เผยแพร่ |
---|
ที่ผ่านมา แวดวงศิลปะยังมีข้อถกเถียงกันว่าภาพวาดที่เรียกกันว่า Isleworth Mona Lisa อันเป็นภาพวาดหญิงสาวลักษณะเดียวกับภาพวาด “โมนาลิซา” ที่โด่งดัง เป็นฝีมือของเลโอนาร์โด ดาวินชี ด้วยหรือไม่ ข้อถกเถียงนี้ไม่เพียงแค่อยู่ในประเด็น “ใครคือผู้วาดที่แท้จริง” เท่านั้น แต่ปัจจุบัน มีประเด็นถกเถียงเพิ่มเข้ามาอีกว่า “ใครเป็นเจ้าของผู้ถือครอง” ภาพนี้อีกด้วย
ภาพวาดที่เรียกกันว่า Isleworth Mona Lisa มีกลุ่มองค์กรและงานศึกษาหลายชิ้นที่วิเคราะห์ตรวจสอบภาพและเชื่อว่าเป็นฝีมือวาดของดาวินชี บางรายเชื่อว่า ภาพวาด “โมนาลิซา” โดยดาวินชี มี 2 เวอร์ชั่น และเวอร์ชั่นนี้เป็นภาพแรก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ยังมีกลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่โต้แย้งว่าภาพ Isleworth Mona Lisa ที่เชื่อว่าเป็นการวาดภาพเหมือนในช่วงวัยเยาว์ของลิซา แดล โจคอนโด แบบของภาพที่ถูกเรียกว่า “โมนาลิซา” ไม่ใช่ผลงานของดาวินชี แต่เป็นภาพวาดเลียนแบบเท่านั้น
ภาพ Isleworth Mona Lisa (เรียก Isleworth ตามที่อยู่ของสตูดิโอของฮิวจ์ เบลเกอร์ ผู้พบภาพในบ้านในพื้นที่เก่าแก่ย่าน Somerset) ถูกเฮนรี พูลิตเซอร์ (Henry Pulitzer) นักประวัติศาสตร์ศิลป์จากแดนผู้ดีซื้อไป คิม สเตฟฟ์ (Kym Staiff) นักวิจัยที่อาศัยในสวิตเซอร์แลนด์ และศึกษาพิสูจน์ภาพนี้ตั้งแต่ปี 2004 เล่าว่า ภายหลังเป็น ลีแลนด์ กิลเบิร์ต (Leland Gilbert) ผู้ทำธุรกิจด้านเครื่องเคลือบเข้ามาซื้อสิทธิ์ 25% ในตัวภาพ
เมื่อพูลิตเซอร์ เสียชีวิต อลิซาเบธ เมเยอร์ เพื่อนร่วมงานของเขาเป็นผู้ถือครองสิทธิ์ส่วนใหญ่ของภาพ แต่อลิซาเบธ เสียชีวิตลงในปี 2008 ช่วงเวลานั้นเอง มีกลุ่มทุนเข้ามาดูแลสิทธิ์ในส่วนนี้ต่อและก่อตั้ง “สถาบัน โมนา ลิซา” (Mona Lisa Foundation) ในสวิตเซอร์แลนด์ วัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งคือเพื่อศึกษาและตรวจสอบภาพนี้อย่างละเอียด
ล่าสุด เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โจวานนี พร็อตติ (Giovanni Protti) ทนายความผู้รับมอบสิทธิจากครอบครัวของทายาทลีแลนด์ กิลเบิร์ต ที่ถือครองสิทธิ์ในภาพนี้ที่สัดส่วน 25% ยื่นเรื่องดำเนินการทางกฎหมายหวังจะหาแนวทางบริหารจัดการภาพ และส่วนหนึ่งเพื่อค้นหาที่เก็บภาพนี้และหาตัวตนของผู้ถือครองนิรนามที่เหลือ
พร็อตติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า ปัญหาทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อเมเยอร์ เสียชีวิต ซึ่งทำให้สิทธิ์ในตัวภาพต้องถูกส่งต่อ
ตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา ภาพถูกเก็บรักษาในธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ กระทั่งปี 2014 “สถาบันโมนา ลิซา” จัดนิทรรศการให้เข้าชมภาพในสิงคโปร์ ตามมาด้วยงานที่เซี่ยงไฮ้ ในปี 2016 (ปี 2012 สถาบันเคยเผยแพร่งานผลวิจัยตัวภาพ) ครั้งล่าสุดที่ภาพถูกนำมาแสดงคือการกลับมาอยู่ในยุโรปครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยจัดแสดงในอิตาลี ที่ Palazzo Bastogi ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน ถึง 30 กรกฎาคม 2019
โจวานนี พร็อตติ อ้างว่า ครั้งหนึ่งเขาโทรศัพท์ไปที่สถาบัน แต่ไม่ได้รับคำตอบอื่นนอกเหนือจากว่า “ไม่ทราบรายละเอียดว่าภาพไปอยู่ที่ไหน ไม่รู้ข้อมูลผู้ครอบครอง และบอกแค่ว่าพวกเขาเป็นเพียงสถาบันวิจัยที่ทำงานศึกษาผลงานเท่านั้น”
เพื่อระบุตัวตนกลุ่มทุนที่ถือครองสิทธิ์อีกส่วน พร็อตติ และบุคลากรของหน่วยงานเก็บกู้วัตถุทางศิลปะจากลอนดอนหันไปพึ่งข้อมูลจากเอกสารลับที่หลุดออกมาสู่สายตาสาธารณชนเมื่อหลายปีก่อน อันเป็นเอกสารจากเหตุการณ์แฉข้อมูลที่รู้จักกันในชื่อ Panama Papers และพร็อตติ เผยว่า จากเอกสารนี้ทำให้พวกเขารู้ข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับตัวตนผู้ถือสิทธิ์รายอื่น และคาดว่าพวกเขาถือครองสิทธิ์ผ่านชื่อบริษัทบังหน้าที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้นภาษี
อย่างไรก็ตาม ทนายรายนี้ปฏิเสธเปิดเผยชื่อของผู้ถือสิทธิ์อื่น และระบุว่า พวกเขาจะถูกเปิดเผยในศาล
ขณะที่กำหนดพิจารณาคดีถูกกำหนดไว้ในวันที่ 8 กันยายน ทายาทของลีลอยด์ กิลเบิร์ตที่เป็นผู้ว่าจ้างทนายให้เดินเรื่องทางกฎหมายหวังว่า จะได้ข้อมูลว่าภาพถูกนำเข้ามาในอิตาลีได้อย่างไร และจะพยายามดำเนินการเพื่อให้ภาพไม่ต้องถูกส่งออกไปที่อื่นอีก พร็อตติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า ผู้จ้างงานเขาต้องการให้ภาพอยู่ในอิตาลี และไม่ถูกนำไปวางไว้เฉยๆ ในประเทศอื่นเป็นเวลานานแสนนานอีก พวกเขาต้องการให้สาธารณชนได้รับรู้และได้เห็นภาพ
อ้างอิง:
HICKLEY, CATHERINE. “Family claims quarter share of disputed Isleworth Mona Lisa”. The art news paper. Published 31 JUL 2019. Access 1 AUG 2019. <https://www.theartnewspaper.com/news/family-claims-quarter-share-of-disputed-mona-lisa-of-isleworth>