เผยแพร่ |
---|
วิกลิเก, วิละคร, วิกหนัง ฯลฯ ที่เราคําว่าวิก ยังใช้กับโรงหนังด้วย เช่นพูดว่า ไปดูหนังที่วิกนั้น วิกนี้ เราใช้วิกต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วคำว่าวิกมาจากไหน เอนก นาวิกมูล อธิบายไว้ใน ที่มาของคำว่า ‘วิก’ จากการค้นหาคว้าเอกสารเก่า
เอนก นาวิกมูล พบหนังสือพิมพ์เก่าชื่อ “วายาโม” ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2463 มีข้อเขียนสั้นเรื่องไม่มีชื่อ และไม่ระบุชื่อผู้เขียน เรื่องวิก ในหน้า 7 (คัดลอกตามอย่างที่ตีพิมพ์ แต่จัดย่อหน้าไม่เพื่อสะดวกในการอ่าน)
“คําว่าวิก-วิก, เช่นวิกปราโมทัย วิกบุษปะ และวิกโน่น วิกนี่ ซึ่งหมายความกันว่าเป็นที่เล่นการมโหรศพนั้น เปนภาษาอะไรแน่ เห็นใช้กันตลอดถึงในหนังสือพิมพ์ที่สำคัญก็เรียกก็ใช้
เท่าที่เดาก็ว่าเปนภาษาอังกฤษเรานี่เอง คือแปลว่า 7 วัน (หรืออาทิตย์หนึ่ง) แต่ทำไมพากันไปใช้เปนสถานที่ๆ เล่นการมหรศพเสียเล่า
ถามๆ ได้ความพอจับเค้าได้ว่าเมื่อราว 20 หรือ 25 ปีล่วงแล้วไปนี่ คุณบุศย์ เพ็ญกุล พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ และเจ้าคุณพระยาเพ็ชรปาณี (ตรี) ได้มีลครรำ และยี่เกเล่นกันเดือนละครั้งเวลาเดือนหงาย ว่าราวตั้งแต่ขึ้น 8 ค่ำไปจนถึงราวแรม 8 ค่ำหรือก่อน หรือหลัง แล้วแต่เดือนจะมืดเร็วและช้า นับเปนวันราว 12 ถึง 15 วัน
เวลานั้นคนโดยมากเรียกกันว่าลครวิก และยี่เกวิก จะเปนด้วยเล่นกัน เปนเวลาวิกๆ คือเป็น 7 วัน, 7 วัน ไม่เรียกชื่อของคณะหรือชื่อโรงลคร
เช่นพูดกันเสียว่า ไปดูลครวิก ดูยี่เกวิก ซ้ำต่อมาคำลครแลยี่เกข้างน่า กลับถูกตัดไปเสียอีก เลยเพียงเรียกกันว่า ไปวิก ไปวิก เป็นอันเข้าใจว่าไปดูลครหรือยี่เกกันตามแต่จะไป
มาบัดนี้คำว่าวิกกลับมาใช้เป็นคำว่าสถานที่ที่เล่นการมหรศพกันเสียทีเดียว ดูช่างไม่เพราะหูกระไร ฉนั้นถ้าคำว่าวิกนั้นไม่ใช่เป็นภาษาไทย ไม่ใช่เป็นศัพท์ดังที่กล่าวแล้ว จะมีผู้ใดคิดจัดการหาคำให้ถูกต้องตรง เรียกกันเสียจะดีหรือ
และที่ปุษปะนาฏะศาลา เวลานี้คนทั่วไปก็พากันเรียกว่าวิกปุษปะๆ เสียแล้ว ชื่อศาลาหลังนี้ เป็นชื่อที่พระราชทานเป็นที่สวัสดิ์มงคลอยู่แล้ว ทำไมท่านเจ้าของจึงไม่ระวังในการจะเรียกจะร้องชื่อเสียง ไม่ควรจะยอมให้ใครต่อใครเอาถ้อยคำที่ผิดๆ พลาดๆ ไปแตะต้องเข้าเลย”
จากข้อความข้างต้น ที่กล่าวถึงชื่อเจ้าของโรงลครลิเกสมัยเล่นเป็นวีกวีก อเนก นาวิกมูลเห็นว่ายังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง คือ
