ทำไมถึงมีประเพณี “แย่งศพ” ของมอญ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร?

เกาะเกร็ด ชุมชนมอญกลางแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

…ประเพณีแย่งศพของมอญนั้น เชื่อกันว่ามีที่มาจากธรรมเนียมของกษัตริย์มอญ ที่เริ่มขึ้นในรัชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์แห่งกรุงหงสาวดี (ครองราชย์ พ.ศ. 2013-35) ดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารมอญ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 รับสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะฯ แปลออกมาเป็นวรรณคดีไทยเรื่องราชาธิราช กล่าวถึงเหตุการณ์ภายหลังจากพระนางตะละเจ้าท้าว (พม่าเรียก “เช็งสอบู” ขณะที่มอญเรียก “มิจาวปุ”) กษัตริย์มอญเสด็จสวรรคต พระเจ้าธรรมเจดีย์ พระโอรสบุญธรรม ได้คิดอุบายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์ โดยแฝงไว้ในพิธี “แย่งศพ” ก่อนพระราชทานเพลิงศพพระราชมารดาบุญธรรม ดังความในวรรณคดีเรื่องราชาธิราช ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มในฉบับออนไลน์ – กองบก.ออนไลน์]

“อยู่มาตะละนางพระยาท้าวเสด็จทิวงคต พระชนมายุได้เจ็ดสิบเอ็ดปี อยู่ในราชสมบัติได้ห้าสิบเอ็ดปี ลุศักราช 896 ปี พระเจ้าหงสาวดีจึงสั่งให้ทำพระเมรุมาศ โดยขนาดสูงใหญ่ในท่ามกลางเมือง ให้ตกแต่งด้วยสรรพเครื่องประดับทั้งปวงเป็นอันงามอย่างยิ่ง แล้วตรัสปรึกษาเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงว่าสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงของเรานี้มีพระคุณเป็นอันมาก ทรงอุปถัมภ์บำรุงเรามาจนได้เป็นเจ้าแผ่นดิน เราคิดจะสนองพระเดชพระคุณให้ถึงขนาด ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด

เสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงได้ฟังพระราชโองการตรัสปรึกษาดังนั้นก็กราบทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งปวงเป็นทาสปัญญา การทั้งนี้สุดแต่พระองค์จะทรงพระดำริเถิด ข้าพเจ้าทั้งปวงจะทำตามรับสั่งทุกประการ พระเจ้าหงสาวดีจึ่งตรัสว่า เราจะทำไว้ให้เป็นอย่างในการปลงศพ จะได้มีผลานิสงส์ยิ่งขึ้นไป จึงสั่งให้ทำเป็นรูปเหรา มีล้อหน้าแลท้ายสรรพไปด้วยไม้มะเดื่อแลไม้ทองกวาว แล้วจึงทำเป็นรัตนบัลลังก์บุษบกตั้งบนหลังเหรา ให้แต่งการประดับจงงดงาม เร่งให้สำเร็จในเดือนหน้าจงได้

เสนาบดีทั้งปวงรับสั่งแล้วก็ออกมาให้แจกหมาย เกณฑ์กันเร่งกระทำทุกพนักงาน เดือนหนึ่งก็สำเร็จดังพระราชบัญชาทุกประการ ทั้งพระเมรุมาศซึ่งทำมาก่อนนั้นก็แล้วลงด้วย พระเจ้าหงสาวดีได้ทราบว่าการทั้งปวงเสร็จแล้ว จึ่งให้หมายบอกกำหนดงานในเดือนเก้า ขึ้นเก้าค่ำ จะเชิญพระศพไปยังพระเมรุมาศ…

ครั้นถึงเดือนเก้าขึ้นเก้าค่ำ เสนาพฤฒามาตย์ ราชกระวีมนตรีมุขทั้งปวง อีกเมืองเอกโทตรีจัตวาก็มาพร้อมกัน พระเจ้าหงสาวดีจึ่งให้ตั้งขบวนแห่ อัญเชิญพระศพสมเด็จตะละนางพระยาท้าวลงสู่บุษบกบัลลังก์เหนือหลังเหรา แล้วตรัสสั่งเสนาบดีให้แยกกันเป็นสองพวก จะได้แย่งชิงพระศพเป็นผลานิสงส์

