“ผีเจ้านาย” กับบทบาททางสังคม-ความเชื่อชาวบ้านทางเหนือ ทำไมอยู่คู่ศาสนาได้ยาวนาน?

(ซ้าย) ม้าขี่ กำลังไหว้พระ ไหว้เทวดา (ขวา) เจ้าพ่อข้อมือเหล็กเข้าทรง"ม้าขี่" {ภาพจากหนังสือ "ผีเจ้านาย", 2545}

ความเชื่อเรื่องผีอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่โบราณ ผีก็มีหลากหลายรูปแบบเช่นเดียวกับความเชื่อของกลุ่มคนที่มีมากมายหลากหลาย ด้วยความเชื่อพื้นฐานนี้นำมาสู่กิจวัตรและกลุ่มพฤติกรรมอย่างการทรงเจ้า ซึ่งผีเจ้านายก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบซึ่งเป็นที่เชื่อถือของชาวบ้านมาช้านาน

ในสังคมพุทธก็มีความเชื่อแบบพุทธหลายแบบ มีทั้งที่เรียกว่า พุทธศาสนาเถรวาทแบบปรัชญา บางท่านกล่าวว่าพุทธแบบนี้ไม่ขัดกับวิทยาศาสตร์ ขณะที่พุทธอีกแบบก็เป็นเรื่องที่ผูกกับอำนาจเหนือธรรมชาติ-คาถา มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อในรูปแบบหลัง นำมาสู่แนวทางของกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการตอบสนองในวิถีชีวิตประจำวัน

ที่มาของ “ผีเจ้านาย”

การนิยามของมาลา คำจันทร์ คอลัมนิสต์ด้านวัฒนธรรมความเชื่อบรรยายที่มาของ “ผีเจ้านาย” ว่าเกิดจากเจ้าหรือนายที่ตายไปแล้ว มักเป็นเจ้าหรือนายที่ได้ทำคุณงามความดีมาก่อน เมื่อตายไปแล้วไม่อาจไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น เพราะติดข้องอะไรบางอย่าง เช่น เพราะห่วงลูกห่วงหลาน เพราะบาปกรรมพัวพันซับซ้อนยากแก่การทำความเข้าใจ เมื่อไม่สามารถไปสู่ภพภูมิที่ดีขึ้น วิญญาณจึงต้องประกอบความดีเพิ่ม สั่งสมบารมีเพิ่ม เพื่อจะได้ไปสู่ภพที่ดีขึ้นต่อไป

ความเชื่อเรื่องผีเจ้านายในการประกอบความดีนี้เอง ส่วนหนึ่งจะมาบรรเทาทุกข์ร้อนของลูกหลานซึ่งมักเป็นชาวบ้าน ดังที่มาลา อธิบายว่า ผีเจ้านายมักมีอยู่แทบทุกหมู่บ้าน และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป การบรรเทาทุกข์ทำได้ด้วยการเข้าทรง ใช้คนทรงหรือร่างทรง ซึ่งทางเหนือเรียกว่า “ม้าขี่” เป็นสื่อเพื่อบ่งบอกแนวทางให้ชาวบ้านสำหรับการดับทุกข์และปัญหาในชีวิต

ประเพณีการเข้าทรงผีเจ้านายแพร่หลายอย่างมากในภาคเหนือ ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับผีเจ้านาย ฉลาดชาย รมิตานนท์ ผู้วิจัยเรื่อง “ประเพณีการทรงผีเจ้านายและบทบาททางสังคม : กรณีศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่” ในบริบทพื้นที่เชียงใหม่เมื่อปีพ.ศ. 2527 บรรยายว่า ผีในความเชื่อของภาคเหนือมีหลายประเภท เริ่มตั้งแต่ผีบรรพบุรุษ ขณะที่ผีเจ้าบ้าน ผีเจ้านาย และผีเมืองนั้นอยู่ในอีกระดับที่สูงกว่าผีบรรพบุรุษ

ผีเจ้านายจะให้ความคุ้มครองรักษาหมู่บ้าน หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งไปจนถึงระดับเมือง ผีเจ้านายก็มีการจัดลำดับสูงต่ำ ฉลาดชาย ผู้ทำวิจัยรวบรวมข้อมูลความเชื่อเกี่ยวกับผีเจ้านายนั้นเชื่อว่า ผีเจ้านายมีความหมายกว้าง รวมเอาผีที่ทำหน้าที่รักษาหมู่บ้านไปจนถึงผีเมือง อย่างไรก็ตาม ผู้รู้บางท่านก็แยกผีเจ้านายออกจากผีเจ้าบ้าน นฤจร อิทธิจีระจรัส ผู้ศึกษาเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับผีในชาวนาไทยภาคเหนืออธิบายว่า “ชาวบ้านมักจะเรียกผีเจ้านายอีกชื่อหนึ่งว่าผีเจ้าที่และผีเจ้าบ้านว่าผีเสื้อบ้าน…” ขณะที่สงวน โชติสุขรัตน์ ผู้เขียนหนังสือ “ประเพณีไทยภาคเหนือ” บรรยายว่า ผีบ้านหรือผีเมืองเรียกอีกอย่างได้ว่า “ผีเจ้านาย” ที่เรียกว่าผีเจ้านาย ก็เพี้ยนมาจากคำว่าผีเจ้าทำนาย

