“ตลาด” ของชาวสวนฝั่งธนบุรี ในความทรงจำของลูกชาวสวน

ภาพถ่ายตลาดน้ำวัดไทรจากโปสการ์ด
เก่าเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว

บริเวณชายขอบของจังหวัดธนบุรี เมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อน ลูกชาวสวนส่วนมากจะไม่ได้เรียนหนังสือถึงระดับมัธยมศึกษา ยิ่งในระดับอุดมศึกษาด้วยแล้วนับหัวได้ ช่วงก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ จำได้ว่าในคลองบางประทุนที่เป็นคลองเชื่อมระหว่างคลองสนามชัยกับคลองภาษีเจริญหรือคลองขุดในการเรียกของชาวพื้นถิ่นอำเภอภาษีเจริญ เช่นเดียวกับการเรียกคลองสนามชัยว่าคลองใหญ่ของชาวบางขุนเทียน มีลูกชาวสวนที่ได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษาเพียง ๓ คน นักศึกษาแพทย์ ๒ คน และนักศึกษาสถาปัตยกรรม ๑ คน การที่ลูกชาวสวนไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมมีมูลเหตุอยู่หลายประการ ดังนี้

๑. ฐานะทางการเงิน ครอบครัวชาวสวนส่วนมากฐานะทางการเงินไม่ค่อยดี ไม่มีความมั่นคง เนื่องจากการประกอบอาชีพ แม้บางครอบครัวจะทำอาชีพอื่นเสริมนอกจากการทำสวน เช่น ทำน้ำตาลมะพร้าว ทั้งน้ำตาลปึก น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลสด และน้ำตาลลวก บางโอกาสยังทำน้ำตาลเมากินเองและขายเพื่อนบ้านด้วย พยายามเพิ่มฐานะ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจในสมัยนั้น ฐานะการเงินของครอบครัว
ก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น การเรียนต่อของลูกชาวสวนจึงมีอุปสรรค

๒. โรงเรียนในระดับมัธยมของอำเภอบางขุนเทียนและอำเภอภาษีเจริญมีน้อยโรง โรงเรียนวัดราชโอรสเป็นโรงเรียนชายเพียงหนึ่งโรงเรียนเท่านั้น โรงเรียนสำหรับนักเรียนหญิงไม่มี สำหรับอำเภอภาษีเจริญ จะมีโรงเรียนวัดนวลนรดิศ เป็นโรงเรียนนักเรียนชาย โรงเรียนวัดรางบัว เป็นโรงเรียนสหศึกษา แต่นักเรียนหญิงมีเพียงมัธยมศึกษา ๓ เท่านั้น มีการย้ายนักเรียนหญิงจากโรงเรียนวัดราชโอรสมาเปิดโรงเรียนสำหรับนักเรียนหญิงโดยเฉพาะคือ โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ หรือโรงเรียนวัดหมูจากการเรียกของชาวบ้าน

การที่มีโรงเรียนมัธยมน้อย ห่างไกลจากที่อยู่อาศัย การเดินทางไกล ลำบากและอันตรายในการเดินทาง จึงเป็นอุปสรรคในการเรียนต่อ โดยเฉพาะลูกชาวสวนที่เป็นหญิง

๓. ครอบครัวชาวสวนในสมัยก่อนมักมีทัศนคติว่าเรียนสูงไปแล้วก็เท่านั้น ไม่มีทางทำงานราชการ หน่วยงานราชการมีน้อย งานเอกชนไม่มีเลย ยิ่งเด็กหญิงมักมีโอกาสน้อยที่จะได้เรียนต่อ เพราะไม่นานก็ต้องออกเรือนมีครอบครัว

