เปิดเส้นทาง นางอหลยา สาวงามผู้เผลอใจในคำหวานจนถูกสาปให้กลายเป็นหิน

ภาพประกอบเนื้อหา - กระทงรูปพระราม ทรงรถของเขตการทางเชียงใหม่ (ไม่ทราบปี) ออกแบบและจัดสร้างโดย อาจารย์นิกร อักษรพรหม ครูศิลปะ ยุพราชวิทยาลัย

เรื่องราวของนางอหลยา หรือมีอีกชื่อว่า “อหัลยา” ปรากฏอยู่ในวรรณกรรม “มหากาพย์รามายณะ กาณฑ์ที่ 1 พาลกัณฑ์ ที่เล่าว่านางถือกำเนิดจากขี้เถ้าไฟบูชายัญของสัปตฤาษีทั้ง 7 โดยพระพรหมสร้างนางขึ้นมาก็เพื่อให้นางนั้นปรนนิบัติรับใช้ เคาตมะมหาฤาษี ผู้ที่ได้การยกย่องว่าเป็น ตริกาลัชญะ คือผู้ที่รู้กาลเวลาทั้งสาม อันได้แก่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็น 1ในสัปตฤาษีทั้ง 7

ในรามายณะได้มีการบรรยายถึงความงามของนางอหลยาว่านางนั้นงามกว่านางอัปสราตนใดบนสรวงสวรรค์ นางเป็นที่หมายปองของบรรดาเหล่าเทวดา แต่พระพรหมเลือกที่จะมอบนางให้กับเคาตมะมหาฤาษี เนื่องจากโปรดในความมักน้อยและถ่อมตนของมหาฤาษีตนนี้

วันหนึ่งเมื่อพระอินทร์นั่งรถแก้วผ่านมาทางป่าใหญ่เชิงเขาวินธัย ซึ่งเป็นที่ตั้งอาศรมของมหาฤาษีเคาตมะและนางอหลยา ทันที่ที่พระอินทร์มองลงไปข้างล่างก็พลันประสบภาพสาวงามกำลังอาบน้ำอยู่ ณ ลำธารใกล้อาศรมแห่งหนึ่ง นั่นคือนางอหลยา แม้พระอินทร์จะทราบว่านางเป็นภรรยาของเคาตมะนุนี แต่ก็ยังมีจิตที่เสน่หาในตัวนาง ดังนั้นพระอินทร์จึงรอให้มหาฤาษีเคาตมะนั้นออกจากอาศรมไปหาผลไม้ และเมื่อประสบโอกาสจึงแปลงองค์เป็นมหาฤาษีเคาตมะเข้าไปหานางอหลยาพร้อมเอ่ยวาจาที่แสดงถึงความรักใคร่และเสน่หา

นางอหลยาตกใจมากที่เห็นพระอินทร์ในร่างของมหาฤๅษีเข้ามาในอาศรม จึงได้กล่าวว่า ตัวของนางนั้นมีสามีแล้ว นางเป็นภรรยาที่ซื่อสัตย์ต่อสามี โปรดได้เดินทางกลับไปเสียเถิด ถ้าพระมุนีกลับมาเห็นเข้าจะเกิดเรื่องแก่ท่าน แต่พระอินทร์ก็ยังคงไม่ยอมแพ้ยังอ้อนวอนนางด้วยคำหวานเยินยอในความงามของนางมิหยุดหย่อน จนนางเกิดอารมณ์ชั่ววูบที่เผลอใจและเกิดความภาคภูมิใจในความงามของนางที่ไม่เคยได้ยินจากมหาฤๅษี ดังนั้นเมื่อพระอินทร์ในร่างมหาฤๅษีบุกเข้ามาหา นางจึงยินยอมพร้อมกายร่วมเสพสังวาส

เมื่อเวลาล่วงเลยไป เคาตมะมหาฤๅษีก็ได้เดินทางกลับมาที่อาศรม แต่ยังมิทันจะถึงประตูพระมุนีก็ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากอภิญาณ จึงถือไม้เท้าพรหมทัณฑ์ก้าวเข้าในอาศรมทันที พระอินทร์จึงรีบแปลงองค์เป็นแมวขาวปลอด ส่วนนางอหลยายืนก้มหน้าตัวสั่นด้วยความหวาดกลัว  เคาตมะมุนีมแลไปเห็นแมวนอนอยู่ ก็ทราบด้วยทิพยญาณว่าเป็นใครจึงแกล้งถามนางอหลยาว่า “นี่อะไร” นางจึงเงยหน้าขึ้นสบตาสามีและตอบไปว่า “มัชชาโอ” (คำนี้เป็นภาษาปรากฤต ถ้านับเป็นศัพท์คำเดียว มัชชาโอ แปลว่า แมว แต่ถ้าแยกเป็นสองคำต่อกันคือ มัช+ชาโอ จะแปลว่า ชู้ของฉัน เพราะมัช แปลว่า ของฉัน และชาโอ แปลว่า ชู้)

