ฮ่องกงกับการประท้วง ที่สู้เพื่อได้พูด ได้ฟัง “ภาษากวางตุ้ง”

ผู้ประท้วงคนหนึ่งในการประท้วงเมื่อปี 2553 ถือป้ายที่เขียนว่า "ฉันรักภาษากวางตุ้ง" (ภาพจาก Antony Dickson / AFP / Getty Images)

ในประเทศจีนที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของโลก ประชาชนจำนวนกว่า 1,400 ล้านคน ของประเทศมีภาษาถิ่นของตนเองที่ใช้พูดหลายร้อยภาษา หากสามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. ภาษาจีนกลาง (ภาษาแมนดาริน) ถือเป็นภาษากลางของประเทศ 2. ภาษาอู๋ 3. ภาษาเซียง 4. ภาษาก้าน 5. ภาษาแคะ 6. ภาษาเย่ว์ (ภาษากวางตุ้ง) 7. ภาษาหมิ่น (ภาษาแต้จิ๋ว, ฮกเกี้ยน และไหหลำ ก็อยู่ในกลุ่มนี้)

สำหรับ “ภาษากวางตุ้ง” นั้นได้ตัวเลขเมื่อปี 2551 ผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 75 ล้านคน อยู่ในมณฑลกวางตุ้งประมาณ 40 ล้านคน, ภาคตะวันออกและภาคใต้ของมณฑลกวางสีประมาณ 15 ล้านคน, ฮ่องกง และมาเก๊า 5 ล้านคน และในโพ้นทะเลอีกราว 15-20 ล้านคน

Advertisement

ต่อมาในปี 2525 รัฐบาลกลางของจีนกำหนดให้ภาษาจีนกลาง (หรือภาษาแมนดาริน) เป็นภาษาทางการของประเทศ และนำไปสู่การห้ามใช้ภาษาถิ่นอื่นๆ ในสถานีวิทยุและโทรทัศน์หลายแห่ง อย่างไรก็ดีการบังคับใช้ในเมืองจีนเองอาจไม่เข้มงวดนัก เพราะอย่างไรก็ปกครองด้วยระบอบเดียวกัน แต่ไม่ใช่ในกรณีฮ่องกง

ปี 2540 เมื่อสัญญาเช่าเกาะฮ่องกงระหว่างจีน-อังกฤษหมดลง เกาะฮ่องกง ก็เปลี่ยนเป็น “เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” โดยจีนให้สัญญาว่าจะให้ฮ่องกงอยู่ในฐานะ “เขตปกครองตนเอง” ต่อไปอีก 50 ปี (2590)

หากระหว่างนั้นจีนก็พยายาม “รวมชาติ” ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มาตรการทาง “ภาษา”

จีนพยายามให้ฮ่องกงใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการของฮ่องกง แทนภาษากวางตุ้งที่ใช้อยู่เดิมหลายครั้ง หากความพยายามนอกจากไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และถูกคัดค้านโดยการชุมนุมประท้วงมาเป็นระยะ ของยกเหตุประท้วงเมื่อปี 2553 และ2561 มาเป็น กรณีตัวอย่าง

ในปี 2553 เมื่อจีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 16 หรือ เอเชียนเกมส์ 2010 เป็น ซึ่งจัดขึ้นที่นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 12 ถึง 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หากก่อนที่จะถึงการแข่งขันดังกล่าว รัฐบาลจีนมีแผนงานที่จะให้สถานีโทรทัศน์เลิกออกอากาศรายการทีวีต่างๆ เป็นภาษากวางตุ้ง ในช่วงเวลาที่มีผู้ชมจำนวนมาก (prime-time) แล้วเปลี่ยนเป็นภาษาจีนกลาง โดยให้เหตุผลว่า การใช้ภาษาจีนกลางนั้นเพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพ สร้างบรรยากาศที่ดีในการใช้ภาษาสื่อสาร และกระตุ้นให้ชาวจีนที่ไม่ได้พูดภาษากวางตุ้งมีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาครั้งสำคัญนี้เพื่อการรวมชาติ

แต่ก็จบลงด้วยการประท้วงในวันที่ 1 สิงหาคม 2553 ประชาชนในเมืองกวางโจว (กวางตุ้ง) และฮ่องกงจำนวนหลายพันคน ได้ออกมาชุมนุมประท้วงที่ออกมาคัดค้านแผนงานดังกล่าว โดยผู้ประท้วงบางคนตะโกน, ชูป้ายสัญลักษณ์, ข้อความรณรงค์ เช่น “คนกวางตุ้งพูดภาษากวางตุ้ง” หรือ “คุณอยากให้เราเงียบ! แต่เราจะพูดภาษากวางตุ้งให้ดังมากยิ่งขึ้น”

เมื่อเดือนมกราคม 2561 เกิดการประท้วงเนื่องจาก “ภาษากวางตุ้ง” อีกครั้ง

นักศึกษาหลายร้อยคนของมหาวิทยาลัยฮ่องกงแบปติสต์ (Hong Kong Baptist University) จัดการชุมนุมครั้งใหญ่ภายในสถาบัน เพื่อคัดค้านนโยบายของคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยฮ่องกงแบปติสต์ ที่ออกระเบียบบังคับให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยต้องเข้ารับการทดสอบภาษาจีนกลาง นักศึกษาราว 30 คน ก่อหวอดประท้วงที่สถาบันภาษาของมหาวิทยาลัยเป็นเวลานานถึง 8 ชั่วโมง เมื่อมีการประกาศผลการทดสอบระดับความรู้ภาษาจีนกลางว่า 70% ของนักศึกษาที่เข้าสอบนั้น “ไม่ผ่านการทดสอบ”

เมื่อมหาวิทยาลัยฮ่องกงแบปติสต์ เพิ่มการสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนกลางเมื่อปีที่แล้ว  โดยกำหนดให้เป็นในเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา แม้ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่เข้าใจภาษาจีนกลาง แต่ภาษาราชการในฮ่องกงคือภาษากวางตุ้ง

หากมติของสภามหาวิยาลัย ที่ให้เพิ่มการทดสอบภาษาจีนกลางเข้ามาเป็นอีกข้อบังคับนั้น จึงสร้าง “ความวิตกกังวล” ให้กับบรรดานักศึกษา ว่าคือความพยายามขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรม หรือที่รัฐบาลเรียกว่า “การรวมชาติ” นั้น จะเป็นการ “ดูดกลืนอัตลักษณ์” ของฮ่องกงในอนาคต

 


ข้อมูลจาก

ถาวร สิกขโกศล. ภาษาจีน : เส้นทางในการสร้างชาติ และวัฒนธรรม, ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2549

Protesters rally in China, Hong Kong over local dialect  http://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2010/08/02/2003479394 (สืบค้นเมื่อ13 สิงหาคม 2562)

นศ.ฮ่องกงประท้วงมหาวิทยาลัย บังคับสอบภาษาจีนกลาง https://www.dailynews.co.th/foreign/623913 (สืบค้นเมื่อ13 สิงหาคม 2562)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 13 สิงหาคม พ.ศ.2562