“ปาขี้-หลอกให้กินขี้” สมัยโบราณโทษหนักแค่ไหน? ดูสถานะ “ขี้” ในกฎหมาย-วัฒนธรรม

จิตรกรรม คน ใช้ ไม้แก้งก้น ทำความสะอาด ขับถ่าย ขี้
"ไม้แก้งก้น" เครื่องทำความสะอาดหลังขับถ่ายของสาวชาววัง (ภาพจิตรกรรมจากวัดเกาะลาน อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก, สไลด์คุณเอนก นาวิกมูล)

อุจจาระหรือสิ่งของที่ร่างกายขับจากภายในสู่ภายนอกไม่ได้เป็น “ของเสีย” ตามที่หลายคนเข้าใจ แต่ในบางวัฒนธรรม “ขี้” ยังเป็นของเสียซึ่งมีบทบาทแม้แต่เป็นเครื่องมือในทางการเมืองได้ มันอาจเป็นอาวุธอันน่ารังเกียจสำหรับใช้เล่นงานคน แต่กระนั้นก็มีผลที่ตามมาจากการตัดสินใจทำเช่นนั้นเช่นกัน

กฎหมายบ้านเมืองในสมัยโบราณเคยเอ่ยถึงโทษกรณีใช้ “อาจม” ซัดบ้านเรือนคนอื่น ดังกฎหมายตราสามดวง (สมัยกรุงศรีอยุธยาและใช้สืบเนื่องจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์) บทความเรื่อง “มองสถานะ ปาขี้ และ ขี้ ผ่านกฎหมายและการเมือง” โดย นนทพร อยู่มั่งมี ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2553 อธิบายเกี่ยวกับกฎหมายนี้ว่า ปรากฏเนื้อหาอันสะท้อนถึงสภาพชีวิตและวัฒนธรรมตลอดจนความคิดของผู้คนในยุคก่อนหน้าการปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง “ปาขี้” ระบุอยู่ในพระอายการเบดเสรจ ความว่า

Advertisement

มาตราหนึ่ง ผู้ใดเอาอาจมซัดเรือนท่านให้ไหม ๑๒๐๐๐๐ ถ้าเอาอาจมซัดบ้านท่าน ไหม ๑๑๐๐๐๐ ถ้าเข้าบ้านท่านแลถ่ายอุจาระรดไว้ ให้ไหม ๔๕๐๐๐ ถ้าขุดหลุมถ่ายอุจาระใก้ลเสาห้องเรือนท่าน ให้ไหม ๕๕๕๐๐

ถ้าแลขุนแขวงหมื่นแขวงสิบร้อย อายัดว่ากล่าวแลมันมิฟังไซ้ บันดาจะไหมทีหนึ่งให้ไหมทวีแล้ว แลจำให้มันแบกอาจมเสียจงได้
ว่ามาด้วยลักษณให้ ๓ ประการสิ้นแต่เท่านี้

นนทพร อธิบายเพิ่มเติมว่า ความผิดด้วยเรื่อง “ปาขี้” กำหนดโทษต่างกันโดยใช้สถานภาพของผู้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งสะท้อนจากคำเรียกสิ่งปลูกสร้างที่แสดงสถานะของผู้ครอบครองคือ บ้าน และ เรือน

ทั้ง 2 คำมีความแตกต่างกันดังที่แสดงไว้ในอักขราภิธานศรับท์ ของ หมอบรัดเลย์ ดังนี้

บ้าน, คือที่ตำบล, ใดๆ ที่เขาตั้งเรือนฤาโรงนั้น, อยู่แต่เรือนหนึ่งสองเรือนขึ้นไปเรียกว่า บ้าน

เรือน, ที่อยู่, คือที่คนปลูกขึ้นด้วยไม้สำรับอาไศรยอยู่, ถึงก่อเปนตึกอยู่ก็ว่าเรือน

คำว่า บ้าน จึงมีความหมายถึงหมู่บ้านในลักษณะที่เป็นชุมชน (community) ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า วิลเลจ (village) ประกอบด้วยกลุ่มของเรือนหรือครัวเรือน อันเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวจำนวนมากในพื้นที่หนึ่ง

