ความอลหม่านและข้อถกเถียงใน “พังก์” ดนตรีที่ถูกจับให้คู่กับ “การต่อต้านทางวัฒนธรรม”

(ซ้าย) ผู้เข้าชมการจัดแสดงงาน 'The Queen: Art and Image' ที่พิพิธภัณฑ์ในเบลฟาสต์ เมื่อ 14 มกราคม 2001 [ภาพจาก PETER MUHLY / AFP] (ขวา) ภาพถ่ายสมาชิกวง Sex Pistols วงดนตรีพังก์ในบริเทน เมื่อ 1977 [ภาพจาก AFP FILES / ARCHIVES / AFP]

ดนตรีรูปแบบต่างๆ ล้วนมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของแทบทุกสังคมในโลก ไม่ว่าผู้คนเหล่านั้นจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในบรรดาดนตรีที่ปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ ดนตรีพังก์ (Punk) น่าจะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบดนตรีที่เต็มไปด้วย “ความอลหม่าน” ไม่ได้เพียงแค่อลหม่านในเชิงกายภาพอย่างการแสดงบนเวที การแสดงออกทั้งทางความคิด ทางแฟชั่นเครื่องแต่งกายและกิจกรรมอื่น ไปจนถึงบริบทแวดล้อมในบรรยากาศของพังก์ แม้แต่การนิยามหรือการศึกษาจำแนกดนตรีว่าชนิดไหนเป็น “พังก์” หรือไม่เป็นพังก์ ก็เป็นเรื่องชวนสับสน

ก่อนจะเริ่มเอ่ยถึงการก่อร่างของวัฒนธรรมดนตรีที่เรียกว่า “พังก์” ในที่นี้ก็ต้องดำเนินรอยตามธรรมเนียมงานเขียนอื่นๆ ที่มักต้องอธิบายนิยามและความเป็นมาของคำศัพท์นั้นๆ ก่อน จากการเขียนทางวิชาการหลายชิ้น รวมถึงงานเขียนของอธิป จิตตฤกษ์ ในชื่อ “พังค์กับสัมพัทธนิยมของการปะทะต่อต้าน” ซึ่งวิเคราะห์งานเขียนทางวิชาการเกี่ยวกับพังก์ และในตอนต้นของงานเขียนของอธิป เขาได้ว่าอธิบายความเป็นมาของคำว่า พังก์ ว่า

“เป็นคำเก่าแก่ในสังคมอังกฤษ สืบกลับไปได้ถึงปลายศตวรรษที่ 16 หมายถึงโสเภณีและหญิงขายตัวชั้นต่ำ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คำนี้หมายถึงเด็กเหลือขอ และมีการนำไปใช้เป็นคำแสลงเรียกผู้ต้องขังชายที่ขายบริการทางเพศในเรือนจำ ช่วงปลายศตวรรษ 1960 ในประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มมีผู้นำคำนี้มาใช้เรียกวงดนตรีการาจร็อค (Garage Rock) แต่ก็ใช้เรียกกันอยู่แค่ในวงแคบๆ คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงใช้คำนี้เรียกพวกที่ขายตัวในเรือนจำมากกว่า”

อธิป จิตตฤกษ์ อธิบายต่อว่า คำนี้กลายเป็นที่รู้จักแพร่กระจายไปในระดับโลกในช่วงปี ค.ศ. 1976 เริ่มมาจากในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากที่กลุ่มวัยรุ่นทำนิตยสารเกี่ยวกับดนตรีในนิวยอร์ก โดยใช้ชื่อนิตยสารว่า “พังก์” คำนี้จึงถูกนำมาใช้ในแวดวงดนตรี หลังจากนั้นก็ถูกนักวิจารณ์ดนตรีอังกฤษยืมคำมาใช้เรียกกระแสดนตรีใต้ดินวัยรุ่นที่กำลังก่อตัวขึ้นมาในอังกฤษ นับตั้งแต่นั้นมา คำว่า “พังก์” กลายเป็นมีความหมายถึงแนวดนตรีร็อคซึ่งมาพร้อมกับแฟชั่นเครื่องแต่งกายแบบจัดจ้าน สักผิวหนัง ไปจนถึงไว้ทรงผมแบบโมฮอว์ค และสกินเฮด

พังก์ยุคก่อร่างความเฟื่องฟู

เมื่อพูดถึงคำว่า “พังก์” สำหรับคนที่พอติดตามวัฒนธรรมหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงดนตรีมาบ้าง หลายคนน่าจะนึกถึงภาพของวง Sex Pistols จากอังกฤษเจ้าของพฤติกรรมแสนห้าว และภาพลักษณ์แบบก้าวร้าว นักวิชาการและนักเขียนในแวดวงดนตรีเห็นพ้องกัน (หรืออย่างน้อยก็เห็นใกล้เคียงกัน) ว่า ช่วงที่วัฒนธรรมแบบพังก์จุดระเบิดขึ้นมาคือระหว่างค.ศ. 1976-79 (บางแห่งบอกว่าจนถึงปี 1978)

