“ฝูง” จะเอามาใช้กับ “คน” ได้หรือไม่?

ที่อาตมามีจดหมายมาถึงก็มีเรื่องที่จะขอประท้วง คือ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๕ ISSN0125-3654 เรื่องตลาดตลาด โดยชลัมพุ ณ ชเลลำ หน้า ๙๒-๙๓ บรรทัดที่ ๓๒ ข้อความปรากฏดังนี้

“พระหลายรูปเดินจีวรปลิวฝ่าฝูงสีกาอย่างไม่กลัวชาวโลกติเตียน เพื่อมาเลือกดูพระที่วางแบกะดิน ด้วยความสนใจ…”

ฝูง” น่าจะใช้กับสัตว์เดรัจฉานมากกว่า เช่น หมาป่าที่เป็นจ่าฝูง

อาตมาดูจากภาพที่ตีพิมพ์ กรุงเพทฯ ไม่ต้องมีใครบอกว่าจราจรติดขัด คนมาอาศัยอยู่หนาแน่น สมมตพระไม่เดินผ่านหมู่สีกา เดินหลีกลงมาเดินตามถนนจราจร พระอาจโดนรถชน เฉี่ยว ที่สำคัญถนนท่าพระจันทร์นั้นเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัดมหาธาตุฯ ซึ่งเป็นที่ศึกษาของพระสงฆ์ คือ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พระภิกษุไม่อาจที่จะเดินหลบญาติโยมได้ เพราะว่าฟุตบาทแคบ คนก็มาก ทุกวันนี้มีแต่โยมจะเดินชนพระ ที่สำคัญประชากรผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย ลองไปดูข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และการที่พระไปเลือกดูพระถือว่าเป็นการอนุรักษ์พุทธศิลป์ ซึ่งนับวันขาดคนจะเข้าใจเรื่องนี้

ลองไปถามพ่อแม่ยุค IT ดู บางครั้งลูกถามว่าทำไมศรีษะพระพุทธรูปเป็นขดกลมๆ ทำไมพระพุทธรูปหูยาว ฯลฯ ตอบไม่ได้เป็นส่วนใหญ่

อาตมาไม่อยากต่อว่าอะไรมากหรอก โตๆ เหมือนกันแล้ว อยากให้คนเขียนใช้สติปัญญาขีดเขียนให้มากกว่าเขียนตามใจแบบทางโลก หรือเขียนตามกิเลสสนองตัณหาของตนเอง

พระประเวช สุชาโต (บุญเติม)

วัดพระนารายณ์มหาราช คณะ ๙

ถนนจอมพล ต.ในเมือง

อ.เมือง จ.นครราชสีมา ๓๐๐๐๐

ตอบ

           “ฝูงคนกำเนิดคล้าย              คลึงกัน

ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ                     แผกบ้าง

ความรู้อาจเรียนทัน                        กันหมด

ยกแต่ชั่วดีกะด้าง                           อ่อนแก้ฤาไหว” ฯ

พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