รำลึกศิลปินแห่งชาติ (ไทย) รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ จำใครได้บ้าง

ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช (ภาพจาก คึกฤทธิ์ 2528)

วันศิลปินแห่งชาติของไทยนั้นตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยนับเอาวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านศิลปกรรมต่างๆ ทั้งด้านวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 เป็นวาระฉลองวันพระราชสมภพครบ 200 ปี ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้เป็นบุคลสำคัญของโลก

ต่อมาเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระองค์ และเทิดพระเกียรติคุณของพระองค์ รวมทั้งให้ความสำคัญเชิดชูศิลปินไทย ผู้ที่สร้างงานศิลปะให้กับประเทศชาติ คณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528  กำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ โดยให้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติคัดเลือกผู้ที่มีผลงานศิลปะชั้นเยี่ยม มาประกาศยกย่องย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ให้ดำเนินการเป็นประจำทุกปี เริ่มมาตั้งแต่ 2528

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อแรกเริ่ม ระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่า เพื่อจัดทำเนียบศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศ, สรรหาศิลปินเพื่อประกาศยกย่องเกียรติคุณขึ้นเป็นศิลปินแห่งชาติ, จัดตั้งกองทุน (มูลนิธิ) สร้างสวัสดิการเพื่อศิลปิน, สนับสนุนให้ศิลปินได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงาน, อนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการสืบทอดความรู้ความสามารถของศิลปิน

ในปี 2535 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ปรับปรุงโครงการศิลปินแห่งชาติให้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ อนุรักษ์และพัฒนางานศิลปะของชาติ, เชิดชูภูมิปัญญาของศิลปิน, สืบค้นสรรหาศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ ตามนโยบายวัฒนธรรมแห่งชาติ, ส่งเสริมขวัญและกำลังใจแก่ศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เพื่ออนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรม ด้านวัตถุและจิตใจในเรื่องของศิลปิน และเป็นโครงการหน่วยงานของภาครัฐบาลที่สนับสนุนดูแลศิลปินที่ยังไม่มีหน่วยราชการใดเข้ามาสนับสนุน

ทั้งนี้ รางวัลศิลปินแห่งชาติจะแบ่งหมวดหมู่เป็น 3 สาขา ประกอบด้วย สาขาทัศนศิลป์ สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง ผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับเข็มศิลปินแห้งชาติ และโล่ศิลปินแห่งชาติ

ศิลปินแห่งชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มีทั้งหมด 4 ท่าน ดังนี้

นายเฟื้อ หริพิทักษ์

นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ประจำปี 2528 เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2453 ที่จังหวัดธนบุรี (ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2536)

นายเฟื้อ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดราชบพิธ และศึกษาต่อด้านจิตรกรรมที่ประเทศอินเดีย เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอยศิลปะรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นประธานโครงการลอกจิตกรรมฝาผนัง อุโบสถวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ด้านผลงานและการทำงานศิลปะ นายเฟื้อเป็นผู้ช่ำชองจิตรกรรมไทยอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังค้นหาแนวทางสร้างสรรค์ผลงานให้เหมาะกับการแสดงออกด้านจิตรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะในการถ่ายทอดสภาพแวดล้อม บรรยากาศ แสง-เงา ประกอบกับความคิดคำนึงเรื่องสีสันที่เป็นลักษณะตามสายสกุลศิลปะยุโรป (อิตาลี) ใช้การสะบัดฝีแปรงที่รวดเร็ว

นายเฟื้อ จึงได้รับยกย่องเป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ” สร้างสรรค์ผลงานด้านจิตกรรมไว้มากมายจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

นายมนตรี ตราโมท

นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2528 เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2443 จังหวัดสุพรรณบุรี (ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2538) จบการศึกษาระดับมัธยมตอนปลายที่โรงเรียนพรานหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อมาได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาศิลปะศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การงานในเวลาต่อมา นายมนตรี รับราชการที่กรมพิณพาทย์หลวง กรมมหรสพ สมัยรัชกาลที่ 6 เกษียณอายุราชการในตำแหน่งศิลปินพิเศษ หัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร หลังจากนั้นเข้าดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย กรมศิลปากรจนถึงแก่กรรม

นายมนตรีเป็นอัจฉริยศิลปินที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีอย่างแตกฉาน ทั้งทางด้านดุริยางค์ วรรณคดี ดนตรีปี่พาทย์ โดยเฉพาะระนาดทุ้ม ที่สำคัญคือเป็นผู้ถวายการครอบประสิทธิ์ประสาทวิชาดนตรีไทย และถวายความรู้ด้านดนตรีไทยแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีผลงานประพันธ์ไทยกว่า 200 เพลง เช่น เพลงโสมส่องแสง เพลงเถา เพลงม่านมงคล เพลงวันชาติ เพลงงามแสงเดือน นอกจากนี้ยังความรู้ด้านโน้ตสากลและดนตรีสากลอีกด้วย

นายมนตรี ยังมีผลงานการแต่งบทกวีนิพนธ์เรื่องสั้นเรื่องยาว บทโทรทัศน์ บทละคร แต่งตำราดุริยางคศิลป์ไทย การละเล่นของไทย ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย การละครไทย ในการด้านศึกษายังสร้างหลักสูตรสาขาดนตรีและนาฏศิลป์ไทยให้แก่โรงเรียนนาฏศิลป์

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2528 เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2446 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา (ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2543) สำเร็จหลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญจากโรงเรียนในวังสวนกุหลาบ

ด้านหน้าที่การงาน ท่านรับราชการที่กรมศิลปากร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย ผู้อำนวยการฝึกซ้อมการแสดงนาฏศิลป์ไทย และเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย

ด้านผลงาน ท่านผู้หญิงแผ้วเป็นผู้รอบรู้ในศิลปวิทยาการด้านนาฏศิลป์ เสมือนศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมไทย ผู้เชี่ยวชาญการฟ้อนรำ สามารถคิดค้นประดิษฐ์ลีลาท่ารำให้เหมาะสมกับยุคสมัย ผลงานที่โด่ดเด่นได้แก่ การคิดค้นประดิษฐ์ท่ารำสุโขทัย ท่ารำที่ปรับปรุงมาจากการแสดงละครตอนหนึ่งในเรื่องอิเหนา นอกจากนี้ ยังมีผลงานการประพันธ์บทสำหรับแสดงทั้งโขนและละคร

พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2528 เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2454 ที่จังหวัดสิงห์บุรี (ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2538) จบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ และจบการศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

ต่อมาเข้ารับราชการที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง และอดีตนายกรัฐมนตรี (2518 – 2519)

ด้านผลงาน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ มีความรู้ความสามารถหลายบทบาท ทั้งนักการเมือง นักการธนาคาร นักพูด นักเขียน

ส่วนผลงานด้านวรรณศิลป์ก็มีมากมายเช่นกัน ทั้งหนังสือและบทความ ท่านเป็นเจ้าของลีลาการเขียนที่มีเอกลักษณ์ มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทย ความรู้ด้านศิลปะ วรรณคดี วัฒนธรรม รวมทั้งนำเสนอปรัชญาทางศาสนาและการเมืองของตะวันออกและตะวันตกมาประกอบการเขียน มีผลงานที่โดดเด่น เช่น ไผ่แดง สี่แผ่นดิน บันเทิงเริงรมย์ สงครามเย็น คนรักหมา ฯลฯ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๓ / กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์, 2555.

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 37. เรื่องที่ 3 ศิลปินแห่งชาติ. สืบค้นจาก http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=37&chap=3&page=chap3.htm . เข้าถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2563