หอไตรไท-อีสาน

หอไตร วัดไตรภูมิ บ้านผือฮี จังหวัดร้อยเอ็ด

สืบเนื่องจากการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนยุคแรกๆ เป็นแบบ “มุขปาฐะ” (การบอกเล่า) ซึ่งต้องอาศัยความทรงจำเป็นสำคัญ ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว หลักธรรมคำสอนที่ถูกเผยแผ่ในสมัยต่อมาก็ย่อมต้องมีความคลาดเคลื่อนบิดเบือน

จนเป็นปฐมเหตุให้ต้องมีการสังคายนาอยู่หลายครั้งเพื่อทบทวนตรวจทานความถูกต้องโดยอาศัยการจดบันทึกด้วยเทคนิครูปแบบตามความก้าวหน้าทางวิทยาการในสมัยนั้นโดยการจารใบลานหรือสมุดข่อย ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญแบ่งออกเป็น 3 หมวด ประกอบด้วย พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ใช้ศึกษาและเผยแผ่สืบต่อมา

จารึกอักษรเหล่านี้ได้กลายมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสมือนประหนึ่งตัวแทนของพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และแน่นอนที่จารึกศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้ต้องมีที่เก็บรักษาจนเป็นที่มาของการสร้างศาสนาคารที่สำคัญ โดยในบริบทของสังคมไทยมีชื่อที่เรียกกันตามสมมติว่า หอเก็บพระไตรปิฎก และต่อมาเรียกให้สั้นกระชับตามภาษาปากว่า หอไตร บ้างก็เรียก หอธรรม

12
หอไตร วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ศิลปะงานช่างประเภทนี้ทำให้วัดนั้นๆ มีความสมบูรณ์ครบถ้วนในมิติความหมายแห่งไตรลักษณ์ นั่นคือ สมบูรณ์พร้อมด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ต่อมาในสมัยหลัง หอไตรยังมีหน้าที่เก็บรักษาพระฎีกา พระอรรถกถาจารย์ ตลอดจนพระธรรมเทศนาในวัฒนธรรมอีสาน ก็พบแม้แต่คัมภีร์ที่จารเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่น ความเชื่อเรื่องโชคลาง ตำรายา หรือแบ่งเป็นหนังสือผูก หนังสือก้อม (หนังสือเจียง) แผ่นลานจารึก และบั้งจุ้ม (ใบลานในส่ในกระบอกไม้ไผ่) โดยอักษรที่จารมีทั้งอักษรขอม อักษรธรรม อักษรไทยน้อย ก็ล้วนแล้วแต่ถูกนำไปถวายเก็บไว้ที่หอไตรเป็นส่วนใหญ่

เอกลักษณ์หอไตรในวัฒนธรรมไท-อีสาน สถานที่ตั้งทั้งที่อยู่ในเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสซึ่งมีปรากฏอยู่ 2 ลักษณะ ตามบริบทสภาพแวดล้อม คือ หอไตรบก (ตั้งบนดิน) และหอไตรกลางน้ำ โดยทั้ง 2 ประเภทจะใช้บันไดหรือสะพานในการเข้าถึงตัวอาคาร หอไตรในภาคอีสานเท่าที่ข้าพเจ้าเจอในภาคสนามและภาคเอกสารพบว่านิยมทำเป็นหอไตรแบบเครื่องไม้ทั้งหลัง โดยมีผังพื้นเรือนเป็นรูปสี่เหลี่ยมปลูกสร้างอยู่กลางสระน้ำเพื่อป้องกันปลวก มด แมลงขึ้นไปทำลาย “หนังสือผูก” อีกทั้งอาศัยความชื้นจากไอระเหยของสระน้ำรอบๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในห้องเก็บหนังสือผูกซึ่งส่วนมากจารจารใบลานไม่ให้เปราะแตกได้ง่าย สระน้ำที่ปรากฏมีทั้งแบบสระธรรมชาติเช่น หอไตร วัดหนองขุหลุ จังหวัดอุบลราชธานี และหอไตร วัดป่าคำบอน จังหวัดร้อยเอ็ด

ส่วนที่เป็นสระขุดส่วนใหญ่จะเป็นวัดในเมืองซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ หรือเป็นวัดที่ไม่มีสระโดยธรรมชาติแต่ต้องการสร้างหอไตรภายในวัดนั้นๆ หอไตรในวัฒนธรรมอีสานจะปรากฏอยู่ตามวัดหัวเมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเฉกเช่นจังหวัดอุบลราชธานี (สมัยรวมยโสธรและอำนาจเจริญ) พบการสร้างอยู่ถึง 6 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นวัดซึ่งอยู่ในเขตเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ชุมชนที่เคลื่อนย้ายมาจากฝั่งลาว เช่น วัดสระไตรนุรักษ์ หรือวัดศรีธาตุ

โดยมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญคือ ส่วนฐานเป็นเสาสูงมีผนังตัวเรือนทั้งแบบโปร่งและแบบทึบ ผังพื้นมีทางเดินเข้าออกทางเดียวคือด้านสะพานเชื่อมต่อริมเสาด้านนอกจะทำเป็นทางเดินรอบระเบียง ภายในกั้นผนังทึบเป็นห้องเก็บคัมภีร์ใบลาน ทำเป็นโครงคล้ายตู้แบ่งเป็นชั้นวางคัมภีร์ คัมภีร์จะถูกห่อด้วยผ้าซิ่น โดยจะเป็นผ้าที่ยังไม่ได้ใช้ เพราะในโลกทรรศน์ของชาวอีสานผู้หญิงมีข้อจำกัดในการบวชเรียน

การใช้ซิ่นห่อคัมภีร์จะถือว่าได้บุญมากเพราะผ้าซิ่นจะเป็นผ้าที่มีความสวยงามและถือเป็นการไถ่บาปอย่างหนึ่งของผู้หญิงที่ต้องฆ่าตัวไหมเป็นจำนวนมากในวิถีชีวิตของการทอผ้าซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิง นอกจากนี้ลักษณะผนังด้านนอกถ้าเป็นผนังโปร่งมีโครงคร่าวไม้ทำเป็นลวดลายสวยงาม เพื่อช่วยในการถ่ายเทอากาศ ภายในส่วนยอดที่เป็นหลังคา นิยมทั้งแบบจัตุรมุขและทวิมุข แบบทรงจั่วซ้อนชั้นมีปีกนก การประดับตกแต่งไม่นิยมลงรักปิดทองเหมือนงานช่างหลวง แต่ใช้การเขียนด้วยสี

3
หอไตร วัดป่าคำขอน จังหวัดร้อยเอ็ด

ส่วนคันทวยเครื่องลำยอง นิยมทำในแบบฉบับสกุลช่างพื้นถิ่นไท-อีสาน ซึ่งมีอิทธิพลศิลปะลาวเข้ามาผสมผสานแต่ขณะเดียวกันก็รับอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ) เข้ามาผสมผสานเหมือนกัน เช่น หอไตร วัดทุ่งศรีเมืองและวัดมหาธาตุที่ยโสธร องค์ประกอบตกแต่งของไม้จำหลักมีความเป็นอิสระ เช่น คันทวยจะไม่ซ้ำแบบกัน เช่น วัดทุ่งศรีเมือง ความเนี้ยบความงามของลายจะมีไม่มากในงานพื้นบ้านส่วนรูปทรงโดยรวมเป็นหอไตรขนาดรูปทรงบึกบึนมีพลัง เช่น หอไตร วัดหนองขุหลุ หอไตร วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี หอไตร วัดศรีชมชื่น จังหวัดขอนแก่น และหอไตร วัดมหาชัย จังหวัดหนองบัวลำภู

ถือได้ว่าเป็นหอไตรอีสานแบบพื้นบ้านบริสุทธิ์ ส่วนที่มีอิทธิพลของช่างหลวงไม่ว่าจะเป็นรัตนโกสินทร์หรือของเวียงจันทน์ มีตัวอย่างอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วัดมหาธาตุ วัดสระไตรนุรักษ์ วัดศรีธาตุ จังหวัดยโสธร ที่ร้อยเอ็ดอยู่ที่วัดไตรภูมิ บ้านผือฮี วัดป่าคำขอน จังหวัดร้อยเอ็ด

อนึ่งความงามของหอไตรมิได้เกิดขึ้นโดยตัวอาคารตามลำพังหากมีแต่สภาพแวดล้อมหนองน้ำหรือแม้แต่สระขุดที่ช่วยส่งเสริมให้อาคารเด่นเป็นสง่าท้าแดดลมมาหลายชั่วอายุคน นอกเหนือจากคุณค่าสถาปัตยลักษณ์โดยเฉพาะส่วนหลังของหลังคาที่สูงเด่นเสมือนธรรมเจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นถวายเป็นพุทธบูชา ปัจจุบันเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และการพิมพ์ ทำให้การใช้งานของหอไตรถูกลดบทบาทลงอย่างสิ้นเชิงกลายเป็นเพียงศาสนาคารเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่จะใช้งานจริงๆ เหมือนอดีต

บางแห่งถูกทิ้งร้างไร้การดูแลรักษาจากเจ้าอาวาสและพระลูกวัด บริเวณหอไตรสระน้ำเต็มไปด้วยขยะและผักตบชวา น้ำก็เน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น ตัวหอไตรก็ผุพังทรุดโทรม ขณะที่พระรับแต่กิจนิมนต์หาเงิน วันดีคืนดีก็รื้อทิ้งตามใจเจ้าอาวาสดื้อๆ ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

 


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559