ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554 |
---|---|
ผู้เขียน | ติ๊ก แสนบุญ เขียนรูปและเล่าเรื่อง |
เผยแพร่ |
นฤมิตกรรมงานช่างสิ่งก่อสร้างในสุวรรณภูมิ วัฒนธรรมการค้ำยัน ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันเป็นลักษณะร่วมอย่างหนึ่งของงานช่างในแถบถิ่นนี้ ด้วยเงื่อนไขตัวแปรแห่งสภาพแวดล้อม และภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่ทำให้ต้องมีการยื่นชายคาเพื่อป้องกันแดดฝนไม่ให้สาดส่องเข้ามาสู่ที่ว่างภายในอาคาร
ไม้ค้ำยัน ในวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างไทยภาคกลางนิยมเรียกว่า คันทวย โดยคำว่า คัน มักใช้เรียกแทนสิ่งของที่มีลักษณะเรียวยาวและมีด้ามจับที่ปลายด้านใดด้านหนึ่ง อย่างเช่น คันฉาย คันเบ็ด ช่างโบราณแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงนิยมนำคำนี้มาใช้เรียกร่วมกันกับคำว่า ทวย ที่มีลักษณะทางกายภาพของไม้ที่เรียวยาวโดยมีการยึดส่วนปลาย อีกทั้งลีลาช่างที่จำหลักด้วยเส้นรอบรูปคดโค้งอ่อนหวาน ช่วยในการลวงสายตาช่วงความยาวรวมถึงการลวงน้ำหนักของไม้ค้ำยัน ที่แฝงสัมพันธ์ไปกับรูปทรงสัณฐานที่ลงตัวของพญานาค สัตว์สัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนา อย่างที่ปรากฏอยู่ตามอาคารทางศาสนา
หากแต่ถ้าเป็นเรือนที่พักอาศัย นิยมเรียกว่า ไม้เท้าแขน หรือ แขนนาง (ช่างอยุธยา) วัสดุทั้งแบบที่เป็นไม้และเป็นเหล็กดัดโค้ง โดยสมเด็จครู (สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ทรงเรียกองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมส่วนนี้ว่า ทวย ดังความตอนหนึ่งที่ว่า…ทวยที่ถ่ายมานี้ ถ่ายจากวิหารนี้ วิหารอื่นก็เช่นกัน แปลกที่บากกนกบ้างเล็กน้อย… (สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก, 2506, น. 4.)
ในบริบทวัฒนธรรมไทย-ลาวอีสาน ช่างท้องถิ่นนิยมเรียกตามลักษณะการใช้งาน เช่น ไม้ยัน หรือ ค้ำยัน หรือบ้างก็เรียกว่า แขนนาง ตามอย่างวัฒนธรรมกระแสหลักจาก สปป.ลาว ส่วนคำศัพท์ที่เป็นวิชาการ อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร ได้บัญญัติคำศัพท์ส่วนนี้โดยใช้คำว่า ทวย เป็นคำนำหน้าชื่อเรียกและตามหลังด้วยการเรียกตามลักษณะทางกายภาพ เช่น ทวยแผง ทวยนาค ทวยเทพนม ทวยแขนนาง ซึ่งสังเกตได้ว่า เป็นการใช้ศัพท์เรียกตามช่างภาคกลาง เป็นคำนำหน้าหรือคำหลัก หากแต่ในกลุ่มช่างพื้นบ้านอีสานโบราณในบางพื้นที่ยังมีคำเรียกที่ต่างออกไป โดยอย่างที่เป็น ทวยแผง ช่างจะเรียกว่า “ปีกบ่าง” (โดยนำไปเปรียบเทียบกับสัตว์ปีกลักษณะเดียวกับค้างคาว โดยเฉพาะส่วนที่เป็นปีกของตัวบ่าง ซึ่งมีลักษณะอย่างที่เรียก ทวยแผง) ถ้าเป็น ทวยรูปนาค จะนิยมเรียกว่า “นาคเกี่ยว”
