ชีวิต “กิ่ง พลอยเพ็ชร์” ปี่พาทย์อาภัพ ศิษย์(เอก)หลวงประดิษฐไพเราะ หนีครูไปอยู่ทหารเรือ

กิ่ง พลอยเพ็ชร์ เดี่ยวฆ้องให้ลูกศิษย์ฟังที่ชมรมดนตรีธรรมศาสตร์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2532)

ชื่อ กิ่ง พลอยเพ็ชร์ อาจไม่คุ้นหูนักสำหรับนักดนตรีรุ่นใหม่ หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อน กิ่ง พลอยเพ็ชร์ ถือเป็นครูและนักดนตรี เป็นคนฆ้องฝีมือเยี่ยมที่มีชื่อเสียงในวงการปี่พาทย์ยุคนั้น เส้นทางของท่าน กว่าจะเป็นที่รู้จักวงกว้างต้องผ่านการฝากตัวเป็นศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และเคยหนีครูไปอยู่ทหารเรือ ประกอบกับอีกหลากหลายเรื่องราวบนเส้นทางชีวิตซึ่งล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น

เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เคยสนทนากับครูกิ่ง พลอยเพ็ชร์ เมื่อช่วงกลางปี พ.ศ. 2527 และนำบทสนทนามาเผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ใช้ชื่อว่า “กิ่ง พลอยเพ็ชร์ ปี่พาทย์อาภัพ” เสถียร ผู้เขียนบทความนี้เล่าที่มาที่ไปของโอกาสได้สนทนากับครูกิ่ง เป็นผลจากเมื่อครั้งถูกเกณฑ์เป็นทหารสังกัดเหล่าช่างประจำที่ค่ายเขากรวด ราชบุรี เมื่อ 2526

Advertisement

เมื่อมีโอกาสลาพักในปี 2527 และเดินทางกลับมาบ้านแล้วนึกได้ว่า บ้านของตนเองอยู่ไม่ไกลจากบ้านของครูกิ่ง เมื่อได้เดินเที่ยวผ่านวัดบางแวกก็ยังนึกถึงครูและคิดว่าถ้ามีโอกาสจะเข้าไปกราบเยี่ยมเยียน การลากลับบ้านครั้งถัดมาจึงมีโอกาสเข้าไปสนทนาพูดคุยเยี่ยมชมด้วยในวันที่ 18 มิถุนายน 2527

“เล่นหาเหี้ยทำไม ดนตรีไทย…”?

เสถียร เล่าไว้ว่า ไม่ทันที่คำถามแรกจะถูกกลบด้วยเสียงเครื่องยนต์เรือหางยาวที่กำลังเลี้ยงโค้งผ่านคุ้งน้ำหน้าบ้าน ชายชราก็หันมาแผดเสียงสวนใส่หน้าอย่างดุดันแบบไม่คาดคิด สักพักหนึ่ง สีหน้าท่าทางเอาจริงค่อยๆ หายไป และเอ่ยว่า “ขอโทษหนูฮะ ผมไม่ได้ตั้งใจเพียงแต่…” ก่อนจะถอนหายใจเฮือกใหญ่เหมือนระบายสิ่งที่อัดอั้นในใจ แต่ก็ยังไม่ให้เสถียร เรียกสติกลับมา ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ บอกครูว่า “ที่ผ่านมานี่ก็เพื่อจะมาเยี่ยมและฟังเรื่องเก่าๆ จากคนแก่ๆ เท่านั้นเอง ถ้าครูไม่พอใจหรือไม่ต้องการ ผมก็พร้อมจะลากลับ”

ถึงตอนนี้ครูเริ่มยิ้มแล้วอธิบายว่า ไม่ใช่จะไม่พอใจ แต่ชีวิตนี้ไม่มีอะไรจะเล่าให้ฟัง เคยยากจนอย่างไรก็ยังเหมือนเดิม แต่หลังจากค่อยๆ ถามไปเรื่อยๆ หลังจากเป็นกันเองมากขึ้น ความหลังก็พรั่งพรู สลับด้วยเสียงหัวเราะเมื่อเล่าถึงตอนสนุกสนาน บทสนทนาส่วนหนึ่งในวันนั้นมีดังนี้