ภาพถ่ายตลาดน้ำวัดไทรจากโปสการ์ด
เก่าเมื่อกว่า ๔๐ ปีมาแล้ว

ด้วยเหตุดังกล่าวมา ทำให้ลูกชาวสวนต้องหยุดเรียนเมื่อจบชั้นประถม ๔ ซึ่งเป็นเกณฑ์บังคับของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น การไม่ได้เรียนต่อก็จะเป็นการเพิ่มแรงงานของครอบครัว ทั้งทำงานบ้าน หุงหาอาหาร เตรียมฟืน เตรียมเชื้อไฟโดยการทอนทางมะพร้าวแห้ง ผ่าหัวตะโหงก ฉีกกาบเขียงแห้งให้เป็นริ้วแล้วมัดให้เป็นกำสำหรับทำเชื้อไฟ ทอนหรือผ่ากิ่งทองหลางที่แช่น้ำและลอกเปลือกออกตากแดดให้แห้ง ฟืนจากไม้ทองหลางนับว่าเป็นฟืนชั้นดี ถ้าว่างจากงานอื่นก็เข้าครัว ทำความสะอาดพื้น ขนขี้เถ้าออกจากเตาให้หมด เพราะจะเป็นที่นอนอย่างดีของแมว ผลจากการนอนของแมว คือพื้นครัวพื้นบ้านพื้นชานจะเต็มไปด้วยขี้เถ้าจากตีนแมว และผลการนอนของแมวอีกอย่างหนึ่งก็คือแมวจะเยี่ยวรดไว้ในเตา เมื่อติดไฟเพื่อหุงข้าวหรือทำกับข้าว เยี่ยวแมวเมื่อถูกไฟจะมีกลิ่นที่ร้ายกาจมาก

การทำงานบ้านดังกล่าวเป็นหน้าที่ของลูกชาวสวนที่เป็นหญิงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนลูกชาวสวนที่เป็นชายจะช่วยเป็นบางอย่าง เช่น ทอนฟืน ผ่าฟืน หอบฟืนขึ้นเก็บในครัวข้างเตาไฟ หน้าที่ประจำก็คือ ตักน้ำขึ้นครัว ชาวสวนฝั่งธนบุรีจะปลูกที่พักอาศัยแบบเรือนไทยภาคกลางชนิดเรือนชาวสวน เรือนครัวจะอยู่หลังบ้าน มีบันไดลงไปยังท่าน้ำริมคลอง สมัยนั้นไม่มีน้ำประปา ไฟฟ้า น้ำที่ใช้ในการหุงข้าว ล้างหม้อ กระทะ จานชาม ต้องใช้น้ำคลองซึ่งเรียกว่า “น้ำท่า” ลูกชาวสวนที่เป็นผู้ชายจะมีหน้าที่ใช้กระป๋องตักน้ำจากคลองหิ้วขึ้นบันไดไปใส่ตุ่มในครัวซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ร่องที่สำหรับทิ้งน้ำ เศษผง เมื่อเต็มดีแล้วจะเอาสารส้มก้อนถนัดมือแกว่งให้ละลายพอสมควร น้ำท่าที่มีตะกอนของดินโคลนจะนอนก้น น้ำจะใสสะอาด พร้อมที่จะใช้ แต่ถ้าเผลอแกว่งนานไป น้ำจะมีรสฝาดไม่เหมาะที่จะใช้ ต้องเททิ้ง

เมื่อช่วยงานบ้านดังกล่าวแล้ว ลูกผู้ชายยังมีความกระตือรือร้นออกไปเป็นลูกมือในการทำสวน การได้ช่วยพ่อแม่เป็นสิ่งที่ภูมิใจของเด็กสมัยก่อน ช่วยในการเก็บหน้าหมาก ขนหมากกลับบ้าน คอยนับมะพร้าวที่พ่อขึ้นเพื่อกันหลง ขนมะพร้าวใส่เรือล่องตามลำกระโดงสู่เพิงหน้าบ้าน ตอนบ่ายถึงตอนเย็นจะช่วยตัดแต่ง ตระเตรียมผลิตผลจากสวน บรรทุกเรือเตรียมไปขายยังตลาดตอนเช้ามืด

นอกจากหมาก มะพร้าว ผลไม้ที่นำไปขายยังตลาดแล้ว ยังมีพลูที่กินกับหมาก พลูเป็นพืชที่ขายดี เพราะคนไทยไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายนิยมกินหมากกันทุกคน แต่ก็มีช่วงหนึ่งประเทศไทยมีผู้นำที่ห้ามกินหมาก ห้ามชาวสวนปลูกพลู ถ้าเป็นสมัยนี้คงมีการประท้วงกันวุ่นวาย ลูกชาวสวนจะช่วยกันเก็บพลู พลูของชาวสวนคนไทยจะใช้ต้นทองหลางเป็นค้าง ต้นทองหลางชาวสวนนิยมปลูกเป็นระยะๆ ไปตามแคมร่อง รากจะยึดแคมร่องไม่ให้พัง ใบ กิ่ง ลำต้น มีประโยชน์มากมาย กิ่งใช้ทำฟืน พูหรือรากจะใช้ทำแระ เป็นฐานรากอย่างดีของเรือนไทย ต้นทองหลางนี้จะเป็นที่ให้พลูเกาะได้เป็นอย่างดี ผิวของต้นทองหลางจะหยาบเหมาะให้พลูเกาะ ผิดกับพลูค้างของคนจีนที่ใช้เสาไม้ให้พลูเกาะ แถวข้างทางรถไฟสายมหาชัยเลยตลาดพลูไปนิดหน่อย ปลูกกันมากเพราะใกล้ตลาดพลู แหล่งซื้อขายพลู เมื่อเก็บพลูได้มากพอก็จะช่วยกำพลูเป็นกำๆ พร้อมนำไปขาย บางช่วงพลูมีใบมาก ขายไม่ทัน ก็จะนำพลูมานาบให้แห้งเก็บไว้ขายหน้าพลูมีน้อยหรือพลูขาดตลาด วิธีนาบก็คือเอากระทะเคี่ยวตาลที่เรียกกันว่ากระทะใบบัวตั้งบนเตาไฟ ใช้กาบหมากตัดคล้ายพัดนาบพลูกับก้นกระทะ พลูจะค่อยๆ ตายนึ่ง นำไปตากแดดให้แห้งสนิทเก็บใส่ตุ่ม เก็บไว้ขายต่อไป พลูที่เก็บไว้นี้เรียก “พลูนาบ”