คำตอบของนางอหลยาดูเหมือนจะเป็นการสารภาพผิด เนื่องจากมีความจริงที่แฝงอยู่ในถ้อยคำ อีกทั้งมหาฤาษีเองยังคงมีเยื่อใยต่อนางอหลยาอยู่ จึงได้ลงโทษนางไม่ร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต เพียงแต่สาปนางอหลยากลายเป็นตุ๊กตาหิน กินแต่อากาศธาตุอยู่ในอาศรมไปอีกนับพันปี หากเมื่อพระวิษณุได้เสด็จอวตารลงมาเป็นองค์ราม (Rama) บนโลกเพื่อปราบท้าวราวาณะ (Ravana-ทศกัณฐ์) พร้อมด้วยองค์ลักษมัณ (Lakshmana) ได้เดินทางผ่านมา นางจะต้องให้การต้อนรับพระองค์ด้วยการปรนนิบัติถวายอาหารและล้างพระบาท จนพระองค์ใช้พระหัตถ์จับที่ศีรษะ นางจึงจะได้รับการอภัยบาป กลับฟื้นคืนมามีชีวิตที่บริสุทธิ์และอยู่ร่วมกันอีกครั้ง

ภาพสลักแสดงการถอนคำสาปนางอหลยาโดยพระราม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ที่เทวสถานปัทธารา กาฑิ เมืองนาลันดา (ภาพจาก Kalpana S. DESAI, Iconography of Visnu, New Delhi, Abhinav Publications, 1973, fig.82)

ส่วนพระอินทร์ผู้หลงมัวเมาในกามารมณ์ พระมหาฤๅษีได้สาปให้เครื่องเพศบุรุษของพระอินทร์หายไป ดังที่ปรากฏในรามายณะว่า “…ด้วยคำสาปของเราที่มีต่อพระองค์เป็นดั่งพันธนาการ ต่อแต่นี้ไป จงเศร้าโศกและ ไร้ซึ่งกามารมณ์ ไม่มีภัยคุกคามอันว่างเปล่าเพราะคำพิพากษา…” (รามายณะ, พาลกัณฑ์, XLVIII)  ดังนั้นพระอินทร์จึงไปขอร้องพระอัคนีให้ช่วยเหลือ พระอัคนีจึงนำ “ของแพะ” มาต่อให้พระอินทร์แทน “ของเดิม” ที่หายไป (มหาภารตะ, ศานติบรรพ, CCCXLIII)

เมื่อเวลาล่วงเลยไป มหาพรหมฤๅษีวิศาวามิตร (Visvamitra) องค์ราม องค์ลักษมัณ กำลังเดินทางไปพบกษัตริย์จานะกะ (Janaka) ผู้ครองนครมิถิลา ผู้เป็นพระราชบิดาของนางสีดา เมื่อได้ผ่านไปยังกระท่อมร้าง มหาฤๅษีวิศวามิตรจึงได้เล่าเรื่องราวของนางอหลยาผู้ถูกสาปให้องค์รามได้ทราบ เมื่อพระบาทของพระรามสัมผัสกับหิน นางอหลยาจึงกลับคืนร่างเดิม ได้สรงพระบาทและปรนนิบัติรับใช้ทั้งสององค์จนองค์รามเมตตา นางจึงได้หลุดพ้นจากคำสาปและกลับคืนมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง


อ้างอิง

กฤษณ์ บุญช่วย. 2562. “พระอินทร์ ไม่ได้ถูกสาปให้มีพันตา”. ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นวันที่ 10 มิถุนายน2564, https://www.thairath.co.th/news/society/1614123

มลฤดี สายสิงห์. 2563. “ใครเป็นแม่หนุมาน? เทียบวรรณคดีไทย vs รามายะ คลายความสับสน”. ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2564, https://www.silpa-mag.com/history/article_8110

วรณัย พวศาชลากร. 2563. “อหัลยา สตรีงามผู้ถูกสาปแช่งด้วยเพราะเผลอใจในคำหวาน”. เกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์.

รองศาสตราจารย์ประจักษ์ ประภาพิทยากร. 2557. “ตำนานพระอินทร์”. ศิลปะไทย. สืบค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2564, https://www.silpathai.net/ตำนานของพระอินทร์/

Hummel. 2559. “อหลยา”. Bloggang. สืบค้นวันที่ 10 มิถุยายน 2564, https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=songlod&month=11-2016&date=20&group=20&gblog=12


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2564