วัยเด็กแสนลำบาก

“ไอ้ตอนที่เกิดน่ะจําไม่ได้ เพราะว่าพ่อแม่ก็จากกันตั้งแต่เล็กแต่น้อย ไม่ได้ไต่ถามกัน ไม่ได้จดเอาไว้เลย…รู้แต่ปีนะ ปีวอก เดือนแปด ตามทางราชการกวันอังคาร พ.ศ. 2463 ผมเกิดที่บ้านท่าทราย จังหวัดนนทบุรี พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้านชื่อพัด แม่ชื่อสีนวล บ้านผมอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเลย แล้วก็รู้สึกว่าตอนที่ผมเกิดมานั้นมันกําลังยุ่งครับ ชีวิตมันลําบาก”

“สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุลใช้ ผมมาตั้งเอาเอง ก็แม่บอกว่าเอาเหอะ ตั้งเอาเอง เอ็งมีปู่ชื่อพลอย มีลุงอีกคน ชื่อเพ็ชร์ ผมก็เลยเอา “พลอยเพ็ชร์” ก็แล้วกัน ตอนนั้นยังอยู่กับพ่อกับแม่ อายุสัก 11 – 12 ปี ตอนนั้นปู่แกตายไปแล้ว เหลือแต่ตายาย ตาชื่อคง ยายชื่อไพร ก็เป็นคนเมืองนนท์ นั่นแหละ ตาน่ะผมจําได้ แกไปค้าขาย ผมก็ได้ไปกับแกเรื่อย ไปเรือแจว ไปค้าขายไกล ๆ นุ่นถึงท่าเรืออยุธยา เราก็นั่งหัวเรือไป ตั้งแต่เล็กก็ใกล้ชิดกับตาย่ายมาก แม่ก็ค้าขายเหมือนกัน”

“ผมมีพี่สาว 2 คน มีน้องชายคนเดียว น้องสาวอีกคน คนโตชื่อ สมบุญ รองลงมาชื่อพุด น้องชายชื่อนิด คนสุดท้ายชื่อถนอม เชื้อสายทางดนตรีนี่มีแต่พ่อคนเดียวแกเป็นคนฆ้อง แกหัดมาจากไหนไม่ทราบ”

(เพราะมีพ่อเป็นคนปี่พาทย์ และครูก็ชอบเป็นทุนอยู่บ้างแล้ว เมื่อพ่อสอนครูก็จํา ในพี่น้องท้องเดียวกัน ครูจึงเป็นคนเดียวที่สืบสายเลือด ดนตรีปี่พาทย์จากพ่อไว้ได้)

“ที่บ้านมีฆ้องวงใหญ่กับระนาดเอกอยู่อีกรางหนึ่งเท่านั้น แกก็พยายามต่ออะไร ๆ ให้ผมนะฮะ ตอนนั้นก็โตแล้วสัก 7 – 8 ขวบ เห็นจะได้ หัดตีฆ้องวงใหญ่ก่อนเลย ต่อเพลงสาธุการแล้วก็โหมโรง พ่อไปงานบ่อยแล้วก็เอาผมไปด้วย เมื่อก่อนนี้มีทําวิกลิเกที่ปากเกร็ดด้วย

พ่อแกไปทําประจําอยู่ พ่อก็เอาผมลงเรือหมูไป เรือเล็ก ๆ น่ะ ไปกับแกก็ไปตีฉิ่งฉาบอะไรนี่ พอได้สตางค์ค่าขนม พ่อก็อยากให้ผมเป็นปี่พาทย์น่ะครับ”

“ได้ไปโน่นมานี่ไกล ๆ เรื่อย มันสนุกน่ะ ไปคลองเจ็ดคลองแปดอะไรต่ออะไรรู้สึกสนุกดี ลงเรือไป เพราะตอนนั้นรถยังไม่มี ไปกันหลายวันกว่าจะถึงบ้านงาน กินกันอยู่ในเรือ นั่นแหละ”

“ที่นี้ก็แม่ซีครับ แม่เอามาฝากคุณครูหลวงประดิษฐ์ฯ คือตอนนั้นผม อายุราว 11 – 12 ปี พ่อก็เสีย พ่อก็อายุไม่มากหรอกครับสี่สิบกว่า ๆ ผมก็อยู่กับแม่ ท่านคงเห็นว่าไม่มีอะไรดีอีกแล้ว อยากให้ได้ดีน่ะก็เลยพามาฝากคุณครู ก็เรียกว่ามันหมดทางที่ไหนแล้ว แม่ไม่รู้จักท่านหรอกครับ แต่ก็นับถือท่านมากเพราะเห็นคนที่เขาไปอยู่มาเขาเก่ง ๆ นะฮะ”

ฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงประดิษฐไพเราะ

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) คือปรมาจารย์ดนตรีปี่พาทย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมืองในยุคนั้น มีคนต้องการเรียนดนตรีทั้งใกล้ไกลมากมายพากันมาฝากเป็น ศิษย์ และครูกิ่งก็เป็นคนหนึ่งที่ได้เป็นศิษย์ของท่าน

“แม่ไม่รู้จักทางมาบ้านคุณครูหรอกครับ รู้แต่ว่าอยู่หน้าวังบูรพาก็มากันอย่างส่งเดช ผมก็นุ่งกางเกงขาสั้นมาตัวใส่เสื้อมาตัว มาจากบ้าน เมืองนนท์ลงเรือมอเตอร์โบ้ทมาขึ้นที่ บางกระบือ แล้วก็ขึ้นรถรางมาลงที่บางลําพู แม่จูงมือผมเที่ยวเดินถามเขาว่าวังบูรพาอยู่ทางไหน ตอนนั้นมีรถรางวิ่งไปถึงบ้านคุณครู ก็เลยขึ้นรถรางกันตรงนั้น พอถึงวังบูรพาก็ลงเข้าไปหาท่านเลย ผมเวลานั้นอายุได้ 13 ขวบ”

“ท่านก็สงสัยถามว่าไปไหนกันมา แม่ก็บอกตามตรง ท่านก็ถามว่าเป็นหรือเปล่า ผมก็บอกว่าเป็นบ้าง ท่านบอกลองตีซิ ท่านก็ให้ไปตี ผมก็ตีฆ้องเพลงสาธุการ ตีไปได้สักหน่อย ผมก็ลง ท่านก็ไม่ว่าอะไร พอแม่บอกฝาก ท่านก็พยักหน้า ท่านรับครับ บอกว่าไม่อยากรับหรอกเด็กมันมีแยะ”

“พอคุณครูรับแล้วแม่ก็กลับบ้านเลย ไม่มาเยี่ยมอีกเลย แกทิ้งผมไว้ที่นั่น ผมก็คิดถึงบ้าน ทีแรกไม่อยากเรียนหรอก นึกเบื่อ แต่เราอยู่บ้านนอกมานานพอไปอยู่เข้าแล้วมันก็เพลินดี เดี๋ยวไปงานโน้นงานนี้”

“บ้านที่อยู่เป็นบ้านทรงไทย หลังใหญ่และก็เป็นบ้านเก่าแก่ติดกับคลอง คลองนั้นเขาเรียกว่าคลองอะไรก็จําไม่ได้ ข้างสะพานเหล็กน่ะ ตัวคุณครูท่านยังไม่แก่เท่าไรฮะ ไม่ดุครับ ผมรู้สึกว่าไม่กลัวเห็นหน้า ท่านยิ้ม ๆ นะฮะ ไอ้เราพอไปอยู่กับท่าน เด็กมันแยะครับ เด็กที่อยู่บ้านนอกแล้วเข้ามาต่อเพลงพวกนั้น เขามาเรียนแบบไปเช้าเย็นกลับ มีผมคนเดียวกินนอนอยู่ที่บ้านท่าน”

“แต่ว่าต้องไปนอนที่ใต้บันได เมื่อก่อนนี้บ้านท่านมี 2 ชั้น ที่ทางมันไม่มี ใช้เก็บเครื่องเก็บเคราเต็มไปหมด แล้วตอนกินผมก็ไปหาซื้อเอา เขาหุงหาแต่เราไม่ค่อยกล้า ทีแรกท่านก็เรียกให้ไปกินกันนะ เราโดยมากก็ไปซื้อกินเอง พวกอาหารเจ๊ก เมื่อก่อนนั้นมีโรงข้าวต้มกุ๊ยอะไรเยอะแยะ พอต่อ ๆ มาก็ไปทานกับท่าน”

“อยู่กับท่านก็มีออกไปเที่ยวบ้างแถว ๆ นั้นแหละ ตอนกลางคืนก็ตามสะพานเหล็กบ้าง โรงหนังอูลี่จูบ้างเป็นหนังเงียบ ตอนกลางคืนนี้ไม่ได้ต่อเพลงหรอก ถึงเวลาก็นอน พอตอนกลางวันเวลาท่านจะต่อเพลงให้ใคร ท่านก็เรียกผมไป ให้ไปต่อด้วยกัน พร้อมกันไปเลย ผมตีฆ้องประจํา เด็ก ๆ นี่ผมขี้อายด้วยโดยมากจะเข้าฆ้องก็หลบ ๆ ตามมุม พวกนั้นเขาก็มาเรียนกันไม่เป็นเวล่ำเวลา บางทีก็จวนเพลมั่ง บางคนก็มาเช้านะฮะ บ้านไกลนี้มักมาเช้า ปกติคุณครูท่านอยู่บ้านไม่ไปไหน เวลามีงานก็ให้ลูกศิษย์ไป ผมต่อเพลงจากท่านไม่มากหรอกครับ ไม่ค่อยมีเวลาต่อเพราะไปงานกัน ก็ไปได้เอาตามงานซะส่วนมาก”

