เบื้องหลังกำเนิด KINFOLK นิตยสารสุด “MINIMAL” ที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว-เพื่อนฝูง

ตัวอย่างหน้าปกนิตยสาร KINFOLK

KINFOLK นิตยสารยุคใหม่ที่มีรูปแบบแตกต่างจากนิตยสารไลฟ์สไตล์ทั่วไป ด้วยเพราะจุดกำเนิดของนิตยสารเล่มนี้มาจากกลุ่มผู้ก่อตั้งมีแนวคิดให้ความสำคัญกับครอบครัวและเพื่อนฝูง โดยเฉพาะช่วงเวลาบนโต๊ะอาหาร ที่สามารถทำกิจกรรมหรือพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวอันน่าสนุกซึ่งกันและกัน

จุดกำเนิดของนิตยสาร KINFOLK เริ่มมาจาก Nathan Williams และ Katie Searle คู่รักชาวแคนาดาที่ชอบทำอาหารรับประทานเองที่บ้านร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูง (ทั้งสองแต่งงานกันและเลิกรากันในเวลาต่อมา) Nathan และ Katie ขณะกำลังศึกษาอยู่ที่ Brigham Young University ในฮาวาย มักชักชวนเพื่อนที่มีทั้งนักเขียน นักออกแบบ ศิลปิน ช่างภาพ ฯลฯ มารับประทานอาหารที่อะพาร์ตเมนต์เป็นประจำ พวกเขารวมตัวกันเพื่อทำอาหารและสังสรรค์ พูดคุยและแบ่งปันเรื่องราวหรือประสบการณ์ของกันและกัน ในเรื่องการทำอาหารหรือเรื่องอะไรที่ง่าย ๆ ที่อยู่รอบตัว

นั่นจุดประกายให้ Nathan สนใจทำบล็อกบนเว็บไซต์ขึ้นมา รวบรวมข้อมูลหลากหลายทั้งบทความและภาพถ่าย บล็อกนั้นอ่านสนุกและให้แรงบันดาลใจได้ดีมาก จนมีผู้เข้าชมเว็บไซต์จำนวนหลายหมื่น ในเวลาเดียวกันนั้น Nathan เรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์ และได้เข้าทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งได้ไม่นานนัก เขารู้สึกเบื่องานนั่งโต๊ะ และเมื่อเห็นว่าบล็อกกำลังเติบโตไปได้ดี เขาจึงตัดสินใจออกจากงานและผันตัวมาทำนิตยสารอย่างเต็มตัว นอกจากจะมี Katie ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งแล้ว ยังมีเพื่อนของพวกเขาอีก 2 คนคือ Doug และ Paige Bischoff ที่ช่วยปั้น KINFOLK ขึ้นมา

Nathan มีแนวคิดว่าการรับประทานอาหารร่วมกัน การพูดคุยกันแบบสบาย ๆ และการใช้เวลาระหว่างมื้ออาหารร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูง คือกิจกรรมที่สำคัญมาก แนวคิดนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญของการกำเนิดนิตยสาร เขาอธิบายว่า ส่วนใหญ่นิตยสารนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันเรื่องราวซึ่งกันและกันให้บ่อยขึ้น เพื่อเปิดประตูและหัวใจของเราให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูง

ในปี 2011 นิตยสาร “KINFOLK” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ Katie เล่าว่าในช่วงแรกของการทำนิตยสารพวกเขาการทุ่มเททั้งกายแรงใจในการถ่ายภาพและออกแบบตัวเล่ม เธอและ Nathan ทำหน้าที่บรรจุและจัดส่งนิตยสารฉบับแรก ๆ ในห้องนั่งเล่นของบ้านเพื่อนคนหนึ่ง โดยในช่วงแรกมีพนักงานไม่กี่สิบคนเท่านั้น แต่กระแสตอบรับที่ดีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้นิตยสาารเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ในตอนแรก KINFOLK เกือบใช้ชื่อว่า “Kinfolk & Company” Nathan อธิบายว่า “Kinfolk คือครอบครัว” หรือหมายถึงช่วงเวลาที่แบ่งปันกับคนในครอบครัว ส่วน “Company คือเพื่อนฝูงที่คุณเชิญเข้าบ้าน” ทั้งสองคำให้นิยามของนิตยสารเล่มนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เขาคิดว่ามันเป็นชื่อที่ยาวเกินไป และเขาไม่ชอบเครื่องหมายแอมเพอร์แซนด์ (&) จึงตัดเหลือเพียงคำว่า “Kinfolk”

