“ปลิดชีพวันทอง” ในเสภาขุนช้างขุนแผน ดูหลักฐานแง่พัฒนาการและเทียบสำนวนแต่ละฉบับ

เสภาขุนช้างขุนแผน ขุนแผน วันทอง นางวันทอง ฉาก ใน ป่า เล่นน้ำ
“ขุนแผนพานางวันทองลงเล่นน้ำในป่า” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

…แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเสภานี้ นอกเหนือจากที่ปรากฏในคำนำโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้ง 2 บท มีน้อยมาก คำนำเป็นผลงานการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับประวัติของเสภาที่ละเอียดที่สุด

แต่ในเนื้อเรื่องของเสภาเอง ก็มีเค้าลางต่างๆ แอบซ่อนอยู่ ซึ่งนำมาประกอบการวิเคราะห์ได้ เราได้อ่านทั้งฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ และฉบับอื่นๆ คือสำนวนที่พิมพ์โดยสมิธ (พ.ศ. 2415/ค.ศ. 1872) และวัดเกาะ (พ.ศ. 2433/ค.ศ. 1890) “สำนวนเก่า” “สำนวนครูแจ้ง” และที่เขียนบนใบลานบางตอนในหอสมุดแห่งชาติ

…เราจะวิเคราะห์ให้เห็นว่าเสภาขุนช้างขุนแผนมีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีโครงสร้างอย่างไร สำหรับบทความตอนต่อๆ ไป จะพยายามตอบคำถาม เช่น มีพัฒนาการมาเมื่อใด ทำไมจึงต้องฆ่านางวันทอง และบทบาทของตัวละครหญิงเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไมต้องฆ่าวันทอง? วิเคราะห์ “นางวันทองสองใจ” จริงหรือ แล้วผิดข้อหาอะไร

ข้อเสนอของเราในบทความนี้คือ เสภาขุนช้างขุนแผน ประกอบด้วย “เค้าเรื่องเดิม” และ “ภาคพิสดาร 3 ภาค”

“เค้าเรื่องเดิม” เป็นนิทานเรื่องเล่าเกี่ยวกับรักสามเส้าของสามัญชนชาย 2 หญิง 1 ที่สุพรรณฯ ภาคพิสดารทั้ง 3 ภาคเกี่ยวกับผู้คนและขุนนางที่ราชสำนักอยุธยา ความต่างระหว่างเค้าเรื่องเดิม และ “ภาคพิสดาร” สะท้อนชีวประวัติของเสภาที่เริ่มมาจากการขับร้องเพื่อเล่าเรื่องตามประเพณีพื้นบ้าน ต่อมาแพร่เข้าไปในราชสำนักจนเป็นที่นิยมและกลายเป็นวรรณกรรมที่กวีราชสำนักมีบทบาทเสริมแต่ง และชำระ

เสภาเรื่องนี้ถือกำเนิดและพัฒนามาอย่างไร?

ผู้เขียนสันนิษฐานว่ามีพัฒนาการหลายซับหลายซ้อนครอบคลุมระยะเวลาหลายร้อยปี และเกี่ยวโยงกับนักขับเสภาและนักกวีจำนวนนับไม่ถ้วน ที่มาของเค้าเรื่องเดิมไม่ชัดเจน เพราะขาดหลักฐานหรือการจดบันทึก หลักฐานที่มีอยู่ย้อนกลับไปได้ถึงแค่สมัยรัชกาลที่ 3 เท่านั้น อย่างไรก็ตามเนื้อหาในกลอนเสภานั่นเอง มีหลายสิ่งหลายอยางที่ชี้ช่องให้เรานำมาวิเคราะห์และอุปมานความเป็นมา และยังมีหลายสำนวน ที่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาศึกษาได้

พัฒนาการของเรื่อง

ฆ่านางวันทอง คือเหตุการณ์ที่ทำให้เสภาเรื่องนี้มีเอกลักษณ์พิเศษ คงจะต้องเป็นจุดประกายของเรื่อง และคงจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