“สมัยนั้นมีแต่เครื่องปี่พาทย์ไทย เครื่องมอญยังไม่มีหรอก แต่เมื่อก่อนที่บ้านท่านมีฆ้องเก่าอยู่วงหนึ่งครับ เขาเรียกฆ้องอะหละ ได้มาจากเมืองทวาย ฆ้องเขาดังดีมีอยู่วงเดียว ตอนหลังคุณครูก็สร้างขึ้นอีก”

“ตื่นแต่เช้าครับ ต้องกวาดบ้านถูบ้านทําความสะอาดก่อนแล้วถึงจะอาบน้ำกินข้าว มีเวลาว่างก็นั่งตีฆ้องท่องเพลงที่ต่อมา เข้านอนราวสองสามทุ่ม ผมนอนก่อนครูนะฮะ”

นักเรียนนาฏศิลป รุ่นแรกสุด

“ก็ที่ดินที่ท่านปลูกบ้านที่บ้านบาตรน่ะ มันเป็นที่ดินพระราชทาน ท่านก็เลยย้ายมาจากบ้านเดิม ตอนนี้ผมอายุ 14 – 15 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน เพราะไม่รู้ว่าจะเข้าโรงเรียนไหน ทีนี้พอย้ายมาอยู่กับท่านที่บ้านบาตร เขาก็ตั้งโรงเรียนศิลปากร คนไม่ค่อยมีฮะ เขาก็เลยดึงเราเข้าไปเรียนก่อนหน้านี้ผมไม่ได้ เรียนหนังสือมาเลยหนูฮะ คุณครูชิ้น ลูกสาวคุณครูก็เลยพาไปเข้าเรียนที่ศิลปากร”

“ไปเรียนหนังสือด้วย เรียนดนตรีด้วย เรียนหนังสือน่ะหลายชั่วโมง แต่ว่าเรียนดนตรีชั่วโมงหนึ่ง ก็โรงเรียนนาฏศิลปปัจจุบันนี่แหละ แต่ก่อนนี้เขาเรียกโรงเรียนนาฏดุริยางค์ ผมเป็นนักเรียนรุ่นแรกเลยนะฮะ ดีอย่างที่ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เพราะว่าแต่ก่อนนี้ ถ้าใครเป็นพิณพาทย์มาก็ไม่ต้องเสีย เรียนฟรีแล้วเขาก็ใช้งานเรา ใช้เล่นละคร เล่นดนตรี”

“ครูที่สอนหนังสือก็มีครูลัดา สารตายนต์ เมียครูประสิทธิ์ลูกคุณครู นั่นแหละ ส่วนครูประสิทธิ์เป็นครูสอนดนตรี สอนตีขิม เพื่อนร่วมชั้นมีหลายคนแต่มันหายไปหมด ลูกศิษย์คุณครูที่ไปเรียนอยู่ด้วยกันก็มี ประสิทธิ์ ถาวร เขาเรียนชั้นสูงกว่าผม เพราะเขาเรียนมาจากบ้านเขามาก ผมน่ะเข้ามาโตแล้วแต่เข้าไปเรียนชั้นเด็กเริ่มใหม่เลย มีผมน่ะที่โตกว่าเขา ลูกคุณครูที่ชื่อเถ่นั่นเขาเรียนสูง เขาไปมอห้ามอหกกันแล้ว เราเพิ่งอยู่ชั้นประถม”

“ตอนเรียนหนังสือนี่ผมก็หนีโรงเรียนบ่อย โดยมากหนีไปหากินฮะหนูฮะ ไปตีพิณพาทย์นี่แหละ ครูท่านไม่รู้ว่าเราไปอย่างนั้น คิดว่าเราคงจะหนีไปเที่ยวเตร่ เสื้อผ้าก็ไม่ค่อยจะมีใส่กับเขา เลยต้องหาเงินมาซื้อของกินบ้างใช้จ่ายบ้าง”

