ท่านเคยเห็นหน้า “ฝรั่ง” คนนี้ไหม? คนที่อยู่ในโบสถ์ วัดใหญ่สุวรรณาราม เมืองเพชรบุรี

ทวารบาลรูปนางอัปสรประนมมือที่พระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

ในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี มีภาพตามฝาผนังและตามบานประตูสมัยอยุธยาที่นับว่าสำคัญมากและงามเลิศ เราไม่ทราบว่าวัดนี้สร้างในยุคใดแน่ และภาพเขียนขึ้นมาเมื่อใด เพราะไม่มีบันทึกที่ไหน?

ด้านหลังพระประธานมีประตูสองข้างซ้าย-ขวา ด้านซ้าย (ของพระประธาน) บานประตูเขียนภาพทวารบาลเป็นนางอัปสรประนมมือ

เหนือนางอัปสรขึ้นไปมีรูปวิทยาธรสี่ตน ข้างหนึ่งมีสองตนที่เขียนเป็น “แขกมุสลิม” (เพราะใส่หมวกฮะจี), อีกข้างตนหนึ่งเป็นจีน (คล้าย “แป๊ะยิ้ม”), อีกตนเป็น “ฝรั่ง”

ผมสนใจรูป “ฝรั่ง” นี้มาช้านานแล้ว เพราะรูปนี้มีลักษณะเขียนคล้ายรูปเหมือน (Portrait) ที่นิยมเขียนกันในยุโรปเมื่อประมาณสาม-สี่ร้อยปีที่แล้ว แต่ผมนึกไม่ออกว่าชายคนนี้คือใคร

ชายคนนี้ใส่หมวกทรงประพาสหรือ Hunting Cap แบบฝรั่ง (แต่ไม่ติดขนนก), มีเรือนผมและหนวดเคราสีแดง, นัยน์ตาดูเศร้าๆ เล็กน้อย, ใส่เสื้อ (คล้ายกิโมโน) สีขาวมีลายแต้มดำเป็นแถวๆ ผมเคยเห็นหน้าชายคนนี้ที่ไหนสักแห่ง, แต่นึกไม่ออกว่าที่ไหน

วิทยาธรแขก, จีน, ฝรั่ง ด้านบนของบานประตู

ในการเขียนบทความเรื่องประวัติความเป็นมาของธงชาติอังกฤษ (“ไมเคิล ไรท์ ลุกขึ้นตะเบะธงชาติ”, มติชนสุดสัปดาห์, ๒๒-๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๕) ผมจำเป็นต้องค้นประวัติพระเจ้าเจมส์ที่ ๖ ของสกอตแลนด์ที่สืบทอดราชบัลลังก์อังกฤษต่อจากพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ ๑ แล้วขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ ของอังกฤษ ในการครองราชย์สองแผ่นดิน (อังกฤษกับสกอตแลนด์) พระเจ้าเจมส์คิดธงชาติขึ้นมาใหม่โดยนำกางเขนสีแดงของอังกฤษ มาผนวกกับกากบาทสีน้ำเงินของสกอตแลนด์ จนกลายเป็นธง Union Jack ที่ใช้กันจนทุกวันนี้

(ซ้าย) วิทยาธรฝรั่งสวมหมวก Hunting Cap นัยน์ตาเศร้า เรือนผมและหนวดเคราแดง
(ขวา) พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ ครองราชย์ใน ค.ศ. ๑๖๐๓-๑๖๒๕ ทรงผนวกสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษ และส่งเสริมการค้า ภาพเขียนของพระองค์จึงแพร่หลายไปทั่วโลก

ในการค้นประวัติพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ นี้ ผมคว้าหนังสือ King James ของ Antonia Fraser (Book Club Associates, London, 1974) แล้วผมพบรูปเหมือนของท่าน, ใส่หมวกทรงประพาส (มีขนนกมัดใหญ่), หนวดเคราสีแดง, นัยน์ตาเศร้าๆ, สวมเสื้อขาวมีลายดำแต้มเป็นแถวๆ

จะเป็นคนเดียวกันกับชายนิรนาม (วิทยาธร) บนบานประตูที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ได้ไหม?

พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ ครองราชย์ในอังกฤษ ค.ศ. ๑๖๐๓-๑๖๒๕ นอกจากจะรวมแผ่นดินอังกฤษกับสกอตแลนด์เป็นแผ่นดินเดียวกันแล้ว ท่านยังส่งเสริมการค้าต่างประเทศทั่วโลก ภาพเหมือน (Portrait) ของท่านจึงแผ่ไปไกลมาก อย่างน้อยถึงราชสำนักพระเจ้ากรุงโมกุลในอินเดีย

พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ พระเจ้ากรุงอังกฤษ ในภาพเขียนอินเดียสมัยราชวงศ์โมกุล

ในภาพนี้พระเจ้า Jahangir (ครองราชย์ในกรุงเดลี ค.ศ. ๑๖๐๕-๑๖๒๗) กำลังรับบรรณาการจากบรรดาพระเจ้ากรุงประเทศราชรวมทั้งอังกฤษ ในภาพขยายจะเห็นได้ชัดว่า นี่คือพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ ที่เลียนแบบมาจากภาพมาตรฐานของราชสำนักอังกฤษ

เป็นไปได้ว่าภาพเหมือนพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ เข้ามาถึงราชสำนักกรุงศรีอยุธยากับเรือพ่อค้าอังกฤษ

เป็นไปได้ว่าราชสำนักกรุงศรีอยุธยาได้รับสำเนาผ่านราชสำนักกรุงเปอร์เซียหรือเดลี

เป็นไปได้ว่าจิตรกรวัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี เคยเห็นภาพนี้เข้าจึงวาดได้คล้าย

แต่หลักฐานผมด้วนเพียงเท่านี้จึงพิสูจน์อะไรไม่ได้ ชะรอยชายนิรนามบนบานประตูวัดใหญ่สุวรรณารามไม่ใช่พระเจ้าเจมส์ที่ ๑ แต่เป็นวิทยาธรจริงๆ จากป่าหิมพานต์