ในปี 1976 นั่นเอง สื่อต่างประเทศหลายแห่งรายงานกันโดยอ้างอิงบันทึกว่า วง Sex Pistols ขึ้นแสดงในรายการโทรทัศน์เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 1976 และนั่นก็สร้างความตกตะลึงให้กับผู้ชม ในการออกอากาศครั้งนั้น The Guardian ระบุว่า เป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์แห่งบริติช (จนถึงปี 2018) ที่มีคำว่า Fuck หลุดออกอากาศ นับตั้งแต่นั้นมา คำว่า “พังก์” จึงพอจะเรียกได้ว่าอยู่ในสายตาของคนทั่วไปอย่างเป็นทางการ

พฤติกรรมอันหยาบคายและก้าวร้าวของ Sex Pistols เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้พวกเขาเป็นที่สนใจในหมู่วัยรุ่น ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่พวกเขาผลิตและประพฤติออกมาไม่ได้ปรากฏเพียงแค่ผลงานทางดนตรี แต่ยังมีเรื่องราวและการกระทำอีกหลายประการที่ทำให้วัฒนธรรมพังก์ กลายเป็นอีกหนึ่งหัวข้อศึกษาทางวิชาการในแง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรม แวดวงวิชาการสนใจวัฒนธรรมพังก์ในรูปแบบ “การต่อต้านทางวัฒนธรรม” ที่ปรากฏศัพท์อย่างคำ ต่อต้าน, คัดค้าน, ปฏิเสธ, ท้าทาย, บ่อนเซาะ และล้มล้าง

ในข้อเท็จจริงแล้ว วง Sex Pistols (หรือวงที่โด่งดังตามมาอย่าง The Clash) ไม่ใช่ตัวแทน ไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่อธิบายวัฒนธรรม “พังก์” แบบครบถ้วน Andy Linehan ผู้ดูแลแผนกดนตรีร่วมสมัยประจำห้องสมุดแห่งบริติช ยอมรับว่า การนิยามคำว่า “พังก์” ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ความอลหม่านของพังก์ ในวงวิชาการและงานเขียนต่างๆ

นักวิชาการหรือนักเขียนหลายรายมีมุมมองต่อพังก์แตกต่างกันออกไป แต่ปฏิเสธได้ยากว่า ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือคนทั่วไป มักมองดนตรีที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ร็อค” เป็นดนตรีที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดรุนแรง มัลคอล์ม แม็กลาเรน (Malcolm McLaren) ผู้จัดการวง Sex Pistols ให้สัมภาษณ์โดยยอมรับไว้แบบนั้นเช่นกัน แต่เขาเปรียบเทียบเพิ่มเติมว่า “แต่ความรุนแรงอย่างการที่วัยรุ่นไม่มีงานทำ มาอยู่บนท้องถนนโดยไม่รู้ว่าจะทำอะไร นั่นคือความรุนแรงต่อสังคม”

ดิค เฮบดิจ (Dick Hebdige) ผู้เขียนหนังสือว่าด้วยวัฒนธรรย่อย หรือ Subculture : The Meaning of Style อธิบายวัฒนธรรมย่อยในฐานะรูปแบบของการต่อต้าน โดยที่ประสบการณ์ความขัดแย้งและความรู้สึกในแง่คัดค้านอุดมการณ์ที่ครอบงำอยู่นั้น ถูกแสดงออกโดยอ้อมผ่านการประพฤติตัว การแสดงออก ตั้งแต่การแต่งกาย ความประพฤติที่ถูกจัดว่า อยู่นอกเหนือ “แบบแผนอันดีในสังคม” ซึ่งบรรดาตัวอย่างเหล่านี้ เฮบดิจ นิยามมันโดยใช้คำเรียกว่า “สไตล์” (Style) โดยมีสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการนำสิ่งของต่างๆ มาให้ความหมายใหม่ที่แตกต่างจากการรับรู้ของคนทั่วไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของเครื่องหมายสวัสดิกะที่มักพบบนเครื่องแต่งกายของชาวพังก์ ดิค เฮบดิจ วิเคราะห์ความหมายว่าสื่อถึงความเป็นศัตรูแก่ผู้พบเห็น ขณะที่การแต่งกายของพังก์ เป็นเครื่องมือในการปฏิเสธความหมาย แต่เดฟ แลง (Dave Lang) นักเขียนผู้ศึกษาเกี่ยวกับพังก์ในเชิงวิชาการ แสดงความคิดเห็นโต้ไว้ในงานเขียนชื่อ “One Chord One Wonders” ว่า ความหมายไม่ได้เกิดจากการกำหนดของผู้สื่อความเพียงฝั่งเดียว ความหมายยังขึ้นกับผู้อ่านด้วย กล่าวคือ ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกแค่ไม่พอใจ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงพังก์กับนาซี

