แรกเริ่มนาม “พนมเทียน” เพชรพระอุมา สู่ “เล็บครุฑ” อาชญนิยายแห่งยุค ดังจนสร้างหนัง

พนมเทียน (ภาพจากศูนย์ข้อมูลมติชน สงวนลิขสิทธิ์) ฉากหลังเป็นภาพประกอบเนื้อหา ภาพโต๊ะและเครื่องพิมพ์ดีด

หากเอ่ยคำว่าเพชรพระอุมา นักอ่านก็จะต้องนึกชื่อพนมเทียนออกมาทันที เพราะกว่า 26 ปี นิยายผจญภัยยาวเหยียดเรื่องนี้สร้างปรากฏการณ์และตำนานการเขียนนวนิยายยาวลงพิมพ์ต่อเนื่องบนหน้าอักษรวรรณกรรมของบ้านเราเอาไว้อย่างน่าชื่นชม จากปี พ.ศ. 2507 จนถึงปี พ.ศ. 2533

กว่า 26 ปีของการนำเสนอเรื่องราวอันพิสดารพันลึกของเพชรพระอุมา หลายคนสนุกและตื่นเต้นกับแนวทางนิยายผจญภัยของพนมเทียน แต่นอกจากแนวดังกล่าวแล้ว พนมเทียนยังเป็นนักเขียนที่โดดเด่นทางด้านแนวทางความรัก-ไพรัชนิยาย อย่างจุฬาตรีคูณ และอาชญนิยายเด่นดังแห่งยุค อย่างเล็บครุฑ

พนมเทียน หรือฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เกิดวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 จังหวัดปัตตานี แต่กลับมาเติบโตและเข้าเรียนในกรุงเทพฯ โดยจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นก็เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย จนจบการศึกษาพร้อมกับความแตกฉานทางภาษาสันสกฤตและประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ

ส่วนการแตกฉานทางวรรณกรรมของพนมเทียนสะสมมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยม โดยมีผลงานสมัยเรียนที่กลายมาเป็นผลงานเด่นในเวลาต่อมาอย่างจุฬาตรีคูณ และเห่าดง ซึ่งใช้นามปากกาพนมเทียนเป็นครั้งแรก

จากนั้นก็มีผลงานหลากหลายแนวทยอยตามออกมาอย่าง ศิวาราตรี กัลปังหา แววมยุรา ละอองดาว สกาวเดือน เพชรพระอุมา และผลงานแนวอาชญนิยายที่โด่งดังและโดดเด่นสุดจนโลกภาพยนตร์ต้องก้าวเข้ามาเสริมความเด่นดัง ก็คือเล็บครุฑ

เล็บครุฑ เป็นเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนอันยากจะเหมือนใครของชีพ ชูชัย สายลับสุดยอดของราชการตำรวจ ที่ปราบปรามเหล่าร้ายราบคาบ ด้วยเหลี่ยมคมอันล้ำลึก ทำให้ผู้อ่านติดตามอ่านกันทั่วบ้าน
ทั่วเมือง จนผู้สร้างอย่างสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสร้างสมญานาม ยักษ์ใหญ่แห่งวงการภาพยนตร์ไทย แห่งสหะนาวีไทย ขอซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ 16 มม. ปี พ.ศ. 2500 โดยมีลือชัย นฤนาท พระเอกมาดเท่เดินเอียงคอพองาม แสดงเป็นชีพ ชูชัย

เมื่อหนังออกฉาย เล็บครุท กลายเป็นหนัง 16 มม. ทำเงินสูงเรื่องหนึ่ง ความเด่นของเล็บครุฑทำให้ผู้ชมที่ดูเจมส์ บอนด์เป็นครั้งแรกจากตอน Dr. No ต่างพากันคิดว่ามันเป็นเล็บครุฑฝรั่ง

จากนั้นในปี พ.ศ. 2511 สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ก็ประกาศสร้างเล็บครุฑ ตอน ประกาศิตจางซูเหลียง ออกมาเป็นฉบับ 35 มม. ซีเนมาสโคป อย่างอลังการงานสร้าง ด้วยฉากแอ็กชั่นและฉากทำลายล้างอันน่าตื่นตาตรึงใจ โดยมีตัวละครใหม่ของเล็บครุฑ ชื่อเคลียว บางคล้า แสดงโดยสมบัติ เมทะนี มาสานงานต่อชีพ ชูชัย โดยมีนักแสดงหญิงอย่างพิศมัย วิไลศักดิ์ และเกชา เปลี่ยนวิถี ร่วมแสดง

ส่วนบทจางซูเหลียง แสดงโดยอบ บุญติด เป็นที่ประทับใจของผู้ชมมากทีเดียว หนังสร้างภาพอย่างอลังการสมใจ ด้วยฝีมือการถ่ายภาพอันยอดเยี่ยมของฉลอง ภักดีวิจิตร ผู้กำกับภาพยอดเยี่ยมคนหนึ่งของยุค

14 ปีต่อมา สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ย้อนรอยความหลัง ประกาศสร้าง เล็บครุฑ 78 อย่างอลังการอีกครั้ง มีการประกบคู่ระหว่างกรุง ศรีวิไล และเผ่าพันธุ์ พงษ์นที นักแสดงสารพัดอาวุธคนแรก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ายุคอาชญนิยายของภาพยนตร์มาถึงจุดอิ่มตัวเสียแล้ว เล็บครุฑ 78 จึงปิดฉากอาชญนิยายภาพยนตร์อย่างอลังการเช่นเดียวกัน

เล็บครุฑ จัดว่าเป็นวรรณกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม การดัดแปลงแต่ละครั้ง ผู้สร้างสามารถเพิ่มหรือลดทอนอย่างเป็นอิสระ ตัวละครอย่างชีพ ชูชัย เปิดโอกาสผู้สร้างหนังเสริมบุคลิกดัดแปลงเป็นไปตามความเหมาะสมของการสร้าง แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับยุคสมัยและความนิยมของผู้ชมเป็นหลัก รวมถึงการดูดินฟ้าอากาศที่เป็นใจด้วย เพราะในช่วงเวลานี้ อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2563