บริบททางวัฒนธรรมลาวล้านช้าง ทั้งสายราชสำนักเวียงจันทน์หรือหลวงพระบางและจำปาสัก นิยมเรียกงานช่างส่วนนี้ว่า แขนนาง ซึ่งหมายความรวมถึงแบบที่เป็นทั้ง “ทวยนาคเกี่ยว” และ “แบบทวยแผง” ซึ่งตรงกันข้ามกับภาคกลางของไทยที่ชื่อ แขนนาง จะใช้เรียกเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับอาคารที่พักอาศัย (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่นิยมตกแต่งอย่างคันทวยที่อยู่ตามวัดวัง)
บริบททางวัฒนธรรมไทยล้านนาจะเรียกส่วนนี้ว่า หูช้าง หรือ นาคทัณฑ์ หรือ นาคะตัน ก็เรียก แต่ที่นิยมเรียกอย่างภาษาปากตลาดนิยมเรียกว่า หูช้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานสกุลช่างพื้นบ้าน ส่วนคำว่า บ่าง (สัตว์ลักษณะแบบอย่างค้างคาว) ก็มีปรากฏเรียกเช่นเดียวกับทางภาคอีสาน หากแต่นิยมใช้เรียกเฉพาะองค์ประกอบที่มีขนาดเล็กแบบชายธง (ลักษณะเดียวกับหูช้าง) โดยอยู่ตามหน้าขื่อหรือบริเวณคอสอง ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันกับหูช้างหรือนาคะตัน
ศิลปะไม้ค้ำยันในบริบทวัฒนธรรมอีสาน ในทัศนะของชนชั้นนำทางศิลปะไทยโบราณกระแสหลักอย่างอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้แสดงความประทับใจที่มีต่อองค์ประกอบส่วนนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า…ไปชมปราสาทวัดเมืองจันทร์ อำเภอห้วยทับทัน (จังหวัดศรีสะเกษ) ที่นั้นมีอาคารสิมขนาดย่อม…สิมหลังนี้มีคันทวยอีสานจำหลักไม้หลายชิ้น เมื่อได้เห็นเข้าต้องตะลึงในความงามอันน่าอัศจรรย์ของฝีมือจำหลักไม้กับลวดลายอีสานที่งามยอดเยี่ยมอย่างชนิดหนึ่งไม่มีเสมอสอง… (น. ณ ปากน้ำ, สยามศิลปะ จิตรกรรม และสถูปเจดีย์. 2538, น. 149.)
อัตลักษณ์ในเชิงช่าง
ทวยแผง หรือ ปีกบ่าง, แขนนาง ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวัฒนธรรมการค้ำยันของกลุ่มช่างหลวง สายหลวงพระบางและเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว (ในแถบสกุลช่างจำปาสักพบน้อยมาก) และไทยอีสาน โดยมักปรากฏอยู่กับศาสนาคาร ในวัดที่เป็นหัวเมืองสำคัญอย่างเช่นที่ปรากฏอยู่ ณ สิมวัดเชียงทองในเมืองหลวงพระบาง หรือในอีสานก็มีวิหารเก่าวัดหลวง เมืองอุบล วิหารวัดมโนภิรมณ์ วิหารวัดศรีมงคลใต้ เมืองมุกดาหาร เป็นต้น โดยจะมีเต้ารับตัวแผงไม้จำหลักด้านบนและล่าง บ้างก็ฝังจมลงไปในผนังโดยตัวแผงไม้จะนิยมทำลวดลายอย่างฐานอย่างเอวขันดูกงู (มีบัวลูกแก้วอกไก่)