ณ จุดเริ่มต้น เรื่องเล่ารักสามเส้าที่จบลงด้วยความตายของนางวันทอง คงจะเป็นการขับเสภาซึ่งจบในคราวเดียว ต่อมานักขับค่อยๆ ขยายให้ยาวขึ้นเพราะคนนิยมและอยากฟังเพิ่มอีก จากการเปรียบเทียบสามสำนวนของเสภาตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างทำให้สามารถมองเห็นได้ว่านักขับเสภาและกวีได้ขยายเรื่องราวให้ยาวขึ้นอย่างไร

สำนวนที่เราคุ้นเคยคือฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ[1] หรือฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2459 และ พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1916 และ ค.ศ. 1917) ซึ่งเป็นตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างที่ยาวที่สุด ค่อนข้างจะแน่นอนว่ารัชกาลที่ 2 ทรงแต่ง จะเรียกฉบับนี้ว่าสำนวนที่ 3

อีก 2 สำนวนรู้จักกันในนาม “สำนวนเก่า” น่าจะแต่งก่อนสมัยรัชกาลที่ 2 แยกเป็นสำนวนที่ 1 และสำนวนที่ 2[2] ทั้งสองสำนวนในฉบับพิมพ์ที่ตกทอดมาไม่สมบูรณ์ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า สำนวนที่ 1 เป็นต้นแบบของสำนวนที่ 2 และสำนวนที่ 2 เป็นต้นแบบของสำนวนที่ 3

สำนวนที่ 1 เล่าเรื่องแบบง่ายๆ ขุนแผนคิดถึงนางวันทอง ขี่ม้าไปบ้านขุนช้าง กระโจนขึ้นเรือน พบนางแก้วกิริยานอนหลับ เข้าโอ้โลม นางแก้วกิริยาเบี่ยงบ่ายแต่พองาม มีการบรรยายบทอัศจรรย์ ขุนแผนอำลานางแก้วกิริยาแล้วเดินไปหาห้องนางวันทอง พบม่านวันทองม่านแรก สำนวนนี้ไม่สมบูรณ์จึงจบลงตรงนี้

สำนวนที่ 2 ซึ่งไม่สมบูรณ์เช่นกัน เล่าเรื่องเดียวกัน แต่แตกต่าง 3 ประการ คือ

1. เมื่อขุนแผนขี่ม้าใกล้ถึงรั้วบ้านขุนช้าง พบกับนางพรายที่ขุนช้างเลี้ยงไว้ และพูดเล่นเจรจากับนางพรายอยู่สักพัก

2. เมื่อขึ้นบ้านขุนช้างแล้ว ขุนแผนเห็นกระถางต้นไม้และอ่างปลาบนชานเรือน จึงบรรยายสิ่งที่พบเห็น และเมื่อเข้าห้องนางแก้วกิริยา ขุนแผนก็บรรยายรูปลักษณ์ของนางและของแต่งห้องโดยละเอียด

3. บทโอ้โลมนางแก้วกิริยายาวกว่าในสำนวนที่ 1 และบทอัศจรรย์ก็ยาวกว่า เพราะว่านางไม่ยอมให้ขุนแผนผละไปได้ง่ายๆ

โดยย่อ สำนวนที่ 2 นี้ กวีใช้แกนเรื่องเดียวกัน แต่เพิ่มบทสนทนา (กับนางพรายกับนางแก้วกิริยา) และมีบทบรรยายชมต้นไม้บนชานเรือน ชมนางและเครื่องแต่งห้องอย่างละเอียด ดังนั้นสำนวนเก่า 2 จึงยาวกว่าสำนวนเก่า 1 ประมาณ 3 เท่า

สำหรับสำนวนที่ 3 ก็ต่างไปอีก ไม่มีพล็อตเรื่องใหม่ และโดยรวมก็สั้นกว่า ที่ต่างมากๆ คือ การใช้ภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบรรยายกระถางต้นไม้ ดอกไม้ และอ่างปลา ในสำนวนเก่า[2] ถูกแทนที่ด้วยบทที่มีชื่อเสียงมาก ซึ่งขึ้นต้นด้วยกลอน “โจนลงกลางชานร้านดอกไม้…” (ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 2 ตอนที่ 17 น. 33)