ตลาดขายผลิตผลของชาวสวนย่านบางขุนเทียน ภาษีเจริญ ที่ทำสวนอยู่ตามลำคลองบางประทุน คลองบางหว้า คลองบางขุนเทียน คลองบางระแนะ คลองบางมด คลองดาวคะนอง ของอำเภอบางขุนเทียน คลองพระยาราชมนตรี คลองบางแค คลองบางจาก คลองบางขี้แก้ง คลองบางเพลี้ย คลองบางแวก ของอำเภอภาษีเจริญ จะนำผลิตผลหรือที่เรียกว่าของสวนออกไปขายยังตลาดโดยตรง ไม่ผ่านแม่ค้าคนกลางที่พายเรือมาซื้อยังสวนเพราะกดราคา หรือไม่ก็นำไปขายต่อก่อนนำเงินมาจ่าย แม่ค้าจะไม่กำหนดราคาการซื้อ เมื่อนำไปขายแล้วจึงจะจ่ายเงิน วิธีนี้เป็นความฉลาดของแม่ค้า เพราะไม่มีทางที่แม่ค้าจะขาดทุนเป็นอันขาด

ตลาดที่ชาวสวนนำของสวนไปขายนั้นมีไม่มาก การนำของสวนไปขายนั้นมีตลาดทั้งใกล้และไกล เช่น ตลาดน้ำวัดไทร ตลาดวัดกลางหรือวัดจันทาราม ตลาดวัดหนองแขม ซึ่งอยู่ภายในจังหวัดธนบุรี บางโอกาสยังข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขายยังตลาดวัดตะเคียนหรือวัดมหาพฤฒาราม ฝั่งพระนคร
ก็มี การเดินทางไปขายนั้น จะบรรทุกเรือสำปั้น ถ้าของขายมีมากก็จะใช้เรือสำปั้นขนาดใหญ่ หรือไม่ก็เรือสำปั้นแจว การเดินทางด้วยเรือนั้นจะใช้วิธีพาย หรืออย่างดีก็ใช้วิธีแจว

แหล่งตลาดของชาวสวนฝั่งธนบุรี

ตลาดน้ำวัดไทร

วัดไทรเป็นวัดประวัติศาสตร์ มีสถาปัตยกรรมที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานคือ พระตำหนักทองและหอระฆัง ไม่ทราบว่าอุโบสถรอดการขึ้นทะเบียนไปได้อย่างไร เป็นอุโบสถขนาดเล็กมีรูปแบบที่สืบทอดตามลำน้ำตลอดคลองด่าน คลองสนามชัย คลองมหาชัย เมื่อเข้าเขตสมุทรสาคร ขนาดของโบสถ์จะแตกต่างกันไม่มาก ไม่ทราบว่าสมุทรสาครสมัยก่อนคงมีป่าไม้มาก อุโบสถทุกวัดจึงสร้างด้วยไม้

