อากิโกะ ทอมสัน ซุปตาร์เงือกฟิลิปปินส์ที่ “เซ็กซี่สุด” คนพังรั้วเพื่อดูในซีเกมส์ 30 ปีก่อน

ภาพประกอบเนื้อหา - นักว่ายน้ำหญิงที่โดดเด่นที่สุดในซีเกมส์ครั้งที่ 16 (ภาพจาก บันทึกซีเกมส์ครั้งที่ 16, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์)

มหกรรมกีฬาภูมิภาคอาเซียนปี 2019 ที่เรียกกันว่าซีเกมส์ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์กำลังจะเปิดฉากขึ้นแล้ว ครั้งนี้อาจเรียกได้ว่า เจ้าภาพเจอกระแสน่าปวดหัวหลายเรื่อง แต่หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนในซีเกมส์ครั้งที่ 16 เมื่อพ.ศ. 2534 ซึ่งฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าภาพ บรรยากาศในครั้งนั้นยังคงคึกคัก และมีสีสันมากมาย โดยเฉพาะนักกีฬาว่ายน้ำซุปตาร์ขวัญใจแฟนเจ้าภาพ เธอมีนามว่า อากิโกะ ทอมสัน (Akiko Thomson)

ซีเกมส์ครั้งที่ 16 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ครั้งนั้น เจ้าเหรียญทองตกเป็นของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์เจ้าภาพรั้งอันดับ 2 ของตาราง ขณะที่ไทยตามมาเป็นอันดับ 3 ในตารางอันดับเหรียญรวม หากอ้างอิงตามบันทึกข้อมูลมหกรรมเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน พบว่า บรรยากาศและเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมการแข่งขันค่อนข้างออกมาเป็นบวก ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับบรรยากาศสีสันในฟิลิปปินส์ที่แฟนกีฬาส่วนใหญ่ยังมีขวัญใจให้ติดตามเชียร์เป็นเงือกสาวลูกครึ่งที่ชื่อว่า อากิโกะ ทอมสัน เอกสาร “บันทึกซีเกมส์ครั้งที่ 16” รวบรวมข้อมูลโดยดร. อบรม สันภิบาล และเจริญ ยอดธรรม เล่าไว้ว่า เธอได้รับความนิยมถึงขึ้นมีแฟนๆ พังประตูสนามเพื่อเข้าไปยลโฉมเธอถึงขอบสระและติดตามการวาดท่วงท่าของเธอในสระแข่ง

ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งข้อมูลในเอกสารและการให้สัมภาษณ์จากเจ้าตัวเอง อากิโกะ ซึ่งถือกำเนิดเมื่อค.ศ. 1974 ไม่ได้มีสายเลือดฟิลิปปินส์โดยตรง บิดาของเธอเป็นชาวอเมริกัน มารดาของเธอเป็นชาวญี่ปุ่น และเนื่องจากครอบครัวของเธอย้ายมาพำนักในฟิลิปปินส์ขณะที่เธออายุได้ 6 เดือน นั่นย่อมทำให้เธอได้ถือสัญชาติฟิลิปปินส์ไปโดยปริยาย ขณะที่เอกสารบันทึกในแหล่งอื่นอ้างอิงชื่อเต็มของเธอว่า “จิลเลียน อากิโกะ ทอมสัน” (Gillian Akiko Thomson)

นับตั้งแต่ซีเกมส์ครั้งที่ 14 เป็นต้นมา เธอก็ตกอยู่ในความสนใจของแฟนชาวฟิลิปปินส์แล้ว สถิติที่หลายคนอาจคุ้นกันคือเธอคว้าเหรียญทองกรรเชียง 200 เมตรหญิง ในซีเกมส์ครั้งที่ 14 ที่อินโดนีเซีย ซึ่งถ้าคำนวณอายุย้อนหลัง ในเวลานั้นเธออายุเพียง 13 ปีเท่านั้น

ส่วนซีเกมส์ครั้งที่ 15 ที่มาเลเซีย เธอกวาดไปได้ 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และลงแข่งในซีเกมส์ครั้งที่ 16 ในฟิลิปปินส์เมื่อเธออายุได้ 17 ปี นั่นยิ่งทำให้ความนิยมในตัวเธอปรากฏอย่างชัดเจน จนเอกสาร “บันทึกซีเกมส์ครั้งที่ 16” ยกให้เธอเป็นนักกีฬาที่ “เซ็กซี่ที่สุด” ประจำการแข่งขันครั้งนั้นด้วย

