาทิตยวงศ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ก่อนเวลาการเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๒ และก่อนเวลาที่พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชที่เมืองพิษณุโลกอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๙ จึงทำให้คิดกันว่า ศักราชในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ตอนนี้อาจมีการผิดพลาด เลยไม่มีใครคิดว่า ความตอนนี้จะมีประโยชน์ที่สามารถเอาไปใช้ในการตีความทางประวัติศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยข้อเท็จจริง จากการศึกษาเอกสารต่างๆ ของล้านนา การลงเวลาหรือศักราชจะเริ่มมีความถูกต้องไม่คลาดเคลื่อนในเรื่องราว ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช พอถึงสมัยพระเมืองแก้ว (คือสมัยที่มีเรื่องราวกล่าวถึงอยู่นี้) ศักราชในเอกสารของล้านนาจะมีความชัดเจนถูกต้อง เชื่อถือได้เป็นอย่างมาก

ประติมากรรมสำริดรูปพระอิศวร จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร มีจารึกอักษณที่ฐานความว่า เจ้าเมืองกำแพงเพชรเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๓ ทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ซึ่งหมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ผู้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา กับพระอาทิตยวงศ์ผู้อยู่ในฐานพระมหาอุปราชตามพระราชประเพณีที่เมืองพิษณุโลก

อีกทั้งเรื่องการสู้รบกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยืดเยื้อติดต่อกันมาถึงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ดังได้ยกขึ้นมากล่าวแต่ต้น เรื่องการไปตีเมืองลำปาง พอมาถึงปีที่ พระอาทิตย์เมืองใต้ มาสืบพระราชไมตรีแล้ว สงครามระหว่างล้านนากับกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่มีการกล่าวถึงอีกชั่วระยะหนึ่ง ทั้งในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและเอกสารของล้านนา ทั้งนี้เนื่องจากกองทัพกรุงศรีอยุธยาที่ใช้รบกับล้านนานั้น เป็นการใช้กำลังจากเมืองเหนือหรือแคว้นสุโขทัยเดิมเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีสัมพันธไมตรีกันกับเมืองเหนือสงครามจึงหมดไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเห็นว่า ศักราชที่ลงเวลาการสืบพระราชไมตรีครั้งนี้ ไม่ควรได้รับการสงสัยแต่อย่างใดว่าจะผิดพลาด และเป็นที่เข้าใจได้ว่า เมืองใต้ที่พระอาทิตย์ครองอยู่นั้น เอกสารล้านนาหมายถึงเมืองพิษณุโลก การครองเมืองพิษณุโลกของพระอาทิตย์นั้น เป็นการครองในฐานะอุปราชหรือพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองตามพระราชขนบประเพณี สอดคล้องกับหลักฐานจารึกที่ฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรที่กล่าวถึงแล้วก่อนหน้านี้

การที่พระอาทิตยวงศ์ พระมหาอุปราชตามพระราชขนบประเพณี มีอิสระในระดับที่จะส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักเชียงใหม่เมื่อ จ.ศ. ๘๘๔ เช่นนี้ น่าจะได้รับการพิจารณาในด้านที่ว่า เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) ในการสถาปนาพระมหาอุปราชแห่งเมืองเหนืออย่างเป็นทางการ ตามที่มีกล่าวอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน

หลักฐานที่ชี้ให้เห็นอิทธิพลของราชสำนักเมืองเหนือ (โดยมีล้านนาหนุนหลัง) ที่มีต่อกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง พบอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับต่างๆ ดังจะยกข้อความจากฉบับปริวรรตโดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว (๒๕๔๓) ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า

… ปีก่าไส้ สก ๘๙๕ ตัว เจ้าพญาเกศเอาแขกใต้ไปไหว้ธาตุละพุน

ปี ๘๙๕ นี้เป็นจุลศักราชตรงกับ พ.ศ. ๒๐๗๖ พญาเกศคือพระเกษเกล้าตามที่เรียกในพงศาวดารโยนก ครองราชสมบัติเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระเชษฐาคือพระเมืองแก้ว ผู้ซึ่งพระอาทิตยวงศ์แห่งราชสำนักเมืองพิษณุโลกเคยส่งทูตมาสืบพระราชไมตรี ยุติศึกล้านนากับอยุธยาที่ยืดเยื้อกันมานานแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งหลังจากที่เป็นไมตรีกันแล้ว หนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ก็มิได้กล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับเมืองใต้ อีกเลย จนกระทั่งในครั้งนี้ที่แสดงความเป็นพันธมิตรกันอีก โดยกษัตริย์เชียงใหม่พาแขกจากเมืองใต้ไปนมัสการพระธาตุที่ลำพูน

แขกจากเมืองใต้นี้คือราชทูตจากราชสำนักเมืองพิษณุโลกอีกเช่นเคย ส่วนว่าจะเกี่ยวข้องส่งผลกระทบไปถึงกรุงศรีอยุธยาอย่างไรนั้น จะได้ยกความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่กล่าวถึงเรื่องราวในปีเดียวกัน มานำเสนอเปรียบเทียบดังนี้