“อยู่ที่บ้านบาตรนี่ผมได้ต่อ เพลงเดี่ยวจากคุณครูหลายเพลงฮะ ต่อเพลงกราวใน แขกมอญ ต่อยรูป รู้สึกว่าท่านกําลังคิดใหม่ คือท่านต่อแต่พวกระนาดแล้วท่านก็คิดทางฆ้องมาบ้าง รู้สึกว่าเรารับไม่ไหวอะ บางที กําลังเล่นล้อต๊อกอยู่ใต้ถุนบ้าน ท่านก็เรียก เอ้าเจ้ากิ่งมา ผมก็ขึ้นไปเข้าฆ้องเลย ท่านก็ต่อให้ โดยมากก็ได้เดี๋ยวนั้นเลยนะฮะ บางทีเดี่ยวเพลงนี้ยังไม่ทันจบ เอาเดี่ยวเพลงโน้นอีกแล้ว ท่านบอกว่านึกขึ้นได้ เราก็เลยหนัก เวลาต่อเพลงเดี่ยวนี่ท่านรอให้คนอื่นกลับกันหมดก่อน แล้วท่านถึงจะต่อให้เรา ต่อกันเพียงสองต่อสอง ไม่มีใครอยู่ ท่านก็เมตตาผมมากฮะ”

โดนดุ จับมัดไขว้หลัง เอาน้ำราด

“ผมเคยโดนดุทีหนึ่งฮะ ทิ้งงานท่านเนี่ยไปงานคนอื่น ท่านโกรธมากเชียวถึงกับจับผมมัดไขว้หลัง ท่านสองคนกับประสิทธิ์ฮะ แล้วก็เอาผมไปนั่งกลางสนามเอาน้ำใส่ปี๊บ ไปราดไปรด ราดแค่ปี๊บเดียวเท่านั้นฮะ แล้วยังเปิดประตูบ้านทั้งสองบานให้คนข้างนอกที่เดินผ่านไปมามองเห็น ฮ่ะ ๆๆๆ ตอนนั้นผมโตเป็นวัยรุ่นแล้ว ก็อายฮะ”

“เปล่า…เราไม่ได้ทิ้งงานท่านนะ งานมันเกิดขึ้นทีหลัง ก็คนเขามาหาเราไป คือว่างานที่โรงเรียนราชินี มันเป็นงานซ้อม ซ้อมละครอะไรนี่แหละ ทีนี้ไอ้งานที่เขามาหาเรามันเป็นงานสองเวลา วันกะคืนอะไรอย่างนี้  งานศพน่ะ เราก็ไปงานศพจะกลับมาก็กลับไม่ได้ คนทางนั้นเขาก็ไม่มี ก็เลยเท่ากับว่าเราทิ้งงานท่านไป ท่านรู้ท่านโกรธมาก เราก็ไม่ว่าอะไร คิดว่าเราผิด ก็เรามันไม่ไปเอง นั่นเป็นครั้งเดียวที่ถูกคุณครูทําโทษ”

หนีคุณครูไปอยู่ทหารเรือ

เหตุการณ์ช่วงนี้ครูบอกว่าเสียใจอยู่ทุกวันนี้ที่ทําให้คุณครูหลวงประดิษฐไพเราะเสียใจ แต่ไม่รู้ว่าจะทําอย่างไรดี คิดไปตามประสาเด็กวัยรุ่นที่ตัดสินใจด้วยตัวเองว่า ถ้าไม่ทําอย่างนี้ ชีวิตตัวเองก็คงไม่ดีขึ้น…

“แหม ผมเรียนหนังสืออยู่หลายปี เรียนจบชั้นประถม 4 กําลังจะขึ้นมอ 1 ผมก็เลยไม่เอาล่ะ เข้าไปอยู่ดุริยางค์ทหารเรือเลย โถ่ก็เรามันยากจนเหลือเกินยากจนจริง ๆ เมื่อก่อนนี้ผ้าก็ไม่ค่อยจะมีใส่ เขานุ่ง กางเกงแพร เรานุ่งกางเกงผ้าอะไรอย่างนี้ เรื่องพวกนี้คุณครูท่านไม่จุนเจือหรอก เพราะท่านเลี้ยงคนตั้งหลายคนเพียงแต่ค่าข้าวสารก็แย่แล้ว

“ผมไปเอง ไปเข้าโดยรู้จักกับคนที่เขาอยู่ที่นั่นแล้ว เขาชื่อนายเผือด นักระนาด ลูกศิษย์คุณครูเหมือนกัน ตอนนั้นพี่เผือดเข้าไปก่อนผม เขาเอาพี่เผือดเป็นคนสอบนี่ ก็เลยรับผม ตอนนั้นอายุไม่เท่าไรหรอก…”