สมญา “เซ็กซี่ที่สุด” ย่อมบ่งบอกเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของเธอได้อย่างดี ไม่เพียงแค่ความน่ารักที่ทำให้แฟนกีฬาหลงใหลเธอแล้ว เธอยังเป็นนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงและกวาดเหรียญรางวัลมาฝากคนในประเทศมากมาย ในซีเกมส์ครั้งที่ 16 เมื่อพ.ศ. 2534 เธอคว้ามาได้ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน ในช่วงทศวรรษที่เธอลงแข่งยังรวมถึงการเข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิกอีก 3 ครั้งในช่วงระหว่างพ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2539

ในขณะที่ซีเกมส์ครั้งที่ 30 กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เวลานี้อากิโกะ ในวัย 45 ปีใช้ชีวิตหลังอำลาสระในฐานะคุณแม่ของลูกชาย 2 คน และลูกสาวอีก 1 ราย ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเมื่อปี 2018 เธอเล่าว่า ซาชิโกะ ลูกสาวซึ่งเธอให้กำเนิดเมื่อปี 2016 มีภาวะดาวน์ซินโดรมด้วย

เรื่องราวทั้งก่อนหน้าและภายหลังจากที่เธออำลาสระแล้วถือว่าน่าสนใจทีเดียว บิดาของเธอคือ เจมส์ มาร์ช ทอมสัน (James Marsh Thomson) เธอให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Town & Country เมื่อปี 2018 ว่า บิดาของเธอพักอาศัยในไทยนานถึง 20 ปีหลังจากนั้นก็เดินทางมาฟิลิปปินส์เพื่อมาบริหารงานหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกาในฟิลิปปินส์ (U.S. Peace Corps) ภายหลังยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารของหอการค้าอเมริกันในฟิลิปปินส์

อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติฟิลิปปินส์เล่าว่า บิดาของเธอ พบรักกับฮิโรโกะ บนเครื่องบินและ “เดินทางตามฮิโรโกะไปทั่วโลก” ฮิโรโกะ ยังเป็นผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่า เมื่อครั้งที่กองทัพสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ฮิโรโกะ และฝาแฝดของเธอยังเป็นทารกอยู่ บ้านพักของทั้งคู่พังทลาย แม่ของฮิโรโกะคาดว่าเสียชีวิตจากระเบิดในครั้งนั้น ส่วนเธอและฝาแฝดโชคดีมากที่รอดชีวิต

พ่อและแม่ของอากิโกะ เลี้ยงดูเธอในฟิลิปปินส์ เมื่อเธออายุ 6 ปีก็เริ่มว่ายน้ำ ไม่นานนักก็เข้าร่วมฝึกซ้อมกับคลับ และเมื่ออายุ 10 ปีก็ได้รับเลือกให้ติดทีมชาติ เธอเริ่มแข่งขันในรายการเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ นี้เองขณะที่อายุได้ 12 ปี หลังจากลงแข่งที่กรุงเทพฯ เธอก็ได้โอกาสร่วมมหกรรมซีเกมส์ครั้งแรกที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในทันที แถมยังได้เหรียญทองกรรเชียง 100 เมตร และเหรียญเงินกรรเชียง 200 เมตร ปีต่อมาก็ได้ลุยโอลิมปิกมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่กรุงโซล อากิโกะ เล่าว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้นเป็นเรื่องต่อเนื่องกันโดยที่เธอไม่ได้วางแผนเอาไว้

เมื่อปี 1990 อากิโกะ และเอริก บูเฮน นักว่ายน้ำชายทีมชาติฟิลิปปินส์ (เจ้าของตำแหน่งนักกีฬายอดเยี่ยมชายในซีเกมส์ครั้งที่ 16 ส่วนนักกีฬาหญิงยอดเยี่ยมเป็นเรวดี ศรีท้าว นักกรีฑาหญิงไทย) ไปเก็บตัวซ้อมสำหรับร่วมซีเกมส์ครั้งที่ 16 และโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่า ในทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนแคมป์เก็บตัวไปได้สวยจนฟิลิปปินส์ขยายระยะเวลาออกไป และอากิโกะ ก็ต้องเข้าศึกษาในโรงเรียนในสหรัฐฯ ด้วย

ในช่วงยุค 90s วงการว่ายน้ำของฟิลิปปินส์เฟื่องฟูจากผลงานอากิโกะ และบูเฮน โดยซีเกมส์ครั้งที่ 16 อากิโกะ คว้า 2 ทอง 2 เงิน ส่วนบูเฮน กวาดไปได้ถึง 5 เหรียญทองในประเภทเดี่ยว สมัยนั้นเธอได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์หลายอย่างและปรากฏในสื่อโฆษณาหลายครั้งด้วย

