Purple Haze เพลงอมตะของ “เฮนดริกซ์” (Jimi Hendrix) เกี่ยวกับสิ่งหลอนประสาทจริงหรือ?

ภาพถ่ายของ จิมี เฮนดริกซ์ Jimi Hendrix แสดงในนิทรรศการที่ลอนดอน เมื่อปี 2010 ภาพจาก ADRIAN DENNIS / AFP

สำหรับผู้ที่เล่นเครื่องสายที่ได้รับความนิยมในวัฒนธรรมสมัยใหม่อย่างกีตาร์ไฟฟ้า ชื่อ “จิมี เฮนดริกซ์” (Jimi Hendrix) คือชื่อนักกีตาร์คนแรกๆ ที่คนส่วนใหญ่ต้องทำความรู้จักทั้งในแง่ผลงานดนตรีและอิทธิพลจากงานที่ส่งผลต่อแนวคิดการเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ในเวลาต่อมาไปจนถึงเรื่องประวัติความเป็นมาของนักกีตาร์ซึ่งพลิกโฉมเครื่องดนตรีชนิดนี้ไปตลอดกาล

การศึกษาผลงานของเฮนดริกซ์ ย่อมยากจะหลีกเลี่ยงการหยิกยกบทเพลงต่างๆ ของเขามาศึกษาตีความในด้านต่างๆ และมีเพลงหนึ่งที่ข้ามไปไม่ได้เลยนั่นคือบทเพลงชื่อ Purple Haze บทเพลงนี้เป็นซิงเกิลที่เผยแพร่ในอังกฤษเมื่อเดือนมีนาคมปี 1967 และถูกบรรจุในอัลบั้ม Are You Experienced (1967) ในเวลาต่อมา

เฮนดริกซ์ บรรเลงเพลงนี้บนเวทีในเทศกาลดนตรี Monterey Pop Festival ในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกอีก 3 เดือนต่อมาหลังจากเพลงเผยแพร่ในอังกฤษ และในงานแสดงนี้เองที่เฮนดริกซ์ ราดเชื้อเพลิงไปบนกีตาร์และจุดไฟเผาเครื่องดนตรีไฟฟ้าของเขาเอง ภาพการแสดงนั้นถูกบันทึกไว้และทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างในสหรัฐฯ ภาพการแสดงวันนั้นยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังสนใจกีตาร์มากขึ้นกว่าเดิมด้วย

เฮนดริกซ์ เป็นนักดนตรีบลูส์ซึ่งถือกำเนิดจากซีแอตเทิล ในสหรัฐอเมริกา เชื่อกันว่าเขามีเชื้อสายผสมอย่างหลากหลาย มีบรรพบุรุษเกี่ยวข้องกับทั้งชาวแอฟริกันอเมริกัน ไอริช ไปจนถึงชนพื้นเมืองกลุ่มที่เรียกว่าเชอโรกี (Cherokee) ในวัยเด็กเขาหัดเล่นกีตาร์กับเพลงของตำนานศิลปินบลูส์อย่าง มัดดี้ วอเทอร์ส (Muddy Waters) เล่นกับวงดนตรีโรงเรียน หลังจากรับใช้ชาติในกองทัพก็มาทำอาชีพนักดนตรีแบ็กอัพออกทัวร์ร่วมกับศิลปินอย่าง “ลิตเติล ริชาร์ด” (Little Richard) และอีกหลายราย แต่ด้วยความที่ต้องเล่นตามคำสั่ง เขาจึงอดทนได้ไม่นาน และลาออกก่อนย้ายไปนิวยอร์กและเล่นในคลับเล็กๆ

ช่วงเวลานี้เองที่เฮนดริกซ์ พัฒนาสไตล์การเล่นเฉพาะตัวของเขา ผสมผสานระหว่างบลูส์กับ อาร์แอนด์บี วันหนึ่งมี Chas Chandler อดีตนักดนตรีจากวงบริติชอย่าง The Animals ที่เพิ่งออกจากวงและอยากลองงานด้านโปรดิวเซอร์มาพบเห็นเข้า จึงชักชวนให้เฮนดริกซ์ ย้ายไปอังกฤษด้วย และเริ่มตั้งวงแบ็กอัพให้เฮนดริกซ์ โดยใช้ชื่อว่า The Jimi Hendrix Experience