“พอคุณครูท่านรู้ ท่านโกรธมาก ท่านหาว่าจะเข้าตะหานตะเหินก็น่าจะมาบอกกันสักหน่อย ท่านก็จะเอาไปเข้าดี ๆ หาว่าหนีท่านไปฮะ คล้าย ๆ กับว่ามาอยู่กับจางวางทั่ว เพราะตอนนั้นจางวางทั่วคุมวงอยู่ที่ ทหารเรือ แต่ไอ้ผมน่ะมาเพราะความอยากเป็นทหารเรือด้วย มีเงินเดือน 4 บาท ตอนนั้นโก้เลยฮะหนูฮะ ทีนี้ ทางบ้านบาตรผมก็ไม่ได้ไปเลย ทหารเรือเขาเข้มงวดมาก ต้องมาทํางานทุกวัน”

“ก่อนที่คุณครูจะสิ้น ผมก็กลับไปเยี่ยมท่าน ตอนนั้นผมยังเป็นทหารเรืออยู่ เอากะลาซออู้ไปให้ท่านด้วย เป็นครั้งแรกเลยที่กลับไปหาท่าน ท่านก็ไม่พูดว่าอะไรสักคํา เพียงแต่พยักหน้า ผมก็ไม่ได้พูดอะไร เลย กราบท่านแล้วก็เดินกลับออกมา หลังจากที่สิ้นคุณครูแล้วผมก็กลับไปกราบเยี่ยมคุณครูชิ้น ลูกสาวของท่านบ้าง แต่ท่านย้ายไปแล้ว”

ถึงช่วงนี้ครูก็เล่าเกี่ยวกับการ เรียนดนตรีสากลอยู่กองดุริยางค์ ทหารเรือและสาเหตุที่หันมาสีเชลโล่ แทนการตีฆ้องไทย

“เรียนดุริยางค์รุ่นนั้นก็ฝึกวิชาทหารทั่วไป 3 เดือนก่อน แล้วก็ส่งไปเข้าแผนกใครแผนกมัน ผมก็เข้าไปในแผนกดนตรีไทย ตอนนั้นพี่เผือดเขาคุมเครื่องวงดนตรีไทยอยู่ ส่วนวงสากลจําไม่ได้ เข้าไปทีแรกก็เข้าไปลูบ ๆ คลํา ๆ ไอ้พวกซอนี่รู้สึกรัก ไปจับซอเชลโลรู้สึกชอบ เสียงมันเสียงใหญ่ ๆ ดี เขามีโน้ตอะไรก็เอามาฝึกหัด เรียนโน้ตเรียนอะไรเข้าก็เลยเป็น

เรียนเอาเองฮะ ก็มีหนังสืออยู่แล้วเขาก็บอกตัวนี้กี่จังหวะ ๆ เรียนดูโน้ตให้พอรู้แบบขอไปที อย่างนั้นเอง มันเป็นอยู่แล้ว คือรู้ว่าโน้ตแบบนี้ตีแบบนั้นเว้นแบบนั้น แล้วก็มีคนอื่นช่วยแนะบ้าง เพื่อน ๆ บอกบ้าง ผมฝึกหนัก รู้สึกว่าทั้งวันนะ เพราะเอาใจใส่มากตอนนั้น ใครเขายังบอกเลยว่านี่ขยันจริงจริงเลย ว่างเป็นต้องจับ ไม่เท่าไรก็ได้เข้าวงใหญ่ เพราะคนเขาไม่ค่อยมี และก็อยู่เรื่อยมา”

“เวลาซ้อมหรือสีคนเดียวผม ชอบเพลงเซริเนต ของมทสาร์ทอะไรนี่ แต่ยังไม่เพราะนะฮะ เพียงแต่รู้ว่า มันไปอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้นเอง โน้ตเขามีอยู่แล้วผมก็ไปค้นมาสีเลย ทําให้เราดีขึ้น ได้อารมณ์เพลงมากขึ้น”

“ไม่ไปแล้ว ฆ้องก็ไม่ตีแล้ว สีอย่างเดียว เพราะทางสากลเขาไม่มีคนด้วย เชลโลน่ะไม่ค่อยมีคนหัด เขาหัดไวโอลินดีกว่า เชลโลมันหากินก็ยาก แล้วไวโอลินนี่มันเล็ก ซื้อง่ายกว่า”

