แนวคิดราษฎรจัดการต้อนรับเสด็จเจ้านาย และการเซ็นเซอร์คำหยาบ เมื่อกว่าร้อยปีก่อน

(จากซ้าย) 1. นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จเรทัพบก และราชองครักษ์พิเศษ 2. นายพันเอก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาภ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ 3. นายพันตรี พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ผู้ช่วยกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ 4. นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และราชองครักษ์พิเศษ

วันที่ 24 กันยายน ร.ศ. 122 พ.ศ. 2446 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ พระชนมายุ 21 พรรษา พระราชโอรสอันเป็นที่รักในรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธออีก 3 พระองค์เสด็จประพาสเมืองธัญบุรี (สมัยก่อนมักเขียนว่า ธัญญบุรี ปัจจุบันเป็นอําเภอหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี) มีผู้จดหมายเหตุการเสด็จฯ ไว้อย่างละเอียดลงพิมพ์ในหนังสืออัมพวาสมัย เล่ม 1 ตอนที่ 2 ฉบับวันที่ 25 วันพุธที่ 7 ตุลาคม หน้า 303-305

จดหมายเหตุดังกล่าวน่าสนใจ เพราะ หนึ่ง แสดงให้เห็นบรรยากาศการรับเสด็จเจ้านายเมื่อ 96 ปีก่อนนับจาก พ.ศ. 2542 นี้ (ถ้านับจาก 2562 เท่ากับ 116 ปี – ฉบับออนไลน์)

สอง แสดงให้เห็นว่าคนสมัยก่อนมีความคิดความอ่านจัดการรับเสด็จอย่างไรบ้าง

สาม แสดงให้เห็นว่าธัญบุรีเคยมีการละเล่นอะไรบ้าง

สี่ อาจเป็นประโยชน์แก่ชาวธัญบุรี ในอันที่จะใช้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์เพื่อการศึกษาหรือการท่องเที่ยวในโอกาสต่อไป แต่ต้องช่วยกันค้นต่อว่า ธัญบุรีเมืองแห่งข้าวเหลือภาพถ่ายประวัติศาสตร์ สถานที่ทางประวัติศาสตร์อะไรบ้าง

จดหมายเหตุนี้มีไมโครฟิล์มอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ผู้เขียนถ่ายไมโครฟิล์มไว้นานแล้วตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 ยังไม่เคยนํามาเขียนสักที เกรงว่าจะซีดจางหรือสูญหายไปสักวัน จึงนํามาเรียบเรียงใหม่โดยอาศัยคําเดิมผสมผเสไปตลอด ดังต่อไปนี้

เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (ซึ่งกําลังศึกษาในรัสเซีย และเสด็จกลับมาเยี่ยมกรุงเทพฯ ชั่วคราว) พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ และคณะตามเสด็จ ขึ้นรถไฟสายนครราชสีมา (ไม่ระบุชื่อสเตชั่น หรือชื่อสถานี)

เวลา 1 โมง 50 นาที รถไฟเคลื่อนจากสเตชั่น ถึงสเตชั่นคลองรังสิตเวลา 2 โมง 50 นาที พระยาสุรนาทเสนี ผู้ว่าราชการเมืองได้มาเฝ้ารับเสด็จทูลเชิญเสด็จลงเรือที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นเรือกลไฟก็ลากจูงเรือที่ประทับออกจากท่าไปตามลํา นายคลอง ซึ่งควรหมายถึงคลองรังสิต สองฝั่งคลองมีโรง เรือนประปราย บางแห่งเป็นที่ลาดมองเห็นพื้นที่ข้างในได้ตลอด บางแห่งก็เห็น “ต้นเข้า” (ในสมัยโน้น เขียนคําว่า ข้าว ด้วยสระเอา) ต้นหญ้าผลิขึ้นพ้นน้ำ

ครู่หนึ่งก็มีเรือยาวบรรทุกชายหญิงล้วนหนุ่ม ๆ สาวๆ พายบ้าง จอดบ้าง ล้วนแต่งตัวอย่างที่เรียกว่า “ซัดสี” (นุ่งห่มสีต่างๆ) พายเรือตามมาตลอดทาง กว่าชั่วโมง สอบถามดูได้ความว่าเขาอาสาจะแข่งเรือถวายทอดพระเนตร นับเป็นการแสดงความชื่นชมอย่างจริงใจเต็มใจ

ครั้นใกล้บ้านผู้ว่าราชการเมืองซึ่งจะเป็นที่ประทับ ตามฝั่งที่จะเสด็จขึ้นเรียงรายไปด้วยพลตระเวนจนถึงสะพานน้ำซึ่งผูกพันด้วยผ้าแดง

เวลา 4 โมง 40 มินิต (นาที) เรื่อถึงท่า มีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการมาเฝ้ารับเสด็จ พิณพาทย์ทําเพลงสรรเสริญพระบารมี ครั้นจบเพลงก็ทรงพระดําเนินในระหว่างสองแถวกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งพวกราษฎรซึ่งมุงกันตามฝั่งน้ำสองข้างสะพานเป็นอันมาก