เมื่อเปรียบเทียบสามสำนวนดังที่บรรยายมาทำให้เห็นว่า นักขับเสภาและนักกวีค่อยๆ ทำให้เสภาขุนช้างขุนแผนยาวขึ้นได้อย่างไร? ขณะที่เก็บแกนของเรื่องไว้คงเดิม โดยนักขับเสภาคนหนึ่งเพิ่มพล็อต อีกคนเติมบทสนทนา อีกคนเพิ่มคำบรรยายให้วิจิตรบรรจงขึ้น อีกคนปรับปรุงภาษาให้สละสลวย

ผู้เขียนคาดเดาว่าบทเสภาที่ขับจบในคราวเดียวมีองค์ประกอบสำคัญที่เป็นแกนของเรื่องคือ พลายแก้วพบนางพิมพ์ ไร่ฝ้าย พลายแก้วถูกเกณฑ์ทัพ บทหึง พาวันทองหนี อยู่ป่า คดีความ ฆ่านางวันทอง

ต่อมานักเสภา นักกวี ขยายแต่ละตอนออกไปเมื่อพบว่าคนนิยมฟัง คล้ายกับที่ทำกับละครทีวีขณะนี้ (สิงหาคม 2561 – กองบก.ออนไลน์) ละครที่มีผู้นิยมมากได้รับการสร้างใหม่หลายครั้ง (เช่น ดาวพระศุกร์ บ้านทรายทอง ฯลฯ) ผู้สร้างใหม่คงไม่อาจทำให้เหมือนเดิมเต็มที่ต้องปรับเปลี่ยนบ้างให้ถูกใจคนดู แม้จะคงแกนเรื่องเดิมเอาไว้

แน่นอนว่า นักเสภามีหลายคน หลายคณะ แต่ละเจ้าก็ปรับปรุงสำนวนของตัวให้แตกต่าง ดังนั้นจึงมีหลายสำนวนเป็นคู่ขนานกันไป ผลคือเราอาจจะจินตนาการถึงวิธีการเพิ่มเรื่องให้ยาวขึ้นอีกแบบหนึ่ง ตัวอย่างคือ ตอนที่ 14 ขุนแผนบอกกล่าว เริ่มแรกตอนนี้น่าจะเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของ ตอนที่ 17 และ 18 ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง และขุนแผนพานางวันทองหนี จุดเริ่มคล้ายกัน คือ ขุนแผนคิดถึงนางวันทอง ขี่ม้าไปเรือนขุนช้าง และกระโจนขึ้นบนชานเรือน แต่ตอนที่ 14 นี้จบแปลกไม่สมเหตุสมผล หลังจากที่ขุนแผนแกล้งขุนช้าง วันทอง และข่มขู่มารดาของทั้งสอง ก็ผลุนผลันออกไปจากบ้านขุนช้างกลับไปกาญจนบุรีเสียเฉยๆ เป็นไปได้ว่าอาจจะเคยมีสำนวนที่กวีเล่าเรื่องต่อไปจนถึงพานางวันทองหนี

ทั้งนี้พบว่า บทตัดพ้อระหว่างขุนแผนกับวันทองในตอนท้ายของตอนบทที่ 14 คล้ายๆ กับบทตัดพ้อก่อนบังคับให้วันทองหนีตามไปด้วยในตอนบทที่ 17 เป็นไปได้ว่านักกวีเล่าเรื่องตอนพานางวันทองหนีเป็นสองสำนวนขนานกันไปหรือมากกว่านั้น คนฟังชอบสำนวนที่มีแก้วกิริยา แต่อีกสำนวนก็น่าฟังตรงที่มีเรื่องชวนหัวเมื่อขุนแผนแกล้งขุนช้าง และมารดาทั้งสอง นักเสภาจึงเก็บไว้ทั้งสองสำนวน โดยตัดส่วนหลัง (พาหนี) ออกไป แล้วย้ายที่เหลือเอาไปไว้ก่อนหน้า

ด้วยกระบวนการต่างๆ ดังที่บรรยายมา การขับเสภาเล่าเรื่องซึ่งเริ่มแรกคงจะขับจนจบในคราวเดียว ก็ขยายเป็นหลายตอน แต่ละตอนสามารถขับเป็นเสภาได้แยกเป็นอิสระจากกัน เพราะว่าคนทั่วไปรู้เรื่องตั้งแต่ต้นจนจบอยู่แล้ว…

“เค้าเรื่องเดิม” คืออะไร?