ศักราช ๘๙๕ มเสงศก สมเดจบรมราชาหน่อพุทธางกูรเจ้านิฤาพาน จึ่งสมเดจพระราชกุมารได้เสวยราชสมบัดดิ

ครั้นเถิงศักราช ๘๙๖ มเมียศก พระราชกุมารท่านนั้นเปนเหตุ จึงได้ราชสมบัดดิแก่พระไชยราชาธิราชเจ้า

ความข้างต้นเมื่อเปรียบเทียบกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่นๆ ได้ความว่า ในปีที่สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรสวรรคต โอรสคือสมเด็จพระรัฏฐาธิราชกุมาร พระชนมายุเพียง ๕ พรรษาได้สืบราชสมบัติ ในปีถัดมาสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้เข้ายึดราชบัลลังก์ ประหารสมเด็จพระรัฏฐาธิราช แล้วขึ้นเสวยราชสมบัติแทน

การขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของเยาวกษัตริย์ขณะพระชนมายุน้อยเช่นนี้ จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากจะเป็นการหนุนขึ้นไปจากขุนนางในราชสำนัก เป็นขุนนางที่ต้องการรักษาสถานภาพของตนเอง ซึ่งถ้าหากปล่อยให้เจ้านายจากราชสำนักอื่น โดยเฉพาะจากราชสำนักเมืองพิษณุโลกขึ้นมาได้ราชสมบัติด้วยแล้ว ก็ค่อนข้างจะแน่นอนว่าตำแหน่งหน้าที่การงานของตนจะถูกเปลี่ยนไปเป็นของขุนนางจากราชสำนักอื่น ขุนนางกรุงศรีอยุธยากลุ่มนี้น่าจะมีอิทธิพลพอสมควรที่กว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราช จะเสด็จเข้ายึดอำนาจนั้น ก็เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีให้หลัง

สมเด็จพระไชยราชาธิราชนั้น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับไม่ให้รายละเอียดว่า เสด็จมาจากที่ไหน แต่ก็ไม่น่าผิดไปจากพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ประทานความเห็นว่า น่าจะเป็นราชวงศ์ชั้นสูงที่ครองอยู่ที่เมืองพิษณุโลก โดยเป็นพระราชโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) แต่ก็เป็นไปได้เท่าๆ กันว่า เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร (พระอาทิตยวงศ์) กับพระชายาเชื้อพระวงศ์สุโขทัย ขณะที่พระองค์ดำรงความเป็นพระมหาอุปราชอยู่ที่เมืองพิษณุโลก แต่ในที่นี้ขอข้ามไปไม่อภิปรายด้วยมิใช่ประเด็นสำคัญที่จะกล่าวในบทความนี้

การที่ราชสำนักเมืองเหนือส่งทูตไปเมืองเชียงใหม่ ในปีเดียวกันกับพระเยาวกษัตริย์เสวยราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยานั้น ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทั้งราชสำนักเชียงใหม่กับราชสำนักเมืองพิษณุโลก มีความผูกพันกันสืบมาตั้งแต่เจ้านายองค์ก่อน การส่งทูตไปถึงกันครั้งนี้ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า เชียงใหม่จะไม่ลงมารบกวนในขณะที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชยกกำลังลงมายึดอำนาจที่กรุงศรีอยุธยา

แต่ที่ชัดเจนก็คือ แสดงถึงขุมพลังที่ขยายออกไปนอกขอบเขตของเมืองเหนือ (แคว้นสุโขทัยเดิม) ไปถึงล้านนาที่อาจพึ่งพาอาศัยกัน ในการต่อรองกับอำนาจที่กรุงศรีอยุธยาให้คลายความเข้มแข็งลง เหมือนกับครั้งที่แล้วที่สามารถกดดันให้ทางกรุงศรีอยุธยา สถาปนาพระมหาอุปราชเมืองเหนืออย่างเป็นทางการ ซึ่งในครั้งนี้ก็สามารถทำให้สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสามารถพิชิตอำนาจที่กรุงศรีอยุธยาได้โดยสะดวก

สรุป

บทความนี้เป็นการนำเสนอหลักฐานลายลักษณ์อักษรของล้านนาสองตอน ที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับเอกสารที่เป็นพระราชพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยา ที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักเมืองเหนือที่เมืองพิษณุโลก กับราชสำนักเชียงใหม่ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาย่อมไม่กล่าวถึง เพราะหน้าที่ของพระราชพงศาวดารนั้นจะกล่าวถึงแต่เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับราชบัลลังก์ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นสำคัญ