ครั้นเสด็จขึ้นที่ประทับสักครู่ ผู้ว่าราชการเมืองก็ทูลเชิญทรงพระดําเนินทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองธัญบุรี ศาลที่ว่าการอําเภอ กลางเมืองและโรงพลตระเวน เมื่อประทับ ณ ศาล เจ้าพนักงานทูลเชิญเสด็จขึ้นประทับบนที่ว่าการผู้พิพากษาเบิกความมาชําระถวาย คือ 1. ซักพยานเรื่องผู้ร้ายงัดฝาโรงเพื่อลักทรัพย์ 2. อ่านคําตัดสินผู้ร้ายลักกระบือ

ณ บริเวณหน้าที่ว่าการเมืองธัญบุรี มีการทํานาถวายทอดพระเนตรตั้งแต่หวด ไถนา ถอนกล้า ดํานา ใช้โพงและระหัดวิดน้ำเข้านา ขณะนั้นก็มีกลองยาววงหนึ่งเล่นอยู่ใกล้ที่ทํานา ประทับทอดพระเนตรทํานาอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วเสวยพระกระยาหารกลางวันที่บ้านผู้ว่าราชการเมือง

(จากซ้าย) 1. นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จเรทัพบก และราชองครักษ์พิเศษ 2. นายพันเอก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาภ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ 3. นายพันตรี พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ผู้ช่วยกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ 4. นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และราชองครักษ์พิเศษ

เสวยเสร็จแล้วเสด็จออกรับของถวายคือ ม้า 1 ตัว นก และฟองนก (ไข่นก) เป็นต้น มีกลองยาวเล่นถวายอีก กลองยาว หยุดเล่นแล้วมีเพลง “เต้นกํา” เล่นถวายต่อไป

ถึงคําว่า เต้นกํา ผู้จดหมายเหตุอธิบายว่า

“เพลงชนิดนี้เป็นเพลงแก้เกี้ยวกัน ผู้หญิงผู้ชายล้วนถือเข้ารวงคนละกํา เคียวคนละเล่ม ร้องทํานองผิดกับเพลงอื่นๆ ที่เคยมีในกรุงเทพฯ ฟังเหมือนกับเพลงที่เขาเรียกว่า เพลงกระบอก มากกว่าเพลงอื่น แต่เพลงกระบอกเขาไม่ถือเข้า และไม่ว่ากันเจ็บแสบด้วย คนร้องเพลงนี้ต้องเกณฑ์เอาตามชาวบ้านอย่างนั้นเอง เพราะไม่มีวงที่จะหาเล่นได้ แต่เสียดายของที่ดีไม่มีมาก อย่างเขาว่าแบบ เขาไม่ห้ามหยาบ แต่ผู้เล่นเขาเป็นชาวบ้านจะนึกขวยใจหาที่ไม่หยาบได้ไม่พอใช้หรืออย่างไรจึงไปไม่ได้ยืด ต่อไปมีเพลงฉ่อยที่ชาวกรุงเทพฯ เรียกเพลงนายเป๋ไปจนถึงเวลาบ่าย 4 โมง จึงเสด็จประทับทอดพระเนตรแข่งเรือ ณ สพานน้ำ”

หมายความว่าเล่นเพลงเต้นกําซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่ง นิยมเล่นในแถบอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี ฯลฯ ที่ชาวธัญบุรีเล่นเพลงเต้นกําถวายได้ก็เพราะอยู่ในเขตติดต่อกับอยุธยา ใช้เพลงแบบเดียวกัน เพลงชนิดนี้นิยมร้องเมื่อลงแขกเก็บเกี่ยวในช่วงวันนั้น ๆ เสร็จแล้ว ทุกคนเต้นเป็นวงกลม มือซ้ายถือรวงข้าว มือขวาถือเคียว มีเอกลักษณ์คือลูกคู่ร้องรับว่า เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ มักมีคําเกี่ยวกับอวัยวะเพศผสมอยู่ในตอนร้องโต้ตอบค่อนข้างมาก

เพลงเต้นกําทางนครสวรรค์ อุทัยธานีก็มี ชาวบ้านเรียก “เต้นกํา” เหมือนกัน มือซ้ายถือรวงข้าว มือขวาถือเคียวเหมือนกัน แต่ร้องคนละทํานอง ภายหลังกรมศิลปากรยกคณะขึ้นไปต่อ เพลงลงมาเผยแพร่ แล้วเติมคําว่า “รําเคียว” เข้าไปข้างท้าย จึงกลายเป็นเพลงเต้นกํารําเดียวนับตั้งแต่บัดนั้น