เมื่อราว 20-25 ปีก่อน [ของบทความข้างต้นเมื่อปี 2463] อันเท่ากับยุค 2430 คุณบุศย์ เพ็ญกุล, พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ และเจ้าคุณพระยาเพ็ชร ปาณี (ตรี) จัดละครรำ และยี่เกเล่นช่วงเดือนหงายเดือนละครั้ง ทําให้คน พูดว่าไปดูละครวิก และยี่เกวิก นั้น เอนก นาวิกมูลเห็นแย้งว่า ความจริงการละเล่นเป็นวีกวีกที่ว่านั้น มีมาก่อนสมัยนายบุศย์และอีกสองท่านแล้ว คือมีมาตั้งแต่สมัยเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) บิดานายบุศย์
โดยมีหลักฐาน ในหนังสือพิมพ์สยามไสมย ของหมอสมิท เล่ม 3 แผ่น 21 จ.ศ. 1246 พ.ศ. 2427 หน้า 377 ไมโครฟิล์มในหอสมุดแห่งชาติ มีข้อเขียนของท่านผู้หนึ่ง กล่าวถึงโรงละครปรินซ์เทียเตอร์ ของเจ้าพระยามหินทรฯ ว่า
“ข้าพเจ้าทั้งหลายชายหญิงผู้ชอบดูการเล่นสนุกนี้พร้อมใจกันเป็นอันมาก ขอให้ความสรรเสริญลครโรงที่คนทั้งหลายเรียกว่าปรินซ์เทียเตอร์ เดือนหนึ่งได้เปิดความสนุกนิ์ให้คนทั้งหลายได้ดูเพลิดเพลินใจในวันพระจันทร์เตมดวงวีกละ 6 วัน วีกละ 4 วัน วีกละ 5 วัน วีกละ 6 วัน เปนที่คนทั้งหลาย นิยมยินดีภากันไปดูเล่นมากๆ ถึงจะเสียเงินค่าที่ดูก็ไม่ได้มีความเสียดาย…”
ละครเจ้าพระยามหินทร์ฯ ที่เปิดเล่นเก็บเงินค่าดูนั้นจึงมีมาแต่ยุค 2420 แล้ว ส่วนละครคุณบุศย์ ละครพระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ และลิเกเจ้าคุณพระยาเพชรปาณี (ตรี) นั้นเป็นการแสดงของยุคต่อมา คือยุค 2430-2440
ส่วนการใช้คำว่าวีกในความหมายว่าโรงมหรสพ ก็คงค่อยๆ เลื่อนจนเป็นที่เข้าใจกัน เอนกไม่ได้ระบุว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. ไหน แต่เปิดเอกสารชื่อ ฟื้นความหลัง เล่ม 1 ของพระยาอนุมานราชธน (ยง อนุมานราชธน) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2513 บทที่ 13 หน้า 151 พระยาอนุมานฯ อ้างคำบอกเล่าของบิดาถึงป้ายข้อความหน้าโรงละครปรินซ์เทียเตอร์ว่า
“มีป้ายบอกว่า ‘วี้กนี้จะเล่นเรื่อง (นั้นเรื่องนี้)’ ราษฎรเห็นคำว่า ‘วี้ก’ เป็นคำแปลก ไม่เคยได้ยิน และยังไม่มีคำว่า สัปดาห์ บัญญัติขึ้นใช้ในภาษา ไทยแทนคำอังกฤษคำนี้ ก็นึกเดาเอาว่า ‘วี้กนี้’ เห็นจะหมายความว่า ‘โรงนี้’ กระมัง คำว่า ‘วี้ก’ จึงกลายความหมายมาเป็นภาษาปากว่า ‘วี้ก’ คือโรงมหรสพซึ่งแสดงประจำเป็นกำหนดวันและเวลา และต้องเสียค่าเข้าดู…”
สรุปรวม การเล่นละครเป็นวีกๆ สัปดาห์ละ 5-6 วัน มีมาแต่ยุค 2420 เจ้าพระยามหินทรฯ เป็นคนทําขึ้นก่อนใคร เติมหน้าโรงมีป้ายบอกว่า วี้คนี้จะเล่นเรื่องอะไร ชาวบ้านเข้าใจผิด คิดว่าวี้ค หมายถึงโรงมหรสพ ทําให้วี้คกลายความหมายเป็นสถานที่ กับเนื่องจากคนออกเสียงสั้นๆ ว่าวิก คําว่าวี้คจึงกร่อนเป็น “วิก” ในที่สุด
ข้อมูลจาก :
เอนก นาวิกมูล. “ที่มาของคำว่า ‘วิก’ ” ใน, ภาษา ประเพณี-บันเทิง, สำนักแสงดาว ตุลาคม 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2563