เสนาบดีทั้งปวงก็แบ่งกันออกเป็นสองแผนกโดยพระราชบัญชา พระเจ้าหงสาวดีจึ่งเสด็จดำเนินด้วยพระบาท ทรงจับเชือกแล้วตั้งพระสัตยาธิษฐานว่า ข้าพเจ้ามีความกตัญญูรู้พระคุณสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยง จึ่งคิดทำการให้ลือปรากฏไปทุกพระนคร ขอคุณพระรัตนตรัยจงเป็นที่พึ่ง ถ้าบุญข้าพเจ้าจะวัฒนาการสืบไปแล้ว ขอให้ชิงพระศพสมเด็จพระราชมารดาจงได้มาดังใจคิดเถิด ครั้นตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว จึงตรัสสั่งให้จับเชือกชักพร้อมกัน…

ขณะนั้นเป็นการโกลาหลสนุกยิ่งนัก เสนาบดีแลไพร่พลทั้งปวงก็เข้าแย่งชักเชือกเป็นอลหม่าน พระศพนั้นก็บันดาลได้มาข้างพระเจ้าหงสาวดี เสียงชนทั้งปวงโห่ร้องพิลึกลั่นทั้งนคร พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระโสมนัสนัก จึ่งให้ชักแห่พระศพไปพร้อมด้วยเครื่องสูงไสว ทั้งกรรชิง กลิ้งกลด อภิรุม ชุมสาย พรายพรรณ พัดโบก และจามรทานตะวันอันพรรณราย สล้างสลอนด้วยธงเทียวทั้งหลาย เขียวเหลืองขาวแดงดารดาษ เสียงสนั่นพิณพาทย์เครื่องประโคมฆ้องกลองกึกก้องโกลาหล สะพรึบพร้อมด้วยหมู่พลอันจัดเข้าในขบวนแห่แหนดูอเนกเนืองแน่นประหนึ่งจะนับมิได้

การแห่พระศพครั้งนี้ครึกครื้นเป็นมโหฬารดิเรก เปรียบประดุจการแห่อย่างเอกของนางอัปสรกัญญาทั้งเจ็ดองค์ ซึ่งแห่พระเศียรท้าวกบิลพรหมผู้เป็นปิตุรงค์ กับด้วยทวยเทพยเจ้าทั้งปวงอันเวียนเลียบเหลี่ยมไศลหลวงประทักษิณษิเนรุราช

ครั้นถึงพระเมรุมาศจึงให้เชิญพระศพขึ้นตั้งยังมหาบุษบกเบญจาสุวรรณ ให้มีงานมหรสพสมโภชเจ็ดวันเจ็ดคืน จุดดอกไม้เพลิงถวายพระศพ มีพระธรรมเทศนาและพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญอันดับ สวดสดับปกรณ์ ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ และโปรยทานกัลปพฤกษ์แก่ยาจกวนิพกเป็นอันมาก แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปถึงบิดามารดา

ครั้นครบเจ็ดวันจึ่งถวายพระเพลิง พร้อมด้วยเสนาบดี พระวงศานุวงศ์ผู้น้อยผู้ใหญ่ฝ่ายในฝ่ายหน้า อีกทั้งพระสงฆ์ฐานานุกรมเป็นอันมาก แล้วให้แจงพระรูปเก็บพระอัฐิใส่ในพระโกศทองประดับพลอยเนาวรัตน์ อัญเชิญเข้าบรรจุไว้ในพระมุเตา แล้วให้มีงานสมโภชอีกสามวันตามราชประเพณีกษัตริย์แต่ก่อน

ครั้นการเสร็จแล้ว พระเจ้าหงสาวดีจึ่งตรัสแก่เสนาบดีทั้งปวงว่า เราทำการครั้งนี้เป็นผลานิสงส์สนุกยิ่งนัก แต่นี้ไปใครจะทำการศพบิดามารดาผู้มีคุณ ก็ให้ชิงศพเหมือนเราซึ่งทำไว้เป็นอย่างฉะนี้ จึ่งได้เป็นประเพณีฝ่ายรามัญสืบกันมาจนบัดนี้”