ต้องยอมรับว่านิยามของผีเจ้านายลื่นไหลพอสมควร อาจเปลี่ยนแปลงได้จากบริบทพื้นที่ เวลา และความเชื่อของบุคคล ในบรรดาผู้มีความเชื่อเรื่องผีเจ้านายนั้น มาลา คำจันทร์ แสดงความคิดเห็นว่า ความเชื่อนี้มีบทบาทในชนชั้นกลางอย่างมาก (วัดจากทางเศรษฐศาสตร์) ผีเจ้านายในมุมมองของมาลา คำจันทร์ รวมถึงการทรงเจ้าเข้าผีทุกรูปแบบ วิญญาณที่มาลงไม่ใช่ผีพื้นเมืองดั้งเดิมแต่ยังมีผีนอกถิ่นมาด้วย อาทิ เสด็จเตี่ย พระแม่อุมาเทวี

ผีเจ้านาย : เจ้าข้อมือเหล็ก

ท่ามกลางความหลากหลายของผีเจ้านาย งานศึกษาวิจัยของฉลาดชายได้สัมภาษณ์ม้าขี่ท่านหนึ่งชื่อรัตนา จากอำเภอดอยสะเก็ด (ร่างทรง-ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง) ที่เป็นร่างทรงเจ้าข้อมือเหล็กซึ่งบรรยายลำดับของผีเจ้านายไว้ 9 ชั้น โดยชั้นที่ 1-5 มีการประทับทรง แต่ชั้นที่ 6 ขึ้นไปแล้วจะไม่มีการเข้าทรง ตัวอย่างจากชั้น 9 ที่ไม่ประทับทรงเนื่องจากเทพที่อยู่ชั้นนี้รอที่จะเป็นพระอรหันต์ ต้องรอให้ถึง 5,000 พรรษาจึงจะได้เป็น

เมื่อเอ่ยถึงเจ้าข้อมือเหล็กอันเป็นอีกชื่อของผีเจ้านายที่มีชื่อเสียงแพร่หลาย งานวิจัยของฉลาดชาย รวบรวมประวัติของเจ้าข้อมือเหล็กได้ 3 สำนวน สำนวนแรกมาจากปากคำของม้าขี่ และอีกสำนวนมาจากคำบอกเล่าของลูกศิษย์ของม้าขี่ท่านหนึ่ง แต่ละสำนวนบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาที่ซับซ้อนพอสมควร

สำนวนแรกเล่าว่าเป็นทหารสามัญชน ติดตามคนรักซึ่งถูกนำตัวเป็นเมียของเจ้าฟ้าสะท้าน ผู้ปกครองเชียงใหม่-ลำพูน มาที่เชียงใหม่ หลังจากนั้นถูกส่งไปรบกับไทยใหญ่, พม่า แต่ถูกจับตัวได้และใส่ปลอกเหล็กที่ข้อมือซึ่งติดตัวต่อมา ภายหลังหนีได้และรวบรวมกำลังอยู่ที่แม่แตง ต่อมาเสียชีวิตเพราะช้ำในตาย เนื่องจากสู้รบมาก

สำนวนที่สองเล่าว่าชาติก่อนเป็นพระยาโกษาบดี (เหล็ก) ซึ่งฉลาดชาย ตั้งข้อสังเกตว่า ความคลาดเคลื่อนของข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ แต่ในแง่หนึ่งม้าขี่ก็พยายามใช้ประวัติศาสตร์ ตำนาน และนิยายมาอธิบายประวัติและการมีอยู่ของเจ้าพ่อ

และสำนวนที่สามเล่าว่าเจ้าข้อมือเหล็กเป็นคนบ้านลานดอกไม้ เป็นทหารยุคเจ้าฟ้าสะท้าน เก่งกล้าสามารถขั้นสู้คนได้จำนวนมากเป็นที่มาของชื่อ “ข้อมือเหล็ก” เสียชีวิตขณะสู้กับพม่าอย่างยาวนาน เหตุที่มาเข้าทรงในร่างมนุษย์ก็เพื่อล้างกรรมเก่า มีจิตเป็นห่วงบ้านเมือง และช่วยเหลือมนุษย์เพื่อสร้างบารมี