“อยู่กับพวกสากลนี่ไปงานบ่อยฮะ แต่เงินไม่ได้ เพราะส่วนมากเป็นงานราชการ เดี๋ยวกงสุลอังกฤษมาขอ เดี๋ยวฝรั่งเศสมา เดี๋ยวทูตจีนมาขอไปบรรเลงงานกินเลี้ยง ส่วนงานดนตรีไทยก็ยังไปอยู่เพราะได้เงินคือ เขาหาไปทําปี่พาทย์งานศพ พอได้มาเป็นค่าเสื้อผ้าอาหาร รู้สึกว่าดีขึ้นกว่าก่อน

“ที่พักผมก็ย้ายเข้ามากินนอนอยู่ที่แผนกเลย

“ปู่แมว พาทยโกศล น้องชายจางวางทั่วนี่อยู่ด้วยกัน พี่เผือด, พี่เจียน, นายชิต สีใส พวกนี้สนิทกันมาก แต่พี่เผือดแกออกจากทหารเรือมาก่อนผม เขาโอนมาอยู่กรมศิลปากร ผมเห็นเขาโอนออกกันมาหมดก็เลยโอนออกมาบ้าง พี่เจียนเขาออกทีหลัง”

“พี่เจียน มาลัยมาลย์นี่คุณครูหลวงประดิษฐ์ฯ ยังชมเลยว่าคนนี้เก่งรอบตัว รู้จักกันเมื่อเขาอยู่วงจางวางทั่ว ผมยังอยู่วงครูหลวงประดิษฐ์ฯ ไปเจอกันเมื่อครั้งประชันวงกันที่วัดเทพศิรินทร์ ศพเจ้าพระยาอะไรก็จําไม่ได้แล้ว พี่เจียนเขาเป็นคนระนาดเอก ผมเป็นคนฆ้องอยู่คนละวง ตอนนั้นยังไม่รู้จักกันดีก็นับถือฝีมือกัน”

“รุ่นนั้นที่ประชันกันโดยมากก็ไปเจอกันตามวังเจ้านายใหญ่ ๆ โต ๆ เข้าไปบ่อยเลยส่วนมากก็เจอกับวงครูจางวางทั่ว และวงครูพุ่ม โตสง่า วงครูพุ่มนี่ไม่ใช่เล่นนะ บางทีครูพุ่มแกลงตีระนาดเองเลย ประชันกันแต่เพลง พอเลิกกันแล้วก็คุยกันดี ไม่มีอะไรกันหรอก เข้าไปในวังต้องเรียบร้อย”

(วงปี่พาทย์คณะครูพุ่ม โตสง่า ที่ครูเอ่ยถึงนั้น เป็นเชื้อสายมาแต่อยุธยา นับเป็นวงสําคัญที่มีฝีมือดีที่สุดวงหนึ่ง ลูกชายครูพุ่มชื่อนายสุพจน์ โตสง่า ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนระนาดเอกฝีมือเยี่ยมก็ยังสืบทอดชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในวงการดนตรีไทย)

จากทหารเรือ มาอยู่ธรรมศาสตร์

“ผมอยู่ที่ทหารเรือมาจนอายุครบเกณฑ์ทหาร มาออกตอนแต่งงานแล้วอายุ 26 – 27 ปี ห่างเหินจากทหารเรือมาเลย ที่ออกก็เพราะมันชักจะเบื่อเข้า จําเจมานานแล้ว ก็เลยโอนมาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ แต่งงานแล้วผมก็ลาไปบวช 3 เดือนอยู่ที่วัดป่าคา บางไทร อยุธยา”

“ภรรยาผมเขาชื่อ ชื่น นามสกุลเดิม วิเวก ก็มีลูกด้วยกัน 11 คน ตอนออกจากทหารเรือ ลูกโตหมดแล้ว คนโตก็พิมพา, รองลงมาก็มุกดา, อัศวิน, สมศักดิ์, ประสงค์, บังอร, สุพจน์, สุรพล, สุพจน์, สุพลและก็สุนีย์”

“ที่ออกจากทหารเรือก็เพราะเงินเดือนมันน้อยน่ะ เข้าไปที่แรกก็ได้แค่ 2 บาท แล้วก็ขึ้นเป็น 4 บาท อยู่มาจนออกนี่ได้เพียง 800 บาทเท่านั้น ก็อยากได้เงินเดือนเป็นพัน ๆ บ้าง ก็เลยออกมาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ตอนนี้อายุราว 40 ปีเห็นจะได้”

“ก็ครูตั๋นแกเป็นคนแนะนํามา บอกว่าให้มาแทนครูเล็กที่ตายไป ก็สอนมาเรื่อยแล้วก็ออกจาก ธรรมศาสตร์หนหนึ่ง มันเบื่อ ๆ ฮะ แล้วพวกนักเรียนเขาก็มาตามกลับเข้าไปสอนอีก”