ด้วยเหตุนั้นประเพณีแย่งศพจึงสืบทอดมาจนปัจจุบัน ด้วยมีปฐมเหตุมาจากกุศโลบายของพระเจ้าธรรมเจดีย์ปิฎกธรที่ต้องการแสดงให้ไพร่ฟ้าประชาชนประจักษ์ในบุญญาภินิหารของพระองค์ และเห็นพ้องว่าวิญญาณของบุรพกษัตริย์ตลอดจนเทพดาฟ้าดินแซ่ซ้องสนับสนุนให้พระองค์ ผู้ซึ่งเป็นเพียงโอรสบุญธรรม ซ้ำยังกำเนิดในชาติภูมิสามัญชน ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระมารดาบุญธรรมในฐานะพระเจ้าแผ่นดินรามัญประเทศ

กลวิธีตามอุบายของพระเจ้าธรรมเจดีย์ในครั้งนั้น พระองค์แบ่งทหารออกเป็น 2 ฝ่าย โดยพระองค์เข้าไปอยู่ในฝ่ายหนึ่ง แล้วจับเชือกที่ผูกไว้กับราชรถเหรา (นาค) ตั้งสัตยาธิษฐาน หากพระองค์คิดดีคิดชอบจงรักภักดีกตัญญูรู้คุณในพระนางตะละเจ้าท้าวแล้วไซร้ ให้รถเหราเคลื่อนมาทางพระองค์ ครั้นออกแรงดึง ผลก็เป็นไปอย่างที่คาดหวังได้ (คงเดาได้ไม่ยากว่า ทหารที่อยู่อีกฟากจะกระทำการอย่างไรให้เป็นที่พอพระทัย) และแล้วพระศพก็ไหลมาข้างพระองค์ แสดงให้อาณาประชาราษฎร์เห็นว่า พระนางตะละเจ้าท้าวรับรู้ และอยู่ข้างพระองค์ แน่นอนว่าผู้คนส่วนใหญ่ในแผ่นดินก็ยอมรับในพระเจ้าธรรมเจดีย์มหาปิฎกธร พระมหากษัตริย์แห่งรามัญประเทศมากยิ่งขึ้นด้วยอุบายครั้งนั้น

ปัจจุบัน ประเพณีแย่งศพในหมู่คนมอญเมืองไทย เหลือแต่เพียงในกลุ่มคนเก่าแก่ที่เพียงปฏิบัติตาม “เคล็ด” ที่ทำสืบกันมา กล่าวคือ ก่อนที่จะนำโลงศพขึ้นสู่เชิงตะกอน ก็ทำทีดึงถอยหลังยื้อเดินหน้า ทำอยู่ 3 ครั้ง สมมุติเป็นการแย่งศพ ซึ่งทั้งหมดก็ใช้เวลาไม่ถึงชั่วอึดใจ ส่วนใหญ่ทำไปตามธรรมเนียมโดยไม่รู้ความหมาย แต่สำหรับในหมู่คนมอญในเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ที่เคร่งครัดในธรรมเนียมประเพณีและหลักปฏิบัติทางศาสนา ยังคงสืบสานประเพณีดังกล่าว รวมทั้งได้พัฒนารูปแบบจนเป็นชุดการแสดงที่สวยงามพร้อมเพรียงน่าชม และกลายเป็นการแข่งขันประกวดประขันกันในทีไม่ต่างจากประเพณีการจุดลูกหนูเผาศพพระของคนมอญเมืองไทย

ประเพณีแย่งศพที่คนมอญเมืองมอญดัดแปลงเพิ่มเติมจนกระทั่งเป็นประเพณี “วอญย์แฝะ” ในปัจจุบัน นับเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณอย่างหนึ่ง พิธีนี้จะทำกันเฉพาะในการปลงศพพระเถระ พระภิกษุสงฆ์ระดับเจ้าอาวาส ที่มีผู้นับหน้าถือตา ลูกศิษย์ลูกหารักใคร่…

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ประเพณีแย่งศพ (วอญย์แฝะ)” โดย องค์ บรรจุน ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม พ.ศ. 2559

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2564