เส้นทาง “ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย” แจ้งเกิด ยุคแรกที่ “แกรมมี่” ผงาดใต้ร่มเงา “เต๋อ เรวัต”

ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย ภาพจาก มติชนออนไลน์

ในสมัยที่อุตสาหกรรมดนตรีไทยก่อร่างในรูปแบบพาณิชย์ศิลป์เมื่อช่วงต้นยุคทศวรรษ 2530 บริษัทที่ถูกจับตามากที่สุดย่อมมีชื่อ “แกรมมี่” ศิลปินยุคแรกที่ถือกำเนิดมานั้น นอกจากจะเริ่มต้นยุคสมัยด้วยผลงานจากฝีมือ เต๋อ เรวัต พุทธินันท์ หลังจากลองผิดลองถูกกันมา ศิลปินที่เริ่มสร้างชื่อได้ แฟนเพลงยังจดจำชื่อ ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย ได้แน่นอน

ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 บริษัทแกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ ถูกจับตาอย่างมากในฐานะบริษัทหน้าใหม่ซึ่งมีอายุเฉียด 10 ปีแต่ประสบความสำเร็จในงานด้านอุตสาหกรรมบันเทิงสายดนตรี เรียกได้ว่าเป็นยุคแรกที่งานศิลปะผสมผสานกับแนวคิดด้านการตลาดในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทย จากเดิมที่ประชาชนคุ้นกับแนวเพลงของสุเทพ วงศ์คำแหง, สวลี ผกาพันธ์ และธานินทร์ อินทรเทพ

Advertisement

แม้ว่านักฟังเพลงจะได้สัมผัสกับผลงานแนวใหม่ที่แตกต่างไปจากกลุ่มข้างต้นบ้าง แต่ต้องยอมรับว่า ในเชิงพาณิชย์ งานเพลงแนวใหม่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จจนมามีบริษัทแกรมมี่

ก่อนหน้าที่จะมีบริษัทชื่อดังที่พลิกอุตสาหกรรม พิชัย ศิริจันทนันท์ แสดงความคิดเห็นในช่วงต้นบทความชื่อ “Grammy ‘แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์’ ศิลปะการวางกลยุทธ์ของศิลปิน” ว่า ช่วงก่อนนั้น อุตสาหกรรมดนตรีตกอยู่ในอำนาจของพ่อค้า ซึ่งมักไม่ค่อยเจนจัดในความรู้ด้านดนตรี

กระทั่งมีไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นักการตลาดจากบริษัทพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง เทรดดิ้ง คัมปะนี ค่ายโอสถสภาเต็กเฮงหยู (ผลงานที่ลือลั่นคือ พลิกโฉมน้ำส้มสายชู อสร. ที่เคยขาดทุนให้กำไรได้ในเวลาปีกว่า) นอกจากนี้ ลักษณะเฉพาะตัวของคุณไพบูลย์ คือการเป็นนักเขียน นักกวี ซึ่งพอจะทำให้เห็นว่าเขาเข้าใจเรื่องศิลป์อยู่ด้วย

ในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ใน “คู่แข่ง” เมื่อพ.ศ. 2532 เต๋อ เรวัต เล่าจุดเริ่มต้นของบริษัทแกรมมี่ว่า เป็นความคิดของตัวเองและคุณไพบูลย์ ในช่วงเริ่มต้น แนวคิดการทำงานเพลงของเต๋อ เรวัต เริ่มต้นขึ้นจากการดูงานที่ฝรั่งเศส กระทั่งโอกาสมาถึงในช่วงที่บุษบา ดาวเรือง คนสนิทของคุณไพบูลย์ มือครีเอทีฟโปรดักชั่นสายโปรโมชั่น แจ้งว่าอยากพบพี่เต๋อ เมื่อได้พบกันและตกลงกันเรียบร้อยจึงกลายเป็นก้าวแรกของผู้พลิกอุตสาหกรรมดนตรีในช่วง 2530

ช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ เต๋อ เรวัต เล่าแนวคิดการทำงานที่นำมาสู่ปรากฏการณ์แห่งอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

“เมื่อ 6 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2526) วงการเพลงไม่มีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง โครงสร้างธุรกิจก็คงจะเป็นเพียงธุรกิจครอบครัวเล็กๆ…เมื่อการตลาดไม่มี ผู้ฟังก็พลอยตีบตันไปด้วย เพราะไม่มีแรงผลักดันไปหาตัว ‘แมส’ ประกอบกับเงื่อนไขทางธุรกิจในขณะนั้น มีลักษณะที่สุกงอม พอที่จะ Organized (จัดวางระบบ) ระบบธุรกิจขึ้นมาได้ เพราะพัฒนาการในการฟังเพลงของคนไทยเราพร้อมที่จะรับอะไรใหม่ๆ ได้แล้วในขณะนั้น…”

“พี่เอาความคิดที่ว่าคนไทยจำนวนมหาศาลที่ยังรอรับของใหม่อยู่มาจากการปรากฏตัวสู่โลกดนตรีของ เดอะ บีทเทิล…เดอะ บีทเทิล (สะกดตามข้อความต้นฉบับ) คือสิ่งที่คนทั้งโลกรอฟังอยู่ แต่ยังไม่มีใครทำ เมื่อมีคนเริ่มก็เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่…”

บริษัทแกรมมี่เริ่มต้นด้วยเต๋อ เรวัต, ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม, บุษบา ดาวเรือง และยังมีกิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ นิเทศศาสตร์บัณฑิตที่เชี่ยวชาญด้านสื่อและงานเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนผสมเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทแกรมมี่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมดนตรีในช่วงเวลานั้น