“แหมหนูฮะ คิดดูสิตอนเกิดมาเด็ก ๆ ผมก็จน มาหัดทางนี้ก็มองไม่เห็นทางร่ำรวย ไปทางสากลก็พอกัน ชีวิตไม่รู้มันจะจนไปจนตายหรือยังไง คิด ๆ แล้วมันก็ท้อฮะ ตอนที่ออกจากธรรมศาสตร์นั้น ผมออกไปอยู่ที่บ้านนอกเลยนะ กะว่าจะไปทําสวน ยังไม่ถึงเดือนเลย เขาก็ไปตามกลับ เลยต้องมาสอนกันอีก สอนเครื่องตี คนอื่น ๆ ก็มีคุณปกรณ์ รอดช้างเผื่อน สอนจะเข้ คุณเขียว (กมล ปลื้มปรีชา) ที่อยู่กรม ศิลป์สอนระนาดอีกคน”

นอกจากที่ชมรมดนตรีไทยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ครูยังไปร่วมวงดนตรีสากลที่บ้านของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อยู่ระยะหนึ่ง

“หม่อมเสนีย์ท่านสร้างเครื่องมโหรีชุดเล็กไว้ชุดหนึ่ง ครูเตือน พาทยกุลเป็นคนทํา ท่านชอบให้ไปอยู่กับท่าน เดี๋ยวเอาเพลงโน้นเพลงนี้ ชอบขอเพลงแล้วก็เอาไปเดี่ยวเปียโน ท่านชอบดีดเพลงไทย อีกแห่งก็ที่บ้าน ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ แต่ที่นี่วันอังคารถึงจะไปซ้อมกันทีนึง แกชอบเล่นฟูเต็ดน่ะ มีเปียโน ไวโอลินหนึ่ง ไวโอลินสอง และก็วิโอล่ากับเชลโล ไปเล่นกับแกอยู่พักหนึ่ง แกก็ซื้อเชลโลมาให้ตัวหนึ่ง ตอนหลังนี้ผมจน ฐานะมันแย่ก็เลยตัดใจขายไปแล้วฮะ”

…จากช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมดนตรีไทยระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ที่ครูพบมา ครูให้ความเห็นเกี่ยวกับวงการดนตรีไทย (เมื่อ พ.ศ. 2527 – กองบก.ออนไลน์) ไว้ว่า

“ดีครับ ดีขึ้นครับ เมื่อก่อนยิ่งกว่านี้อีกฮะ เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าจะมีคนชอบกันมากขึ้น เรื่องฝีมือดูแล้วก็ไม่ใช่ย่อย เมื่อก่อนนี้ก็ไปอีกรูปหนึ่งฮะ แก่ ๆ กันหมดแล้ว เดี๋ยวนี้เขาหนุ่ม ๆ เด็ก ๆ กัน รู้สึกแจ๋วฮะหนูฮะ”

“ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้”

วันที่ 3 มกราคม 2532 เสถียร รู้ข่าวว่า “ครูกิ่งตายแล้ว ล้มฟาดที่บ้าน นอนเจ็บอยู่ไม่กี่วัน พอวันที่ 9 มกรา ครูก็สิ้น ตอนนี้ตั้งศพไว้ที่วัดนก ใกล้บ้านครู” ผมไปถึงวัดนกตรงเข้าไปกราบศพครูท่ามกลางบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา แขกเหรื่อที่มาฟังพระสวดก็บางตา ด้านข้างมีวงปี่พาทย์มอญกําลังประโคมอยู่อย่างอ้อยอิ่ง

อนิจจา…ครูกิ่ง พลอยเพ็ชร์ คนปี่พาทย์ผู้อาภัพ…เมื่อก่อนที่ครูเคยบ่นด้วยความท้อแท้น้อยใจอยู่เสมอว่า เบื่อหน่ายและอยากหนีจากดนตรีไทยนั้น ตอนนี้ครูก็หนีพ้นไปได้จริง ๆ หนีจากทุกคนไปชั่วนิรันดร์

ครูกิ่ง เป็นนักเรียนรุ่นแรกสุดของโรงเรียนนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร เคยเดินทางไปแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ที่ต่างประเทศ ที่ประเทศญี่ปุ่น ครูแต่งตัวเป็นนางเบญกาย ออกไปรำในชุดจับนาง และยังต้องตีระนาดเดี่ยวให้คนฟังทั้งที่ยังแต่งตัวเป็นละคร