มองเบื้องหลังภาพยนตร์ “Rohingya” โดย Ai Weiwei เผยชีวิต “คนไร้รัฐ” ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2564 Ai Weiwei ศิลปิน-ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ปล่อย ภาพยนตร์สารคดี “Rohingya” ให้รับชมผ่าน vimeo.com (เสียค่าใช้จ่าย) ซึ่งเนื้อหาในภาพยนตร์ได้กล่าวถึงการลี้ภัยของชาวโรฮีนจาที่ถูกบังคับให้ออกจากเมียนมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 นับเป็นการอพยพผลัดถิ่นครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ภาพจากยนตร์สารคดี “Rohingya” (ภาพจากอินสตาแกรมของ Ai Weiwei @aiww)

โรฮีนจาเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของพม่าและมีพรมแดนติดกับบังคลาเทศ โดยนับตั้งแต่ที่เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948 รัฐบาลเมียนมาพยายามที่จะปฏิเสธความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของชาวโรฮีนจา อีกทั้งยังไม่ยอมรับว่าชาวโรฮีนจาเป็น 1 ในชนกลุ่มน้อย และถือว่าชาวโรฮีนจานั้นเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่มาจากบังคลาเทศ

การปฏิเสธเรื่องฐานะการเป็นพลเมืองของรัฐบาลเมียนมานั้น ส่งผลให้ชาวโรฮีนจามีสถานะเป็น “คนไร้รัฐ” (stateless person) สิทธิขั้นพื้นฐานถูกกีดกัน อาทิ สิทธิการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ การรักษาพยาบาท การศึกษา และเสรีในการเดินทาง พวกเขาถูกทอดทิ้งต้องให้เผชิญกับความยากแค้นและภัยคุกคามที่ส่งผลต่อร่างกายและชีวิต การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลเมียนมาร์ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ใน พ.ศ. 2555 ชาวโรฮีนจาหลายหมื่นหลายแสนคนต้องอพยพไปอาศัยอยู่ในค่ายกักกันที่มีสภาพค่อนข้างเลวร้าย โดยมีสาเหตุมากจากความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮีนจากับชาวพุทธในรัฐยะไข่ ต่อมาใน พ.ศ. 2560 กองทัพเมียนมาเริ่มปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮีนจา อันเนื่องมาจากการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธของชาวโรฮีนจาที่กระทำต่อฐานทัพตำรวจในรัฐยะไข่

ภาพจากยนตร์สารคดี “Rohingya” (ภาพจากอินสตาแกรมของ Ai Weiwei @aiww)

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กองทัพเมียนมาพุ่งเป้าไปที่ชุมชม ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาจำนวนมากถูกสังหารอย่างไร้มนุษยธรรมและมิชอบด้วยกฎหมาย เด็กและผู้หญิงถูกข่มขื่นและถูกทำร้ายร่างกาย อาคาร บ้านเรือน โรงเรียน รวมไปถึงมัสยิดถูกเผาไปมากกว่า 1,200 แห่ง มีชาวโรฮีนจาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้อย่างน้อย 6,700 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่อายุไม่ถึง 5 ขวบ ประมาณ  730 คน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาบางส่วนจึงต้องอพยพหนีไปที่บังคลาเทศเพื่อความปลอดภัยของตน โดยพวกเขารวมตัวกันอยู่ภายในค่ายผู้อพยพ ที่ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาที่คูตูปาลอง และบางส่วนก็เลือกที่จะอาศัยอยู่ที่รัฐยะไข่เช่นเดิม ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ปลอดภัยและก็ถูกจำกัดสิทธิต่าง ๆ รวมทั้งยังถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลเมียนมาอีกด้วย

ออง จ่อ โม ผู้นำชาวโรฮีนจากล่าวว่า หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดของชาวโรฮีนจาในเมียนมาคือ ไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง ไม่ว่าจะไปชุมชนอื่น ไปตลาด หรือเล่นอยู่ตามกลางแจ้ง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับพวกเขา “เหมือนอยู่ภายในกรงขังที่ไม่ได้ใฝ่ฝันไว้”

