“ชฎา” จาก “ลอมพอก” ถึง เลดี้ กาก้า โดนร้องเรียน สู่วาทะสุจิตต์ วงษ์เทศ ปี 2555 “ทุเร..ชิบเป๋ง”

(ซ้าย) ภาพ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 15 มิ.ย. 2555 (ขวา) สุจิตต์ วงษ์เทศ ครั้งไปถ่ายรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนอธิบายเกี่ยวกับความเป็นมาของหลากหลายเรื่องราว เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม ศิลปะ การแสดง ก็มีหลากหลาย สำหรับกรณีโขน สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยอธิบายไว้ว่า “โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์” ขณะที่โขนละคร “สวมชฎาทําด้วยกระดาษทองน้ำตะโก…” ในบทความของสุจิตต์ วงษ์เทศ ยังชี้ไว้ว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตสยามอธิบายสอดคล้องกันว่า ชฎามีต้นแบบจากลอมพอกที่เป็นเครื่องสวมศีรษะของเปอร์เซีย (อิหร่าน)

บทความ “ชฎา, มงกุฎ โขนละคร ได้จาก ‘ลอมพอก’ ของเปอร์เซีย (อิหร่าน)” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ เผยแพร่ในมติชนออนไลน์วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559 เนื้อหาส่วนหนึ่งเล่าไว้ว่า

“…ชฎา, มงกุฎ หมายถึงเครื่องสวมศีรษะ มียอดแหลม และมีหลายแบบ

นักปราชญ์ราชบัณฑิตสยามอธิบายสอดคล้องกันว่าชฎามีต้นแบบจากลอมพอกที่เป็นเครื่องสวมศีรษะของเปอร์เซีย (อิหร่าน) อาจารย์ประภัสสร์ ชูวิเชียร (ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) กรุณาหาภาพและเขียนคําอธิบายอย่างละเอียดที่เอามาลงพิมพ์ประกอบอยู่ในล้อมกรอบนี้แล้ว

ลอมพอก เครื่องสวมศีรษะรูปยาว ยอดแหลม หรืออาจมนๆ ไม่แหลมนักก็ได้ ล้วนได้แบบจากเปอร์เซีย (อิหร่าน) ตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา แล้วใช้เป็นเครื่องทรงพระเจ้าแผ่นดินกับเครื่องแบบขุนนางสยามยุคอยุธยา ต่อมามีพัฒนาการเป็นชฎาและมงกุฎ ใช้แต่งตัวโขนละครด้วย

ลอมพอก มาจาก ลอม กับ พอก

ลอม หมายถึง กองเรียงกันขึ้นไปให้สูงเป็นจอม เช่น ลอมฟาง วางท่อนไม้ให้ปลายด้านบนรวบกันเป็นจอม เช่น ลอมฟืน

พอก หมายถึง เพิ่ม, พูน, โพก เช่น โพกหัว, โพกผ้าขะม้า, ฯลฯ

ลอมพอกของพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางทั้งหลาย มีคําพรรณนาอธิบายของ ลา ลูแบร์ ที่เห็นด้วยตนเอง เมื่อ พ.ศ. 2230 ไว้ในจดหมายเหตุฯ ยุคสมเด็จพระนารายณ์ว่า

‘พระลอมพอกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ประดับขอบ หรือเสวียนเกล้าด้วยพระมหามงกุฎเพชรรัตน์’

ลอมพอก ‘ของพวกขุนนางนั้นประดับเสวียนทองคําา, เงิน, หรือกาไหล่ทองมากน้อยตามยศ ลางคนก็ไม่มีเสวียนเลย

พวกขุนนางจะใช้ลอมพอกนี้ชั่วเวลาเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ หรือเพลาประชุมคณะขุนศาลตุลาการ หรือในพิธีลางอย่างเท่านั้น

เขาใช้แถบผูกโยงยึดไว้ใต้คาง และเมื่อแสดงการเคารพก็มิได้ถอดออก’

นอกจากลอมพอกแล้ว เครื่องแต่งตัวโขนละครยังใช้ผ้าของเปอร์เซียด้วย…”

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2555 สังคมไทยเคยพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องชฎาบนศีรษะศิลปินระดับโลกอย่าง “เลดี้กาก้า” มาแล้ว ครั้งนั้นมีรายงานข่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมส่งหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ให้ดำเนินการกับ “เลดี้ กาก้า” นักร้องสาวชาวอเมริกันซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก

การส่งหนังสือครั้งนั้น รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ 15 มิ.ย. 2555 ระบุว่า นางสุกุมุล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (ในขณะนั้น) ได้กล่าวยืนยันว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติจริง สืบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ “ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม” เกี่ยวกับการแสดงคอนเสิร์ตของเลดี้ กาก้า ที่สวมชฎาและนำธงชาติไทยมาติดที่ท้ายรถจักรยานยนต์ในการแสดงเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 มีผู้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง กระทบความรู้สึกชาวไทย

ทั้งนี้ หนังสือของกระทรวงวัฒนธรรม ระบุถึงข้อพิจารณาว่า การสวมมงกุฎและนำธงชาติไทยมาติดพาหนะดังกล่าวประกอบการแสดงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื้อหาตอนหนึ่งในหนังสือมีใจความว่า

“การสวมมงกุฎและการนำธงชาติไทยมาติดหลังรถจักรยานยนต์ที่ใช้ประกอบการแสดงคอนเสิร์ตในขณะที่ศิลปินสาวนั่งบนรถจักรยานยนต์และสวมใส่ชุดบิกินี่เป็นเรื่องไม่เหมาะสมและกระทบต่อความรู้สึกของคนไทย…”

หลังจากนั้นไม่กี่วัน สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนบทความ “เอาผิด ‘เลดี้ กาก้า’ แต่คนทำลายวังหน้า ไม่เอาผิด” เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2555 แสดงความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหวของกระทรวงวัฒนธรรมในสมัยนั้นว่า “กระตือรือร้นแสดงตนว่ารักความเป็นไทย แล้วหวงแหนความเป็นไทยอย่างยิ่ง ไม่ยอมให้ศิลปะและวัฒนธรรมของไทยถูกลบหลู่ดูหมิ่นและทำลาย เมื่อพบเห็นผู้แสดงอาการไม่เหมาะสมต่อศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทยแม้เพียงจิ๊บจ๊อยเล็กน้อยก็ต้องรีบจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งมิให้เนิ่นช้า”

สุจิตต์ วงษ์เทศ แสดงความคิดเห็นต่อมาว่า แต่พฤติกรรมขัดกับกรณีโบสถ์วัดพระแก้ว วังหน้า ตรงเชิงสะพานปิ่นเกล้า ฝั่งพระนครมีหน่วยงานก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ ส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน แต่รัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงที่รับผิดชอบโดยตรง “ทำหรี่ตามองไม่เห็นเสียอย่างนั้น” 

เนื้อหาต่อมามีว่า

“เลดี้ กาก้า ออกจากเมืองไทยกลับบ้านเมืองเขาเสียนานแล้ว ยังมีหน้าไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี…นี่ถ้าเป็นตาสีตาสายายมายายมีทำอย่างนี้คงเร่งรัดตำรวจจับเข้าคุกนานแล้ว – ทุเรศชิบเป๋ง…”

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากข่าวสดอธิบายเหตุการณ์ควันหลงหลังคอนเสิร์ตและเกิดกระแสต่างๆ ตามมาว่า มีแฟนคลับเลดี้ กาก้า ชี้แจงว่า นักร้องเอ่ยชื่นชมประเทศไทย และหันไปเห็นชฎาบนศีรษะแฟนคลับท่านหนึ่งและขอยืมมาใส่แล้วแสดงต่อ


อ้างอิง:

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “เอาผิด ‘เลดี้ กาก้า’ แต่คนทำลายวังหน้า ไม่เอาผิด”. มติชน ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2555, น. 20.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “สุจิตต์ วงษ์เทศ : ชฎา, มงกุฎ โขนละคร ได้จาก “ลอมพอก” ของเปอร์เซีย (อิหร่าน)”. มติชนออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 9 มิถุนายน 2559. เข้าถึงเมื่อ 10 กันยายน 2564. <https://www.matichon.co.th/columnists/news_167510>

“บ้าจี้-สั่งจับ ‘เลดี้ กาก้า’ หมิ่นธงไทย”. ข่าวสด ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555, น. 1, 11. สืบค้นจากศูนย์ข้อมูลมติชน Matichon information center (https://www.facebook.com/MatichonMIC)

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2564