พัฒนาการ “วงเครื่องสายฝรั่ง” ของไทยจาก “แตรวง” ถึง “ออเคสตรา”

(ภาพจาก สูจิบัตร เพลงไทยประสานเสียง, กรมศิลปากร มิถุนายน 2548)

การติดต่อระหว่างผู้คน, สังคม และรัฐ ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ความเชื่อ ภาษา สังคม การเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงวัฒนธรรมการดนตรีด้วย โดยเฉพาะดนตรีตะวันตก ที่เข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

สนอง คลังพระศรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “พัฒนาการของ วงเครื่องสายฝรั่ง ในสังคมไทย” (สูจิบัตร เพลงไทยประสานเสียง, กรมศิลปากร มิถุนายน 2548) ซึ่งขอสรุปมาพอสังเขปดังนี้

เมื่อสังคมไทยมีการติดต่อกับชาวตะวันตก จึงรับเอาดนตรีฝรั่งเข้ามา ก่อกำเนิดเพลงขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นเรียกว่า เพลงไทยสากล ดนตรีตะวันตกมาพร้อมกับเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “แตร”

สันนิษฐานว่าแตรเข้ามา 2 แนวทาง 1. แตรงอน อิทธิพลของแตรอินเดีย ที่เชื่อว่าเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมพราหมณ์ ประมาณปี 1800 2. แตรฝรั่ง อิทธิพลของฝรั่งตะวันตก น่าจะเข้ามาในสมัยอยุธยาตอนต้น ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ หรือในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และมีการใช้แตรทรัมเป็ตในพระราชพิธีตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ถึงสมัยกรุงธนบุรี มีหลักฐานว่า มีดนตรีตะวันตกเล่นอยู่ในสยามแล้ว ดังข้อความใน จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวไว้ในตอนรับพระแก้วพระบางจากเวียงจันทน์ลงมาฉลองสมโภชในกรุงเทพฯ ความว่า

“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิณพาทย์ไทย พิณพาทย์รามัญ และมโหรีไทย มโหรีแขก ฝรั่ง มโหรีจีน ญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภช 2 เดือนกับ 12 วัน พระราชทานเบี้ยเลี้ยงผู้ที่มาเล่นนั้น หมื่นราชาราช มโหรีไทยชาย 2 หญิง 4 พระยาธิเบศรบดี มโหรีแขก 2 มโหรีฝรั่ง 3…”

แสดงว่า ดนตรีตะวันตกหรือที่เรียกว่า “มโหรีฝรั่ง” เป็นที่รู้จักของชาวไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างน้อย แต่ไม่สามารถระบุว่ามีรูปแบบวงเป็นเช่นไร

จนสมัยรัชกาลที่ 4 ดนตรีตะวันตกจึงเริ่มมีบทบาทและมีรูปแบบชัดเจนขึ้น ดังที่ น.พ.พูนพิศ อมาตยกุล กล่าวไว้ใน เส้นทางเพลงลูกทุ่งไทยว่า “ไทยมาเริ่มหัดเดินแถวด้วยแตรฝรั่งในวังหน้าของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (วังหน้ารัชกาลที่ 4)”

โดยทหารอังกฤษ 2 นายคือ ร้อยเอกน็อกซ์ (Thomas G.Knox) ร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) เป็นครูฝึกทหารเกณฑ์อยู่ที่วังหลวง ใช้เพลง “God Save the Queen” เป็นเพลงฝึกหัด ต่อมาสยามเปิดสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศในยุโรปเรือรบฝรั่งก็เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก

การเดินทางเข้ามาของกองเรือเหล่านั้นยังได้นำเครื่องดนตรีเข้ามาด้วย

ระหว่าง ปี 2398-99 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 กองเรือ “แซนแยกซินโต” สัญชาติอเมริกันเดินทางเข้ามาพร้อมกับนำ “แตรวง” เข้ามาบรรเลงตามสถานที่ต่างๆ ที่นายแพทย์ประจำกองเรือชื่อวูด (Wood) ได้บันทึกไว้ว่า “กองแตรวงของเราเป็นกองแรก ที่ชาวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ยินเสียงเป็นครั้งแรก”