ซึ่งภาพยนตร์สารคดีของ Ai Weiwei เรื่องนี้จึงเหมือนเป็นการตีแผ่ที่ทำให้คนทั่วโลกเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาว่า มีชาวโรฮีนจากว่า 900,000 คนที่ถูกบังคับให้หลบหนีจากถิ่นกำเนิด อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ถูกปฏิเสธ และต่อต้านจากการปลุกระดมเรื่องของความบริสุทธิ์ทางชาติพันธุ์ เกิดการกีดกันกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ต่างจากตนเอง จึงนำมาสู่ประเด็นความขัดแย้ง การทำให้กลายเป็นคนชายขอบที่ไร้รัฐ และที่โหดร้ายที่สุดคือ การใช้ความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจาที่กระทำโดยกองกำลังทหาร

ทั้งการสังหารที่ไร้มนุษยธรรมที่ไม่สนว่าจะเด็กหรือว่าคนแก่ การข่มขืนผู้หญิง และการเผาบ้านเรือนรวมไปถึงสถานที่ทางศาสนาที่เป็นยึดเหนี่ยวทางจิตใจอย่างมัสยิด การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลเมียนมาอ้างว่าทำไปเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮีนจาเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากกว่าการทำไปเพื่อรักษาความมั่นคง

ภาพจากยนตร์สารคดี “Rohingya” (ภาพจากอินสตาแกรมของ Ai Weiwei @aiww)

นอกจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Rohingya” ก็ยังมีภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Human Flow เป็นสารคดีที่นำเสนอชีวิตผู้ลี้ภัย 23 ประเทศ 40 ค่ายอพยพทั่วโลก อันเนื่องมากจากที่พวกเขาถูกบีบให้ออกจากถิ่นกำเนิดเดิมจากภาวะสงคราม ความขัดแย้ง เพื่อแสวงหาความปลอดภัย แหล่งที่อยู่อาศัย รวมไปถึงชีวิตใหม่ ซึ่งสารคดีนี้ไม่ได้นำเสนอเพียงแค่ “วิกฤตของผู้ลี้ภัย” แต่ยังนำเสนอให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน

Ai Weiwei กล่าวว่า เขาต้องการนำเสนอภาพที่ทำให้พวกเราทุกคนได้เห็นมุมมองความเป็นมนุษย์ที่มีรอยยิ้มและเปี่ยมไปด้วยความหวัง ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์อีกหลายล้านคนทั่วโลก แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาแตกต่างจากเรามีเพียงแค่พวกเขาไม่สามารถเรียกสถานที่ที่ลืมตาขึ้นมาดูโลกได้ว่า ‘บ้าน’ อย่างเต็มปากเต็มคำเท่านั้นเอง

ผมไม่ต้องการให้คนมองว่าปัญหาของผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นปัญหาเฉพาะประเทศ แต่ต้องการให้หนังเชื่อมโยงถึงคนทั้งโลกได้ตระหนักว่า ‘ทุกคนบนโลกเป็นมนุษย์เหมือนกัน’ เมื่อใดที่สิทธิความเป็นมนุษย์ของใครสักคนถูกทำลายลง ย่อมส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนต่อไปในทางใดทางหนึ่ง หากผู้ลี้ภัยทั้ง 65 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ไร้ชาติ นี่จะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของศตวรรษที่ 21 อย่างแน่นอน Ai Weiwei คำกล่าวสรุปในตอนท้าย

Ai Weiwei เป็นศิลปินชาวจีนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเขามีแนวคิดที่ว่า ‘หากปราศจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกแล้ว ศิลปินจะสร้างงานศิลปะให้งอกงามและยั่งยืนได้อย่างไร’ ดังนั้น ผลงานของเขาได้ทำให้เกิดคำถามต่อวาทกรรมความเชื่อกระแสสังคมหลักและกระแสสัมคมโลก โดยการเคลื่อนไหวของเขาไม่เพียงแต่ทำเพื่อคนในชาติเพียงอย่างเดียว หากแต่การกระทำของเขายังส่งผลต่อผู้คนทั่วโลกอีกด้วย

Ai Weiwei (ภาพจากอินสตาแกรมของ Ai Weiwei @aiww)

ผลงานของเขามักจะพูดถึงเรื่องประเด็นของสังคม สิทธิมนุษยชนที่มุ่งเน้นไปที่ผู้ลี้ภัย จึงทำให้เห็นว่าคุณค่าของศิลปะไม่ได้ขึ้นอยู่ที่รูปแบบหรือความสวยงามอย่างเดียว หากแต่ต้องสะท้อนถึงปัญหาของสังคมและชักจูงให้ผู้คนเกิดสำนึกที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้