ส่วนคำว่า เรือน หรือ ครัวเรือน เป็นโครงสร้างทางกายภาพที่เล็กสุดที่สัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ใช้ชีวิต สัมพันธ์กับเรือนตั้งแต่เกิดจนตาย

แม้ว่า เรือน จะเป็นหน่วยที่เล็กกว่า บ้าน แต่การมีเรือนก็นับได้ว่าเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของผู้ครอบครองโดยเฉพาะหากผู้นั้นมีสถานะเป็นขุนนางหรือผู้มีบรรดาศักดิ์ และจะยิ่งมากขึ้นไปอีกในกรณีเป็นเรือนที่ได้รับพระราชทาน

ความสำคัญของเรือนจึงเป็นสิ่งแสดงสถานภาพทางสังคมของเจ้าของ ดังนั้น การ เอาอาจมซัดเรือนท่าน หรือ ปาขี้ ตามที่ระบุในกฎหมายจึงมีบทลงโทษสูงกว่าคำว่า “บ้าน” ซึ่งบ่งชี้ถึงสถานะของผู้ครอบครองที่น้อยกว่าเรือน อีกทั้งยังเห็นถึงสถานะของขี้ที่แม้จะเป็นของโสโครก แต่ก็ถูกให้ค่าตามบริบททางสังคมที่มีการแบ่งคนออกเป็นชนชั้นต่างๆ

การลงโทษผู้กระทำผิดจึงแตกต่างทั้งที่เป็นข้อหาเดียวกันและใช้ขี้เป็นเครื่องมือเหมือนกัน

นอกจากนี้ บทลงโทษจากกฎหมายนี้ยังสะท้อนธรรมเนียมปฏิบัติเวลาไปบ้านผู้อื่นจะไม่ไปถ่ายอุจจาระที่เรือนเขาและไม่ไปขุดหลุมถ่ายอุจจาระใกล้เสาเรือน ถ้าปวดคงหาที่ขับถ่ายข้างนอก เพราะเรือนสมัยก่อนไม่ได้มีห้องน้ำไว้รับแขกเช่นปัจจุบัน

บทลงโทษดังกล่าวยังกำหนดให้ปรับไหมทวีคูณกรณีที่ทำผิดซ้ำอีก และให้แบกอาจมหรือแบกขี้เป็นการลงโทษด้วย อันอาจให้ภาพของชุมชนและการขับถ่ายกับการกำจัดสิ่งปฏิกูลแต่ครั้งอดีตเช่นกัน

หากคิดว่า “ปาขี้” เป็นเรื่องหนักหนาแล้ว พระอายการเบดเสรจ กำหนดโทษผู้ที่ลวงให้กินสิ่งโสโครกดังนี้

มาตราหนึ่ง ลวงท่านให้กินอันมิดีอันโสกโครกให้ไหม ๑๗๐๐๐๐ ว่ามาทังนี้แต่นา ๑๐ ไร่ขึ้นไปถึงนา ๑๐๐ หนึ่ง ถ้านา ๒๐๐ เอา ๒ คูน ถ้านา ๓๐๐ เอา ๓ คูน ถ้านา ๔๐๐ เอา ๔ คูน กว่านั้นให้บวกขึ้นนาร้อยละ ๔๐๐๐๐ แล

การใช้ขี้ยังเป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารความไม่พอใจระหว่างบุคคลในสังคม เห็นได้จากบทเสภาขุนช้างขุนแผน วรรณคดีที่ให้ความรู้ทางขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนทัศนคติทางสังคมแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีเนื้อหากล่าวถึงขุนแผนใช้เวทมนตร์กระทำให้ขุนช้าง “ขี้แตก” กลางศาลาลูกขุนเมื่อเป็นคดีความเรื่องนางวันทอง

หรือเวลาต่อมาขี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในยุคสมัยใหม่ดังบทความโดยนักมานุษยวิทยาที่มองว่า “ขี้” ไม่ใช่แค่ของเสีย แต่ยังเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมและการเมือง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “มองสถานะ ปาขี้ และ ขี้ ผ่านกฎหมายและการเมือง” โดย นนทพร อยู่มั่งมี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2553


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 17 เมษายน 2563