วงเริ่มทำเพลงแรกเป็นเพลงคัฟเวอร์ชื่อ “Hey, Joe,” ปล่อยออกมาในเดือนพฤศจิกายน 1966 และได้รับความนิยมในอังกฤษอย่างรวดเร็ว สภาพตลาดในเวลานั้นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเฮนดริกซ์ เมื่อวงดังอย่าง “โรลลิงสโตนส์” (The Rolling Stones) นำดนตรีอเมริกันบลูส์มาเล่นจนได้รับความนิยม คนหนุ่มสาวในอังกฤษก็เริ่มรู้จักนักดนตรีอย่างเอริก แคลปตัน (Eric Clapton)

อย่างไรก็ตาม นักกีตาร์มือดีส่วนใหญ่ในเวลานั้นยังเล่นเพลงบลูส์แบบทั่วไปอยู่ แต่เฮนดริกซ์ ต้องการสร้างความแตกต่าง ครั้งหนึ่ง ขณะที่เฮนดริกซ์ ไปเล่นในคลับเล็กๆ ในลอนดอน ระหว่างซ้อมหลังเวที เฮนดริกซ์ ทดลองเล่นของเพลง Purple Haze ไปเรื่อยๆ โดยมี Chas Chandler อยู่ด้วย เมื่อ Chas ได้ยินสิ่งที่เฮนดริกซ์ เล่นก็บอกให้เขียนเพลงขึ้นทันที

เฮนดริกซ์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเพลง Purple Haze ในช่วงปลายยุค 60s ว่า

“คุณน่ามาฟัง Purple Haze ของจริง…มันมีท่อนร้อง 10 ท่อน แต่มันร้องโดยมีจุดที่เปลี่ยนไป…”

ปฏิเสธได้ยากว่าเพลงนี้มักถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการใช้ยาหลอนประสาทในยุคนั้น แฟนเพลงและนักวิจารณ์ต่างพยายามถอดความหมายเนื้อเพลงดังนี้กันอย่างหลากหลาย แต่ก็ไม่แปลกที่คนจะมองโดยเชื่อมโยงเพลงกับวัฒนธรรมการใช้สารหลอนประสาท เพราะคำว่า Purple Haze ก็เป็นชื่อเรียกสายพันธุ์กัญชาด้วย แต่อันที่จริงแล้ว เฮนดริกซ์ เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับไอเดียของคำว่า Purple Haze มาจากความฝันของเขาหลังจากที่เขาอ่านนิยายวิทยาศาสตร์

Charles R. Cross นักเขียนที่ศึกษาเกี่ยวกับประวัติของเฮนดริกซ์ อธิบายว่ามันคือนิยายเรื่อง Night of Light : Day of Dreams โดย ฟิลิป โฆเซ่ ฟาร์เมอร์ (Philip Jose Farmer)

เฮนดริกซ์ ใช้ต้นทุนการอัดเพลงนี้จากเงินที่ได้จากเพลง “Hey, Joe,” การทำงานในสตูดิโอครั้งนั้นเรียกได้ว่า เป็นการทดลองงานดนตรีที่ไม่มีกรอบใดๆ แม้เทคโนโลยีในสมัยนั้นจะมีข้อจำกัดมากมาย แต่เฮนดริกซ์ ก็ทดลองกับอุปกรณ์แปลงเสียงต่างๆ เมื่อขึ้นแสดงบนเวที เฮนดริกซ์ ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นประกอบกับสไตล์การเล่นอันจัดจ้านสดใหม่ทำให้นักฟังเพลงได้ยินเสียงและการเล่นกีตาร์แบบที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

เพลง Purple Haze ออกเผยแพร่ในอังกฤษเมื่อมีนาคม 1967 และไต่อันดับในชาร์ตอย่างรวดเร็ว นับจากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน เวลาผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว เพลงนี้ยังถูกศึกษาและหยิบมาเล่นโดยศิลปินระดับโลกอยู่เสมอ


อ้างอิง:

Jesse Wegman. “The Story Behind ‘Purple Haze'”. NPR. Online. Published 18 SEP 2020. Access 23 JUL 2021. <https://www.npr.org/2000/09/18/1088122/jimi-hendrix-purple-haze>

Prato, Greg. “Purple Haze”. Rolling Stone. Online. Published 28 JUN 2012. Access 23 JUL 2021. <https://www.rollingstone.com/music/music-news/purple-haze-236866/>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2564