
เผยแพร่ |
---|
ภายในพื้นที่อันเป็น “มหาสีมาราม” เพียง 2 ไร่ครึ่งเศษของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นที่สถิตของปูชนียวัตถุสถานสำคัญหลายอย่างด้วยกัน อาทิ
ปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์ประดับหินอ่อนทั้งองค์
ปราสาทพระจอมที่ประดิษฐานพระบรมรูปปิดทองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปราสาทพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกใบลานบรรจุในกล่องไม้ซึ่งทำรูปเล่มอย่างหนังสือ
พระที่นั่งทรงธรรมหรือศาลาการเปรียญ เป็นที่ตั้งของธรรมาสน์ยอดมงกุฎอันงดงามยิ่ง
อ่านเพิ่มเติม: วัดราชประดิษฐฯ พระอารามหลวงเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ที่สถิตของปูชนียวัตถุสถานสำคัญยิ่ง
ส่วนภายในพระวิหารหลวงนอกจากจะมีจิตรกรรมภาพเทพชุมนุมบนกลีบเมฆ “เทวดามีรัศมีเปนพวกๆ ครั้งแรก ซึ่งวัดอื่นเอาอย่าง” และจิตรกรรมภาพพระราชพิธีสิบสองเดือนแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมของพระพุทธรูปซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำลองจากพระพุทธรูปสำคัญที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสเป็นพิเศษหลายองค์ด้วยกัน อันได้แก่ พระประธาน คือ พระพุทธสิหังคปฏิมากร ประดิษฐานภายในบุษบก ทรงหล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และภายหลังได้บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป

พระพุทธสิหังคปฏิมากรน้อย ประดิษฐานด้านหน้าของพระประธาน พระนิรันตรายพร้อมเรือนแก้วในครอบแก้ว เป็น 1 ใน 18 องค์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2411 จากพิมพ์เดียวกับพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระราชทานไว้ในพระอารามของคณะสงฆ์ธรรมยุต
ด้านหลังบุษบกพระประธาน ยังมีบุษบกน้อยสร้างติดกับผนังด้านสกัดเบื้องหลังพระประธานเรียงกัน 3 หลัง แต่ไม่ค่อยเป็นที่สังเกตมากนัก ภายในบุษบกน้อยนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดน้อย 3 องค์ที่จำลองจากพระพุทธรูปสำคัญถึง 3 องค์ด้วยกัน เรียงตามลำดับนับจากทางด้านขวาของพระประธาน คือ “พระพุทธชินราชน้อย” “พระพุทธชินศรีน้อย” และ “พระศรีศาสดาน้อย” ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อจำลองจากพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดาองค์ใหญ่ อันเคยประดิษฐานในพระวิหารทิศต่างๆ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ก่อนที่พระพุทธชินศรีและพระศรีศาสดาจะเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครและเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถและพระวิหารของวัดบวรนิเวศวิหาร จนเหลือเพียงพระพุทธชินราชเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ยังคงประดิษฐานยังที่เดิม



ที่น่าสนใจก็คือพระพุทธรูปจำลองขนาดน้อยทั้ง ๓ องค์นี้ยังนับเป็นพระพุทธรูป “หมวดพระพุทธชินราช” ที่ได้รับการจำลองครบถ้วนทั้งสำรับ ๓ องค์เป็นรุ่นแรกอีกด้วย
(คัดมาบางส่วนจากบทความเรื่อง พระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช (จำลอง)ที่วัดราชประดิษฐ ในหนังสือ ถอดรหัสพระจอมเกล้า เขียนโดย พิชญา สุ่มจินดา)
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ.2560