เต๋อ เรวัต แหย่เทปชุดแรกเข้าไปในตลาดโดยเทป “พญ.พันทิวา” เป็นการทดลองตลาดอย่างแท้จริง ช่วงทดลองตลาดนี้ เต๋อ เล่าว่า ใช้ 2 ชุด ก่อนที่จะตามมาด้วยการลุยตลาดกับ เต๋อ 1 เมื่อ พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นการลงสู่ตลาดอย่างจริงจัง

การปล่อยอัลบั้ม “เต๋อ 1” ถูกนิยามจากเจ้าของผลงานว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคเก่ามาสู่ยุคใหม่ ทั้งในแง่โครงสร้างบทเพลง แนวคิดการนำเสนอ และการตลาดของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลงทั้งหมด

เวลาต่อมา แกรมมี่ มีศิลปินอย่าง นันทิดา แก้วบัวสาย, เบิร์ด ธงไชย, อัสนี-วสันต์, สามารถ พยัคฆ์อรุณ และอีกหลายคนตาม Segment ที่ขยายออกไปเรื่อยๆ

นันทิดา แก้วบัวสาย เป็นนักร้องหญิงที่ได้รับการสนับสนุนเรื่องดนตรีจากครอบครัวจนมีความสามารถโดดเด่น เมื่อครั้งที่ช่อง 3 จัดประกวดนักร้องสมัครเล่น เพื่อคัดหาตัวนักร้องส่งไปชิงชัยในการประกวดนักร้องสมัครเล่นของเอเชียครั้งที่ 3 ที่ฮ่องกง กล่าวกันว่า ก่อนที่ตู่ นันทิดา จะไปคว้ารางวัลนักร้องสมัครเล่นยอดเยี่ยมแห่งเอเชียได้ในช่วงต้นทศวรรษ 2520 เป็นสุดา ชื่นบาน ที่แนะนำให้ส่งตู่นันทิดา ไปลองประกวดร้องเพลงบนเวที ภายหลังจากสุดา ได้ยินตู่ นันทิดา ซ้อมร้องเพลงโดยบังเอิญ

ภายหลังประสบความสำเร็จจากการส่งตัวของช่อง 3 ตู่ นันทิดา เคยทำผลงานเพลงลูกทุ่งอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะเข้ามาสู่รั้วแกรมมี่ และออกอัลบั้ม “นันทิดา 27” เมื่อพ.ศ. 2527 ซึ่งมีเรวัต พุทธินันท์ ทำงานเบื้องหลังเป็นผู้แต่งเนื้อร้อง ซึ่งเส้นทางกับแกรมมี่นี้เองเป็นช่วงที่ตู่นันทิดา ประสบความสำเร็จในฐานะศิลปินอย่างต่อเนื่อง

ตลอดเส้นทางอาชีพของตู่ นันทิดา มีช่วงหนึ่งระหว่างทศวรรษ 2550 ซึ่งเธอห่างหายจากวงการดนตรีและบันเทิงไปราว 6 ปี ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในผลงาน “เจ็บจนเข้าใจ” ซึ่งเขียนเนื้อร้องโดย หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์ นักบริหาร และนักแต่งเพลง ซึ่งว่ากันว่า เนื้อหาในเพลงก็มาจากประสบการณ์ของนักร้อง

ว่ากันว่า ตู่ นันทิดา อินกับเพลงนี้มากถึงขั้น “น้ำตาไหล” ในห้องอัดเสียง โดยนันทิดา เล่าถึงแง่มุมความรู้สึกนี้ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อ เผยแพร่ในผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 17 มกราคม 2557 ว่า เมื่อฟังท่อนฮุกและท่อนโซโล่ คิดว่าการออกแบบดนตรีทำให้รู้สึกว่า “จำว่าเรารักกันแค่ไหน จำว่าเรารักกันเมื่อไหร่ จำว่าสุขหัวใจแค่ไหน” และกล่าวเสริมว่า เมื่อพี่ๆ น้องๆ อยู่ อาจรู้สึกเขิน แต่เมื่ออยู่คนเดียวจะอินกว่านี้

 

หมายเหตุ: เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความ พลิกพาณิชย์ศิลป์แบบ “เต๋อ เรวัต” มันสมอง-ผู้ร่วมตั้ง “แกรมมี่” ปฏิวัติเพลงไทยยุคใหม่ (คลิกอ่านที่นี่)


อ้างอิง:

พิชัย ศิริจันทนันท์. “Grammy ‘แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์’ ศิลปะการวางกลยุทธ์ของศิลปิน”. คู่แข่ง ปีที่ 2 ฉบับที่ 108 ต.ค. 2532.

“โลกส่วนตัวของคนไม่ธรรมดา ครอบครัวไม่สบาย ของเรวัต พุทธินันทน์ เพื่อลูกทำไมต้องรอวันหยุด”. เส้นทางเศรษฐกิจ. 21 มกราคม พ.ศ. 2534, น. 11-12.

“พี่ชายใจดี คนนี้ ที่ชื่อ…พี่เต๋อ เรวัต พุทธินันท์”. เอกสารประชาสัมพันธ์ อัลบั้ม เต๋อ 3. วันที่ในเอกสาร ส.ค. 2529.

” ‘เจ็บจนเข้าใจ’…บทเพลงชีวิตของ ‘ตู่ นันทิดา'”. ผู้จัดการรายวัน ฉบับ 17 มกราคม 2557. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564