สมัยรัชกาลที่ 5 เรือรบอเมริกันชื่อ “เตนเนสซี” ได้แวะเข้ามาสยาม พร้อมกับได้นำแตรวงมาบรรเลงด้วย พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) จึงได้ชวนเอม.ฟูศโก (M.Fusco) ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับเรือลำดังกล่าวมาเป็นครูแตรประจำกองทัพเรือ ทำให้การบรรเลงเพลงตะวันตกและเพลงไทยบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีตะวันตก ช่วยสร้างภาพลักษณ์ของประเทศแบบใหม่ รัชกาลที่ 5 พระบรมราชโองการให้คัดลอกโน้ตทูลเกล้าฯ ถวายอยู่เสมอ

ขณะที่วังหน้าซึ่งส่งเสริมการดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญก็ทรงสนพระทัยในการดนตรีแบบใหม่ด้วยเช่นกัน ทรงจ้างมิสเตอร์ จาคอบ ไฟต์ (Jacob Feit) ชาวเยอรมัน สัญชาติอเมริกัน มาเป็นครูฝึกประจำวัง จนกระทั่งสิ้นสุดวังหน้า

ตลอดรัชกาลที่ 5 นับว่าดนตรีแบบตะวันตกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดนตรีไทยอย่างแยกไม่ออก โดยอยู่ในรูปของแตรวง ซึ่งต่อมาก็คือ “วงโยธวาทิต” เป็นส่วนใหญ่

ราวปี 2454 ตรงกับรัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งวงดุริยางค์ประเภทที่เรียกว่า “ออเคสตรา” (Orchestra) หรือ “วงเครื่องสายฝรั่งหลวง” ขึ้นเป็นครั้งแรก

ครูชลหมู่ ชลานุเคราะห์ ได้เรียบเรียงไว้ “ดนตรีฝรั่งในยุครัตนโกสินทร์” ว่า

วงเครื่องสายฝรั่งหลวง สังกัดกรมมหรสพ ระยะแรกให้คัดเลือกนักดนตรีไทยจากกรมพิณพาทย์หลวงไปฝึกหัดเครื่องสายฝรั่ง ตามความสมัครใจของนักดนตรีเอง เพราะเห็นว่ามีพื้นฐานทางดนตรีอยู่แล้ว น่าจะฝึกหัดดนตรีฝรั่งได้ง่ายขึ้น มีข้าราชการกรมพิณพาทย์หลวงประมาณ 40 คน ผ่านไป 3 เดือนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะพอบรรเลงได้ จนครบเวลา 6 เดือน แล้วก็ยังบรรเลงเป็นเพลงไม่ได้

ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้ทรงสั่งครูดนตรีฝรั่งมาคนหนึ่งชื่อว่า โปรเฟสเซอร์ อัลแบร์โต นาซารี ชาวอิตาเลียน ให้เข้ามาเป็นครูสอนแตรงวงทหารบก และได้มีการจัดตั้งวงเครื่องสายฝรั่ง “ม้ารวม” ขึ้นโดยมีทหารม้าและทหารราบ 11 ร่วมกัน

รัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯ ให้บรรดาผู้ฝึกหัดดนตรีฝรั่ง (ชุดพลเรือน) ย้ายไปเรียนกับครูนาซารี โดยฝึกสอนกันที่ตึกกระทรวงกลาโหมชั้น 3 ด้านหลัง ตรงมุมใกล้สะพานช้างโรงสี โดยให้สิบตรีกุน เสนะวิณิน คนเป่าปี่คลาริเน็ตของทหารพาหนะเป็นล่าม ต่อมาวงเครื่องสายฝรั่งหลวงได้ย้ายไปฝึกหัดกันที่สวนมิสกวัน โดยมีครูนาซารีติดตามมาสอนให้ และมีสิบเอกกุนย้ายมาประจำเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีและเป็นล่ามไปด้วย

แต่ระยะนั้นได้มีงานราชการในกรมพิณพาทย์หลวงชุกมาก ผู้ที่ไม่เข้าใจในทางดนตรีฝรั่งย้ายกลับยังสังกัดเดิมหลายท่าน นัยว่าคงเหลือที่หัดดนตรีฝรั่งอยู่เพียงประมาณครึ่งเดียว การฝึกหัดเครื่องสายฝรั่งกับครูนาซารีในระยะนั้นนับว่าได้ผลดี เมื่อมีพระราชอาคันตุกะเข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วงเครื่องสายฝรั่งหลวงวงนี้เข้าไปบรรเลงถวาย ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอยู่เนืองๆ

ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ครูนาซารีซึ่งมียศเป็นนายร้อยประจำกองทัพบกของประเทศอิตาลีถูกเรียกตัวกลับไปยังบ้านเกิด จึงเป็นเหตุให้วงเครื่องสายฝรั่งหลวงขาดครูผู้ฝึกสอน คงเหลืออยู่แต่ผู้เป็นล่ามคือ ร้อยตรีกุน เสนะวิณิน (ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นร้อยเอกหลวงดนตรีบรรเลง) เท่านั้น ที่ช่วยประคับประคองวงดนตรีนี้ไว้

ภายหลังได้ขุนเจนรถรัฐ (ปิติ วาทยะกร) จากกรมรถไฟหลวงมาเป็นครูสอนเครื่องสายฝรั่งหลวงสังกัดกรมมหรสพแทนครูนาซารี และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายร้อยเอกหลวงดนตรีบรรเลง (กุน เสนะวิณิน) ขาดจากกระทรวงกลาโหมมาเป็นผู้ช่วยขุนเจนฯ ส่วนสถานที่ฝึกหัดก็ย้ายไปอยู่ที่สโมสรเสือป่า ภายในบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดา หลังจากนั้นไม่นานขุนเจนรถรัฐก็ทรงพระราชทานเลื่อน และเปลี่ยนราชทินนามเป็น “หลวงเจนดุริยางค์

ในยุคหลวงเจนดุริยางค์นั้น บรรดานักดนตรีที่มีฝีมือทางดนตรีไทยขอโอนกลับไปปฏิบัติราชการทางดนตรีไทยตามเดิม หลวงเจนดุริยางค์จึงปรับปรุงวงเครื่องสายฝรั่งหลวงให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ด้วยการรับสมัครเด็กใหม่ให้เข้ามาฝึกหัด เช่น ร.อ.เมล์ เอื้อเฟื้อ, นายฉะอ้อน (โฉลก) เนตตะสุต, นายเติม เสนะสกุล, นายประเสริฐ วิเศษศิริ, หมื่นประไพเพลงประสม, หมื่นวิณินปราณีต ฯลฯ

จำนวนนักดนตรีที่เพิ่มขึ้น วงเครื่องสายฝรั่งหลวงจึงแบ่งออกเป็น 2 วง โดยวงสำรองจะมีครูผู้ช่วยฝึกสอนที่มาจากกรมพิณพาทย์หลวง เช่น ขุนสมานเสียงประจักษ์ ผู้เป่าปี่บัสซูน อยู่ในวงบรรเลงก็ช่วยสอนเครื่องเป่าเกือบทุกชนิด ขุนสำเนียงชั้นเชิง ผู้บรรเลงกลองทิมปานี อยู่ในวงบรรเลงก็ช่วยสอนเครื่องที่ประกอบจังหวะทุกชนิด ฯลฯ

แล้ววงเครื่องสายฝรั่งก็ออกแสดงแก่สาธารณะชน ที่ร้าน “กาแฟนรสิงห์” ในทุกเย็นวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00-19.00 น. รายการบรรเลงนั้นจะมีดนตรีไทย และวงดนตรีฝรั่งของกองเครื่องสายฝรั่งหลวงผลัดกันบรรเลงอาทิตย์ละวง จะมีโต๊ะและเก้าอี้ตั้งไว้สำหรับให้ประชาชนมานั่งรับประทานและฟังดนตรี ซึ่งก็มีประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศฟังดนตรีประมาณ 300-400 คน จนได้รับคำชมเชยจากหนังสือพิมพ์เป็นอันมาก

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ ครูนาซารีเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง โดยไปฝึกสอนวงเครื่องสายฝรั่งของทหารม้า นอกจากนี้ครูนาซารีได้เรียบเรียงเสียงประสานเพลง “บาทสกุณี” (เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงเพลงหนึ่งของไทย) สำหรับการบรรเลงด้วยวงดุริยางค์ถวายเนื่องในงานพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ 7) กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (25 สิงหาคม ปี 2461)

นับว่าเพลงหน้าพาทย์ “บาทสกุณี” เป็นเพลงไทยต้นแบบเพลงแรกที่ริเริ่มทำขึ้นในรูปลักษณะที่เรียกกันว่า “เพลงไทยประสานเสียง” สำหรับบรรเลงด้วยวงดุริยางค์ (Orchestra)