ผลจากการเคลื่อนไหวของเขาทำให้เขาถูกหมายหัวจากรัฐบาลจีน และต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ Ai Weiwei เคยกล่าวว่า เขากลัวสิ่งที่รัฐบาลจะทำกับเขา แต่ยิ่งกลัวเขาก็ยิ่งต้องกล้า เพราะถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลย สิ่งอันตรายเหล่านั้นก็จะแข็งแกร่งกว่าเราในที่สุด 

ดังนั้น ผลงานของศิลปะ Ai Weiwei ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ประติมากรรม การต่อเลโก้ภาพผู้ต้องหาทางการเมือง หรือว่าภาพยนตร์สารคดีผู้ลี้ภัย สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกับกระบอกเสียงและเครื่องมือที่ช่วยให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงความเท่าเทียมที่ทุกคนควรได้รับในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง ความน่าสนใจของประเด็นนี้คือ เหตุใดการออกมาเรียกร้องความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ หรือการพูดถึงกระทำที่ไม่เป็นธรรม ถึงต้องแลกมากับชีวิตและบ้านเกิด?

ดังที่ Ai Weiwei เคยกล่าวไว้ว่า “ผมถูกปฏิเสธจากแผ่นดินแม่ตั้งแต่เกิด พ่อของผมเป็นกวีแต่กลับถูกเนรเทศ ถ้าแผ่นดินแม่ของคุณเป็นอันตรายต่อชีวิตแทนที่จะปกป้องหรือให้ความปลอดภัย เราจะเรียกสถานที่นั้นว่าบ้านได้อย่างไร”

ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของตนเอง มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และมีสิทธิในที่อยู่อาศัย โดยสิทธิเหล่านี้เป็นสิ่งรัฐที่ต้องให้ความเคารพและคุ้มครองเพราะเราเป็นพลเมืองของรัฐ แต่หากเมื่อใดที่รู้สึกถึงอันตรายจากการแสดงออก นั่นหมายความว่า รัฐกำลังคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอยู่ ซึ่งเราทุกคนไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่าผลงานศิลปะของ Ai Weiwei นั้นเปรียบเสมือนเป็นแรงผลักดันและเชื้อไฟให้เราทุกคนยืดหยัดต่อสู้ เพื่อที่เราทุกคนจะได้ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า และมีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

หมายเหตุ : สามารถรับชมภาพยนตร์สารคดี “Rohingya” ได้ ที่นี่ (เสียค่าเข้าชม 5 USD สำหรับชมภายใน 48 ชั่วโมง, หรือค่าเข้าชม 15 USD ดูได้ตลอดเวลา)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. “ชีวิต ความคิดและบทสนทนากับ Ai Weiwei ศิลปินจีนผู้ท้าทายอำนาจรัฐจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด”. A day. สืบค้นวันที่ 7 มิถุนายน 2564, https://adaymagazine.com/ai-weiwei/AGENCE FRANCE-PRESSE. 2020. “Ai Weiwei to address the Rohingya refugee crisis in ew documentary ”. 

The Jakarta Post. สืบค้นวันที่ 7 มิถุนายน 2564, https://www.thejakartapost.com/life/2020/05/14/ai-weiwei-to-address-the-rohingya-refugee-crisis-in-new-documentary.html

ผศ. ดุลยภาพ ปรีชารัชช. “โรฮิงญา รัฐ ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์และความขัดแย้ง”. สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์มติชน.

ผศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม. 2018.  “ปัญหา โรฮิงญา กับบทบาทของอาเซียน”. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นวันที่ 8 มิถุนายน 2564, https://www.chula.ac.th/cuinside/13185/

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล. 2560. “ชาวโรฮิงญาคือใครและทไต้องหลบหนีจากเมียนมา?”. Amnesty International Thailand. สืบค้นวันที่ 8 มิถุนายน 2564, https://www.amnesty.or.th/latest/blog/16/

มติชนสุดสัปดาห์. 2561. “บทวิเคราะห์: 1 ปี คสามรุนแรงในรัฐยะไข่ชีวิตในกรฝของชาวโรฮิงญา”. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นวันที่ 8 มิถุนายน 2564, https://www.matichonweekly.com/column/article_130373

โจนาธาน เฮด. “วิกฤตโรฮิงญา: เมียนมาสร้างค่าย-ที่ทำการรัฐทับหมู่บ้านมุสลิมที่ถูกรื้อถูกในรัฐยะไข่”. BBC News. สืบค้นวันที 8 มิถุนายน 2564, https://www.bbc.com/thai/international-49649506


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2564