ระหว่างช่วงโอลิมปิก 1992 อากิโกะ เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ที่เบิร์คเลย์ เธอเล่าว่าเรียนเอกมานุษยวิทยา และสาขารองคือภาพยนตร์ เธอลงแข่งขันโอลิมปิกครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1996 หลังจากนั้นก็ย้ายกลับมาพำนักในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เธอได้พัฒนาความสัมพันธ์กับชิปส์ กูเวรา คู่ชีวิตของเธอซึ่งพัฒนาความสัมพันธ์มาจากเพื่อนที่รู้จักกันมายาวนานก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ซึ่งเธอยอมรับว่า ชิปส์ ไม่ใช่ผู้ชายแบบที่เธอตั้งเป้าว่าจะแต่งงานด้วยเลย เธอมองว่าผู้ชายที่จะแต่งงานด้วยน่าจะเป็นนักกีฬาร่างกายสูงใหญ่เหมือนเธอมากกว่า ทั้งคู่วางแผนแต่งงานกันในเดือนเมษายน ปี 2009 ที่ฮาวาย แต่ต้นปีนั้น อากิโกะ สูญเสียคุณพ่อไปก่อนอย่างกะทันหัน งานแต่งงานถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงมิถุนายนปีเดียวกัน ปีนี้ (2019) ก็เรียกได้ว่าครบรอบ 10 ปีของการแต่งงานของทั้งคู่พอดีด้วย

หลังจากอำลาสระไป เธอเปลี่ยนบทบาทไปทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชน เป็นทั้งพิธีกรกึ่งผู้สื่อข่าว ปัจจุบันในวัย 45 ปี เธอดำรงตำแหน่งประธานสมาคมโอลิมปิกแห่งฟิลิปปินส์ ควบคู่ไปกับเปิดโรงเรียนสอนว่ายน้ำซึ่งเริ่มทำการตั้งแต่ปี 2011 โดยรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา “โรงเรียนสอนว่ายน้ำอากิโกะ ทอมสัน” ฝึกหัดเด็กไม่ต่ำกว่าพันคนให้ว่ายน้ำเป็นผ่านคอร์สช่วงหน้าร้อน

ไม่นานมานี้ เมื่อปี 2016 อากิโกะ เพิ่งได้ลูกสาวคนล่าสุด เธอตั้งชื่อว่า ซาชิโกะ (Amelia Sachiko Antoinette Thomson Guevara) เธอเป็นลูกสาวคนพิเศษที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม และเป็นลูกคนแรกที่เธอให้กำเนิดผ่านวิธีผ่าคลอด ขณะที่ลูกชาย 2 คนล้วนกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติ

โชคดีมากที่อากิโกะ มีเครือข่ายคนรู้จักซึ่งสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาอย่างดีทำให้ครอบครัวของอดีตนักว่ายน้ำโอลิมปิกสามารถดูแลลูกสาวที่มีภาวะพิเศษได้อย่างราบรื่น ซาชิโกะ มีโปรแกรมพัฒนาศักยภาพในแต่ละสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นบำบัดการพูด 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือคอร์สเกี่ยวกับการศึกษาอื่นๆ ร่วมด้วย

เรื่องราวของวัฒนธรรมกีฬาในอาเซียนในอดีตอาจยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน เชื่อว่าภาพของยุครุ่งเรืองของวงการว่ายน้ำฟิลิปปินส์ในยุคนั้นก็คงเป็นหนึ่งในภาพความทรงจำของชาวอาเซียน ขณะที่ช่วงหลายปีมานี้ “ซุปตาร์” แห่งสระว่ายน้ำจากเอเชีย แสงไฟสาดส่องไปที่สิงคโปร์ จับจ้องไปที่โจเซฟ สคูลลิง (Joseph Schooling) ซึ่งก็ต้องจับตากันต่อไปว่า หนุ่มรายนี้จะกลายเป็นตำนานแห่งสระในโอลิมปิกต่อไปได้หรือไม่


อ้างอิง :

อบรม สินภิบาล, เจริญ ยอดธรรม. บันทึกซีเกมส์ครั้งที่ 16 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2535.

FERNANDEZ, YVETTE. “The Extraordinary Life of Olympic Sweetheart Akiko Thomson Guevara”.  Town & Country. Online. Published 4 DEC 2018. ACCESS 28 NOV 2019. <https://www.townandcountry.ph/people/inspiration/akiko-thomson-guevara-cover-story-december-2018-a1578-20181204-lfrm2>