ครูนาซารีได้กวดขันฝึกสอนอย่างหนักจนสามารถบรรเลงเพลงประกอบการแสดงละครแบบ “โอเปร่า” (Opera) โดยใช้นักดนตรีของทหารม้ากับนักดนตรีของกองเครื่องสายฝรั่งหลวง ฝึกซ้อมประมาณ 1 ปี จึงเปิดการแสดงขึ้น ณ โรงโขนหลวง ในบริเวณสวนมิสกวัน (คาดว่าแสดงตอนต้นปี 2463) ซึ่งนับว่าเป็นการ “โอเปรา” หรือ “อุปรากร” ขึ้น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

แต่น่าเสียดายว่าครูนาซารีเสียชีวิตจากอุบัติทางน้ำ งานของท่านยุติลง

ส่วนวงเครื่องสายฝรั่งหลวงที่หลวงเจนดุริยางค์เป็นผู้ควบคุมและฝึกสอนก็รุดหน้าอย่างรวดเร็ว ได้บรรเลงในงานสำคัญต่างๆ เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา, งานสภากาชาด, งานฤดูหนาว และงานตามสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ หลวงเจนดุริยางค์จึงได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น “พระเจนดุริยางค์” (15 ตุลาคม 2465) นับว่าท่านเป็น “ผู้อำนวยเพลง” (Conductor) ที่เป็นคนไทยคนแรกที่ได้อุบัติขึ้นมาในประเทศไทย

สมัยรัชกาลที่ 7 ในตอนเริ่มต้นของรัชกาลนี้ได้มีการตัดทอนงบประมาณกรมกองต่างๆ ต้องยุบเลิก หรือลดจำนวนข้าราชการลงไปบ้าง สำหรับกรมมหรสพให้ยุบเลิกทั้งหมด ผู้ใหญ่ในวงข้าราชการต่างๆ เห็นควรให้ยุบวงเครื่องสายฝรั่งหลวงไปเสียด้วย

พระเจนดุริยางค์เข้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงความจำเป็น เพื่อแสดงความศิวิไลซ์ของเมืองไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่อารยะชน และเพื่อเป็นทางป้องกันมิให้ประเทศมหาอำนาจหาเหตุเข้ายึดครองโดยอ้างว่าประเทศไทยยังล้าหลังในเรื่องวัฒนธรรมสากล อย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงทั้งหลายถูกอ้างอิงแล้วยึดเอาเป็นอาณานิคมมาแล้ว ซึ่งพระองค์ทรงเห็นชอบด้วย

วงเครื่องสายฝรั่งหลวงจึงขยับขยายทำนุบำรุงทั้งกำลังเครื่องและกำลังคนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จนได้มาตรฐานทัดเทียมกับวงดุริยางค์ของโลกตะวันตกอย่างน่าภาคภูมิใจยิ่ง ในรัชการที่ 7 นี้ วงเครื่องสายฝรั่งหลวงจึงมีนักดนตรีที่มีความสามารถอย่างแท้จริงจำนวนถึง 71 คน (วงขนาดมาตรฐานควรมี 60 ถึง 100 คน)

ปี 2470 วงเครื่องสายฝรั่งหลวงสามารถบรรเลงเพลงชั้น “วิจิตรศิลป์” เช่น เพลงจำพวกซิมโฟนี (Symphony), ซิมโฟนิค สวิต (Symphonic Suite), ซิมโฟนิค โพเอ็ม (Symphonic Poem) และอื่นๆ ได้เชี่ยวชาญ รัชกาลที่ 7 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดการบรรเลงแบบ “ซิมโฟนี คอนเสิร์ต” (Symphony Concert) สำหรับประชาชนทั่วไปขึ้น ณ โรงโขนหลวง ในสวนมิสกวัน และที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง (เขตชั้นนอก) มีพระเจนดุริยางค์เป็นผู้อำนวยการเพลงประจำ

ในเวลานั้นบรรดาชาวต่างประเทศที่เป็นนักวิจารณ์ดนตรี ซึ่งได้เคยท่องเที่ยวฟังดนตรีประเภทนี้จากประเทศต่างๆ ยังได้พากันยกย่องว่า “วงเครื่องสายฝรั่งหลวงแห่งเมืองไทยวงนี้ เป็นวงดนตรีที่ดีที่สุดในภาคตะวันออกไกล”


ข้อมูลจาก

สนอง คลังพระศรี “พัฒนาการ ของ วงเครื่องสายฝรั่ง ในสังคมไทย”ใน, สูจิบัตร เพลงไทยประสานเสียง, กรมศิลปากร มิถุนายน 2548)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563