ความสัมพันธ์ของผีเจ้านาย

นี่คือหนึ่งในผีเจ้านายซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในภาคเหนือ ข้อมูลเกี่ยวกับผีเจ้านายในเชิงพื้นที่แต่ละจังหวัดยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอีกด้วย มาลา คำจันทร์ อธิบายด้วยว่า ในเมืองเชียงใหม่ถือว่าเจ้าหลวงคำแดงเป็นประธานของผีเจ้านาย เมืองลำปางมีเจ้าพ่อหออะม็อกเป็นประธาน โดยผีเจ้านายยังมีความสัมพันธ์กันในระดับชั้นต่างๆ มีรูปแบบการจัดการองค์กรคล้ายกับจำลองมาจากการปกครองมหาดไทย

ไม่เพียงแค่ความสัมพันธ์ในเชิงระดับชั้น ในหมู่ผีเจ้านายยังมีความสัมพันธ์แบบส่วนตัวในแง่ความเคารพนับถือกัน อาทิ เจ้าหลวงคำแดง (อารักษ์เมืองเชียงใหม่) ได้เป็นประธานในการประชุมเทพที่ถ้ำเชียงดาวเพราะมีพรรษามากที่สุด แต่ในด้านคาถาแล้ว การสัมภาษณ์เจ้าข้อมือเหล็กที่งานวิจัยอ้างถึง ระบุว่า เจ้าข้อมือเหล็กมีมากและเก่งในทางคาถาอาคมมากที่สุด

ขณะที่ในการชุมนุมเทพทุกวันพระ ก็มีประธานในที่ประชุมเช่นเดียวกับการประชุมของมนุษย์ มีผู้จดรายงานการประชุม ประเมินความดีความชอบแบบระบบราชการ มีการตรวจสอบรายงานตามลำดับก่อนที่จะส่งผลการประชุมและการประเมินไปที่ส่วนกลางกรุงเทพฯ และอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่กรุงเทพฯ คือเจ้าพ่อหลักเมือง

ในทางความสัมพันธ์แล้ว อาจเห็นได้ว่าผีเจ้านายก็มีความขัดแย้งกัน ฉลาดชาย บรรยายว่า สาเหตุของความขัดแย้ง ส่วนหนึ่งมาจากความคลุมของการนิยามระหว่างผีเจ้านาย เทพ และม้าขี่ (ซึ่งเป็นคนธรรมดา) กล่าวโดยย่อคือ ในด้านหนึ่งผีเจ้านายในมุมที่เป็นเทพ ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว แต่สำหรับม้าขี่ที่เป็นคนธรรมดา ยังต้องกินอยู่ใช้ชีวิตในโลกซึ่งต้องอาศัยปัจจัยในการดำรงชีวิต เส้นแบ่งของความสมดุลระหว่างมาตรฐานในการรับประโยชน์จากลูกค้าหรือประชาชนที่มาใช้บริการคลายทุกข์จึงเป็นที่ถกเถียงในหมู่ผีเจ้านาย

“…ผีเจ้านายบางองค์มีคนขึ้นมาก บางองค์ก็น้อย ทำให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของม้าขี่แต่ละรายแตกต่างกัน จากต่างกันเล็กน้อยจนถึงต่างกันมากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดการซุบซิบนินทากันในหมู่ผีเจ้านายว่า เจ้านั้นโลภมาก เจ้านั้นกอบโกยเอาเปรียบเบียดเบียนมนุษย์…”

ทำไมผีเจ้านายดำรงอยู่ในสังคมควบคู่กับศาสนาได้ยาวนาน?

คำถามที่น่าสนใจจากผู้วิจัยเรื่องผีเจ้านายคือ เหตุใดผีเจ้านายจึงดำรงอยู่ในสังคมอย่างยาวนาน ฉลาดชาย ใช้แนวคิดของกลุ่มนักมานุษยวิทยาสำนักหน้าที่นิยม (functionalism) มาอ้างอิง เชื่อว่า ส่วนหนึ่งความเชื่อสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคมและวัฒนธรรมนั้น โดยที่สิ่งใหม่ที่แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าเข้ามาแทนที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้เต็มที่ ไม่สามารถเข้าไปในอยู่ในระบบจิตสำนึกของคนได้

งานวิจัยของฉลาดชาย ยังมองว่า ระบบความเชื่อทางศาสนาในไทยสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง เมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การรวมล้านนาเป็นเขตการปกครองของกรุงเทพฯ ทำให้อำนาจของเจ้าผู้ครองนครหรือศักดินาท้องถิ่นลดลง และมีการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจ เมื่อเป็นเช่นนั้น โครงสร้างของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเชียงใหม่ก็เป็นระบบรวมศูนย์เช่นกัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ฉลาดชาย รมิตานนท์. ผีเจ้านาย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2545

มาลา คำจันทร์. เล่าเรื่องผีล้านนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2562