ส่วนกลางทำลวดลายก้านดก (ก้านขด) และมีการเก็บขอบริมด้านนอกที่เป็นเส้นรอบรูปด้วยลายวันแล่น และเก็บขอบในด้วยลายไข่ปลา โดยชื่อเรียก แขนนาง น่าจะเชื่อมโยงอ้างอิงมาจากรูปทรงสัณฐานกับกรอบแนวคิดแบบ “เพศสรีระ” เป็นการอุปมาอุปไมยเทียบเคียงระหว่างลักษณะของลีลาในเชิงช่างไม้ค้ำยันกับท่อนแขนมือหญิงสาว ที่มีลักษณะบอบบางอ้อนแอ้นอ่อนหวานอย่างสตรีเพศ
ลวดลายที่ปรากฏอยู่ในค้ำยันกลุ่มนี้คือ การผูกลวดลายอย่างกนกใบผักกูด ด้วยลายเครือวัลย์ มากกว่าที่จะเน้นรูปสัตว์สัญลักษณ์อย่างพญานาคหรือสัตว์อื่น ๆ ไม้ค้ำยันกลุ่มนี้ใน สปป.ลาว หรือในอีสานบางแห่งจะเรียกรวมกับทวยนาคเกี่ยว โดยเฉพาะที่อยู่ในวัฒนธรรมหลวงซึ่งก็มีลักษณะร่วมอย่างเดียวกันคือ ความอ่อนหวานของรูปทรงของนาค อย่างแขนนาง ขณะที่คันทวยแบบนาคขดหรือนาคเกี่ยว สายสกุลช่างพื้นบ้านอีสาน ช่างจะสื่อความหมายไปทางบุรุษเพศด้วยลักษณะทางกายภาพที่แลดูบึกบึนแข็งแรงมีพลัง ซึ่งสัมพันธ์กับรสนิยมแห่งวิถีสังคมเกษตรกรรมที่มีอิสระทางความคิดสร้างสรรค์ลูกเล่นที่นอกกรอบ บนพื้นฐานที่รู้จักกาละเทศะอย่างแตกต่างแต่ไม่แตกแยก ด้วยรูปลักษณะต่าง ๆ เช่น ทรงนาคเกี่ยว ทรงสิงห์มอม โดยมีขนาดสัดส่วนโดยเฉลี่ยคือ ความหนา 1-2 นิ้ว ความสูงตั้งแต่ 1.00-2.50 เมตร โดยมีความกว้างประมาณ 0.30-0.60 เมตร
หูช้างนาคะตัน ถือเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมลาวล้านนา ที่เป็นส่วนผสมระหว่าง ทวยแผง ปีกบ่าง หรือ แขนนาง ที่ผสมผสานกับ ทวยนาคเกี่ยว ซึ่งมักวางอยู่ในตำแหน่งเส้นรอบรูปด้านนอก ขณะที่ส่วนกลางมีการบรรจุลวดลายลงไป ส่วนด้านล่างนิยมทำเป็นส่วนฐานรองรับ โดยทั้งหมดอยู่ในรูปทรงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ตามสัดส่วนของวิหาร (ซึ่งตรงข้ามกับทางอีสานที่ไม่นิยมสร้างวิหาร และในอีสานจะนิยมสร้างเพียงสิมขนาดเล็ก ๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน หากแต่ทางล้านนาเป็นวัฒนธรรมราชสำนัก) จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมการค้ำยันของกลุ่มช่างพื้นเมืองสายช่างหลวงของล้านนา ดั่งที่ปรากฏอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดปงยางคก จังหวัดลำปาง และวัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ขณะเดียวกันในวัฒนธรรมล้านนาก็ยังมีกลุ่มสกุลช่างวัฒนธรรมอื่น ๆ อีก เช่น ไทยลื้อ ไทยใหญ่ โดยเฉพาะสายสกุลช่างพื้นบ้านที่แสดงออกผ่านรูปรอยการแกะสลักเป็นตัวพระตัวนางให้เห็นอย่างชัดเจน ด้วยลักษณะท่าทางที่กำลังแบกรับน้ำหนักบริเวณใต้ชายคาอย่างนอกรีต ดังที่วัดหนองแดง อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ซึ่งมีความโดดเด่นในเชิงช่างพื้นบ้านที่หูช้างแต่ละอันจะมีรูปแบบลีลาที่แตกต่างไม่ซ้ำแบบกัน