ฟังเหมือนเพลงกระบอก หมายถึงเหมือนเพลงขอทาน ถ้าอ่าน “เรื่องขับร้อง” ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม 4 พ.ศ. 2432 ที่ผู้เขียนเคยนํามาอ้างบ่อย ๆ จะพบคําอธิบายว่า เพลงกระบอกหรือเพลงขอทาน ใช้กระบอกสองกระบอกกระทุ่งเป็นจังหวะ หรือหากไม่ใช้กระบอกก็ใช้โทน ฉิ่ง กรับ

สุดท้ายอัมพวาสมัยบอกว่าเพลงเต้นกําที่มาเล่นต้องเกณฑ์เอาชาวบ้านมาร้อง เพราะไม่มีวง นี่ถูกต้องแล้ว เพราะเพลงเต้นกําเขาร้องเล่นกันสนุก ๆ ไม่มีใครตั้งคณะรับจ้างเล่นอย่างเพลงปรบไก่ เพลงฉ่อย

อนึ่ง วันนั้นเห็นทีชาวบ้านจะนึกขวยใจที่ในเพลงมักมีคําหยาบปะปนอยู่ ต้องกรองทิ้ง เมื่อกรองทิ้งแล้วก็เลยไม่เป็นธรรมชาติ ร้องได้ไม่นานก็หมดภูมิ เปลี่ยนไปร้องเพลงฉ่อย ซึ่งชาวกรุงเทพฯ รู้จักดี เรียกกันว่า เพลงนายเป๋

เพลงฉ่อยเป็นเพลงที่มีเอกลักษณ์คือ ลูกคู่ร้องรับว่า เอ่ชา เพิ่งมาปรากฏชื่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนนายเป๋เป็นลูกเต้า เหล่าใคร ทําไมถึงมีชื่อเสียงโด่งดังนัก จนแม้ในแผ่นเสียงก็ยังเรียกเพลงฉ่อยเป็นเพลงเป๋ไปด้วย ยังหาหลักฐานไม่ได้

ณ เชิงสะพานที่ทอดพระเนตรการแข่งเรือ มีดนตรีเล่นเพลงถวาย ขณะนั้นสองฟากคลองมีเรือและผู้คนมากมายเป็นระยะทางไกลถึง 10 เส้น หรือ 400 เมตร ทุ่นหยวกที่ปักธงสําหรับเรือแข่งจะแย่งนั้นอยู่เกือบถึงตรงหน้าสะพาน จึงเห็นการแย่งธงอันตื่นเต้นสนุกสนานได้ดี

บ่าย 5 โมง เสวยเครื่องเสร็จแล้ว พระยาสุรนาทฯ อ่านคําถวายชัยมงคลแสดงความชื่นชมของราษฎร แล้วราษฎรโห่สามครั้ง (สมัยนั้นยังไม่มีการร้องว่า ไชโย เพิ่งมาร้องไชโยในสมัย ร.6) พิณ พาทย์ทําเพลงสรรเสริญพระบารมี ครั้นเพลงจบมีรับสั่งตอบราษฎรๆ ถวายบังคมแล้วโห่อีกสามครั้ง มีเพลงสรรเสริญพระบารมี ครั้นจบ ก็เสด็จขึ้นที่ประทับ

เวลา 2 ทุ่มเศษ เสวยเสร็จแล้วเสด็จออกทอดพระเนตร ละครเรื่องมาตุลี มาสร้างเมืองธัญบุรี จบแล้วเล่นเรื่องสังข์ทอง ตอนท้าวสามนให้หาเงาะเข้ามาทอดพระเนตร แต่เงาะไม่มา จึงให้ป่าวร้องคนภาษาต่างๆ มาช่วยกันฉุด ตกลงกลายเป็นการเล่นออกภาษาต่าง ๆ ของลิเก เล่นลิเกจน 5 ทุ่มเศษ เสวย กําลังเสวยฝน ตก เสด็จขึ้น

เวลาเช้า 1 โมง 40 นาที เสด็จโดยเรือกลไฟเล็กมาที่ตําหนักของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ (ต้นสกุลเทวกุล) ทรงลงเรือของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ไปทอดพระเนตรเครื่องจักรขุดคลองซึ่งกําลังขุดอยู่ในบึงชํา ผักกูด เรือกลไฟเข้าไม่ได้ ต้องลงเรือพาย พายต่อไป ครั้นทอดพระเนตรเสร็จแล้วก็เสด็จแวะโรงสีของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ๆ นําเสด็จทอดพระเนตรเครื่องจักรใน โรงสี และทูลเชิญเสด็จไปเสวย ณ ที่ประทับ

เวลาบ่าย 2 โมง 40 นาที เสด็จลงเรือพ่วงสติมลอนช์ มาถึงสเตชั่นรถไฟ พระยาสุรนาทฯ ตามมาส่งเสด็จ รถไฟเคลื่อนเวลา 4 โมง 17 นาที ถึงกรุงเทพฯ เวลา 5 โมง 10 นาที เสด็จขึ้นรถพระที่นั่งกลับพระราชวังสราญรมย์เป็นอันจบการทั้งปวง


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2562