ในสมัยก่อนประเทศไทยมีตลาดน้ำที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ คลองสนามชัยหน้าวัดจะ
เต็มไปด้วยเรือของชาวสวนและเรือของพ่อค้าแม่ค้า ฝั่งคลองก่อนถึงวัด หน้าวัด เลยวัดไปจนถึงปากคลองบางมด ปากคลองบางระแนะ และเกือบถึงคุ้งเผาข้าวหลาม จะเต็มไปด้วยร้านค้าริมน้ำ การซื้อขายระหว่างเรือกับเรือ เรือกับร้านค้าบนบกริมน้ำ เป็นไปด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน มีความสงบ ไม่มีความวุ่นวาย แต่ต่อมาเมื่อมีชื่อเสียงขจรขจายเกิดมีการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยว โดยมาโดยเรือหางยาวขนาดใหญ่ใช้เครื่องยนต์ที่มีแรงม้ามาก มีความเร็ว ด้วยความเคยชินในการแล่นในแม่น้ำด้วยความเร็ว เมื่อผ่านบริเวณตลาดก็แล่นเร็ว เรือมีขนาดใหญ่ ทำให้คลื่นมีมากและลูกใหญ่ ความสงบหมดไป ความวุ่นวายก็บังเกิด มีการทะเลาะเบาะแว้ง เรือชาวสวน เรือพ่อค้าแม่ค้าล่ม ข้าวของลอยน้ำ ด้วยเวลาไม่นานตลาดน้ำก็ล่มสลาย ปัจจุบันซื้อขายกันบนลานวัดและถนนเข้าวัดแทน

ในการไปขายของสวนที่ตลาดน้ำวัดไทร คุณแม่จะเป็นผู้ไปขาย และจะให้ผู้เขียนนั่งหัวเรือช่วยพายเรือไปด้วย เมื่อขายของสวนหมดประมาณ ๘ นาฬิกา ก็จะซื้อจำพวกอาหาร เครื่องครัว เสื้อผ้า และอุปกรณ์ในการทำงอบ ซึ่งการทำงอบเป็นอาชีพเสริมของครอบครัว ผู้เขียนก็จะได้รับขนมเป็นสินน้ำใจ การพายเรือกลับบ้านจากตลาดถึงบ้านถ้าพายเรือทวนน้ำ กว่าจะถึงบ้านก็เหนื่อยพอสมควร แต่ก็มีความภูมิใจของลูกชาวสวนที่ได้ช่วยเหลือครอบครัว

ตลาดวัดกลาง

วัดกลางหรือวัดจันทาราม ตั้งอยู่ริมคลองฝั่งตะวันออกของคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวงของ
ชาวท้องถิ่น ถูกขนาบด้วยวัดราชคฤห์หรือวัดมอญและวัดอินทารามหรือวัดใต้ ปัจจุบันมีถนนเทอดไทผ่าน ชาวสวนคอยสืบข่าวจากเพื่อนบ้านว่าตลาดไหนราคาผลิตผลราคาดีหรือแพงกว่า ก็จะพากันย้ายไปขาย บางช่วงตลาดที่ขายอยู่เก่าราคาดีก็จะกลับมาขายใหม่

ตลาดวัดกลางแม้จะอยู่ไกล ของสวนขายดี ราคาสูง รวมทั้งที่เป็นตลาดของสด เช่น ปลา เป็ด ไก่ หมู เนื้อ มีราคาถูก เพื่อจะได้ซื้อหากลับบ้าน

สวนฝั่งธนบุรีกับสายน้ำลำคลองในอดีต

ด้วยระยะทางไกลจึงต้องพายเรือออกจากบ้านประมาณไม่เกิน ๔ นาฬิกา ออกเรือจากคลองบางประทุน เลี้ยวซ้ายไปตามคลองสนามชัย ผ่านสามแยกบางขุนเทียน ซ้ายมือจะเป็นสถานีตำรวจบางขุนเทียน ผ่านหน้าวัดราชโอรสาราม วัดนางนอง วัดหนัง วัดนางชี วัดขุนจันทร์ วัดอัปสรสวรรค์ วัดทั้งหมดอยู่ริมฝั่งคลองด่าน จำได้ว่าแถวๆ ก่อนถึงหน้าวัดใหม่ยายนุ้ย มีบ้านร้างหลังใหญ่ ๒ ชั้น รูปแบบทำนองเดียวกับบ้านคุณหลวง คุณพระที่อยู่ตลอดคลองจนถึงวัดสิงห์ จำได้ว่ามีบ้านของหลวงกำราบโรคาพาธ หลวง
วิชิต หลวงเทียน และพระพิบูลไอศวรรย์ บ้านทุกหลังจะยกพื้นชั้นล่างสูงไม่มาก ทุกหลังจะมีมุขหน้าทั้งชั้นล่างและชั้นบน เชิงชายบางหลังมีการประดับแผ่นไม้ลวดลายแบบบ้านขนมปังขิง บ้านร้างหลังดังกล่าวมีกิตติศัพท์ว่าผีดุ บางคืนไฟสว่างทั้งบ้าน มีเสียงดนตรีไทยได้ยินไปในระยะไกลก้องคุ้งน้ำ เวลาพายเรือผ่านต้องหลับตารีบพายให้ผ่านไปโดยเร็ว เลยบ้านร้างไปก็จะผ่านคุ้งเผาถ่าน จากนั้นเรือก็จะเข้าคลองบางกอกใหญ่ ผ่านตลาดพลู วัดราชคฤห์ ก็จะถึงวัดกลาง เลี้ยวเรือเข้าคลองสำเหร่ข้างวัด จอดเรือขนของสวนขึ้นวัด วางของขายข้างโรงโกดังเก็บศพ ก่อน ๖ โมงเช้าก็ขายของสวนหมด ซื้อของจำเป็น กลับถึงบ้านก็ประมาณ ๘ นาฬิกา เหนื่อยจากการพายเรือหลับเป็นตาย