เมื่อมีการแปลความหมายเรื่อง ราชทูตชาวใต้ที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงสองครั้ง ว่าหมายถึงราชทูตจากราชสำนักเมืองเหนือที่พิษณุโลกแล้ว ก็สามารถโยงเรื่องราวให้มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวในเวลาเดียวกันที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้ และสามารถชี้ให้เห็นว่า ราชสำนักเมืองเหนือที่ถูกจัดตั้งมาก่อน และทำให้เข้มแข็งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น แม้เวลาผ่านไป ๒-๓ รัชกาล ราชสำนักเมืองเหนือก็ยังคงมีความเข้มแข็งอยู่เพราะยังมีเชื้อพระวงศ์ระดับสูงของกรุงศรีอยุธยาอยู่ที่นั่น ประกอบกับขุนนางเชื้อพระวงศ์ของสุโขทัยเดิม ก็น่าจะเป็นกำลังความคิดที่สำคัญของราชสำนักนี้ เมื่อราชสำนักนี้มีอิสระถึงขั้นไปผูกไมตรีกับล้านนาได้ด้วย ก็ยิ่งทำให้ราชสำนักเมืองเหนือมีอำนาจต่อรองกับราชสำนักกรุงศรีอยุธยาได้มากขึ้นอีก

โดยเฉพาะการโยงเรื่องราชทูตเมืองเหนือครั้งที่สองในสมัยพระเกษเกล้าครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้แปลความหมายว่า เป็นราชทูตจากสมเด็จพระไชยราชาธิราช ขณะประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกนั้น หากนำมาใช้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการอ่านพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแล้ว ก็สามารถทำความเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่า การยกทัพไปตีเชียงไกรเชียงกรานก็ดี การยกทัพไปเชียงใหม่ที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า พระมหาเทวีจิระประภาส่งเสนาอำมาตย์ออกมาต้อนรับ โดยกองทัพกรุงศรีอยุธยามิได้เข้าทำร้ายเมืองเชียงใหม่ก็ดี ทั้งสองครั้งมีสาเหตุมาจากพระเกษเกล้าทรงถูกทำร้ายโดยข้าราชสำนัก (ซึ่งแบ่งเป็นหลายพวก)

ครั้งศึกเชียงไกรเชียงกรานเป็นเวลาที่พระเกษเกล้าถูกถอดออกจากราชบัลลังก์ ครั้งนี้ช่วยพระเกษเกล้าไม่ได้ ครั้งที่สองที่พระมหาเทวีจิระประภาทำไมตรีด้วยก็เพราะพระเกษเกล้าถูกปลงพระชนม์ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักเมืองเหนือที่พิษณุโลกกับเมืองเชียงใหม่ จะมีความลึกซึ้งผูกพันกันอย่างไรนั้น ได้เขียนไว้แล้วในเรื่อง ลูกเขาเมียใครที่เชียงใหม่ สุโขทัย และอยุธยา ที่จะลงในศิลปวัฒนธรรม

ในที่นี้จะขออธิบายต่อไปเลยถึงการยกทัพไปเชียงใหม่ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ครั้งที่พระมหาเทวีจิระประภาทำไมตรีด้วยนั้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ในปีนั้นยกขึ้นไปสองครั้ง ครั้งแรกไปตั้งทัพที่เมืองเชียงใหม่แล้วกลับมา แต่พอกลับถึงกรุงศรีอยุธยาประมาณ ๕ เดือนก็ขึ้นเชียงใหม่อีก ครั้งนี้มีการรบ เข้าเมืองลำพูนได้จึงเสด็จกลับ และในปีถัดมาก็เสด็จสวรรคต

จะเห็นว่าการยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น ขุนนางหัวเมืองของล้านนาได้จับขุนนางฝ่ายที่ปลงพระชนม์พระเกษเกล้านำไปประหาร และยกพระมหาเทวีจิระประภาพระชายาองค์หนึ่งของพระเกษเกล้าขึ้นสู่ราชบัลลังก์ เนื่องจากเป็นเจ้านายสายที่เป็นไมตรีกันมาตั้งแต่ครั้งที่พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก พระองค์จึงมิได้ทำร้ายแก่เมืองเชียงใหม่ ทรงรับพระราชไมตรีและยกทัพกลับ แต่เมื่อพระองค์ยกทัพกลับแล้ว ทางฝ่ายเมืองหลวงพระบางก็ได้ส่งขุนนางมายังเมืองเชียงใหม เพื่อเตรียมการสำหรับรับพระไชยเชษฐาขึ้นเสวยราชสมบัติเมืองเชียงใหม่ตามคำเชิญของขุนนางฝ่ายหัวเมืองของล้านนา ซึ่งได้ส่งทูตไปทูลเชิญตกลงกันไว้ก่อนแล้ว สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงเสด็จยกทัพขึ้นเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นการทำสงครามเนื่องจากผู้ที่จะขึ้นสู่ราชบัลลังก์เชียงใหม่ มิใช่เจ้านายสายที่เป็นไมตรีกันมาก่อนนั่นเอง กรุงศรีอยุธยาจึงรบกับเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งหลังจากเป็นไมตรีกัน (โดยผ่านราชสำนักเมืองเหนือ) มาเป็นเวลาร่วม ๒๒ ปี

ทั้งหมดที่กล่าวมายืดยาวถึงบทบาทของราชสำนักเมืองเหนือที่พิษณุโลก ก็ด้วยเห็นว่าเป็นแนวคิดพื้นฐานสำคัญที่จะสามารถทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ในช่วงเวลาต่อไป โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่ปรากฏในหลักฐานอื่นๆ นอกจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยาและเชียงใหม่ ไกลไปถึงไทยใหญ่ เมืองแสนหวีนั่นเลยทีเดียว