เราคิดว่าคือตอนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเอก 3 ตัว ขุนช้าง ขุนแผน นางวันทอง สถานที่คือสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี บทอวสานคือฆ่านางวันทอง เรามีข้อสันนิษฐานว่า แก่นของเค้าเรื่องเดิมไม่มีเรื่องราวของลูกขุนแผน คือไม่มีเรื่องพระไวย พลายชุมพล และไม่มีเรื่องศึกเชียงไหม่ ในฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ “เค้าเรื่องเดิม” นี้คือ ตอนที่ 1-23 และตอนที่ 35-36 ส่วนอื่นๆ เข้าใจว่าเป็นภาคพิสดารทั้งหมด…

สรุป

เสภาขุนช้างขุนแผนได้รับการชำระ จัดพิมพ์เป็นหนังสือรวมเป็นเรื่องเดียวกันมานานกว่า 100 ปี เราจึงมีภาพว่าขุนช้างขุนแผนก็เหมือนกับหนังสือเล่มอื่นๆ ตรงที่มีเนื้อหาที่ตายตัวและชัดเจน เปลี่ยนไม่ได้ แต่ช่วงหลายร้อยปีแรกของชีวประวัติ ขุนช้างขุนแผนเป็นเสภาที่มีความยืดหยุ่น มีพลวัตประหนึ่งต้นไม้ที่งอกจากเมล็ด เริ่มผลิใบเป็นต้นอ่อนแล้วค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ฉันใดก็ฉันนั้น

เท่าที่ผ่านมา ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเสภาขุนช้างขุนแผน มักมองงานทั้งหมดเป็นองค์รวมหนึ่งเดียว แต่ผู้เขียนคิดว่าเราจะเข้าใจวรรณกรรมนี้ได้ง่ายขึ้น หากเราแยกองค์ประกอบของการเรียบเรียง และวิเคราะห์ด้วยความตระหนักถึงว่าในช่วงชีวิตที่ยาวนานของเสภานี้ นักเสภาและนักกวีหลายคนได้มีส่วนปรับเปลี่ยนวรรณกรรมไปอย่างไร? และภายใต้กระบวนการเช่นไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตระหนักว่าเสภาขุนช้างขุนแผนมีชีวิตในวัยเด็กเกี่ยวโยงกับนักขับร้องเรื่องเล่าพื้นบ้านให้ชาวบ้านฟัง และเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ได้ไปเกี่ยวโยงกับประเพณีของการละครการอ่านในราชสำนัก จนทำให้กลายเป็นงานวรรณกรรมที่ซับซ้อนขึ้น

 

หมายเหตุ: คัดเลือกเนื้อหามาบางส่วนจากบทความเดิมที่ใช้ชื่อ “ชีวประวัติของเสภาขุนช้างขุนแผน (๑) พัฒนาการของเรื่อง” โดย คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ([email protected]) เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2561


เชิงอรรถ

[1] คือเสภาขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 1 ถึง 3 หนังสือชุดภาษาไทยของคุรุสภา พิมพ์หลายครั้ง ฉบับที่ใช้ในบทความนี้ คือ พ.ศ. 2546

[2] ทั้งสองสำนวนเก่านี้พิมพ์อยู่ในเล่มเดียวกัน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2468 (1928) และพิมพ์ใหม่อีก 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2533 (1990) และ 2541 (1998) ดู โชติช่วง นาดอน และครูเสภานิรนาม ขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับย้อนตำนาน สำนักพิมพ์พลอยตะวัน

[3] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, ห.จ.ก. สามลดา, 2545, น. 68-72.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2564