คันทวยในบริบทงานช่างพุทธหัตถศิลป์อื่น ๆ โดยเฉพาะในอีสานมักปรากฏอยู่ในองค์ส่วนฐานและส่วนตัวเรือนของสถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่มีส่วนยอด อย่างส่วนฐาน เช่น บันไดหอธรรมาสน์ ทั้งแบบหอธรรมาสน์ธรรมดา 4 เสา และแบบชนิดพิเศษ คือแบบธรรมาสน์เสาเดียวที่ปรากฏอยู่มากในกลุ่มวัฒนธรรมผู้ไทยทั้งของไทยอีสานและ สปป.ลาว โดยมีลักษณะแบบนาคเกี่ยวขดคดโค้ง ถ้าเป็นคันทวยแผงจะถูกนำมาใช้ในองค์ประกอบของฮาวไต้เทียนหรือราวเทียน ทั้งนี้รวมถึงงานพุทธศิลป์ขนาดเล็ก เช่น พระไม้ซุ้มโขง โดยนิยมนำมาใช้ประกอบเป็นตัวจบมุม
ปัจจุบันช่างรุ่นใหม่มักสร้างสรรค์งานอย่างศิลปะสำเร็จรูป (ไม่ว่าจะเป็น “ลัทธิความเป็นแห่งชาตินิยม” หรือ “กลุ่มท้องถิ่นนิยม” ก็ตามแต่) ในลักษณะลอกเลียนมากกว่ารอกเรียน โดยเฉพาะการผลิตซ้ำ (ลอก) ทางความคิดและรูปแบบอย่างปะติดหรือจำอวดในเชิงช่าง ผ่านความก้าวหน้าด้านการทำแม่พิมพ์ตัวเดียวก็สามารถผลิตซ้ำได้จำนวนมาก ๆ ไม่ต้องเสียเวลาสร้างสรรค์อย่างในอดีต
แต่นี่คือการสูญเสียทางจิตวิญญาณในการสร้างสรรค์ของช่างไปโดยปริยาย ดังนั้น จะเห็นได้ว่านอกจากคุณค่าในด้านสัจจะโครงสร้างแล้ว ค้ำยันยังมีคุณค่าด้านสุนทรียะทางศิลปะ ด้วยการเป็นตัวเสริมคั้น ร่วมกับเสาเก็จแบ่งช่วงจังหวะเพื่อแตกปริมาตรลดความใหญ่โตของพื้นผนัง อีกทั้งยังเป็นส่วนเสริมเติมแต่งให้กับรูปทรงอาคารโดยรวมอย่าง ศิลปะทางศาสนาแบบประเพณีนิยม ที่เน้นความงามแบบสมบูรณ์ลักษณ์อย่างสมมาตรทั้ง 2 ข้างซ้ายขวา อันเป็นระบบจารีตแห่งฉันทลักษณ์ในเชิงช่างที่สัมพันธ์ไปกับกาละเทศะ ตามกรอบโครงสร้างการจัดระบบทางสังคม อย่างที่เรียกว่า “ฐานานุศักดิ์”
“ฐานานุศักดิ์” ที่แบ่งแยก แสดงให้เห็นนัยยะเรื่องคติความเชื่อผ่านการปรุงแต่งในเชิงช่างด้วยรูปรอยลีลาจำหลัก เลียนแบบเป็นรูปสัตว์ บุคคล สิ่งของ ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับวิถีทางวัฒนธรรมของคนกับคน และคนกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ภายใต้เงื่อนปมทางสังคมการเมืองแห่งยุคสมัย
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “‘ค้ำยัน’ ในศาสนาคาร พื้นถิ่นไทย-ลาวสองฝั่งโขง” เขียนโดย ติ๊ก แสนบุญ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564