กรณีนี้เคยมีผู้สื่อข่าวจาก The Observer ไปสัมภาษณ์แฟนเพลงพังก์ในท้องถิ่นในช่วงกลางยุค 70s ขณะที่พวกเขาเดินทางมาเพื่อชมการแสดงของ Sex Pistols ผู้สื่อข่าวถามถึงเครื่องหมายสวัสดิกะบนเครื่องแต่งกายของพวกเขา แฟนเพลงรายหนึ่งที่ชื่อ Josie ตอบว่า “เราไม่ได้ทำตามแบบพวกฟาสซิสต์ หรืออะไรทำนองนั้น เราแค่ชอบพวกชุดเท่านั้นเอง”

นักเขียนเกี่ยวกับดนตรีร็อคอีกรายอย่าง ไซมอน ฟริธ (Simon Frith) เขียนงานเกี่ยวกับดนตรีพังก์และร็อกในหนังสือ Sound Effects ช่วงหนึ่งเขายอมรับว่า ตัวเขามองว่าพังก์ มีลักษณะดนตรีต่อต้านชนชั้นกลางก็จริง แต่ก็ไม่ได้มองว่าพังก์เป็นดนตรีจากชนชั้นแรงงาน โดยฟริธ มองว่าพังก์ ไม่ได้มีลักษณะทางชนชั้นอย่างชัดเจน และยังมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งนี้เองทำให้พังก์ เป็นพื้นที่ของความหลากหลายที่เปิดโอกาสให้คนหลายกลุ่มมารวมตัวกัน

ความขัดแย้งภายในความเข้าใจหรือนิยามของความเป็นพังก์นั้นปรากฏอยู่หลายจุด งานศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมพังก์ หลายชิ้นก็ล้วนโต้ตอบกันไปมา กรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือประเด็นเรื่องแนวคิดทางการเมืองของพังก์ สจ๊วต โฮม (Stewart Home) นักเขียนที่เติบโตขึ้นท่ามกลางกระแสพังก์ในลอนดอน เขาเกิดเมื่อ ค.ศ. 1962 และใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นในช่วงที่พังก์ เฟื่องฟูช่วงแรกเริ่ม โฮม ถึงกับมองว่า พังก์ คือความสับสนยุ่งเหยิงอันเกิดแนวคิดอันหลากหลาย แต่ละคนมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน จุดร่วมอย่างหนึ่งที่ว่าเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจทางสังคม แต่การแสดงออกก็ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน การแสดงด้วยการละเมิดข้อห้ามทางสังคม อาทิ ห้ามพูดถึงเรื่องเชิงลบในชีวิต ก็ถูกมองว่าเป็นแนวคิดทางการเมือง

โฮม มองว่า การเมืองของพวกพังก์ เป็นเรื่องคลุมเครือ การจัดกลุ่มให้พังก์ เข้าไปอยู่ในอุดมการณ์แบบซ้าย ขวา ล้วนเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ เนื่องจากการจำแนกพังก์ทั่วไปว่าจะมีแนวคิดทางการเมืองแบบ “อนาธิปัตย์” (Anarchism) ก็เป็นเรื่องที่พูดยาก

สภาพเหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่ผู้ศึกษางานเชิงวิชาการและงานเขียนที่ไม่ใช่เชิงวิชาการอย่างอธิป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพความยากลำบากและปัญหาที่มักพบในการศึกษาวัฒนธรรม “พังก์” สืบเนื่องมาจากขาดงานศึกษาภาคสนาม งานวิชาการพังก์ส่วนใหญ่ (แทบทั้งหมด) ปราศจากข้อมูลปากคำของคนที่เคยร่วมกระแสพังก์ แต่ในอดีตด้าน แม้แต่การบอกเล่าจากคนพังก์ เองก็ไม่อาจฉายภาพหรือให้หลักฐานที่นำไปสู่การตีความได้อย่างครบถ้วนเช่นกัน ซึ่งอธิป มองว่า ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบของคำถามว่า

“ทำไมแนวคิดเรื่องการต่อต้านทางวัฒนธรรม และความคิดเรื่องการเมืองในชีวิตประจำวันของคนตัวเล็กตัวน้อยที่แพร่หลายในวงวิชาการและนักเคลื่อนไหวทั่วไปจึงดูผิวเผิน และตื้นเขินอย่างที่เป็นมา เป็นอยู่ และจะเป็นต่อไปในอนาคต”

 


อ้างอิง:

อธิป จิตตฤกษ์. “พังค์กับสัมพัทธนิยมของการปะทะต่อต้าน”. วัฒนธรรมต่อต้าน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษวิทยาศิรินธร (องค์การมหาชน), 2556.

Piskorz, Juliana. “From the archive: the birth of punk”. The Guardian. Online. 27 MAY 2018. Access 14 DEC 2020. <https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2018/may/27/from-the-archive-1976-the-birth-of-punk-sex-pistols>

Fox, Killian. “Happy Birthday Punk: the British Library celebrates 40 years of anarchy and innovation”. The Guardian. Online. Published 13 MAR 2006. Access 14 DEC 2020. <https://www.theguardian.com/music/2016/mar/13/punk-1976-1978-british-library-40th-anniversary-sex-pistols-buzzcocks>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2563