ตลาดวัดหนองแขม

เมื่อทราบว่าชาวสมุทรสาครซึ่งเป็นชาวบางยาง ชาวอ้อมน้อย ชาวบ้านแพ้วจะนำผลิตผลประจำถิ่นมาขาย พร้อมซื้อของสวนประเภทหมาก มะพร้าว ผลไม้กลับไปกินและขาย การค้าขายที่ตลาดหนองแขมมีกำลังการซื้อขายที่สูงมาก ทำให้พ่อแม่พยายามนำของสวนไปขายแม้ว่าตลาดวัดหนองแขมจะไกลแสนไกลจากบางขุนเทียน ถ้าจำได้วัดหนองแขมอยู่ประมาณหลัก ๓ คลองภาษีเจริญเป็นคลองขุดใหม่ ในรัชกาลที่ ๕ โดยใช้ชาวจีนขุด การวัดความยาวของคลองกำหนดเป็นหลักเริ่มจากหลักศูนย์ปากคลองตรงเป็นประตูน้ำภาษีเจริญ คาดว่าระยะห่างระหว่างหลักคงใช้ระยะเป็นเส้น เข้าใจว่า ๑ หลักมีระยะทาง ๑๐๐ เส้น หรือ ๔ กิโลเมตร ระยะทางจากปลายคลองบางประทุนถึงวัดหนองแขมก็คงประมาณ
๖-๗ กิโลเมตร ระยะไกลมาก แต่ด้วยของสวนขายดี ขายคล่อง และราคาดีจึงต้องทนลำบากในการบรรทุกของสวน บรรทุกเรือสำปั้นขนาดใหญ่ บรรทุกของสวนได้มาก ไปขายบ่อยทำให้มีคนรู้จักที่ทำนา คบหากันสนิทสนม ไปมาหาสู่กันมายาวนาน

ตลาดวัดตะเคียน

เมื่อตลาดต่างๆ เริ่มวาย ซื้อขายไม่คล่อง เพื่อนบ้านมาบอกว่า มีตลาดที่วัดตะเคียนหรือวัดมหาพฤฒาราม คนกรุงเทพฯ หรือที่เรียกว่าคนฝั่งพระนครมาซื้อหาของสวนกันมาก มีกำลังการซื้อที่สูง พ่อแม่และเพื่อนบ้านจึงนำของสวนไปขาย แม้ตลาดวัดตะเคียนจะอยู่ไกลกว่าตลาดอื่น ต้องพายเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วตัดแม่น้ำข้ามไปฝั่งพระนคร วัดตะเคียนอยู่ริมคลองไม่ลึกไปจากแม่น้ำมากนัก พ่อแม่จะนำของสวนบรรทุกใส่เรือสำปั้นขนาดใหญ่หรือไม่ก็เป็นเรือสำปั้นจ้างให้ได้มากที่สุด จากคลองสนามชัย ถึงสามแยกบางขุนเทียน เลี้ยวขวาเข้าคลองบางขุนเทียน ผ่านคลองดาวคะนองออกแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้วัดดาวคะนองริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตัดแม่น้ำเข้าคลอง ขนของสวนขึ้นขายบนวัด พายหรือแจวเรือตามแม่น้ำ ตัดแม่น้ำข้ามไปอีกฝั่งสะดวกและปลอดภัย เพราะสมัยก่อนเรือยนต์ยังมีไม่มากนัก การนำของสวนไปขายยังวัดตะเคียนนานๆ ครั้งเท่านั้น เพราะระยะการเดินทางไกลมาก

การติดตามไปขายของสวนยังตลาดต่างๆ นั้นแม้จะลำบาก เหนื่อยจากการพายเรือ อ่อนเพลียจากการอดนอน แต่ก็เป็นความทรงจำที่ดี ความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือครอบครัว ความทรงจำของลูกชาวสวนที่ดีนี้มีอยู่จนถึงปัจจุบัน

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2561