ผู้เขียน | ชิษณุพงศ์ แจ่มปัญญา |
---|---|
เผยแพร่ |
ไม่ว่าจะเป็นบ้านไหนเมืองไหนก็ต้องมีประเพณีต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียนถิ่นตนเสมอ ชาวผู้ไทยหรือภูไทก็เช่นเดียวกัน ที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ชาวผู้ไทยจะมีเครื่องดื่มชนิดหนึ่งทำไว้เพื่อเลี้ยงสังสรรค์ในงานบุญหรือนำมาต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เครื่องดื่มนั้นคือ “เหล้าอุ” คนทั่วไปจะรู้จักกันในชื่อ “เหล้าโท” หรือ “สาโท” นั่นเอง
เหล้าอุเป็นเครื่องดื่มมึนเมาที่มีรสชาติหวานกลมกล่อม มีดีกรีอยู่ที่ 5–10 ดีกรี มีกรรมวิธีทำโดยหมักข้าวเหนียวและแป้งเหล้าในไห โดยแป้งเหล้าจะใช้ส่วนผสมอย่าง ข่า พริกแห้ง อ้อยสามสวน (สมุนไพรชนิดหนึ่งที่เปลือกมีรสหวาน) แป้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้าผสมกัน รวมทั้งรากไม้ทั้งสี่ชนิด คือ รากตดหมูตดหมา รากประสงค์ รากต้นหมาก และรากมะพร้าวไฟ บดให้รวมเข้ากันได้ดี แล้วนำข้าวเหนียวและข้าวเจ้าที่ผสมกันอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ไปคลุกเคล้ากับส่วนผสมที่บดแล้ว อัตราส่วน 1 ส่วนต่อข้าวเหนียวข้าวเจ้า 2 ส่วน จากนั้นใส่น้ำเล็กน้อยและปั้นให้เป็นก้อน เสร็จแล้วนำก้อนแป้งไปวางบนภาชนะแบนที่รองด้วยแกลบข้าว สุดท้ายนำเหล้าขาวพรมให้ทั่วและปิดด้วยผ้าขาวบาง 1 คืน รุ่งขึ้นนำไปตากแดดให้แห้ง เป็นอันเสร็จสิ้นพร้อมที่จะไปผ่านกระบวนการหมักเป็นเหล้า
ในการหมักเหล้าอุนั้นจะต้องนำข้าวเหนียวผสมแกลบ อัตราส่วน 4 ต่อ 6 ใน 10 ส่วน แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาดและแช่น้ำค้างคืนไว้ก่อนที่จะนำไปหุงให้สุก ก่อนจะนำไปผึ่งลมให้เย็น และไปคลุกเคล้ากับแป้งเหล้าที่ตำให้แหลก พอผสมกันได้ที่แล้วก็หมักไว้ในถุงหรือไห ประมาณ 2–3 วัน ให้ออกกลิ่นเหล้า แล้วนำไปหมักในไหสะอาด ปิดไหด้วยใบตองแห้งพับ และขี้เถ้าผสมน้ำ เก็บไว้อีก 7–15 วัน เปิดออกและเติมน้ำลงไปก็พร้อมรับประทานทันที โดยจะใช้ไม้กระแสนเจาะรูเพื่อดื่มเหล้าอุ
เหล้าอุมีชื่อเรียกอีกหนึ่งชื่อว่า “ช้าง” สอดคล้องกับประเพณี “พิธีชนช้างเรณูนคร” เป็นประเพณีการเลี้ยงแขกด้วยเหล้าอุหรือที่เรียกว่า “เหล้าช้างเรณูนคร” พิธีนี้จะเริ่มด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวภูไทเมืองเรณูนคร และปิดท้ายด้วยการ “ชนช้าง” ที่จะให้ชายและหญิงแข่งกันดูดเหล้าอุจากไห แข่งกัน 3 ยก มีกติกาว่าห้ามพ่นน้ำ ต้องจ้องตากัน หากผู้ใดถอนริมฝีปากก่อนจะเป็นฝ่ายแพ้ โดยประเพณีนี้เป็นสิ่งที่ชาวเรณูนครปฏิบัติสืบต่อกันมาเมื่อมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมเยียนที่ถิ่นของตน
การเลี้ยงผู้มาเยือนนับว่าเป็นสิ่งที่คนไทยปฏิบัติกันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับญาติสนิทมิตรสหายที่มาบ้านเรือนด้วยความเอื้อเฟื้อ หรือต้อนรับอาคันตุกะหรือแขกบ้านแขกเมืองของประเทศอย่างเป็นมิตร แสดงให้เห็นถึงนิสัยความโอบอ้อมอารีของคนไทยอย่างแท้จริง
อ้างอิง :
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน – กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทยธนาคารไทยพาณิชย์, 2542
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2562