KINFOLK เป็นนิตยสารไลฟ์สไตล์ มุ่งเน้นหลากหลายเรื่องราวทั้งเรื่อง บ้าน ที่ทำงาน การละเล่น อาหาร ครอบครัว ชุมชน ฯลฯ ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านบทความ ภาพถ่าย สูตรอาหาร บทสัมภาษณ์ เรื่องเล่าส่วนตัว ฯลฯ รวมถึงเคล็ดลับที่ใช้ได้จริง โดยผู้อยู่เบื้องหลังของนิตยสารเล่มนี้มีทั้งนักเขียน ช่างภาพ นักออกแบบ และเชฟ ฯลฯ จากทั่วทุกมุมโลกที่มาให้ความรู้ เทคนิค เผยความคิดสร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจตามแบบฉบับของ KINFOLK

Nathan ต้องการให้ KINFOLK ถ่ายทอดเรื่องราวของการทำอาหารที่บ้านหรือการทำกิจกรรมร่วมกันของคนในครอบครัว โดยมีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้คนกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งง่าย ๆ เหล่านี้อีกครั้งหนึ่ง

องค์ประกอบของ KINFOLK นั้นเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มันเป็นความลงตัวระหว่างงานออกแบบและศิลปะผสมผสานกับความอบอุ่นและความรักที่เกิดขึ้นจากการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวและเพื่อนฝูง ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสุนทรียศาสตร์และปรัชญาอย่างชาญฉลาด

KINFOLK ในฐานะนิตยสารสมัยใหม่ยังให้ความสำคัญกับการสำรวจสิ่งต่าง ๆ ที่มักถูกทิ้งไว้บนพื้นที่ว่างของนิตยสาร พื้นที่ว่างทำให้เกิดความ “MINIMAL” ขึ้น ดังนั้น มันจึงเหลือพื้นที่ให้สำหรับผู้อ่านได้จินตนาการได้อย่างไม่สิ้นสุดตามแต่จะนึกคิด และด้วยความที่ KINFOLK มีแนวคิดและรูปแบบที่มีความเรียบง่าย และให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวแต่มักถูกมองข้าม ผู้อ่านจึงสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและเป็นที่นิยมมาก

KINFOLK จึงเป็นมากกว่าแค่นิตยสารทั่วไป มันกลายเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตจริงให้เกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ เช่น ถ่ายรูปสไตล์ KINFOLK, แต่งตัวสไตล์ KINFOLK, ทำกับข้าวสไตล์ KINFOLK จนกลายเป็นกระแส และมักมีการติดแฮชแท็ก #kinfolk หรือ #kinfolklife ที่สะท้อนไลฟ์สไตล์แบบ KINFOLK

ความงดงามที่แท้จริงของ KINFOLK คือการทำให้การรับประทานอาหารที่บ้านหรือการทำกิจกรรมร่วมกันดูเท่และเก๋ มันสามารถจูงใจให้ผู้อ่านกลับมาให้ความสำคัญกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงมากขึ้น สมกับชื่อของ KINFOLK ที่มีนิยามว่า ช่วงเวลาที่แบ่งปันกับคนในครอบครัว

ครั้งหนึ่งมีคนถาม Nathan ว่าทำไมเขาถึงให้คุณค่ากับการรับประทานอาหาร (ร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูง) มากมายขนาดนั้น เขาตอบโดยยกประโยคของ W.S. Gilbert นักการละครชาวอังกฤษที่ว่า

“It isn’t so much what’s on the table that matters, as what’s on the chairs.”,

“ไม่ใช่สิ่งที่อยู่บนโต๊ะหรอก สิ่งที่อยู่บนเก้าอี้ต่างหากที่สำคัญ”

 


อ้างอิง :

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์. (2557). Pop Teen จักรวาลบนโต๊ะอาหาร. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4-10 เมษายน 2557.

Benjamin Tepler. (2014). Kinfolk Magazine Takes Over the World. Access 2 February 2021, from https://www.pdxmonthly.com/news-and-city-life/2014/04/kinfolk-magazines-family-business-april-2014

Tim Murphy. (2014). Better Homes and Hipsters. Access 2 February 2021, from https://www.nytimes.com/2014/04/27/fashion/kinfolk-magazine-the-martha-stewart-living-of-the-portland-set.html

Hila. (2011). Kinfolk Magazine. Access 1 February 2021, from https://desktopmag.com.au/blogs/kinfolk-magazine

Leslie Jamison. (2020). Kinfolk Began as a Labor of Love, But Didn’t Turn Out as Planned. Access 1 February 2021, from https://www.elle.com/culture/art-design/a27560262/kinfolk-magazine-katie-searle/


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564